svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

เมื่อดินฟ้าควบคุมไม่ได้ ทำอย่างไรประชาชนจึงอยู่รอดได้ในหน้ามรสุมของไทย

01 ตุลาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หากปัญหาเกิดขึ้นซ้ำ ๆ เช่น บ้านหลังคารั่วเจ้าของบ้านจะไม่แก้ไขเลยหรือ? เช่นเดียวกับปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นทุกปีและร้ายแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รู้ทั้งรู้ว่าต้องเจอแต่การวางแผนรับมือรวมถึงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นมีอยู่จริงหรือไม่ และทำไมคนไทยถึงต้องทนกับปัญหาน้ำท่วมอยู่ทุกปี?

Highlights:

  • ปัญหาน้ำท่วมมากับหน้ามรสุมทุกปีเป็นเรื่องที่คาดเดาได้และห้ามไม่ได้
  • แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ เหล่านี้สามารถหาวิธีอยู่ร่วมกันและรับมือได้อย่างปลอดภัย
  • ประเทศที่อยู่กับภัยพิบัติอย่างญี่ปุ่นสามารถพัฒนากลไกและระบบเพื่อรับมือกับภัยธรรมชาติได้
  • ประเทศไทยต้องมีความจริงใจ จริงจัง และโปร่งใสในการแก้ปัญหา
  • ภาครัฐต้องเป็นแม่งานที่มีความสามารถในการขยับตัวอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
  • ภาคประชาชนต้องตื่นตัวและมีความรู้ในการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน

--------------------

          ณ วันเวลาที่ค่อย ๆ กดแป้นพิมพ์เรียงร้อยเรื่องราวลงไปใจก็ยังหวั่นว่าปัญหาน้ำท่วมปีนี้จะซ้ำรอยปี 54 หรือไม่ กระแสน้ำที่ไหลทะลักจากเขื่อนลำเชียงไกรเอย พายุดีเพรสชันเตี้ยนหมู่เอย หรือสายฝนที่เทลงมาทุกวี่วัน ภาพของประชาชนที่อพยพหนีน้ำที่ไหลหลากมาอย่างรวดเร็วชวนให้สลดใจอย่างยิ่ง ประสบการณ์ที่ผ่านมาและสิ่งที่ตาเห็นในวันนี้ยิ่งชวนให้ใจตั้งคำถามขึ้นมาว่า ‘เทคโนโลยีก้าวหน้าขนาดนี้ทำไมยังแก้ปัญหาไม่ได้? ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยก็เจอมรสุมมันทุกปี ปัญหาก็เดิม ๆ ทั้งนั้น แตกต่างแค่ปริมาณน้ำ ทำไม?’

 

          ตั้งแต่เด็กจนโตคนไทยมักจะอยู่กับข่าวน้ำท่วมในช่วงมรสุมและหลายคนก็มีโอกาสได้ประสบพบเจอเรื่องราวเหล่านี้ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่ภาคใต้ซึ่งเราอาจจะเห็นข่าวถนนขาดกันแทบทุกปี หรือรอบไหนมีมรสุมเดินทางมาเยี่ยมเยือนจากจีนหรือเวียดนามเราก็อาจได้เห็นน้ำท่วมที่ไล่ลงมาตั้งแต่ภาคเหนือและค่อย ๆ สลายความรุนแรงลง ณ ปลายปากแม่น้ำเจ้าพระยากันเนือง ๆ 

          แต่ในกรณีของปี 2554 ไม่เป็นเช่นนั้น กระแสมวลน้ำจำนวนมหาศาลทะลักเข้าสู่ปริมณฑลและเข้าสู่เมืองหลวงอย่างอุกอาจ ถนนเส้นวิภาวดีรังสิตเจิ่งนองไปด้วยน้ำ บางพื้นที่อยู่ระดับต่ำกว่าน้ำทะเลก็ท่วมสูงหน่อย ซึ่งการท่วมครั้งนั้นไม่ใช่ครั้งแรกสำหรับการท่วมครั้งใหญ่ ในปี 2526 น้ำท่วมครั้งใหญ่บริเวณรามคำแหงถึงขนาดตั้งอนุสรณ์เสาที่แสดงให้เห็นถึงระดับน้ำที่ขึ้นในปีนั้น ๆ แถวมหาวิทยาลัยก็เคยเห็นมาแล้ว

 

          ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมากับเหตุการณ์น้ำท่วมก็ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและชีวิตผู้คนโดยตรง ซึ่งในแง่เศรษฐกิจ จะขอยกตัวอย่างเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ที่ทำให้โรงงานการผลิตจากต่างประเทศย้ายหนีกันไปจำนวนไม่น้อย ความเสียหายเกิดขึ้นมหาศาลจากการขนย้ายเครื่องจักรไม่ทันบ้าง คำสั่งการผลิตหยุดชะงักบ้าง แน่นอนว่าผู้ประกอบการก็ต้องกระจายความเสี่ยงหรือลดความเสี่ยงหากภาครัฐยังไม่อาจรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าได้ ภาคธุรกิจเกิดความเสียหายอย่างสาหัส ในขณะที่ภาคประชาชนเองก็ได้รับผลกระทบใน 2 ด้าน ได้แก่ ความเสียหายของที่อยู่อาศัยและทรัพย์สิน และผลกระทบที่เกิดกับสุขภาพหรือชีวิต ทรัพย์สินที่หามาได้ต้องถูกน้ำพัดพา ยานพาหนะพัง อุปกรณ์ที่ใช้ทำมาหากินเสียหาย ไหนจะที่พักอาศัยที่ไม่อาจอยู่อาศัยได้อีก การมาของน้ำนอกจากทำลายทรัพย์สินแล้วยังเป็นโอกาสของโจรที่ลักลอบเข้ามาขโมยของในที่อยู่อาศัยเมื่อผู้คนอพยพอีกด้วย

 

          นอกเหนือจากความเสียหายด้านทรัพย์สินและความปลอดภัยของชีวิตแล้ว เหล่าโรคร้ายที่มากับน้ำก็เป็นปัญหาที่น่ากังวลใจไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นโรคน้ำกัดเท้า (ฮ่องกงฟุต) โรคท้องร่วง โรคตาแดง โรคฉี่หนู และโรคเครียด โรคภัยเหล่านี้เป็นโรคที่พบเจอได้บ่อยครั้งสำหรับสถานการณ์น้ำท่วม 

          แต่ภายใต้สถานการณ์พิเศษอย่างช่วงเวลาปัจจุบันนั้นจะไม่พูดถึงความเสี่ยงในการแพร่กระจายและกลายพันธุ์ที่เพิ่มขึ้นของ COVID-19 กับปัญหาน้ำท่วมคงไม่ได้ ปัญหาสำคัญของสถานการณ์น้ำท่วมนั่นคือตัวน้ำหรือความชื้นที่มี การป้องกัน COVID-19 โดยพื้นฐานนั้น คือ การสวมใส่หน้ากากที่ได้มาตรฐานและการล้างมือบ่อยครั้งเพื่อลดโอกาสการปนเปื้อน แต่ภายใต้สถานการณ์น้ำท่วมหากหน้ากากเกิดเปียกขึ้นมาความสามารถในการกรองเชื้อโรคของหน้ากากจะหมดลงในทันทีชั้นกรองแต่ละชั้นจะถูกเชื่อมต่อด้วยของเหลวทำให้เชื้อโรคผ่านตัวกรองต่าง ๆ ไปได้อย่างง่ายดาย ในขณะที่มาตรการล้างหรือหรืออยู่ในที่สะอาดก็เป็นไปไม่ได้ ปัญหาน้ำท่วมในครั้งนี้จึงมาพร้อมกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในการระบาดของโรค COVID-19 ซึ่งเหมือนเป็นการซ้ำเติมความบอบช้ำของผู้คนที่มีอยู่เดิม

 

‘น้ำท่วม’ ปัญหาเดิม ๆ ที่ไม่ได้รับการแก้ไขเสียที

          ปัญหาน้ำท่วมที่เราเห็นกันอยู่นี้เกิดขึ้นทุก ๆ ปี มีการระดมทุนช่วยเหลือจากภาคประชาชนกันทุกปี ในขณะที่งบสำหรับการบริหารจัดการน้ำปีล่าสุด (2564) มีมูลค่าสูงถึง 2.9 แสนล้านบาทก็ยังดูจะไม่ช่วยอะไรเท่าไหร่เมื่อการตอบสนองของภาครัฐนั้นอุ้ยอ้าย ชักช้า ไม่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที

 

          มองจากดาวอังคารก็คงเห็นว่าปัญหาเดิม ๆ ที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ อยู่ได้ทุกปีมาหลายสิบปีทำไมปัญหาจึงไม่ได้รับการแก้ไข และทำไมปัญหายิ่งดูร้ายแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วผู้คนสมัยโบราณย้อนไปตั้งแต่สมัยอยุธยาหรือสุโขทัยเขาแก้ปัญหากันอย่างไร หรือสงสัยกันบ้างหรือไม่ว่าทั้ง ๆ ที่สุโขทัยอยู่ในเส้นทางน้ำแต่ทำไมโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยทำไมถึงไม่ท่วม?

ตัวอย่างภาพโบราณสถานสุโขทัยที่น้ำไม่ท่วม           ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นสามารถแบ่งส่วนการมองออกได้เป็นสองส่วน ได้แก่ การป้องกันและการแก้ไขสถานการณ์ ซึ่งในกรณีของการแก้ไขสถานการณ์นั้นหน่วยงานอาสา มูลนิธิต่าง ๆ สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็ว และภาครัฐบาลบางส่วนก็สามารถตอบสนองได้อย่างฉับไวเช่นกัน เมื่อน้ำท่วมเกิดขึ้นซ้ำ ๆ ผู้เกี่ยวข้องในการแก้ไขสถานการณ์จึงมีความเชี่ยวชาญและเข้าใจธรรมชาติของสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งในฐานะคนที่คอยบริหารจัดการและการลงพื้นที่จริง แต่ในส่วนที่ประชาชนทำเองได้แค่บางส่วนอย่างภาคการป้องกันนั้นเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณากันให้ดี

 

          เพื่อรับมือกับปัญหาประเทศไทยจึงได้ก่อตั้งศูนย์ป้องกันวิกฤติน้ำเพื่อป้องกันและแก้ไขสถานการณ์ ในขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยาคอยทำนายและคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนไปจนถึงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ พร้อมกันนั้นกรมชลประทานมีหน้าที่คอยดูแลเขื่อน หากพิจารณาเบื้องต้นตามปัจจัยที่มีเหล่านี้อาจจะพอเห็นได้ว่าเรามีหน่วยงานที่พร้อมดำเนินการโดยตรง มีหน่วยงานที่เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ล่วงหน้า และมีหน่วยงานที่คอยกักเก็บน้ำอยู่ด้วย นั่นหมายความว่าเราควรจะรู้ก่อนอย่างแน่นอนว่าจะมีฝนตกเมื่อไหร่ หรือมีปริมาณที่จะตกเท่าใด อย่างน้อยก็จะมีช่วงประมาณการเผื่อ ๆ ไว้ให้รับมือได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วทำไมถึงยังมีปัญหาอยู่?

 

          หากได้ยินใครที่พูดกันว่าเป็นเรื่องของฤดูกาล เป็นเรื่องของธรรมชาติ คนไปห้ามฟ้าฝนไม่ได้ ขอปรบมือให้ 3 ทีเป็นจังหวะ 3 ช่า แน่นอนว่าที่บอกมานั้นไม่ผิด แต่คำถามที่เกิดขึ้นจริง ๆ คือ เมื่อมีหน่วยงานที่รับผิดชอบ เมื่อรู้อยู่แล้วว่าเหตุการณืเหล่านี้จะเกิดขึ้นทุกปีและเป็นสถานการณ์ที่จะอยู่คู่กับลักษณะทางภูมิศาสตร์ของประเทศ ทำไมสถานการณ์ยังคงเลวร้ายอยู่ทุกปีเช่นนี้กัน คำตอบแบบมักง่ายอาจจะบอกว่าเพราะคนทิ้งขยะลงคูคลอง หรือที่ที่เคยเป็นพื้นที่รับน้ำนั้นถูกถมที่มีประชาชนใช้งานไปจนหมด ส่วนหนึ่งก็ต้องบอกว่าใช่และส่วนหนึ่งก็ต้องบอกว่าไม่ใช่ความผิดของประชาชนเสียทีเดียว

 

          สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาเหล่านี้ต้องมาจากนโยบายที่ชัดเจนของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการทำความสะอาดคูคลอง ไปจนถึงการวางผังเมือง ลองจินตนาการดูว่าตาสีตาสาชาวบ้านจะรู้เรื่องความสูงของพื้นที่จากระดับน้ำทะเลสักแค่ไหนกันเชียว การกำหนดผังเมืองการออกแบบพื้นที่รับน้ำ ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ สามารถช่วยทุเลา บรรเทา หรือหลีกเลี่ยงความเสียหายที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ได้ทุกปี แน่นอนว่าเมื่อถูกถามคงไม่มีใครจะตอบเป็นอย่างอื่นเสียนอกจากไม่ได้อยากให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น แต่ในทางกลับกันเมื่อพิจารณาจากสิ่งที่เกิดขึ้นมันก็อดตั้งคำถามไม่ได้ว่าได้พยายามกันมากขนาดไหนถึงร้ายแรงมากขึ้น และปฏิเสธได้เต็มปากเต็มคำจากหัวใจแค่ไหนกันว่าปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่จัดการไม่ได้ใด ๆ เลย

 

          แน่นอนว่าทุกพื้นที่มีปัญหาเป็นของตัวเอง และแน่นอนอีกแหละว่าเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นซ้ำ ๆ แม้จะมีความพยายามแก้ปัญหาแล้วแต่ก็ไม่ได้ดีขึ้นไปกว่าเดิมนัก อาจจะต้องพลิกหัวพลิกหางลองคิดใหม่ว่าถ้าอยากได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างไป หากยังทำเหมือนเดิม คิดเหมือนเดิม ผลลัพธ์จะแตกต่างไปได้อย่างไร ทำไมเราไม่ลองถอดบทเรียนจากที่อื่นบ้าง บางประเทศมีปัญหาทางภูมิศาสตร์ที่ร้ายแรงและน่าหวั่นใจไม่แพ้สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่ยังสามารถก้าวไปข้างหน้าและแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว เร็วในแบบที่เต็มไปด้วยคุณภาพและความรับผิดชอบ อยากให้ลองทำความเข้าใจกับการรับมือภัยพิบัติของประเทศญี่ปุ่นกันดูครับ

 

‘ญี่ปุ่น’ ประเทศที่ไม่ทนต่อปัญหาภัยพิบัติซ้ำ ๆ อีกต่อไป

          เมื่อพูดถึงประเทศญี่ปุ่นเราอาจนึกถึงประเพณีและวัฒนธรรมที่รุ่มรวย ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งการที่ญี่ปุ่นพัฒนาขึ้นได้อย่างรวดเร็วและมั่นคงนั้นมาจากพฤติกรรมของคนในชาติที่มีระเบียบวินัย เคร่งครัด จริงจัง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสภาพภูมิประเทศที่ทำให้เกิดพฤติกรรมเหล่านี้ขึ้น เราอาจเคยเห็นถนนขาดกลางเมืองเป็นหลุมขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นตามภาพในโลกออนไลน์ และเรามักจะแปลกใจเสมอว่ามีข้อความกำกับหรือข้อมูลที่ทำให้เห็นได้ว่าผลกระทบขนาดใหญ่นั้นใช้เวลาเพียงไม่กี่วันในการซ่อมแซมกลับมาให้สามารถใช้งานได้ใกล้เคียงกับคุณภาพเดิม ภาพอุโมงค์ระบายน้ำขนาดยักษ์เมืองโตเกียว           ประเทศญี่ปุ่นนั้นเป็นเกาะที่เกิดขึ้นใหม่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวขึ้นบ่อยครั้งจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกหรือเกิดความเสี่ยงในการปะทุของภูเขาไฟ นอกจากนี้ยังประสบปัญหาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติอื่น ๆ อาทิ ดินถล่ม ภายุไต้ฝุ่น หรือน้ำท่วม เป็นต้น (ไม่นับมนุษย์ต่างดาวที่ชอบบุกมาโจมตีญี่ปุ่นนะครับ) เรียกได้ว่าใช้ชีวิตอยู่กับภัยพิบัติมาอย่างยาวนาน ทำให้รัฐบาลได้วางนโยบายเพื่อตอบสนองต่อภัยพิบัติ ซึ่งในปี 2536 มีงบประมาณสำหรับประเด็นเหล่านี้สูงถึง 23.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยแบ่งประเด็นที่ให้ความสำคัญออกเป็น 5 ประเด็น  ได้แก่

  1. การวิจัยทางวิทยาศาสต์และเชิงเทคนิคสำหรับการป้องกันภัยพิบัติ
  2. การเสริมแรงให้กับระบบป้องกันภัยพิบัติ เช่น สิ่งอำนวยความสะดวก อุปกรณ์ และมาตรการป้องกันอื่น ๆ
  3. ริเริ่มโครงการก่อสร้างที่ออกแบบมาเพื่อเพิ่มความสามารถในการป้องกันภัยพิบัติของประเทศ
  4. มาตรการฉุกเฉินและกระบวนการฟื้นตัวจากสถานการณ์
  5. การยกระดับระบบข้อมูลและการสื่อสาร

 

          ผลลัพธ์จากวิสัยทัศน์เหล่านี้เมื่อมารวมกับความใส่ใจ จริงจัง และจริงใจแบบญี่ปุ่นกลับกลายเป็นความปลอดภัยในระดับสูง ไม่ว่าจะในแง่ของการป้องกัน การแก้สถานการณ์เฉพาะหน้า ไปจนถึงการฟื้นตัวจากสถานการณ์ สิ่งที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญเป็นอย่างแรก คือ เทคโนโลยีในการตรวจจับสถานการณ์ที่มีความแม่นยำ และมีจำนวนที่มากพอเพื่อให้ได้ค่าเฉลี่ยที่สามารถสร้างความมั่นใจได้ เช่น การติดตั้งเซนเซอร์ตรวจจับการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวตามทางรถไฟเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับผู้โดยสารรวมถึงแจ้งเตือนไปยังส่วนอื่น ๆ ซึ่งการใช้รถไฟถือเป็นเรื่องที่ฉลาดและมองการณ์ไกลเพราะญี่ปุ่นนั้นได้ขยายโครงข่ายรถไฟไปทั่วประเทศเหมือนใยแมงมุมทำให้เกิดการเดินทางที่สะดวกรวดเร็ว และความครอบคลุมที่เกิดขึ้นนี้เองการติดตั้งเซนเซอร์ตามรางรถไฟจึงสามารถเก็บข้อมูลได้อย่างละเอียด

 

​​​​​​​          เมื่อสามารถเก็บข้อมูลได้อย่างหลากหลายและมีปริมาณมากเพียงพอ การประเมินและการดำเนินการจึงเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ หน่วยงานที่รับผิดชอบสามารถแจ้งเตือนข้อมูลให้กับประชาชนได้อย่างรวดเร็วผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือที่เข้าถึงผู้คนได้อย่างทั่วถึง หรือการนำเสนอข่าวทางโทรทัศน์ ในขณะที่ประชาชนเองก็ได้ถูกสอนและฝึกฝนเรื่องการรับมือสถานการณ์ที่เกิดจากภัยพิบัติ ‘ทุกคน’ โดยมีการบรรจุเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาพื้นฐาน ในขณะที่บ้านเรือนอาคารสิ่งปลูกสร้างเองก็ถูกออกแบบมาเพื่อให้รองรับกับภัยพิบัติเหล่านี้ได้ เช่น โครงสร้างที่สามารถรองรับแผ่นดินไหวได้ระดับหนึ่ง รวมถึงการกระจายศูนย์อพยพทั่วประเทศเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว สิ่งเหล่านี้สามารถลดปริมาณผู้เสียชีวิตและป้องกันความเสียหายของทรัพย์สินได้เป็นจำนวนมาก หรือแม้แต่ในส่วนของปัญหาน้ำท่วมเองญี่ปุ่นก็ได้สร้างอุโมงค์ขนาดยักษ์เพื่อเป็นทางน้ำผ่านลอดใต้เมืองโตเกียวด้วยเช่นกัน หากใครอยากอ่านรายงานการบริหารจัดการความเสี่ยงเหล่านี้ สามารถอ่านเอกสาร Modernization of Japan’s Hydromet Service ได้ครับ

 

          ความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้นแม้จะมีภาครัฐเป็นตัวตั้งหลักใหญ่ใจความ แต่ในทางปฏิบัติเพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สินแล้วประชาชนก็ถูกฝึกฝนและเตรียมพร้อมให้สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน ภาพที่ออกมาจึงไม่ใช่ว่าญี่ปุ่นพยายามควบคุมดินฟ้าอากาศแต่เป็นความพยายมในการทำความเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และเรียนรู้ที่จะรับมือเพื่ออยู่คู่กับสถานการณ์ธรรมชาติเหล่านี้

เมื่อดินฟ้าควบคุมไม่ได้ ทำอย่างไรประชาชนจึงอยู่รอดได้ในหน้ามรสุมของไทย น้ำท่วมไทยแก้อย่างไรดี?

          คำตอบของญี่ปุ่นนั้นอาจไม่ได้แตกต่างจากคนไทยในสมัยก่อนนักที่อาศัยความรู้ทางภูมิศาสตร์อันเกิดจากการสังเกตในการเลือกตำแหน่งสร้างบ้านซึ่งมักจะตั้งที่อยู่อาศัยในที่ดอน ซึ่งนี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยถึงไม่เจอกับปัญหาน้ำท่วม ดังนั้นการจัดการภาครัฐที่ควรจะเกิดขึ้นเป็นแรก คือ การจัดผังเมืองในแต่ละพื้นที่ให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดการวางแผนรับมือและการบริหารจัดการสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสมทันท่วงที

 

          ลำดับต่อมาที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ การบริหารจัดการที่มีความโปร่งใส จะเห็นได้ว่าประเทศไทยนั้นมีการทุ่มเทงบสำหรับบริหารจัดการน้ำจำนวนมากในแต่ละปีต่อเนื่องมายาวนาน แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก็อย่างที่เห็นกัน ดังนั้นกระบวนการต่าง ๆ รวมถึงการรายงานผลต้องชัดเจนและสามารถตอบคำถามประชาชนผู้เสียภาษีให้ได้ว่าจำนวนเงินนั้นใช้ไปเพื่ออะไร ใช้จ่ายในราคาที่สมเหตุสมผลหรือไม่ และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร ในแง่ของการวิจัยและพัฒนาสามารถเข้าใจได้ว่าทุกการทดลองอาจไม่จำเป็นจะต้องได้ผลลัพธ์ที่ดีงามปังปุริเย่เสมอไป แต่ในกรณีของการวิจัยที่ได้ผลลัพธ์อันล้มเหลวหรือไม่น่าพึงพอใจนั้นจะสามารถถอดบทเรียนอะไรออกมาได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุของความล้มเหลว การปูทางไปสู่คำตอบที่ชัดเจนขึ้นเป็นรูปธรรมมากขึ้นเป็นต้น

 

          และต้องไม่ลืมว่าค่าตอบแทนสำหรับงานวิจัยต้องเหมาะสมไม่ใช่ว่าต้องการมันสมองระดับสูง มีความเชี่ยวชาญไม่ธรรมดา แต่ให้ค่าตอบแทนวิจัยวันละ 300 บาทเท่าค่าแรงขั้นต่ำ เบิกจ่ายอะไรก็ยาก เงินตกเบิกก็ช้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการเอาเปรียบผู้วิจัยและส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมการโกงบิลขึ้น แน่นอนว่าเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขที่รัฐเหมือนจะบังคับให้เกิด

 

          หลายครั้งการแก้ปัญหาของประเทศไทยไม่ได้เกิดจากการใช้ข้อมูลจริง ไม่ได้เกิดจากการใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เหมาะสมและเพียงพอ ยกตัวอย่างในกรณีของคันกั้นน้ำที่มีคนเริ่มออกมาพูดถึงปัญหาในการบีบอัดและเร่งกระแสน้ำให้มีความเร็วและแรงยิ่งขึ้นไม่ว่าจะเป็นการบีบอัดไปกับแม่น้ำหรือการบีบอัดเมื่อเกิดรอยร้าวณจุดใดจุดหนึ่ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามาถรเก็บข้อมูลเป็นตัวเลขของความเร็วมวลน้ำที่เกิดขึ้นเพื่อหาแรงและความเปลี่ยนแปลงมาเปรียบเทียบว่าแบบใดสร้างความเสียหายได้มากกว่ากัน การแก้ปัญหาบางครั้งจึงดูเหมือนแค่มีการดำเนินการเพื่อจะเบิกงบหรือเพื่อจะบอกได้ว่า ‘ฉันทำแล้วนะ’ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีการวัดประเมินผลว่าผลลัพธ์ที่ได้แตกต่างกันอย่างไร ทั้ง ๆ ที่บางครั้งมีงานวิจัยหรือข้อมูลออกมารองรับแล้วด้วยซ้ำว่าผลเสียมากกว่าผลดีแต่ก็ยังคงดำเนินการอยู่ เช่น ฝายกั้นน้ำที่ไปสร้างในป่าที่อุดมสมบูรณ์อยู่แล้วไม่เกิดประโยชน์อะไรหนำซ้ำหากใช้กระสอบพลาสติกยังเพิ่มโอกากาสการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในธรรมชาติอีกด้วย ปัญหาชายฝั่งถูกกัดเซาะที่แก้กันด้วยกำแพงกันคลื่นจะหาดแหว่งในขณะที่การใช้กำแพงไม้ไผ่และเพาะกล้าชายเลนให้ผลได้ดีกว่าชัดเจน

 

          นอกเหนือไปจากการป้องกันและหาทางออกโดยตรงกับปัญหาน้ำแล้วต้องยอมรับเพิ่มเติมด้วยว่าปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมโลกก็ได้ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะปัญหาก๊าซเรือนกระจกหรือปัญหาโลกร้อน ซึ่งประเทศไทยเองก็ติด 1 ใน 10 ประเทศที่มีมลภาวะยอดแย่ของโลก ซึ่งในส่วนนี้รัฐควรลงมือแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นและเท่าเทียม หรือการวางนโยบายข้อกำหนดที่รัดกุมมากยิ่งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาวอันเป็นสิ่งที่ต้องเริ่มทำได้แล้วในวันนี้ ไม่ใช่รอเวลาหรือแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

 

          ความเสียหายที่เกิดขึ้นในแต่ละปีทั้งชีวิต ทรัพย์สิน ธุรกิจ ไปจนถึงเศรษฐกิจนั้นทุกคนต่างรู้ดี หากยังจำกันได้ว่าผู้ประกอบการหั่วเกรงกับปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไขหรือป้องกันเหล่านี้ขนาดไหน ถึงขนาดที่ว่าไทยในฐานะผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่กลับมีผู้ประกอบการย้ายฐานการผลิตจำนวนมากออกไป รายใหม่ก็ไม่กล้าที่จะลงทุนมากนัก หากประเทศไทยสามารถสร้างเสถียรภาพและความมั่นใจให้กับประชาชนและเหล่าผู้ประกอบการได้ว่าปัญหาน้ำท่วมนั้นสามารถรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ จะต้องถูกทุเลาความรุนแรงลงและกลายเป็นเรื่องที่มีกลไกอัตโนมัติในการตอบสนองอย่างฉับไว ไม่ใช่นั่งรอปัญหาเกิดแล้วมะงุมมะงาหราเพื่อแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนเพิ่มเติม การใส่หลักสูตรการตอบสนองต่อภัยพิบัติและสถานการณ์ฉุกเฉินลงในระบบการศึกษา (ซึ่งไม่ควรอยู่ในวิชาลูกเสือ) หรือการนำผู้มีความรู้ความสามารถจริง ๆ มาดำรงตำแหน่งที่เกี่ยวข้องและให้สิทธิ์ขาดในการดำเนินการเป็นต้น

 

          ภัยพิบัติเหล่านี้สามารถสังเกตการณ์เพื่อป้องกันสถานการณ์ล่วงหน้าได้ แม้เราอาจจะเคยได้ยินว่าประเทศไทยอยู่ในพื้นที่เขตร้อนที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้บ่อยกว่าพื้นที่เขตหนาวต่าง ๆ ทำให้การพยากรณ์มีความคลาดเคลื่อนสูง แต่ในความเป็นจริงแล้วสิ่งเหล่านี้สามารถเกิดความแม่นยำมากขึ้นได้หากมีการลงทุนเทคโนโลยีเซนเซอร์และอุปกรณ์ตรวจจับที่ทันสมัย มีความแม่นยำสูง ระบบการแจ้งเตือนและการวิเคราะห์จะสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาเร่งด่วนที่รัฐสามารถแก้ไขและป้องกันได้ ไม่ว่ายุคไหนโอกาสเหล่านี้ก็เปิดอยู่เสมอ ๆ คำถามที่สำคัญ คือ ใครจะหยิบแนวคิดเหล่านี้ขึ้นมาทำให้เป็นจริงเมื่อไหร่? หรือที่ยังไม่ลงมือทำกันอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนเสียทีนั้นมีเหตุผลอะไรหรือไม่? หรือเอางบที่ควรใช้แก้ปัญหาเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้าเหล่านี้โยกไปใช้กับอะไรที่ไม่สมเหตุสมผลหรือไม่?

 

ทศธิป สูนย์สาทร

ผู้หลงใหลในเสียงดนตรี ความงาม และเทคโนโลยี

--------------------

Ref:

logoline