svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

อมันดา สเตฟลีย์ : หญิงเหล็กแห่ง นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ผู้ท้าทายโลกที่ผู้ชายเป็นใหญ่

20 ตุลาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จากแฟนสาวของเจ้าชายแอนดรูว์ สู่บทบาทหญิงผู้อยู่เบื้องหลังดีลประวัติศาสตร์ในวงการฟุตบอลถึงสองราย นี่คือความท้าทายครั้งใหม่ของ อมันดา สเตฟลีย์ หญิงเหล็กที่กำลังท้าทายโลกที่ชายเป็นใหญ่

Highlights

  • นอกจากเงินมหาศาลจากกลุ่มทุน PIF แล้ว อมันดา สเตฟลีย์ ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ถูกโฟกัสเป็นพิเศษ ในการเปลี่ยนมือเจ้าของสโมสรนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด
  • สเตฟลีย์ คือผู้จัดการให้ดีลเทกโอเวอร์ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ลุล่วงเมื่อ 13 ปีก่อน และมีเรื่องฟ้องร้องกับธนาคารอันดับหนึ่งของประเทศ
  • วันนี้ ความท้าทายครั้งใหม่ของเธอคือการพิสูจน์ตัวเองว่าสามารถมีบทบาทสำคัญได้ในโลกที่ชายเป็นใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นในโลกการเงินหรือโลกของฟุตบอล

--------------------

          ขณะที่ขั้วอำนาจฟุตบอลในอังกฤษเริ่มสั่นคลอน กับการมาถึงของ โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดิอาระเบีย และกองทุนเพื่อความมั่งคั่ง PIF ที่เข้าถือหุ้น นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด 80% เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

          อีกหนึ่งโฟกัส นอกเหนือจากความร่ำรวยในระดับมหาศาล และภาพลักษณ์ที่ไม่สวยหรูนักของเจ้าของสโมสรรายใหม่

 

          คือหญิงสาวผู้อยู่เบื้องหลังดีลประวัติศาสตร์ครั้งนี้ อมันดา สเตฟลีย์ ซึ่งจะรับบทเป็นหนึ่งในบอร์ดบริหาร นิวคาสเซิล ด้วย เมื่อ PCP Capital Partners ที่เธอเป็นเจ้าของมีส่วนร่วมถือหุ้นสโมสร 10%

 

          ที่ผ่านมา ชื่อของ สเตฟลีย์ อาจไม่เป็นที่พูดถึงในวงการฟุตบอลมากนัก เหมือน คาเรน เบรดี ผู้บริหารหญิงของ เบอร์มิงแฮม และอีกหลาย ๆ คน

 

          แต่ถ้าย้อนกลับไปดูประวัติที่ผ่านมา เธอคือหนึ่งในผู้มีบทบาทพลิกโฉมหน้าวงการฟุตบอลอังกฤษให้เป็นอย่างทุกวันนี้

 

 

          ในฐานะผู้ผลักดันดีลเทกโอเวอร์ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ของกลุ่มทุนจากดูไบ เมื่อ 13 ปีก่อน และกำลังจะทำแบบเดียวกันนั้นอีกครั้งกับ นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด

 

          แม้ที่ผ่านมา เธอแทบไม่เป็นที่ยอมรับทั้งในโลกการเงินและฟุตบอลที่ผู้ชายเป็นใหญ่มาตลอดก็ตาม

หญิงสาวผู้ (เกือบ) เพียบพร้อม

(จากเด็กสาวในครอบครัวนักธุรกิจ ปัญหาบางอย่างทำให้ชีวิตของ อมันดา สเตฟลีย์ ไม่ราบรื่นอย่างที่ควรเป็น / ภาพจาก Camera Press)

          สเตฟลีย์ เกิดในครอบครัวนักธุรกิจ โรเบิร์ต พ่อของเธอเป็นนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และเจ้าของธีมพาร์ค ขณะที่ ลินน์ เรเพอร์ แม่ของเธอ เป็นอดีตนักกีฬาขี่ม้าข้ามเครื่องกีดขวาง ระดับแชมป์ยุโรป และนางแบบสมัครเล่น

 

          สมัยมัธยม เธอเป็นนักกรีฑาดาวรุ่งที่มีแวว ด้วยสถิติวิ่ง 100 เมตร ใน 12.1 วินาที แต่ก็ต้องยุติเส้นทางนั้นแต่เนิ่น ๆ เพราะอาการเจ็บเอ็นร้อยหวาย

 

          ขณะเดียวกัน ก็มีผลการเรียนในระดับเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ได้

 

          แต่เธอกลับต้องดร็อปการเรียนในระดับมหาวิทยาลัยเพียงแค่ปีแรก

 

          เมื่อเจอปัญหารุมเร้าหลายด้าน พ่อของเธอเกิดหัวใจวายเฉียบพลัน ส่วนแม่ก็มีอาการของโรคฮันติงตัน (Huntington’s disease โรคทางสมองที่ทำให้บุคลิกภาพเปลี่ยนไป มีปัญหาด้านการคิด การทรงตัว กลืนและพูดลำบาก) ซึ่งถ่ายทอดทางพันธุกรรมมาถึงเธอด้วย

 

          ตัวของ สเตฟลีย์ ก็มีปัญหาเช่นกัน ด้วยความที่เรียนในโรงเรียนเอกชนหญิงล้วนมาตลอด ทำให้เธอมีปัญหา ไม่สามารถปรับตัวกับชีวิตในมหาวิทยาลัยที่ต้องเรียนร่วมกับนักศึกษาชายได้

 

เบนเข็มสู่โลกธุรกิจ และตะวันออกกลาง
(คอกม้า Godolpin ของ ชีคห์ มูฮัมหมัด อัล มัคตุม แห่งดูไบ ที่เป็นจุดเริ่มต้นให้ สเตฟลีย์ มีคอนเนกชั่นกับทุนจากตะวันออกกลาง / ภาพจาก Godolpin)

          ผลกระทบจากโรคฮันติงตันที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากแม่ ทำให้ สเตฟลีย์ มีทักษะในการคำนวณที่สูงกว่าคนทั่วไป

 

          และวัยเด็กที่ใกล้ชิดกับปู่ และที่ปรึกษา ทำให้เธอเริ่มสนใจการทำธุรกิจตั้งแต่อายุยังน้อย ทั้งเรื่องการมองหาโอกาส หาข้อมูลสนับสนุน หรือวิธีแก้ปัญหาแบบผู้ประกอบการ

 

          จนเมื่ออายุ 22 เธอก็เริ่มธุรกิจแรกของตัวเอง ด้วยการกู้เงิน 180,000 ปอนด์ เพื่อซื้อกิจการของ Stocks ภัตตาคารหรูในหมู่บ้านบอตติแชม เคมบริดจ์

 

          และกลายเป็นจุดเริ่มให้เธอได้สร้างคอนเนกชั่นกับกลุ่มทุนจากตะวันออกกลาง

 

          หมู่บ้านบอตติแชม เคมบริดจ์ นั้นอยู่ไม่ไกลจากเมืองนิวมาร์เก็ต ที่ตั้งของคอกม้า Godolphin ที่มี ชีคห์ โมฮาเหม็ด อัล มัคตุม แห่งยูเออี เป็นเจ้าของ

          Stocks ที่เป็นร้านหรูในละแวกนั้น กลายเป็นที่พบปะรวมตัวของคนในวงการม้าแข่งจากนิวมาร์เก็ต

 

          สเตฟลีย์ ดูแลกิจการของ Stocks ควบคู่ไปกับการเรียนเสริมความรู้ทางการเงิน แม้สุดท้าย ธุรกิจของ Stocks จะไปต่อไม่ได้ แต่เป็นการวางรากฐานให้เธอมีเครือข่ายคนรู้จักมากมาย

 

          หนึ่งในนั้นคือโอกาสเข้าเฝ้ากษัตริย์อับดุลลาห์แห่งจอร์แดน ที่กรุงอัมมาน รวมถึงการคบหากับเจ้าชายแอนดรูว์ ดยุกแห่งยอร์ก นานถึงสองปี ก่อนตัดสินใจปฏิเสธคำขอแต่งงาน เพราะต้องการใช้ชีวิตอย่างอิสระมากกว่า

 

มุ่งสู่ดูไบ และดีลพลิกชะตา แมนฯ ซิตี้

 

(แกร์รี คุก อดีตซีอีโอของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เล่าว่าคอนเนกชั่นของ สเตฟนีย์ ทำให้การเทกโอเวอร์จบในเอกสารแค่แผ่นเดียว / ภาพจาก Getty Images)

          หลังล้มเหลวกับ Q.ton ธุรกิจที่สองจนต้องยอมทำข้อตกลงอย่างเป็นทางการเพื่อชำระหนี้ตามเวลาที่กำหนด แทนการเป็นบุคคลล้มละลาย

 

          สเตฟลีย์ ก็ย้ายไปทำธุรกิจในดูไบ เรียนรู้การเงินในภูมิภาคนั้น รวมถึงต่อยอดคอนเนกชั่นที่มี เพื่อเข้าถึงกลุ่มทุนที่นั่น

 

          และกลับมายังอังกฤษอีกครั้ง เพื่อก่อตั้ง PCP Capital Partners ในปี 2008 เพื่อรับเป็นที่ปรึกษาและประสานงานให้กองทุนต่าง ๆ จากตะวันออกกลางที่สนใจมาลงทุนในสหราชอาณาจักร

 

          แกร์รี คุก อดีตซีอีโอของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เล่าถึงเหตุการณ์ก่อนที่ ทักษิณ ชินวัตร จะขายสโมสรให้กลุ่มทุนอาบูดาบีนั้น

 

          สโมสรกำลังประสบปัญหาการเงินอย่างหนัก และกำลังจะล้มละลาย และเป็น สเตฟลีย์ ที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ จนดีลมูลค่า 201 ล้านปอนด์ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยใช้กระดาษแค่แผ่นเดียวในการทำสัญญา เมื่อเดือนกันยายน 2008

 

          คุก เล่าว่าตอนนั้น แมนฯ ซิตี้ ไม่ใช่ตัวเลือกเดียว เพราะกลุ่มทุนอาบูดาบี ก็เล็งสโมสรอื่น ๆ อย่าง ลีดส์ ไว้เช่นกัน และก็ต้องการเป็นพันธมิตรกับ อาร์เซนอล ด้วย

 

          เหตุผลคือตอนนั้น ทางอาบูดาบีต้องการเข้าสู่ธุรกิจกีฬาอย่างเต็มตัว และมีทุกอย่างพร้อมแล้ว เหลือเพียงแค่การสร้างแบรนด์ที่จะเป็นตัวเชื่อมโยงเข้าด้วยกันเท่านั้น

 

          ก่อนที่ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ จะได้รับเลือก และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของทั้งสโมสร และฟุตบอลอังกฤษจนถึงทุกวันนี้

 

โลกที่ไม่ต้อนรับผู้หญิง

 

(สตีเฟน โจนส์ ต้องลาออกจากตำแหน่งที่ UK Finance เพราะแรงกดดันหลังมีหลักฐานว่าใช้ถ้อยคำคุกคามทางเพศ สเตฟลีย์ ภาพจาก The Times)

          ในปี 2008 เป็นช่วงที่ทั่วโลก รวมถึงสหราชอาณาจักรประสบปัญหาวิกฤตการเงินอย่างหนัก จนธนาคารอันดับหนึ่งของประเทศอย่าง บาร์เคลย์ส ต้องประกาศระดมทุนฉุกเฉิน จำนวน 11,000 ล้านปอนด์

 

          และก็เป็น สเตฟลีย์ ที่โน้มน้าวให้กลุ่มทุนจากอาบูดาบี ลงทุนกับบาร์เคลย์ส เป็นเงิน 3,250 ล้านปอนด์ หรือเกือบ 1 ใน 3 ของการระดมทุนครั้งนั้น โดยที่ PCP ในฐานะนายหน้า ได้ส่วนแบ่งจากดีลนี้ 30 ล้านปอนด์

 

          แต่ PCP ย้อนกลับมายื่นฟ้อง บาร์เคลย์ส ในภายหลัง

 

          โดยกล่าวหาว่าข้อเสนอที่ทางยูเออี ซึ่งเป็นลูกค้าของบริษัทได้รับจากทางธนาคารนั้น แย่กว่าที่กลุ่มทุนจากกาตาร์ได้รับ ซึ่งจบลงด้วยการแพ้คดีของ PCP และต้องเป็นรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ถึง 19.5 ล้านปอนด์

 

          แต่การฟ้องร้องครั้งนี้ ก็เผยให้เห็นแง่มุมที่คนส่วนใหญ่อาจไม่เคยรับรู้มาก่อน โดยเฉพาะการถอดเทปสนทนาทางโทรศัพท์ ระหว่างผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงินในอังกฤษ ที่ส่อทัศนคติแบ่งแยกทางเพศแบบชัดเจน

 

          ไม่ว่าจะเป็น สตีเฟน โจนส์ หัวหน้าผู้บริหาร UK Finance ในเวลานั้น ที่พูดถึงขนาดหน้าอกของ สเตฟลีย์ และถามว่าเธอเคยหลับนอนกับ ชีคห์ มานซูร์ หรือไม่

 

          หรือ โรเจอร์ เจนกินส์ หนี่งในนายธนาคารที่มีรายได้สูงสุดในช่วงนั้น เรียกเธอว่า 'tart' (หญิงที่เปลี่ยนคู่นอนไม่ซ้ำ)

 

          รวมถึงใช้คำว่า FILTH (ย่อมาจาก Failed In London Try Hong Kong) ซึ่งเป็นสแลงเชิงลบ ปกติใช้กับคนบริเตนที่ย้ายไปฮ่องกงหรือสิงคโปร์ เพื่อโอกาสทำงานในสาขาของธนาคารใหญ่ ๆ โดยอาศัยความเป็นคนต่างชาติ

 

          ซึ่งในที่นี้ ก็หมายถึง สเตฟลีย์ ที่เดินทางไปสร้างคอนเนกชั่นทางธุรกิจในตะวันออกกลางนั่นเอง

 

รักที่ไม่สมหวัง

 

(ในปี 2008 สเตฟลีย์ ซึ่งตกเป็นข่าวพยายามดีลให้การเทกโอเวอร์สโมสรโดย DIC จากดูไบเกิดขึ้น ไปนั่งชมเกมแชมเปี้ยนส์ลีก รอบรองชนะเลิศ ที่แอนฟิลด์ ด้วย / ภาพจาก Getty Images)

          ไม่ใช่แค่ในโลกการเงินเท่านั้น แม้แต่ในโลกฟุตบอล เธอและ PCP ก็ไม่เป็นที่ยอมรับนัก แม้เธอจะเป็นผู้อยู่เบื้องหลังดีลสำคัญของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ก็ตาม

 

          สเตฟลีย์ นั้นเป็นแฟนบอลของ ลิเวอร์พูล และเคยพยายามผลักดันให้ DIC กลุ่มทุนจากดูไบ ซื้อสโมสรจาก ทอม ฮิคส์ และ จอร์จ จิลเลตต์ ในปี 2008 รวมถึงพยายามขอแรงสนับสนุนจากสื่อท้องถิ่นอย่าง Liverpool Echo เพื่อสนับสนุนไอเดียนี้

 

          เธอยังเคยเข้าพบ ฮิคส์ และรวมตัวกับกลุ่ม Spirit of Shankly ที่ภัตตาคารในย่านอัลเบิร์ต ด็อค เพื่อเรียกร้องให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้น แต่ก็ไม่เป็นผล

 

          ในปี 2016 สเตฟลีย์ กลับมาอีกครั้ง พร้อม Everbright กลุ่มทุนจากจีน เพื่อทาบทามซื้อ ลิเวอร์พูล จาก จอห์น ดับเบิลยู เฮนรี ซึ่งรับช่วงต่อจาก ฮิคส์ และ จิลเลตต์ หกปีก่อนหน้านั้น

 

          แต่ถูกปฏิเสธ ขณะที่แหล่งข่าวในลิเวอร์พูล มองว่าเธอไม่ให้เกียรติสโมสร และไม่จริงจังมากพอ ขณะที่ เฟนเวย์ สปอร์ตส์ กรุ๊ป ก็ประกาศว่าไม่คิดจะดีลกับกลุ่มทุนไหนก็ตาม ที่ใช้บริการของ สเตฟลีย์

 

คำถามที่ยังไม่มีคำตอบ

 

(คดีฆาตกรรม จามาล คาช็อกกี เมื่อสามปีก่อน ทำให้ภาพลักษณ์ของมกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบียในสายตาชาวโลกติดลบมาตลอด / ภาพจาก AFP)

          การเบนเข็มมาทาบทาม นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด โดย PCP นั้นเกิดขึ้นในปีถัดมา แต่ทุกอย่างก็แทบไม่คืบหน้า เมื่อ ไมค์ แอชลีย์ เจ้าของสโมสรไม่คิดปล่อยทีม หากไม่ได้ราคาตามที่ต้องการ

 

          แม้เจ้าตัวจะถูกตราหน้าว่าเป็นเจ้าของสโมสรที่ถูกเกลียดชังที่สุดบนเกาะอังกฤษก็ตาม

 

          นั่นคึอเหตุผลว่าทำไมแฟนบอล เดอะแม็กพายส์ จึงลิงโลดถึงขีดสุด

 

          เมื่อ แอชลีย์ ยอมวางมือ เปิดทางให้ กองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งซาอุดีอาระเบีย (PIF) เข้ามารับช่วงต่อ ร่วมกับ เดวิด และ ไซมอน รูเบน รวมถึง PCP ในอัตราส่วน 80:10:10 ทำให้ นิวคาสเซิล กลายเป็นสโมสรที่มีเจ้าของร่ำรวยที่สุดในโลกโดยปริยาย

 

          ขณะเดียวกัน นี่ก็จะเป็นครั้งแรกที่ สเตฟลีย์ ก้าวข้ามจากธุรกิจการเงินมาอยู่ในวงการกีฬาอย่างเต็มตัว ในฐานะบอร์ดบริหารของสโมสร

 

          เพื่อพิสูจน์ตัวเองให้เป็นที่ยอมรับ หลังถูกปฏิเสธในฐานะคนนอกมาโดยตลอด

 

          แต่อีกด้านหนึ่ง อาจทำให้ชื่อของ สเตฟลีย์ ถูกต่อต้านเพิ่มขึ้นจากกลุ่มที่เห็นว่าเงินทุนจาก PIF นั้นมีมลทินก็ได้

 

          เมื่อชื่อของมกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบียนั้น ถูกผูกโยงกับคดีสังหาร จามาล คาช็อกกี นักข่าววอชิงตัน โพสต์ เมื่อสามปีก่อน

 

          เช่นเดียวกับศัพท์ "sportwashing" ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นเพื่อใช้สำหรับกลุ่มทุนที่เลือกลงทุนด้านกีฬาเพื่อฟอกประวัติ หรือเบนความสนใจจากปัญหาบางอย่างในประเทศ

 

          และจะเป็นคำถามที่หญิงเหล็กคนใหม่แห่ง เซนต์ เจมส์ พาร์ค ต้องเจอแน่ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง

 

ชาตรี ตันสถาวีรัฐ

--------------------

SOURCE

logoline