svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

Battle Royale แนวหนังยอดฮิตกับภาพแทนของคนธรรมดาภายใต้ระบบของผู้มีอำนาจ

11 ตุลาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ภายใต้กระแสความนิยมของ Squid game ทำให้ผู้คนเริ่มกลับมาสนใจเนื้อหาแนวเกมเอาชีวิตรอดอีกครั้ง แน่นอนว่าซีรีย์นี้ไม่ใช่เรื่องแรกที่หยิบจับนำเสนอประเด็นสังคมได้คมคาย แต่กลับแฝงแง่มุมและความหมายการลุกขึ้นสู้ในทิศทางเดียวกับรุ่นพี่อย่างน่าสนใจ

Highlights

  • กระแสความนิยมของ Squid game จุดประกายให้กับวงการบันเทิงเกาหลี และแนวภาพยนตร์การเล่นเกมมรณะ หรือ Battle Royale ให้กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง
  • จุดเริ่มต้นของเนื้อหาแนวนี้คือภาพยนตร์ Battle Royale ของญี่ปุ่น กับการจับนักเรียนชั้นม.ต้นที่กำลังจะจบการศึกษามาเข่นฆ่าให้เหลือคนเดียว สะท้อนและจิกกัดประเด็นปัญหาภายในสังคมญี่ปุ่น
  • เช่นเดียวกับภาพยนตร์จากนวนิยายยอดฮิต The Hunger game กับการนำเนื้อหาเกี่ยวกับชนชั้น การกดขี่ และระบบการปกครองมาบอกเล่าผ่านเกมเอาชีวิตรอด นำไปสู่สงครามปฏิวัติครั้งใหญ่ล้มล้างผู้ปกครองเดิม
  • นั่นคือจุดเชื่อมไม่ต่างกับ Squid game ว่าสุดท้ายสิ่งที่เป็นปัญหาให้เราต้องลุกขึ้นต่อต้าน อาจไม่ใช่ผู้เล่นหรือผู้เข้าแข่งขันด้วยกัน แต่เป็นคนที่กำหนดกติกาทั้งหลายต่างหาก

--------------------

*บทความมีการเปิดเผยเนื้อหาตอนจบของซีรีย์ Squid game

 

          กระแสแรงไปทั่วทุกมุมโลกกับซีรีย์เกาหลี Squid game ที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ฉายแสงให้วงการหนังเกาหลีประจักษ์บนเวทีโลกอีกครั้งนับจาก Parasite(2020) ได้รับรางวัลบนเวทีออสการ์เป็นต้นมา สร้างกระแสฮือฮาและโด่งดังเสียจนเกิดการจัดคาเฟ่ของซีรีย์นี้ในฝรั่งเศส รวมถึงบริษัทอินเตอร์เน็ทเกาหลีใต้จะทำการฟ้อง Netflix หลังซีรีย์เรื่องดังทำให้ปริมาณการส่งข้อมูลพุ่งเป็นจำนวนมหาศาล

 

          ในด้านความยอดเยี่ยมไม่ใช่เรื่องแปลก วงการบันเทิงเกาหลีชำนาญการนำประเด็นทางสังคมไปจนกระบวนการยุติธรรมของประเทศตัวเองมาวิพากษ์บนหน้าจออยู่ก่อน ตั้งแต่หนังของผู้กำกับบงจุนโฮเองอย่าง Memories of Murder เนื้อหาที่ว่าด้วยคดีฆาตกรรมต่อเนื่องเมืองฮวาซองที่ยังจับผู้ต้องหาไม่ได้นับแต่ปี 1986, The Host จากประเด็นสารพิษที่บริษัทใหญ่ทิ้งลงแหล่งน้ำโดยขาดความรับผิดชอบ และ Train to busan ภาพยนตร์ซอมบี้เรื่องดังที่มีการจิกกัดรัฐบาลด้วยเช่นกัน

          สำหรับ Squid game เป็นซีรีย์จำนวน 9 ตอน ออกฉายในเน็ตฟลิกในวันที่ 17 กันยายน 2021 จากกระแสความนิยมถล่มทลายขึ้นเป็นอันดับ 1 ของซีรีย์ในเน็ตฟลิก ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของแพลตฟอร์ม ที่สามารถนำเสนอซีรีย์แนว Battle royale กับเกมที่ให้ผู้เล่นรอดกลับออกไปคนเดียว ภายใต้สถานการณ์และเงื่อนไขที่กำหนดได้อีกครั้ง

 

          แต่ Squid game ไม่ใช่เรื่องแรกในการหยิบองค์ประกอบนี้มาใช้งาน แม้แต่ในเน็ตฟลิกเองยังมีซีรีย์ญี่ปุ่นเกี่ยวกับเกมมรณะอย่าง Alice in borderland ที่ได้รับอานิสงค์จากกระแสจนยอดผู้ชมพุ่งขึ้น แต่ก่อนหน้านั้นก็มีภาพยนตร์เรื่องอื่นนำเนื้อหาการแข่งขันเกมมรณะเหล่านี้มาตีความก่อนแล้วเช่นกัน
กระแสความนิยมในแบทเทิลรอยัลสู่แนวเกมยอดฮิตในปัจจุบัน(แต่ไม่ได้มีเนื้อหาใดๆ) ต้นฉบับ

ต้นกำเนิดของเกมแห่งความตาย Battle royale(2000)
          นี่คือต้นกำเนิดเกมแห่งความตายทั้งมวลที่เมื่อพูดถึงหนังแนวนี้ จะกี่ครั้งก็ต้องมีการหยิบมาพูดถึง Battle royale คือภาพยนตร์จุดกระแสความรุนแรงดิบเถื่อน สร้างแนวทางกระแสนิยมแบบใหม่ให้กับวงการ และกลายเป็นต้นแบบแรงบันดาลใจของภาพยนตร์ ซีรีย์ การ์ตูน หรือเกมอีกมากมายเกินกว่าจะกล่าวถึงได้หมด
 

          Battle royale เป็นภาพยนตร์ดัดแปลงจากนิยายที่ตีพิมพ์ในปี 1999 ด้วยฝีมือของนักเขียน Koushun Takami กับเนื้อหาในโลกอนาคตเมื่อเศรษฐกิจในประเทศญี่ปุ่นตกต่ำถึงขีดสุด รัฐบาลล้มเหลวไม่สามารถแก้ปัญหาของประเทศได้จนเกิดคนว่างงานกว่า 10 ล้านคน ทำให้เด็กจำนวนมากหลุดจากระบบการศึกษา กลายเป็นปัญหาสังคมขนานใหญ่ เกิดความรุนแรงและอาชญากรรมจากฝีมือวัยรุ่นขึ้นมากมาย รวมถึงการไม่เชื่องฟังผู้ใหญ่แพร่ระบาดไปทั่วทั้งประเทศ

          สิ่งเหล่านี้ผลักดันให้รัฐบาลคิดปฏิรูปกฎหมายการศึกษาเพื่อกำราบเด็กเหล่านี้ โดยอาศัยกฎหมาย Battle Royale Act เป็นที่มาในการนำเอานักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่สามจำนวน 42 คน หรือ หนึ่งห้องเรียน มาเข้าร่วมการแข่งขันที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อสั่งสอน และทำให้เด็กกลับมาอยู่ในร่องรอยอีกครั้ง ด้วยการบังคับให้เด็กนักเรียนทั้งห้องเข่นฆ่ากันเอง

 

          กติกาของเกมนี้เรียบง่ายโดยทุกคนจะถูกบังคับพาตัวไปบนเกาะร้างแห่งหนึ่งโดยสวมปลอกคอระเบิดติดตั้งไว้ พร้อมจะระเบิดเมื่อมีคำสั่งจากผู้คุมเพื่อบังคับให้ทุกคนต้องเล่นไปตามเกม โดยผู้เล่นจะได้รับการแจกอุปกรณ์ยังชีพจำพวกน้ำ อาหาร แผนที่ เข็มทิศ และอาวุธสุ่มกันไปตามแต่ละบุคคล

 

          เงื่อนไขของเกมมีกฎเหล็กคือ หนึ่งห้ามขัดขืนต่อต้านผู้ควบคุมเกม สองออกจากพื้นที่อันตรายที่กำหนดไว้ในแต่ละวัน สามภายใน 3 วันต้องเหลือผู้รอดชีวิตเพียงคนเดียวบนเกาะ หากไม่สำเร็จปลอกคอทุกอันจะระเบิดโดยอัตโนมัติ ทั้งหมดคือต้นสายปลายเหตุของการเข่นฆ่าและความตายที่เกิดขึ้น

 

          ในช่วงแรกการตีพิมพ์นิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องยาก ไม่ค่อยมีสำนักพิมพ์ใดยอมรับด้วยเนื้อหาความรุนแรงมากเกิน เช่นเดียวกับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์จากฝีมือของผู้กำกับ Fukasaku Kinji ที่หวิดโดนแบนอยู่หลายครั้ง เพราะการดัดแปลงเนื้อหาให้สมจริง ถ่ายทำบนเกาะฮาชิมะ รวมถึงความรุนแรงจัดเต็ม ทั้งในด้านเลือดสาด การใช้ถ้อยคำ หรือประเด็นทางด้านเพศ แต่สุดท้ายก็สามารถออกฉายและสร้างความนิยมถล่มทลายได้สำเร็จ

 

          สิ่งที่ทำให้ภาพยนตร์ได้รับการพูดถึงและตราตรึงกลับไม่ใช่ประเด็นความรุนแรง แต่เป็นเนื้อหาสะท้อนสภาพสังคมญี่ปุ่น วิพากวิจารณ์ระบบอาวุโส การเติบโตของเด็กข้ามผ่านสู่ความเป็นผู้ใหญ่ จนถึงสภาพจิตใจกับตัวตนของคนเราได้แยบคาย ว่าในสภาวะอันบีบคั้นธาตุแท้ของแต่ละคนจะผลักดันให้เราเกิดด้านมืดแบบใดขึ้นได้บ้าง

 

          นี่เองคือหัวใจหลักแห่งความยอดเยี่ยมท่ามกลางเปลือกนอกอันป่าเถื่อน เนื้อในกลับแอบแฝงไปด้วยการเสียดสีจิกกัด ขณะเดียวกันก็เป็นชั้นการเรียนการสอนตามคำบอก ทำให้ตัวละครในเรื่องซึ่งเป็นเยาวชนที่กำลังเติบโตเข้าใจถึงความโหดร้ายของโลกและสังคม หากอยากอยู่รอดจำเป็นต้องลุกขึ้นสู้ เพราะนั่นคือทางเดียวที่จะทำให้เรามีชีวิตอยู่ต่อไปได้

 

          กระแสของภาพยนตร์ Battle Royale ทำให้การเสียดสีสังคมในลักษณะนี้โด่งดังเป็นพลุแตก นำไปสู่สื่อหลายแขนงที่นำเนื้อหาเกมมรณะมาถ่ายทอด รวมถึงขยายประเด็นการนำเสนอจากปัญหาทางสังคมและช่วงวัย ให้ผู้แต่งนำเนื้อหาไปดัดแปลงเข้ากับแนวคิดและสภาพสังคมของตัวเองได้โดยอิสระ

ต้นฉบับที่จุดกระแสเกมแห่งความตายไปทั่วโลก           The Hunger game ยกระดับการตีความในเกมมรณะสู่ประเด็นทางชนชั้นและการต่อสู้ทางการเมือง
ถ้าจะพูดหนึ่งภาพยนตร์อีกเรื่องที่เป็นกระแสย่อมหนีไม่พ้นภาพยนตร์ชุด The Hunger game ทั้ง 4 ภาคจากหนังสือ 3 เล่ม กับเนื้อหาในโลกอนาคตที่โลกกลายเป็นยุคมืด ผู้คนถูกแบ่งออกเป็น 13 เขตภายใต้การปกครองจากส่วนกลาง แคปปิตอล อาศัยการกดขี่ใช้กำลังทหารเข้าควบคุมสร้างความไม่พอใจแก่ผู้คนทั่วหน้า แต่ด้วยเขต 13 ถูกกวาดล้างจนราบคาบทำให้ไม่มีใครกล้าลุกขึ้นมาต่อต้านอีก

 

          หนึ่งในธรรมเนียมสำคัญประจำปีของแคปปิตอลคือการให้คนเข้าร่วม Hunger game การแข่งขันแบทเทิลรอยัลถ่ายทอดสดที่ผู้เข้าแข่งขันต้องฆ่าฟันเพื่อเอาชีวิตรอด โดยอาศัยการจับฉลากเพื่อหาผู้ร่วมแข่งขัน ในครั้งที่ 74 นั่นเอง แคตนิส เอเวอร์ดีน ก็ได้อาสาเข้าร่วมการแข่งขันนี้แทนน้องสาว ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่เปลี่ยนทุกอย่างไปตลอดกาล

 

​​​​​​​          แน่นอนว่าเรื่องนี้ก็ได้รับการดัดแปลงจากนิยายก่อนกลายมาเป็นภาพยนตร์ดังเช่นกัน จึงมีรายละเอียดจำนวนมากที่ไม่ได้พูดถึงจากการถูกดัดแปลงให้เข้ากับเนื้อหาบนแผ่นฟิล์ม กระนั้นมันก็ถ่ายทอดหัวใจสำคัญของเนื้อเรื่อง ด้วยชีวิตยากแค้นของเด็กสาวที่ต้องเลี้ยงดูครอบครัว ก่อนกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อต้านจากความหัวขบฎของเธอเอง

 

​​​​​​​          เกมมรณะภายในเรื่องคือการต่อสู้ในสนามประลองพิเศษที่ถูกสร้างขึ้น จุดหมายคือค้นหาผู้ชนะและอยู่รอดเป็นคนสุดท้าย โดยมีผู้เข้าร่วมจากทุกเขตมารวมตัวตั้งแต่ 1-12 เป็นคู่ชายหญิงอย่างละคน ตลอดการแข่งขันจะมีการถ่ายทอดสดออกไปให้ทุกเขตได้รับชมรวมถึงคนในแคปปิตอลเอง กับเทศกาลนองเลือดที่นำผู้คนจากต่างถิ่นมาเผชิญหน้าเป็นประจำทุกปี

 

​​​​​​​          เห็นได้ชัดว่าเทศกาลนองเลือดสร้างความหวาดกลัวนี้ ทางหนึ่งคือเครื่องมือใช้ควบคุมผู้คน ด้วยกฎกติกาที่แคปปิตอลสามารถตัดสินเป็นตาย เปลี่ยนแปลง แก้ไขกฎอย่างไรก็ได้ ให้ความรู้สึกเหมือนแคปปิตอลหรือส่วนกลางเป็นผู้กำหนดควบคุมชีวิตเบ็ดเสร็จ ขณะเดียวกันก็เป็นการปลูกฝังสร้างความแตกแยกให้แก่แต่ละเขตเข่นฆ่าลูกหลานพี่น้องของตนไปพร้อมกัน

 

​​​​​​​          เช่นเดียวกับการหยิบประเด็นทางด้านสื่อที่ถูกจิกกัด โดยนำเสนอการฆ่าฟันเหล่านี้ผ่านมุมมองของเกมโชว์ นอกจากจะถูกนำมาถ่ายทอดให้รับชมเพื่อความบันเทิงของผู้คน ยังมีการจ่ายเงินเพื่อสนับสนุนทรัพยากรให้แก่ผู้เข้าแข่งขันได้โดยตรง ประหนึ่งว่าผู้เข้าแข่งไม่ใช่คนแต่เป็นสิ่งสร้างความบันเทิงบนหน้าจอ 

 

​​​​​​​          แต่ส่วนที่โดดเด่นที่สุดกลับเป็นการแบ่งแยกทางชนชั้น ระหว่างคนภายใต้เขตการปกครองต่างๆ ที่ต้องเป็นคนยากจนไม่มีอันจะกิน แบกรับภาระและงานอันตรายทั้งหลายไว้ด้วยค่าแรงอันน้อยนิดเพื่อเอาชีวิตรอดไปในแต่ละวัน จนทำให้แคตนิสต้องออกไปล่าสัตว์หาอาหารเลี้ยงปากท้องกลายเป็นความเชี่ยวชาญด้านธนู รวมถึงสภาพความเป็นอยู่อันแร้นแค้นยากและอดอยาก

 

​​​​​​​          ตรงข้ามกับสิ่งที่แคตนิสได้พบหลังเอาชีวิตรอดในเกมมรณะได้สำเร็จ ชีวิตความเป็นอยู่และฐานะทางการเงินไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป ทำให้เธอมีโอกาสได้เห็นความฟุ้งเฟ้อของบรรดาคนจากแคปปิตอลกินอาหารทิ้งขว้าง ท่ามกลางผู้คนในเขตปกครองมากมายที่ยังอดอยาก สิ่งเหล่านั้นบ่มเพาะความไม่พอใจต่อผู้คนนำไปสู่กระแสการล้มล้างในที่สุด

 

​​​​​​​          ที่ขาดไปไม่ได้เช่นกันคือสัญลักษณ์การต่อต้านที่ยังมีชีวิตรอดอย่างตัวแคตนิสเอง นอกจากความรู้สึกต่อต้านไม่ยินยอมในการแสดงออกตั้งแต่ช่วงแสดงความสามารถหาผู้สนับสนุน เธอไม่ยินยอมทำสิ่งตามครรลองนำไปสู่การดื้อดึงทำให้ตัวเองและพีต้าที่อยู่เขต 12 ด้วยกันรอดชีวิตออกมาได้ กลายเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านอำนาจของแคปปิตอลไปในที่สุด

The Hunger game ภาพยนตร์ที่หยิบเอาเกมมรณะมาถ่ายทอดประเด็นทางการเมืองและชนชั้น           สิ่งเชื่อมโยงเมื่อตัวเอกย้อนกลับมาตั้งคำถาม อะไรกันแน่ที่เป็นปัญหาระหว่างตัวเขากับระบบ?
การตีความของเกมมรณะจากภาพยนตร์รุ่นพี่ที่ทั้งเรื่องคือการแสดงอำนาจของภาครัฐ ที่คิดอาศัยกำลังและความรุนแรงเข้าควบคุมการดำเนินชีวิตของวัยรุ่น อาจมีความหมายแอบแฝงแตกต่างกันแต่ชัดเจนว่านี่คือตัวแทนอำนาจยิ่งใหญ่เหนือผู้เล่น บีบบังคับให้ทุกคนต้องร่วมยินยอมเล่นเกมอย่างไม่เต็มใจเพื่อเอาชีวิตรอดไปให้จงได้

 

​​​​​​​          แต่ Squid game กลับทำในสิ่งแตกต่างออกไปในตอนสองที่ให้โอกาสผู้เล่นออกจากเกม ยุติการเล่นเกมมรณะไว้เพียงเท่านี้ ให้กลับไปใช้ชีวิตไม่ต้องเสี่ยงตายแต่ใช้การบังคับทางอ้อมอย่างมีชั้นเชิง อาศัยฐานะทางการเงิน ภาระหนี้สิน ความอับจนหนทางด้านเศรษฐกิจของผู้เล่นมาบีบคั้น ทำให้พวกเขาได้ผู้เล่นที่เต็มใจเสี่ยงตายภายใต้เกมมรณะนี้ในที่สุด

 

​​​​​​​          กระนั้นสิ่งที่เหมือนกันคือเมื่อเรื่องดำเนินมาถึงจุดหนึ่ง ตัวเอกต่างสงสัยและตั้งคำถามถึงความเป็นมนุษย์ของตัวเอง ต้องแบกรับความรู้สึกผิดไว้กับตัวขณะที่เป็นผู้รอดชีวิตหลังจากมือเริ่มเปื้อนเลือด สุดท้ายคือตั้งคำถามว่าทำไมพวกตนถึงต้องมาอยู่ในจุดนี้? อะไรผลักดันพวกเขามาถึงนี่กัน? และต้นตอของปัญหาจากความทุกข์ใจมันเกิดจากอะไรกันแน่?

 

​​​​​​​          แม้มีจุดเริ่มต้นและรูปแบบการนำเสนอแตกต่างกัน สุดท้ายคำตอบที่ทั้งสามเรื่องตอบแก่ผู้ชมคือการแข็งขืนผู้มีอำนาจควบคุมเกม ทั้ง Battle Royale เหล่านักเรียนเริ่มหันปืนเข้าเผชิญหน้าอาจารย์ผู้ควบคุมเกม ใน The Hunger game กับการลุกฮือไม่พอใจการปกครองของผู้คนนำไปสู่การปฏิวัติ หรือ Squid game ตอนจบที่ตัวเอกตัดสินใจหันหลังให้การเดินทางไปหาลูก กลับมาเผชิญหน้ากลุ่มผู้สร้างเกมเพื่อช่วยเหลือคนอับจนหนทางไม่ให้เป็นเหยื่อแบบเขาอีก

 

​​​​​​​          นั่นก็อาจเป็นสารอย่างหนึ่งที่บรรดาผู้ทำเกมต้องการสื่อให้เราเห็น สุดท้ายเราก็ต้องหาทางแก้ไขลองทำอะไรสักอย่างกับการเอารัดเอาเปรียบหรือปัญหาในสังคมเข้าสักทาง เพราะหากเราปล่อยผ่านปัญหาเหล่านั้นอยู่ร่ำไป มันก็จะเป็นสิ่งที่ย้อนกลับมาทำร้ายเราถึงแก่ชีวิตเข้าสักวัน

 

​​​​​​​          คำตอบที่ถูกต้องจึงอาจเป็นการลองลุกขึ้นสู้กับสิ่งเหล่านี้ดูสักตั้งแบบที่บรรดาตัวเอกทั้งหลายทำให้เราดูก็เป็นได้

 

เกรียงไกร เรืองทรัพย์เดช

การหันหลังกลับมาของตัวเอกกับเจตนาในการลุกขึ้นสู้กับผู้สร้างเกม -------------------- 
ที่มา:

logoline