svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

จาดาฟ ปาเยง คนบ้า ผู้กล้าปลูก

02 ตุลาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ทำความรู้จักกับเรื่องราวของ จาดาฟ ปาเยง บุคคลผู้ร่ำรวยที่สุดจากการปลูกต้นไม้ เมื่อเขาใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตลงมือปลูกต้นไม้จนกลายเป็นป่าผืนใหญ่ ที่มีทั้งกวาง เสือ และฝูงช้าง!

Highlights:

  • จุดเริ่มต้นของจาดาฟ ปาเยง เมื่อการเห็นงูตายทำให้เขาเริ่มลงมือปลูกต้นไม้
  • ชายผู้ปลูกต้นไม้ตามลำพังเป็นระยะเวลากว่า 30 ปี จนกลายเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด
  • จากความบังเอิญและการถูกเรียกไปสอบสวน จนทำให้คนภายนอกรู้จักป่าของเขา
  • ภารกิจต่อไปของจาดาฟ ปาเยง ในฐานะนักเคลื่อนไหวด้านธรรมชาติที่มีชื่อเสียงของโลก

--------------------

จาดาฟ ปาเยง ชายผู้ปลูกต้นไม้กว่า 40 ล้านต้นและถูกเพื่อนบ้านบอกว่าเขาบ้า           ถ้าเปลี่ยนมูลค่าต้นไม้ให้กลายเป็นสินทรัพย์ได้  มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ก็ต้องแพ้ให้กับ ‘จาดาฟ ปาเยง’ เพราะเขาจะกลายเป็นมหาเศรษฐีระดับล้านล้านคนแรกของโลก ขณะที่มาร์กยังต้องทำรายได้อีก 3,000 ล้านดอลลาห์สหรัฐ เพื่อให้ถึงเป้าภายในปีนี้!

 

          ตลอดระยะเวลา 40 ปี ‘จาดาฟ ปาเยง’ ปลูกต้นไม้ไปแล้วกว่า 40 ล้านต้น และปลูกทั้งหมดตามลำพัง เขาสามารถพลิกฟื้นผืนดินที่มีแต่ทรายและตะกอนบนเกาะกลางแม่น้ำ ให้กลายเป็นพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์นานาชนิดแม้กระทั่งเสือได้สำเร็จ

 

          อย่างไรก็ตาม แม้ป่าของเขาจะกินพื้นที่กว้างกว่า 3,000 ไร่ แต่ไม่น่าเชื่อว่าที่นี่กลับถูกพบโดยบังเอิญหลังจากที่ป่าได้เติบโตไปแล้วกว่า 30 ปี

 

          นี่คือเรื่องราวของ ‘Forest man of India จาดาฟ ปาเยง’ ที่ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับโลกใบนี้ผ่านการปลูกต้นไม้!

จาดาฟ ปาเยง กำลังเดินบนผืนทรายที่ว่างเปล่าบนเกาะมาจูลี เริ่มต้นจากการเห็นงูนอนตายบนผืนทรายที่แห้งแล้ง
          ณ ริมฝั่งแม่น้ำพรหมบุตร ในรัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย ‘จาดาฟ ปาเยง’ เด็กชายชาวอินเดียในวัย 16 ปี  ใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวที่ทำอาชีพเลี้ยงและขายกระบือ  ทุกปีเขาจะมองไปที่บริเวณริมฝั่งของเกาะมาจูลี ที่ตั้งอยู่กลางแม่น้ำสายใหญ่อย่างแม่น้ำพรหมบุตร ถูกกระแสน้ำพัดและกัดเซาะจนดินถล่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

 

          เขายังจำได้ดีถึงประวัติศาสตร์ของที่นี่ แต่เดิมมันถูกเรียกว่า ‘โรงเลี้ยงควาย’ เพราะคนในหมู่บ้านของเขาซึ่งอาศัยอยู่บนเกาะต่างทำอาชีพเลี้ยงควายมาตั้งแต่สมัยก่อน  

          เขาเคยนั่งมองเรือเฟอร์รี่ที่ขนส่งของไปยังหัวเมืองใหญ่ทางตอนใต้ของประเทศ ล่องไปตามแม่น้ำพรหมบุตรสู่เมืองกัลกัตตา และยังจำคำบอกเล่าของบรรพบุรุษได้ถึงวันที่แม่น้ำพรหมบุตรพิโรธ เกิดน้ำท่วมซ้ำแล้วซ้ำเล่า สายน้ำพัดทุกสิ่งหายไปจนหมด เกิดดินถล่มระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร ผืนดินหายไปเกือบครึ่งหนึ่งของเกาะ และเมื่อน้ำลดลง ‘โรงเลี้ยงควาย’ แห่งนี้ก็ไม่เหมือนเดิมอีกเลย เพราะมันเหลือแต่เพียงผืนทราย และความร้อนที่ที่แห้งเหือดเกินกว่าสิ่งมีชีวิตจะอยู่อาศัยได้

 

          ในเดือนมิถุนายนของปีหนึ่ง เมื่อระดับน้ำที่ท่วมสูงบนเกาะลดลง  เด็กชายจาดาฟเห็นงูกว่าหลายตัวเลื้อยขึ้นมานอนตายบนผืนทรายเพราะทนกับสภาพความร้อนไม่ไหว  

 

          สภาพงูที่นอนตายนั้นสร้างความกังวลให้แก่จาดาฟเป็นอย่างมาก

 

          เขาคิดกับตัวเองว่า ‘จะเป็นอย่างไรถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้นกับคน’


          เด็กชายนำเรื่องนี้ไปคุยกับหัวหน้าเผ่า ผู้เฒ่าผู้มีความรู้เรื่องการใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติเป็นอย่างดี ผู้เฒ่าตอบกลับมาว่าหากไม่อยากให้งูตาย เขาต้องปลูกต้นไม้!  จาดาฟจึงได้รับเมล็ดไผ่ 50 เมล็ดและต้นกล้าอีก 25 ต้น และเขาก็ลงมือนำมันไปปลูกลงบนพื้นที่ที่แห้งแล้งที่สุดในเกาะ 
    ….
เกาะมาจูลีตั้งอยู่กลางแม่น้ำพรหมบุตร เป็นเกาะที่เกิดจากตะกอนของแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก           เด็กชายจาดาฟมีความรู้เรื่องการปลูกต้นไม้มาก่อนแล้ว เขาเคยสมัครเป็นอาสาปลูกต้นไม้เพราะต้องการเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปซื้อถั่วลิสงมาไว้กิน

 

          ‘ผมจะได้ค่าปลูกต้นไม้ต้นละ 25 สตางค์ ซึ่งเงินนั้นทำให้สามารถซื้อถั่วลิสงได้ 1.5 กิโลเลยทีเดียว แรงบันดาลใจของผมเริ่มจากความโลภนั่นแหละ’  เขาบอกกับสำนักข่าวแห่งหนึ่ง 

 

          ขณะที่เด็กชายจาดาฟทำงานอยู่ นักวิทยาศาสตร์การเกษตรชาวอินเดียผู้เป็นมิตรกับเขาจวบจนถึงปัจจุบันได้เข้ามาจับมือเขา

 

          ‘เขาจับมือผมและบอกว่าให้ผมปลูกต้นไม้ แล้วต้นไม้จะคุ้มครองเราทุกคน’

          ตั้งแต่ปี ค.ศ.1991 แม่น้ำพรหมบุตรได้พัดพาเอาบ้านเรือนบนเกาะมาจูลีไปกว่า 35 หมู่บ้าน  มีการสำรวจและคาดการณ์ว่าในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า เกาะมาจูลีอาจจะหายไปในที่สุดหากไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ และจะทำให้ผู้คนอีกกว่า 150,000 ชีวิตรวมถึงครอบครัวของจาดาฟไร้ที่อยู่ในที่สุด

 

          จาดาฟจึงตัดสินใจที่จะปกป้องคนของเขาด้วยการปลูกต้นไม้
พื้นที่ก่อนจะเป็นป่าของจาดาฟคือผืนทรายแห้งแล้ง จนกลายเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ในปัจจุบัน ป่าของจาดาฟที่ไม่มีใครเคยรู้จัก
          เกาะมาจูลีมีพื้นที่ราว 2,500 เอเคอร์ หรือประมาณ 6,325 ไร่  ส่วนผืนป่าของจาดาฟครอบคลุมพื้นที่ไปแล้วกว่า 3,000 ไร่ 

 

          เพื่อนบ้านของเขาบางคนบอกว่าเขาบ้า!

 

          อย่างไรก็ตาม ผู้เฒ่าผู้แก่ในเผ่าต่างสอนเขาเรื่องการปลูกต้นไม้เป็นอย่างดี เช่นเมื่อต้องเจอกับปัญหาที่ว่าทำไมต้นไม้ถึงเติบโตได้ไม่ดีนัก ผู้เฒ่าคนหนึ่งก็แนะนำเขาว่าให้นำมดแดงไปปล่อยที่ต้นไม้  เพราะมดแดงจะฆ่าแมลงที่มารบกวนและกัดกินใบของต้นไม้ และกินต้นวัชพืชที่มาแย่งชิงสารอาหาร .. คนในเผ่าของจาดาฟต่างอาศัยและเรียนรู้วิธีการอยู่กับธรรมชาติมานานหลายศตวรรษ ภูมิปัญญาดั้งเดิมของเผ่าคือส่วนหนึ่งที่ทำให้ความตั้งใจของจาดาฟเป็นจริง
    …..
          จาดาฟมีชื่อเล่นที่คนในเผ่าเรียกขานกันว่า Molai เพราะตอนเด็ก ๆ เขาจะมีแก้มเป็นสีชมพูเหมือนหัวผักกาดแดง เมื่อเขาปลูกต้นไม้จนมันกลายเป็นผืนป่า คนในหมู่บ้านก็พากันเรียกป่าแห่งนี้ว่า Molai Forest หรือป่าของ Molai แต่เขากลับปฏิเสธคำชื่นชมนั้น

 

          ‘การปลูกต้นไม้ช่วงแรกเสียเวลามาก แต่หลังจากนั้นต้นไม้ก็จะให้เมล็ด เมื่อมันออกเมล็ด ลมก็จะรู้ว่าจะปลูกมันที่ไหน นกจะรู้ว่าต้องทำยังไง วัวรู้ ช้างรู้ แม้แต่แม่น้ำพรหมบุตรก็รู้’

 

          ‘ผมมีกวาง ช้าง นก วัวและน้ำคอยช่วยเหลือ’    

 

          จากต้นไม้ 50 เมล็ดและ 25 ต้นกล้า จาดาฟทำให้มันกลายเป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์จนมีสัตว์น้อยใหญ่เข้ามาอาศัย ป่าของจาดาฟกลายเป็นพื้นที่ให้แก่นกอพยพหลายร้อยชนิด ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่ามีนกอพยพกว่าร้อยละ 80%ของนกอพยพบนโลกที่อาศัยอยู่ที่นี่ นอกจากนี้ยังมีสัตว์ประเภทอื่น ๆ เช่น นกยูง กวาง แรด และเสือ อีกทั้งยังมีฝูงช้างที่จะอพยพมาอยู่ที่นี่ปีละ 3 เดือนอีกด้วย

เสือและช้างที่มาอาศัยในป่าของจาดาฟ เสือและช้างที่มาอาศัยในป่าของจาดาฟ     ….
          จาดาฟเริ่มปลูกป่าของเขาในปี ค.ศ. 1979 เกือบ 30 ปีที่ ‘ป่าของ Molai’ เป็นที่รู้จักของชาวบ้านในแถบนั้น แต่ไม่ใช่กับคนภายนอก หรือแม้แต่รัฐบาล สาเหตุที่ป่าของจาดาฟถูกค้นพบเป็นเรื่องบังเอิญแทบทั้งสิ้น!

 

          ในปี 2007 Jitu Kalita นักถ่ายภาพชาวอินเดียที่หลงใหลการถ่ายภาพสัตว์ป่า เดินทางเข้ามาถ่ายภาพบริเวณแม่น้ำพรหมบุตร  ขณะที่เขามองไปที่ผืนทรายและเห็นคลื่นความร้อนที่แผ่กระจายไปทั่ว  เขากลับสะดุดตากับสิ่งที่อยู่ไกลออกไปและแปลกประหลาดใจที่ได้เห็นผืนป่าหนาแน่นซึ่งไม่ควรอยู่ที่นั่น!  ด้วยความสงสัยเขาจึงเดินตรงไปที่ป่าแห่งนั้น วินาทีนั้นเองชายคนหนึ่งตะโกนไล่เขาเสียงดัง

 

          ‘จาดาฟคิดว่าผมเป็นนักล่าสัตว์’

 

          เมื่อทำความเข้าใจกันดีแล้ว หลังจากนั้นเรื่องราวของจาดาฟก็ปรากฏในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น

 

          อีก 1 ปีให้หลัง จู่ ๆ จาดาฟก็ถูกเรียกตัวให้ไปรายงานตัวกับหน่วยงานรัฐ  มีคนจากหมู่บ้านอื่นไปร้องเรียนเขา โดยระบุว่ามีฝูงช้างป่ากว่า 115 ตัวเดินทางข้ามลำน้ำแคบ ๆ มายังป่าของจาดาฟ หลังจากที่ชาวบ้านคนนั้นไล่ฝูงช้างที่กำลังกินผักผลไม้ที่ปลูกไว้ ฝูงช้างตกใจและทำลายบ้านของเขาจนเสียหาย ... จาดาฟได้ยินเรื่องดังกล่าวและให้การปกป้องฝูงช้าง เขาบอกว่า

 

          ‘มนุษย์ต้องปรับตัวให้เข้ากับป่าแห่งนี้ให้ได้’ 

 

          และเมื่อมีคนบอกว่าจะตัดต้นไม้ในป่าของเขาให้หมด จาดาฟก็ยืนกรานว่า

 

          ‘ฆ่าฉันก่อน ถึงจะทำลายป่าของฉันได้’

 

          อย่างไรก็ตามวันนั้นจาดาฟมีความสุขที่สุดเพราะเขารู้ว่าฝูงช้างได้กลับมาที่ป่าของเขาอีกครั้ง

 

          ไม่นานนักเรื่องราวของจาดาฟก็ปรากฏตามสื่อและได้รับความสนใจจากคนอินเดียและทั่วโลกจากสิ่งที่เขาทำ เขากลายเป็นตัวแทนและสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม จนกระทั่งในปี ค.ศ.2015 เขาได้รับรางวัลเกียรติยศสูงสุดของประเทศอินเดีย ซึ่งจะมอบให้แก่พลเมืองผู้ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศ ‘Padma Shri’    

 

          ‘ผู้คนมักจะอยากรู้เรื่องของผม แต่ผมก็แค่ปลูกต้นไม้’

จาดาฟ ปาเยง ผู้อุทิศเวลากว่า 40 ปีเพื่อปลูกต้นไม้ 12,000 ไร่ เป้าหมายใหม่เพื่อการอยู่ร่วมกันของคนและสัตว์
          ดูเหมือนว่าเหตุการณ์ช้างป่าในคราวนั้นจะติดใจจาดาฟอยู่หลายปี  ในปี ค.ศ.2011 เขาจึงเริ่มโครงการใหม่อีกแห่งหนึ่งในพื้นที่ใกล้ ๆ กันโดยวางแผนที่จะปลูกป่าอีกกว่า 1,500 ไร่ ซึ่งจะใช้เวลาทั้งหมด 20 ปี .. จาดาฟอยากปลูกป่าให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ตัวเลขในใจเขาคือ 12,000 ไร่  ด้วยเหตุผลที่ว่าพื้นที่น่าจะกว้างพอที่สัตว์ป่าจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับถิ่นที่อยู่อาศัยของคนอีก

 

          หลังจากที่เรื่องราวของจาดาฟโด่งดั่งจนทำให้เขากลายเป็นบุคคลมีชื่อเสียง จากเด็กที่ตัดสินใจเด็ดขาดที่จะลาออกจากระบบการศึกษาทั่วไป มาปลูกต้นไม้เต็มตัวจนคนข้างบ้านคิดว่าเขานั้นบ้า .. จาดาฟได้กลายเป็นวิทยากรและได้รับเชิญไปให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมแก่คนทั่วโลก สิ่งที่จาดาฟเน้นคือการให้ความสำคัญกับเด็ก  เขามองว่าการสอนให้เด็กรู้จักที่จะรักธรรมชาติและเห็นความสำคัญของการปลูกต้นไม้จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้  เช่นเดียวกับเขาที่ได้รับอิทธิพลมาจากปรัชญาของชนเผ่าและกิจกรรมที่ทำในวัยเด็กนั่นเอง   

 

          นอกจากนี้เขายังนำรายได้ที่ได้จากการเป็นวิทยากรและรางวัลต่าง ๆ จ้างคน 6 คน


          หกคนนี้จะทำหน้าที่ปลูกป่า โดยเฉพาะในเวลาที่เขาต้องออกไปเป็นวิทยากรตามที่ต่าง ๆ  เพื่อให้แผนการณ์ปลูกป่า 12,000 ไร่สำเร็จแม้ว่าเขาจะไม่ได้อยู่บ้านก็ตาม  เพราะเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา จาดาฟได้เซ็นสัญญาเริ่มงานใหม่บนทวีปที่ห่างไกลเกือบคนละซีกโลก  เขาตกลงที่จะร่วมมือกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรซึ่งออกมาเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศเม็กซิโก โดยภารกิจที่ได้รับมอบหมายคือการปลูกต้นไม้ให้กับประเทศเม็กซิโก 7 ล้านต้น โดยจะแบ่งเวลาของเขาปีละ 3 เดือนเป็นเวลา 10 ปีในการทำภารกิจที่เม็กซิโกให้สำเร็จ รวมไปถึงงานด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ในทวีปอเมริกาเหนือ
ภารกิจใหม่ของจาดาฟ กับการปลูกต้นไม้ 7 ล้านต้นในเม็กซิโก     ……
          เมื่อมองจากเส้นทางชีวิตของจาดาฟ จากชาวบ้านที่ไม่มีใครรู้จัก ได้แต่ลงมือปลูกต้นไม้ทุกวันตลอด 40 ปี จนวันนี้เขากลายเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญคนหนึ่งของโลก  

 

          แน่นอนว่าชื่อเสียงและเกียรติยศจะติดตามชายที่ชื่อ ‘จาดาฟ ปาเยง’ ไปในทุกที่ที่เขาเดินทางไป แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่เขาได้ทำคือการหว่านเมล็ดพันธุ์ทางความคิดให้แก่มนุษยชาติที่ว่า

 

          จงเคารพต่อธรรมชาติ และจงนอบน้อมต่อธรรมชาติเพราะเราอาศัยอยู่บนโลกใบนี้ร่วมกัน ไม่ว่าในวันนี้เขาจะอยู่ ณ จุดที่มีคนรู้จักเขาไปทั่วโลกแล้วก็ตาม

 

          ‘ไม่ใช่มนุษย์ที่เปลี่ยนชีวิตผม เป็นต้นไม้ที่ได้ให้เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เป็นนกที่ทำให้ผมเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปไกล จากผืนดินหนึ่งไปสู่อีกผืนดินหนึ่ง’

 

          ‘ไม่มีใครเคยเห็นพระเจ้า แต่ผมเห็นพระเจ้าในธรรมชาติ ... ตราบใดที่ธรรมชาติอยู่รอด ผมก็อยู่รอด’

 

          และนี่คือเรื่องราวของจาดาฟ ปาเยง กับการปลูกต้นไม้ที่ทำให้เขากลายเป็นคนที่ ‘ร่ำรวย’ ความดีที่สุดคนหนึ่งของโลก

 

          เขาทำให้เรารู้ว่า .. สิ่งดีๆบนโลกใบนี้ บางครั้งไม่ได้เกิดจากเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ แต่เกิดจากเจตนาที่ดีต่างหาก

 

พีร์ญาดา ประสูตร์แสงจันทร์

--------------------

ที่มา:

logoline