เพิ่ม nation online
ลงในหน้าจอหลักของคุณ
Highlights
--------------------
กระแสของ Squid Game เล่นลุ้นตาย สามารถเรียกได้ว่าโด่งดังเป็นพลุแตก ต่อให้คนที่ไม่เคยดูซีรีส์ก็ต้องเคยเห็นภาพหรือมีมต่างๆผ่านตาตามโลกโซเชี่ยลกันมาบ้าง ซีรีส์จากแดนกิมจิเรื่องนี้สามารถไต่เต้าขึ้นเป็นอันดับที่ 1 บนเน็ตฟลิกซ์แม้จะมีความยาวเพียงแค่ 9 ตอนเท่านั้น และกระแสความดังนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะอยู่แค่ในโซนเอเชีย เพราะกระแสตอบรับยังมีมากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก แม้แต่ซีอีโอจากเน็ตฟลิกซ์อย่าง เท็ด ซารานดอส (Ted Sarandos) ยังออกมาเอ่ยปากชมด้วยตัวเองว่า Squid Game เป็นซีรี่ส์ที่มีคนดูมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา และสาเหตุของความดังขนาดนี้ก็เป็นที่น่าหยิบมาวิเคราะห์เป็นอย่างยิ่ง
แฝงปรัชญาชีวิตกับเกมง่ายๆ แต่ถึงตายถ้าไม่ชนะ
Squid Game หยิบเอาเกมง่ายๆที่คนเกาหลีทุกคนคุ้นเคยเป็นอย่างดีมานำเสนอ ด้วยความที่เป็นเกมง่ายๆ บทลงโทษของผู้แพ้ในชีวิตจริงจึงไม่ได้มีความเลวร้าย แต่กลับกัน กฎการเล่นใน Squid Game สามารถเล่นกับอารมณ์คนดูให้ร่วมลุ้นระทึกได้ดีพอสมควร เพราะหากตัวละครตัวไหนเล่นเกมแพ้แล้วล่ะก็ ชีวิตพวกเขาก็จะต้องเป็นอันจบสิ้นโดยทันที
แม้กฎการเล่นจะแลกด้วยชีวิต แต่หลายคนดูแล้วก็คงจะตะขิดตะขวงใจพอสมควรว่าเกมพวกนี้มันง่ายเกินไปไหม เกมแบบนี้จะวัดความสามารถอะไรได้ ยกตัวอย่างเช่นเกมแกะแผ่นน้ำตาล ทัลโกนา (Dalgona) เมื่อแต่ละคนเปิดกล่องออกมาแล้วก็จะได้รับรูปต่างๆที่มีความยากง่ายต่างกันออกไป ซึ่งก็อดคิดไม่ได้ว่าจะเหมือนเกมวัดดวงเสียมากกว่า
แต่หากลองย้อนกลับมาเทียบกับชีวิตเรานอกจอแล้วกลับมีความคล้ายคลึงกันอย่างบอกไม่ถูก การดำเนินชีวิตของเราก็เหมือนกับเกมส์วัดดวง แต่ละคนล้วนได้รับอุปสรรคความยากง่ายในการดำเนินชีวิตที่ต่างกัน ทั้งต้นทุนชีวิต สภาพแวดล้อม ครอบครัว ที่ทุกอย่างเหมือนการสุ่มเลือกแล้วแต่ว่าใครจะได้เกิดมาใช้ชีวิตแบบไหน
ส่วนอีกเกมหนึ่งที่ดูแล้วเรารู้สึกว่าแทบจะไม่มีอะไรเลยอย่างเกมลูกแก้ว ก็สามารถสะท้อนปัญหาการถูกหักหลังจากคนที่เราไว้ใจที่สุดได้ เมื่อมีผลประโยชน์เข้ามาแทรกแซงในความสัมพันธ์ ทุกคนก็พร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์นั้น แน่นอนว่าเหตุการณ์นี้ก็เกิดขึ้นบ่อยในชีวิตจริงของเราเช่นกัน
ในยุคหลังๆเราอาจได้เห็นพัฒนาการของการสร้างตัวละครมากขึ้นเพื่อเน้นตีแผ่ความจริงของมนุษย์ทั้งความโกรธ ความกลัว ความโลภ ไม่มีใครที่ดีไปทั้งหมด และไม่มีใครที่แย่ไปทั้งหมด ซึ่ง Squid Game ก็มีการปูพื้นฐานตัวละครมาได้อย่างดี สะท้อนถึงปัญหาคนชายขอบของสังคมที่ต้องดิ้นรนเอาตัวรอดและไม่ค่อยมีใครหยิบมานำเสนอถึงสักเท่าไหร่ ตัวละครแต่ละตัวมีปมในชีวิตที่แตกต่างกันออกไปจึงไม่แปลกที่การแสดงออกของแต่ละคนย่อมไม่มีใครเหมือนใครแน่นอน
ในสังคมเกาหลีใต้การแข่งขันในเรื่องต่างๆตั้งแต่เกิดจนสิ้นอายุขัยถือได้ว่ามีสูงมากๆ ทุกคนจึงต้องพยายามถีบตัวเองเพื่อให้ได้เข้าเรียนยังโรงเรียนชั้นนำ มหาวิทยาลัยชื่อดัง หน้าที่การงานต้องดีให้เชิดหน้าชูตาได้ และด้วยระบบการแข่งขันที่มีสูงขนาดนี้ แน่นอนว่าแม้จะพยายามมากแค่ไหนก็ใช่ว่าทุกคนจะประสบความสำเร็จเสมอไป เรื่องราวของ Squid Game เหมือนสะท้อนจุดนี้ของสังคมเกาหลีใต้ออกมาได้เป็นอย่างดี ทุกคนก็เปรียบดั่งตัวละครหนึ่งใน Squid Game เพราะทุกคนคือผู้เล่นบนโลกใบนี้
เมื่อซีรีส์สะท้อนออกมาว่าทุกคนเปรียบเสมือนตัวละครหนึ่งที่ต้องใช้ชีวิตต่อสู้แข่งขันกับคนอื่นรอบตัวในสังคมเพื่อความอยู่รอดตลอดเวลา แล้วโลกแบบไหนที่เราอาศัยอยู่ตอนนี้? แน่นอนว่าระบบทุนนิยมกินรวบไปเกินครึ่ง ตัวละครในซีรีส์ Squid Game ทุกคนล้วนต่อสู้เพื่อเงินรางวัล แม้คำว่าแพ้จะแลกด้วยชีวิต แต่ก็คงดีกว่าต้องอยู่อย่างไร้ความหวังในโลกด้านนอก
ตัดภาพมาที่สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19ในบ้านเรา เราทุกคนล้วนตระหนักดีว่าโรคระบาดนี้ติดต่อกันได้ง่ายและอันตรายถึงชีวิต แต่ก็ต้องตรากตรำออกไปประกอบอาชีพเพื่อให้ได้ค่าแรงมาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เรียกได้ว่า ติดโรคดีกว่าอดตาย สังเกตได้ว่าสิ่งที่เราต้องเผชิญอยู่ในวิถีชีวิตก็แทบไม่มีความต่างจากในซีรีส์ Squid Game เลย
อีกหนึ่งตัวละครที่สะท้อนความเป็นทุนนิยมได้เป็นอย่างดีคือตัวละครที่สวมหน้ากากสัตว์ต่างกันออกไปหรือเรียกได้ว่าเป็น “VIP” ในซีรีส์เรื่องนี้ ซึ่งตัวละครดังกล่าวมักเพลิดเพลินกับการเห็นคนในเกมพยายามเอาชีวิตรอด VIP ไม่เคยมองผู้แข่งขันเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับเขา แต่กลับมองว่าบรรดาผู้เล่นเปรียบเสมือนหมากตัวหนึ่งที่พวกเขาปูทางให้ และเป็นคนเลือกทางให้ว่าจะอยู่หรือตาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็สร้างความบันเทิงใจได้อย่างไม่น้อย คล้ายกับคนจำนวนแค่หยิบมือบนโลกใบนี้ที่การหาเงินนั้นง่ายกว่าปลอกกล้วยเข้าปากจนไม่รู้จะเอาไปใช้กับอะไร
แม้ผู้เล่นจะสามารถสมัครใจออกจากเกมไปได้ แต่ยังไงก็ยังต้องกลับมาทั้งๆที่รู้อยู่เต็มอกว่าเสี่ยงมากแค่ไหน แม้ใจบอกว่าไม่แต่ชีวิตไม่ได้มีทางเลือกมากขนาดนั้น เปรียบเสมือนชีวิตคนเราในสังคมที่ตัวเลือกต่างๆไม่ได้มีมาประเคนให้มากนักแต่ยังต้องกัดฟันดิ้นรนภายใต้ระบบทุนนิยมที่ต้องดิ้นรนหาเงินมาเป็นหลักประกันให้ได้มากที่สุด และใครที่ไม่มีเงินก็เท่ากับไม่มีทางรอดในสังคมนี้อย่างแน่นอน
ใจกลางกรุงปารีส เน็ตฟลิกซ์เองก็ได้จัดกิจกรรมให้วัยรุ่นชาวปารีเซียงได้ร่วมเล่นกิจกรรมและเกมต่างๆที่หยิบมาจากในเรื่อง Squid Game โดยภายในตัวคาเฟ่จะมีการออกแบบและตกแต่งให้เหมือนกับในซีรีส์ และเป็นที่น่าตกใจว่าแม้คาเฟ่ Squid Game นี้จะจัดกิจกรรมเพียงแค่ 2 วันเท่านั้นแต่ก็ได้รับการตอบรับจากชาวฝรั่งเศสอย่างล้นหลาม ผู้ที่สนใจในกิจกรรมต่างมาต่อคิวรอหลายชั่วโมงอย่างไม่ย่อท้อ แถมยังได้เล่นเกมไปพลางๆระหว่างรออีกด้วย
ภัคสุภา รัตนภาชน์
หล่อหลอมตัวเองด้วยประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมรอบโลก อาหาร และผู้คน
--------------------
อ้างอิง: