svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

รถบินได้ อีกไกลแค่ไหน ฝันนี้ถึงจะเป็นจริง?

08 ตุลาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เมื่อบริษัททางการเงินประเมินว่าธุรกิจ ‘รถบินได้’ จะมีมูลค่าสูงกว่า 5 หมื่นล้านบาทในปี 2040 .. หรือความฝันของคนที่จะมี ‘รถเหาะได้’ มีมาหลายศตวรรษจะเกิดขึ้นแล้วจริงหรือไม่ นี่คือ 5 เหตุผลสำคัญที่ทำไมตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารถบินได้ถึงยังไม่เคยเกิดขึ้นบนโลก ...

Highlights

  • บริษัททางการเงินประเมินว่าธุรกิจ ‘รถบินได้’ จะมีมูลค่าสูงกว่า 5 หมื่นล้านบาทในปี 2040 
  • การแข่งขันเพื่อบุกเบิกตลาดรถบินได้เป็นเจ้าแรกของโลก และการขยับตัวของธุรกิจรถบินได้ใน ค.ศ.2021
  • 5 เหตุผลสำคัญทำไมที่ผ่านมารถบินได้จึงไม่เคยเกิดขึ้นจริงบนโลก ทั้ง ๆ ที่มันก็ไม่ได้ยาก!

--------------------

          เรามีเครื่องบินซึ่งมีขนาดใหญ่กว่ารถหลายสิบเท่าบินอยู่บนท้องฟ้า ในความสูงที่แทบจะมองไม่เห็น .. เรามีจรวดและยานขนส่งอวกาศที่สามารถบินไปนอกโลกแล้ว .. แต่เคยคิดมั้ยว่าทำไมเรายังไม่เคยนั่ง ‘รถบินได้’ สักที ทั้งๆที่มันก็มีขนาดเล็ก และไม่ได้ต้องการการบินที่ไกลและมีระดับความสูงมากนัก 

 

          อย่างไรก็ตามในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็เป็นช่วงเวลาที่วงการ ‘รถบินได้’ คึกคักมากเป็นพิเศษ เริ่มต้นจากการที่บริษัททางการเงินและการลงทุนระดับโลกอย่าง Morgan Stanley ออกมาบอกว่าอุตสาหกรรม ‘รถบินได้’ จะทำร้ายได้มหาศาลและมีเงินสะพัดกว่า 5 หมื่นล้านบาทในปี 2040 หรืออีกแค่ 20 ปีข้างหน้า!  ซึ่งจุดชนวนให้บริษัทต่าง ๆ ต่างเข้ามาแข่งขันและพัฒนานวัตกรรมนี้ เพื่อเป็นคนแรกในตลาดที่มีส่วนแบ่งสูง บนท้องฟ้าที่ยังโล่งกว้างและเป็นตลาดใหม่ที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ!  

 

          อย่างเช่นเมื่อเดือนมิถุนายนปีนี้ บริษัท Klein Vision ในประเทศสโลวาเกียได้ทดลองขับรถต้นแบบ Air car ซึ่งใช้เวลาพัฒนายาวนานตั้งแต่ยุค 1980 เป็นรถที่มีรูปทรงสปอร์ต สามารถวิ่งบนถนน พับปีกเข้าหาลำตัวได้ ใช้เวลาแปลงร่างจากรถยนต์ธรรมดาให้มีปีกออกมา 2 นาที 15 วินาที ใช้เวลาทดลองบินบนฟ้า 35 นาที รวมระยะทางกว่า 120 กิโลเมตร 

Air car ที่ทำการทดลองบินสำเร็จเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

          และเมื่อไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมาบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านรถยนต์ในเอเชียอย่าง Honda ก็ประกาศแผนพัฒนาและผลิต ‘HondaJet’ ตัวต้นแบบในปี ค.ศ.2023 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า และกำหนดที่จะเข้าสู่วงจรการผลิตแบบเต็มรูปแบบในปี ค.ศ.2030 ซึ่งจะสามารถบินได้ไกลกว่าที่โลกเคยผลิตออกมากว่า 4 เท่า หรือสามารถบินได้ระยะทางกว่า 400 กิโลเมตร

 

          ดูเหมือนว่าปี ค.ศ.2030 จะเป็นหมุดหมายสำคัญของบริษัทต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง .. เมืองลอสแอนเจลิสได้กลายเป็นเมืองอันดับต้น ๆ ของโลกที่จะมีบริการแท็กซี่ Urban Air Mobility หรือ ‘บริการแท็กซี่ทางอากาศส่วนบุคคล’ ซึ่งมีแผนการณ์ที่จะเกิดขึ้นในปี ค.ศ.2030 เช่นกัน ภายใต้กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่อย่างฮุนได ซึ่งนอกจากจะเอาจินตนาการมาจากรถบินได้ ที่ถูกปรับให้เป็น VTOL หรือ Vertical Takeoff and Landing มีลักษณะเป็นเครื่องบินแท็กซี่ขนาดเล็กแล้ว ยังออกแบบ Hub สำหรับการจอดรวมไปถึงรถ Shuttle bus รับส่งผู้คน ...เรียกได้ว่าครบวงจร  ซึ่งตอนนี้อยู่ภายใต้การพูดคุยและทำงานร่วมกันกับสภาเมืองลอสแอนเจลิส 

 

          อย่างไรก็ตามแม้เมืองลอสแอนนเจลิสจะมีทีมที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลการคมนาคมทางอากาศส่วนบุคคลโดยเฉพาะ แต่ก็ยังคงไม่มีนโยบายใดออกมาอย่างชัดเจน ยิ่งไปกว่านั้นคนจำนวนมากและสื่อต่างตั้งคำถามหลายอย่างกับนวัตกรรมที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นจริงนี้ ภายใต้ความกังวลใจมากมายมหาศาลซึ่งได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ‘รถบินได้’ ยังไม่เคยเกิดขึ้นบนโลก

 

          คำถามคือ ทำไม?

รถบินได้ อีกไกลแค่ไหน ฝันนี้ถึงจะเป็นจริง?

เทคโนโลยีที่ยังไปไม่ถึง
          ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงแรก คือ ความต่างของรถที่ขับเคลื่อนบนท้องถนน และรถที่บินได้บนท้องฟ้า .. ในขณะที่รถที่บินได้ต้องการความเบาและแคบเพื่อที่จะยกตัวขึ้นไปบนอากาศ แต่รถบนท้องถนนกลับต้องการความกว้างและน้ำหนักมากพอที่จะสร้างความสมดุลให้รถเกาะบนถนน และแข็งแรงมากพอที่จะปกป้องคนในรถในกรณีการถูกชน ... ในขณะเดียวกันเวลาเราขับรถก็ต้องการมองวิวด้านข้างแต่กระจกที่ติดรอบรถนั้นกลับสร้างแรงต้านที่ไม่จำเป็นเมื่อบินอยู่บนอากาศ นอกจากนี้พอมีปีกเพิ่มขึ้น ก็ต้องการระบบแรงส่งที่มากขึ้น แต่ถ้าหากทำให้ปีกเล็กลงรถก็จะบินไม่ขึ้นอีก 

 

          นอกจากนี้ยังมีปัญหาในเรื่องของแบตเตอรี่  แต่เดิมรถบินได้จะใช้เครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนเป็นน้ำมัน แต่เมื่อมีการเปลี่ยนเทคโนโลยีไปใช้ไฟฟ้า ซึ่งมีความเสถียร ประหยัดทรัพยากรและประหยัดเงินได้มากกว่า ปัญหาหลักที่สำคัญคือแบตเตอรี่นั้นมีน้ำหนักค่อนข้างมาก ถ้าอยากจะบินไกลก็ต้องมีแบตเตอรี่ที่ใหญ่พอติดกับรถ แต่ถ้าหนักมากก็จะมีปัญหาเรื่องการบินขึ้นอีก เพราะฉะนั้นก็ต้องการแบตเตอรี่ที่จะสามารถแวะชาร์ตได้ไว

 

          ซึ่งการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ต้องการเงินและเวลามหาศาล  .. 

 

          ตามประวัติศาสตร์ของการพัฒนารถบินได้ เราจึงพบเจอกับบริษัทที่ต้องพับโปรเจ็กต์เพราะติดปัญหาการเงินไปไม่น้อย หรือใช้เวลานานกว่าที่จะสำเร็จ อย่างเช่นรถ Air car ของสโลวาเกียนั้นก็ใช้เวลากว่า 40 ปี กว่าที่จะได้รถต้นแบบที่สำเร็จตามที่เคยจินตนาการไว้

 

          หนึ่งในพัฒนาที่สำคัญด้านเทคโนโลยีก็คือ การค้นพบวัสดุ ‘คาร์บอนไฟเบอร์’ ซึ่งมีคุณสมบัติทนทานแต่มีน้ำหนักเบา ทำให้เมื่อนำมาสร้างเป็นรถยนต์บินได้ก็จะช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องของน้ำหนักและความแข็งแรงไปพร้อม ๆ กัน  .. การค้นพบที่สำคัญอีกประการคือสร้างแบตเตอรี่ที่สามารถรองรับกับนวัตกรรมนี้ ซึ่งในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาที่มหาวิทยาลัยรัฐเพนซิลวาเนีย ได้มีการประดิษฐ์แบตเตอรี่ตัวต้นแบบที่สามารถใช้เวลาชาร์ตเพียง 10 นาทีเท่านั้นและบินได้ราว 80 กิโลเมตร

 

เงินที่ลงทุนมหาศาล
          มีการคาดการณ์ว่ารถคันหนึ่งต้องลงทุนกว่า 30 ล้านบาทเป็นอย่างต่ำ! ซึ่งทำให้รถบินได้กลายเป็นเพียงของเล่นของคนรวย และทำให้ไม่มีนักลงทุนคนไหนประสบความสำเร็จกับมันมากนัก เพราะไม่เห็นอนาคตทางธุรกิจยกเว้นเอาเงินไปละลายน้ำ

 

          อย่างไรก็ตามต้องขอบคุณไลฟ์สไตล์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก ที่ทำให้เรามีบริการเรียกรับแท็กซี่อย่าง Uber หรือ Grab เพราะมันเป็นแนวคิดทางธุรกิจที่เปลี่ยนความคิดนี้ไปอย่างสิ้นเชิง ... ก็แล้วทำไมไม่ทำเป็นแท็กซี่ซะล่ะ? เพราะบริษัทเหล่านี้สามารถลงทุนได้และสามารถทำกำไรจากมันได้ด้วย และนี่จึงทำให้ Uber เป็นหัวหอกสำคัญของโลกที่ผลักดันธุรกิจ ‘รถบินได้’ ในทศวรรษนี้ พวกเขามองโมเดลที่จะเกิดขึ้นเป็นโมเดลแท็กซี่ส่วนบุคคลบนท้องฟ้า ที่มีไว้สำหรับบริการประชาชนคนธรรมดา และจะริเริ่มในเมืองใหญ่ก่อน 

 

          Uber มองข้ามรูปลักษณ์ภายนอกไปอย่างสิ้นเชิง พวกเขาไม่ต้องการรถที่วิ่งบนท้องถนน เพียงแต่ต้องการแท็กซี่ที่บินได้ โดยพัฒนา VTOL หรือ Vertical Takeoff and Landing เครื่องบินลำเล็กที่สามารถเทคออฟได้โดยการยกตัวขึ้นเหมือนโดรนหรือเฮลิคอปเตอร์ และใช้เชื้อเพลิงเป็นไฟฟ้าแทนการใช้น้ำมัน ซึ่งได้ความเสถียรของระบบมากกว่า อีกทั้งยังไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องยนต์แบบ Jet เข้ามาเกี่ยวข้อง  ทำให้ค่าใช้จ่ายในการผลิตมีต้นทุนที่ต่ำลง และที่สำคัญคือขจัดปัญหาเรื่องเสียงจากเครื่องยนต์แบบ Jet ที่เป็นปัญหายาวนานมาหลายทศวรรษ

Uber VTOL  ปัญหาสิ่งแวดล้อม
          แต่เดิมเครื่องยนต์แบบ Jet ที่ถูกนำมาใช้ในการสร้างรถบินได้ก่อให้เกิด ‘เสียงดัง’ เหมือนเวลาที่เราได้ยินเสียงเครื่องบิน 

 

          แม้ว่าจะเบากว่านั้นเล็กน้อย แต่ลองจินตนาการถึงการใช้ชีวิตโดย มีเครื่องบินลำเล็ก ๆ ลอยอยู่บนหัวคุณเต็มไปหมดในระยะที่ไม่ไกลมาก นั่นอาจะทำให้เกิดมลพิษทางเสียง และสร้างความหงุดหงิดพอสมควร .. และเพราะเรื่องเสียงนี่แหละที่ทำให้    อีลอน มัสก์ เจ้าพ่อนวัตกรรมพลิกโลก ไม่ได้สนใจที่จะลงทุนกับรถบินได้สักเท่าไหร่ แม้ว่าจะทำได้ก็ตาม  

 

          จนกระทั่งได้เกิดการนำระบบไฟฟ้ามาใช้ ซึ่งทำให้ปัญหาเรื่องเสียงลดลงอย่างมากแต่ก็ไม่ทั้งหมด เมื่อเทียบกับเครื่องบินโบอิ้ง 747 ซึ่งจะให้ความดังเสียง 100 เดซิเบลเป็นระยะทางไกลกว่า 3 กิโลเมตร แต่ VTOL ที่ถูกออกแบบมานี้จะมีความดังของเสียงตอนออกตัวราว 65 เดซิเบล เป็นระยะทาง 75 เมตร ซึ่งแม้จะลดระดับเสียงลงแล้วแต่ก็ถือว่ายังเป็นปัญหาที่ท้าทายเป็นอย่างมาก   ล่าสุดบริษัทฮอนด้าได้ออกมาเปิดเผยว่าพวกเขากำลังพัฒนา HondaJet ที่จะมีเสียงเบามากแน่นอน ก็คงต้องรอลุ้นกันว่าในปี ค.ศ.2023 ที่ฮอนด้าจะออกตัวต้นแบบมาให้ยลโฉมกันจะเบาอย่างที่เคลมขนาดไหน

 

          นอกจากเรื่องเสียง บริการทางอากาศที่พัฒนาขึ้นก็โปรโมทว่านวัตกรรมนี้เหมาะกับโลกที่ต้องการสิ่งที่ดีกว่าเพื่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเครื่องยนต์ไม่ได้ใช้น้ำมัน  อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้บนท้องถนนในระยะการเดินทาง 100 กิโลเมตร เราจะพบว่ามันใช้พลังงานไฟฟ้าไปมากกว่ารถยนต์ไฟฟ้าบนถนน และแม้จะรักษ์โลกโดยไม่ใช้น้ำมัน แต่การผลิตไฟฟ้าหรือแบตเตอรี่ก็ใช้ทรัพยากรจากแร่ธาตุที่มากขึ้นเช่นกัน Velocopter หรือเครื่องบินลำเล็กที่จะให้บริการแบบสาธารณะ ออกแบบและพัฒนาโดยบริษัทฮอนด้า

ความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน
          โลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร? คือสิ่งที่ต้องคิดถึง ย้อนไปไม่ไกลมากเมื่อมีการเกิดขึ้นของ Internet ในทุกวันนี้เราก็แทบจะพบเจอปัญหาใหม่ ๆ ล้านแปดที่เกิดขึ้นจากการสื่อสารที่ไร้พรมแดน แล้วนวัตกรรมใหม่ที่จะเกิดขึ้นนี้ล่ะจะส่งผลต่อชีวิตผู้คนอย่างไรบ้าง

 

          เริ่มกันที่โครงสร้างและนโยบาย

 

          เราจะจัดการระบบการขับขี่บนท้องฟ้าอย่างไร เลนถนนก็ไม่มี แล้วคนขับจะต้องมีใบขับขี่ใช่หรือไม่ ใครจะเป็นผู้สอน? ที่จอดรถจะรองรับได้หรือไม่ สถานีชาร์ตไฟฟ้าก็ต้องมีให้รองรับ จะมีตำรวจจราจรบนอากาศหรือไม่ แล้วกฏหมายที่จะควบคุมการขับขี่ที่มีประสิทธิภาพจะเป็นอย่างไร พร้อมใช้ได้เมื่อไหร่ เพราะจากประวัติศาสตร์กฏหมายของอากาศยาน เช่น เครื่องบินนั้นกว่าจะลงตัวได้ก็ปาเข้าไปร้อยกว่าปี  สิ่งเหล่านี้เป็นโจทย์ใหญ่ ที่เข้ามากระทบกับการบริหารงานของรัฐอย่างเต็ม ๆ คำถามคือสังคมพร้อมมั้ย ประเทศพร้อมมั้ย โลกพร้อมมั้ย และการมีรถบินได้นั้นคุ้มหรือไม่กับทรัพยากรและเวลาที่เราจะต้องเตรียมให้กับมัน
          …..
          ความคุ้มค่าก็ต้องคิดบนพื้นฐานประโยชน์ที่ได้  เราจะได้อะไรจาก ‘รถบินได้’ หรือ ‘บริการแท็กซี่บนฟ้า’ บ้าง? ทุกวันนี้รถบินได้สามารถบินได้ระยะทางที่ปลอดภัยติดต่อกันเพียง 120 กิโลเมตร ( 400 กิโลเมตรสำหรับรถยนต์ฮอนด้าที่จะออกมาในปี 2023 ) ซึ่งเป็นระยะทางไม่ไกลมากนัก เอาเป็นว่าจากกรุงเทพฯไปเชียงใหม่ก็ยังไม่ได้ และไม่ต้องคิดถึงการบินข้ามประเทศเพราะมันจะกระทบกับปัญหาเรื่องกฏหมายของการบินระหว่างประเทศ ซึ่งจะยิ่งเป็นเรื่องราวใหญ่โตมหาศาล

 

          ถ้าถามถึงปัญหารถติด ปัจจุบันมีรถจักรยานไฟฟ้า หรือขนส่งสาธารณะที่ก็อำนวยความสะดวกให้เราได้ในระดับหนึ่งและไม่สร้างมลพิษให้แก่โลกเกิดขึ้นมากมาย คำถามคือแล้วเราจะยอมลงทุนเปลี่ยนโครงสร้างเมือง และลงเงินอีกมากเพื่อ ‘รถบินได้’ นั้นจะคุ้มค่ากับประโยชน์หรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ต้องคิดให้หนัก


ความปลอดภัย
          อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากการโดยสารทางอากาศมีสถิติน้อยกว่าการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนอยู่มาก .. แต่ถ้าหากมี ‘รถบินได้’ อะไรจะเกิดขึ้น?  คุณจะต้องเจอกับคนที่ขับไปด้วยเล่นมือถือไปด้วย ต่อให้เป็นรถบินได้ก็ตาม คุณจะต้องเจอคนที่ขับขี่แย่ ๆ อีกล้านแปดเช่นกัน และเมื่อมันสามารถเข้าถึงได้ด้วยบุคคลธรรมดา ท้องฟ้าคงเต็มไปด้วยรถบินได้ไม่ต่างจากบนดิน

 

          สิ่งที่สำคัญคืออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนั้นอันตรายและมีความรุนแรงกว่ามาก เพราะมันคือการตกจากท้องฟ้า ไม่นับรวมกับสิ่งที่รถบินได้จะตกใส่ด้านล่าง 

 

          แต่บริษัทผู้ผลิตก็ไม่ย่อท้อที่จะคิดค้นหาทางออกให้ โดยการสร้างระบบขับขี่อัตโนมัติ เพื่อลดอุบัติเหตุที่เกิดจาก Human Error  เพราะจากสถิติพบว่าร้อยละ 80 ของอุบัติเหตุทางอากาศเกิดขึ้นจากความผิดพลาดของมนุษย์! อย่างไรก็ตามก็มีข้อกังวลใจเกี่ยวกับความปลอดภัยที่มาพร้อมกับระบบอัตโนมัติ โดยเฉพาะการจารกรรมทางไซเบอร์ การแฮ็คระบบ ที่ก็ยังคงมีให้เห็น รถบินได้ยุคแรก ๆ สร้างโดย Jess Dixon 

          …
          มาถึงวันนี้ รถบินได้ คงไม่ใช่นวัตกรรมที่ไกลเกินเอื้อมของมนุษย์อีกต่อไป

 

          เราเดินทางมากับจินตนาการที่จะมี ‘รถเหาะได้’ มานานนับศตวรรษ และผู้เขียนคิดว่ามันคงเกิดขึ้นในเร็ววันนี้

 

          เพราะจินตนาการของมนุษย์นั้น มีพลังมหาศาลที่จะขับเคลื่อนโลกใบนี้เสมอ อย่างที่มีคนเคยกล่าวไว้ว่า

 

          ‘1 ไมล์บนท้องถนนก็แค่พาคุณไปได้ไกลแค่ 1 ไมล์ .. แต่ 1 ไมล์บนท้องฟ้าทำให้คุณไปที่ไหนก็ได้ทุกที่’

 

          แต่การเกิดขึ้นของนวัตกรรมประเภทหนึ่ง ย่อมต้องคิดให้รอบถึงผลกระทบที่จะตามมาในเชิงโครงสร้างและสังคมด้วย

 

          เพราะไม่ว่ามันจะไฮ-เทคขนาดไหน แต่หัวใจสำคัญของนวัตกรรมที่ดี คือนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคม และทำให้สังคมเติบโตได้อย่างยั่งยืน ไม่ใช่แค่เพียงตอบสนองต่อจินตนาการของใครบางคน หรือผลประโยชน์แค่กับคนเพียงบางกลุ่มเท่านั้น .. เพราะไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมใด ทรัพยากรที่ใช้ก็คือทรัพยากรที่เราใช้ร่วมกัน

 

พีร์ญาดา ประสูตร์แสงจันทร์

--------------------

ที่มา:

logoline