svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

Fan Token ประตูเชื่อมเหล่าสาวกสู่โลกใหม่ของวงการกีฬา (และบันเทิง)

29 ตุลาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ในยุคที่บล็อกเชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ แฟน โทเคน ซึ่งจัดเป็นรูปแบบหนึ่งของสินทรัพย์ดิจิทัล ก็กำลังเป็นที่ยอมรับในวงการกีฬาจากสโมสรต่าง ๆ ทั่วโลก แต่สิ่งนี้จะช่วยให้แฟนกีฬาได้มีส่วนร่วมมากขึ้นจริง ๆ หรือเป็นแค่อีกช่องทางในการหารายได้ของสโมสรกันแน่?

Highlights

  • ในรอบปีที่ผ่านมา แฟน โทเคน ซึ่งต่อยอดจากบล็อกเชนและเงินดิจิทัล กลายเป็นช่องทางใหม่ในการสร้างรายได้ของสโมสรและทีมกีฬาชั้นนำ
  • อเล็กซองดร์ เดรย์ฟุส ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Chiliz สตาร์ทอัพผู้บุกเบิกแนวคิดนี้ ยืนยันว่าแฟนโทเคนจะช่วยให้แฟนกีฬาได้มีส่วนร่วมกับทีมรักมากขึ้น
  • ณ ปัจจุบัน มันอาจยังเป็นคำโฆษณาที่ดูเกินจริงในสายตาของหลายคน แต่ในทางทฤษฎีแล้ว ศักยภาพของบล็อกเชนนั้น อาจนำไปสู่การบริหารทีมแบบอัตโนมัติ โดยความเห็นชอบของแฟนบอล ซึ่งเป็นแนวทางในอุดมคติได้เช่นกัน

--------------------

          การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) ที่ถูกเร่งปฏิกิริยาให้เร็วขึ้นจากการระบาดของโควิด-19 เป็นเรื่องที่อุตสาหกรรมไหนก็หนีไม่พ้น แม้แต่กับวงการกีฬาก็เช่นกัน

 

          ในรอบเกือบสองปีที่ผ่านมา สโมสรกีฬาส่วนใหญ่ล้วนแต่ได้รับผลกระทบโดยตรง เมื่อรายได้หลักจากการขายตั๋วเข้าสนามหายไป เนื่องจากมาตรการล็อคดาวน์ และการเว้นระยะห่างทางสังคม

 

          จนกลายเป็นตัวเร่งให้ผู้บริหารต้องเร่งมองมองหาช่องทางใหม่ ๆ ในการสร้างรายได้

 

          หนึ่งในแนวคิดใหม่ที่ถูกนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหานี้ โดยอาศัยเทคโนโลยีบล็อกเชน คือ Fan Token (แฟน โทเคน) ซึ่งกลายเป็นตัวเชื่อมเหล่าแฟนกีฬาเข้ากับทีมรักอีกครั้ง

 

          ทั้งในแง่ของความผูกพัน และการเงิน รวมถึงความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย

แฟน โทเคน คืออะไร?
(ส่วนหนึ่งของสโมสรชั้นนำในยุโรป ที่ปล่อย แฟน โทเคน ให้เทรด /ภาพจาก Mercado Bitcoin)

          แฟนโทเคน ก็คือสินทรัพย์ดิจิทัลรูปแบบหนึ่ง ที่มีพื้นฐานจากเทคโนโลยีบล็อกเชน เหมือนกับสกุลเงินดิจิทัลนั่นเอง

 

          เป็นได้ทั้งในรูป fungible (เหมือนบิทคอยน์ และอัลท์คอยน์ต่าง ๆ คือทุกโทเคนมีลักษณะแบบเดียวกัน) และ nonfungible (เหมือน NFT คือแต่ละโทเคน)

 

          ปัจจุบัน แฟน โทเคน ซึ่งนิยมใช้กันในกลุ่มสโมสรฟุตบอลในยุโรปต่าง ๆ นั้น จัดอยู่ในลักษณะที่เรียกว่า utility token หรือโทเคนเพื่อการใช้ประโยชน์

 

          คือผู้ถือจะสามารถนำไปใช้แลกสินค้า บริการ หรือสิทธิพิเศษ บนแพลตฟอร์มหรือโครงการใดโครงการหนึ่ง (ในที่นี้คือสโมสรกีฬา) 

 

          และ อเล็กซองดร์ เดรย์ฟุส ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Chiliz สตาร์ทอัพจากมอลตา ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกแนวคิดนี้ ก็ยืนยันว่า แฟน โทเคน จะมีส่วนสำคัญช่วยให้แฟนกีฬาได้มีส่วนร่วมกับสโมสรหรือทีมรักมากขึ้น

 

เปลี่ยนฐานแฟนกีฬา สู่โลกบล็อกเชน
 
(อเล็กซองด์ร เดรย์ฟุส ผู้ก่อตั้ง Chiliz และบุกเบิกแฟน โทเคน / ภาพจาก South Eu Summit)

          เดรย์ฟุส คือผู้ประกอบการที่คลุกคลีในวงการเกมและกีฬามายาวนานตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 90

 

          หนึ่งในนั้นคือ Winamax หนึ่งในเว็บไซต์โป๊กเกอร์ออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในฝรั่งเศส ก่อนจะผันตัวมาสนใจเทคโนโลยีบล็อกเชน ที่นำไปสู่การก่อตั้ง Chiliz

 

          และพัฒนาแพลตฟอร์ม Socios เพื่อต่อยอดแนวคิด แฟน โทเคน ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากฐานแฟนกีฬาที่มีอยู่มหาศาลทั่วโลก

 

          ปัจจุบัน แฟน โทเคน ของสโมสรชั้นนำในยุโรป อาทิ บาร์เซโลน่า, ปารีส แซงต์-แชร์กแมง, ยูเวนตุส, อินเตอร์, แมนเชสเตอร์ ซิตี้ รวมถึงผู้นำด้าน MMA อย่าง UFC ล้วนแต่อยู่บนแพลตฟอร์ม Socios ทั้งหมด

 

          และเป้าต่อไปของ เดรย์ฟุส คือ ใน 5 ปีจากนี้ จะขยายขอบเขตจากวงการกีฬา ไปสู่แฟรนไชส์ความบันเทิงอื่น ๆ ทั้ง ดนตรี และภาพยนตร์ ผ่านแฟนโทเคน

เปลี่ยนจากผู้ชม เป็นผู้มีส่วนร่วม

(สิทธิประโยชน์บางส่วนของผู้ถือ แฟน โทเคน / ภาพจาก psg.fr)

          นอกจากเป็นแหล่งรายได้ใหม่ของสโมสร ในลักษณะของการระดมทุน

 

          เดรย์ฟุส เชื่อว่า แฟน โทเคน จะเปลี่ยนแฟนกีฬา ให้เป็นมากกว่าแค่ผู้ชม (passive) อย่างในอดีต

 

          แต่สามารถมีสิทธิ์มีเสียง และมีส่วนร่วมกับสโมสรหรือทีมมากขึ้น (active)

 

          เช่น การซื้อโทเคนเหล่านี้เก็บไว้ จะเปิดโอกาสให้แฟนกีฬาเหล่านั้นได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่าง ๆ ในกิจกรรมย่อยของสโมสรได้

 

          เช่น การเลือกเพลงที่จะเปิดในสนาม หรือสิทธิ์เข้าพบ และทำกิจกรรมร่วมกับนักกีฬา

 

          หลายคนอาจรู้สึกว่าเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งเล็กน้อย

 

          แต่สำหรับแฟนพันธุ์แท้อย่าง จูเซปเป โบญานนี ของยูเวนตุส ย้ำว่าเมื่อได้ยินเพลงที่ตัวเองมีส่วนร่วมโหวตให้เปิดในสนาม มันก็มากพอจะทำให้คุณรู้สึกว่าตัวเองได้มีส่วนร่วมแล้ว

 

          ในเวลาเดียวกัน ก็มีอีกหลายฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย และตั้งข้อกังขาว่า แฟน โทเคน ช่วยให้แฟนกีฬามีสิทธิ์มีเสียงมากขึ้นแค่ไหน ในเมื่อยังมีข้อจำกัดบางอย่างอยู่

 

          หนึ่งในนั้น คือ มัลคอล์ม คลาร์ก ประธานสมาคมแฟนฟุตบอลในสหราชอาณาจักร ที่เห็นว่าการโหวตด้วยแฟน โทเคน แทบไม่ต่างอะไรกับการทำโพลแบบออนไลน์

 

          ยกเว้นการที่แฟนกีฬาต้องจ่ายเงินเพิ่มเท่านั้น

 

          [มีส่วนร่วม ไม่ได้แปลว่ามีอำนาจในการบริหาร]

 

          ประเด็นสำคัญที่ คลาร์ก ทักท้วง เกิดจากการที่ แฟน โทเคน ในปัจจุบัน ถูกจัดอยู่ในหมวด utility token นั่นเอง

 

          แนวคิดของ utility token นั้น ถูกต่อยอดมาจาก initial coin offering หรือ ICO ที่บูมมากในราว 4-5 ปีที่แล้ว

 

          เมื่อบริษัทใหม่ ๆ ใช้วิธีนี้ในการระดมทุน ด้วยการออกเหรียญคริปโตของตัวเองสู่สาธารณะ ในลักษณะเดียวกับการขายหุ้นทั่วไป (public offering) แต่หลายครั้งเกิดปัญหาที่ผู้ก่อตั้งบริษัทเหล่านั้นล้มเหลวในการพัฒนาโปรดักท์ หรือเชิดเงินหนี

 

          จนนำไปสู่การพัฒนาเป็น IEO (Initial Exchange Offerings) หรือระดมทุนผ่านเว็บเทรดต่าง ๆ (ในที่นี้คือ Socios) เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ

 

          แต่เพราะแนวคิดของ utility token มีขึ้นเพื่อเลี่ยงการถูกจัดไว้ในหมวดการลงทุน และไม่ถือเป็นหลักทรัพย์ เหมือน investment token (โทเคนเพื่อการลงทุน ซึ่งจะให้สิทธิจากส่วนแบ่งรายได้หรือผลกำไร)

 

          การใช้งานจึงอยู่ในรูปของการเข้าถึงบริการต่าง ๆ สิทธิพิเศษในคอมมูนิตี้ หรือกิจกรรมที่สโมสรจัดขึ้นเท่านั้น

 

          แต่ไม่ได้มีสิทธิ์ใด ๆ ในสินทรัพย์ของสโมสร หรือการตัดสินใจด้านบริหารต่าง ๆ เช่น จ้างโค้ช หรือเซ็นสัญญาผู้เล่นใหม่เลย

 

          การซื้อแฟน โทเคนมาถือครองไว้ จึงเป็นลักษณะของการเพิ่มทุนให้สโมสรด้วยความชื่นชอบทางใจล้วน ๆ ไม่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางการเงินเลย

 

ช่องโหว่ ที่กลายเป็นช่องทางทำกำไร

(ลาซิโอ คือสโมสรล่าสุดที่เข้าสู่กระดานเทรดที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Binance / ภาพจาก Binance)

          ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อ แฟน โทเคน ไม่ได้ถูกปล่อยเพื่อให้แฟนกีฬาของสโมสรนั้น ๆ ซื้อเพียงกลุ่มเดียว แต่เปิดกว้างสำหรับใครก็ได้

 

          จึงกลายเป็นช่องทางสำหรับคนบางกลุ่มที่เข้ามาทำกำไรจากความรักของคนกลุ่มแรก

 

          จนเป็นที่มาของแฟน โทเคนที่ขายหมดอย่างรวดเร็วในช่วงพรีเซล

 

          จนแฟนกีฬาตัวจริงซื้อไม่ทัน และต้องไปตามซื้อในราคาที่สูงกว่าเดิม บนกระดานเทรดจากกลุ่มที่ถือไว้เก็งกำไร

 

          และแนวโน้มในอนาคต กรณีแบบนี้ก็จะยิ่งขยายกว้างไปอีก

 

          เมื่อ Binance กระดานซื้อขายเงินดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในโลก เข้ามาร่วมเป็นพันธมิตรกับ Chiliz และลิสต์แฟนโทเคนตัวท็อปอย่าง บาร์เซโลนา (BAR) หรือ Atletico Madrid (ATM) เพื่อให้สามารถซื้อขายได้บนแอปของ Binance แล้ว

 

          ในแง่ดีคือมันจะนำไปสู่เม็ดเงินจำนวนมากขึ้น และการเป็นที่รู้จักในวงกว้าง

 

          แต่ก็อาจเป็นช่องทางให้คนนอกที่ไม่ใช่แฟนกีฬาของทีม เข้ามาเก็งกำไรระยะสั้น ซึ่งอาจไม่เป็นผลดีกับคนที่เป็นแฟนกีฬาของสโมสรนั้นเท่าไหร่

 

          ยังไม่นับเรื่องที่แต่ละสโมสร เลือกที่จะไม่ปล่อย แฟน โทเคน ที่สร้างขึ้นออกมาทั้งหมดสู่ตลาด เพื่อดึงให้ราคาสูงขึ้นตามความต้องการของเหล่าแฟน ๆ ด้วย

 

          อ้างอิงข้อมูลจาก CoineGecko พบว่า ปัจจุบัน บาร์เซโลนา เพิ่งปล่อยโทเคน BAR ออกมาเพียง 7.5% ของจำนวน 40 ล้านโทเคนที่สร้างขึ้น

 

          นั่นหมายถึงหากคำนวณจากราคา 16 ดอลลาร์ต่อโทเคนในปัจจุบัน

 

          สโมสรยังมีโทเคนในมือ คิดเป็นมูลค่าถึง 600 ล้านดอลลาร์ เทียบเท่ากับรายรับตลอดทั้งปีสโมสร หรือ 10% ของมูลค่าสโมสรในปัจจุบันเลยทีเดียว


อนาคตที่แท้จริงของแฟน โทเคน
(The Kraus Haus การระดมทุน โดยมีเป้าหมายในการบริหารทีมกีฬาแบบอัตโนมัติบนบล็อกเชน / ภาพจาก The Kraus Haus)

          ในอนาคตอันใกล้ ตลาดของแฟน โทเคน ยังน่าจะเติบโตไปเรื่อย ๆ

 

          เพราะปัจจุบัน นอกจาก Socios แล้ว ก็ยังมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาแชร์ตลาดบ้างแล้ว

 

          เช่น Bitci ที่เพิ่งทำสัญญากับสโมสรต่าง ๆ ใน สเปน บราซิล อุรุกวัย สกอตแลนด์ การแข่งมอเตอร์ไซค์ชิงแชมป์โลก Moto GP รวมถึงทีมแข่งรถแมคลาเรน ใน F1

 

          แต่ที่น่าสนใจกว่านั้น คือปัจจุบัน กำลังมีความพยายามระดมทุนในกลุ่มแฟนกีฬาด้วยกัน เพื่อเข้าไปมีบทบาทในการบริหารสโมสรอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้แนวคิด DAO (decentralized autonomous organizations)

 

          หรือองค์กรที่ขับเคลื่อนแบบอัตโนมัติ ด้วย smart contract บนบล็อกเชน ซึ่งผู้ถือโทเคนทุกคน สามารถตรวจสอบการทำงาน และมีส่วนร่วมในการบริหารได้จริง

 

          หนึ่งในโปรเจกต์ที่กำลังถูกผลักดันให้เกิดขึ้น คือ The Krause House DAO ที่ก่อตั้งขึ้น และอยู่ระหว่างระดมทุน 2 พันล้านดอลลาร์ จากกลุ่มแฟนกีฬา สำหรับซื้อแฟรนไชส์ทีมบาสเกตบอลใน NBA มาบริหารโดย smart contract ที่เขียนไว้บนบล็อกเชน

 

          ซึ่งหากทำสำเร็จ ก็จะนำไปสู่ทีมกีฬาในอุดมคติ ที่แฟนผู้ถือสิทธิ์ผ่านโทเคน ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจจริง ๆ ด้วยการทำงานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ ซึ่งเป็นคุณสมบัติหลักของบล็อกเชน

--------------------

ที่มา:

 

logoline