svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

จับตามองต่อ! ภูเขาไฟทั่วโลกที่อาจปะทุได้อีกในรอบ 10 ปี

27 กันยายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การปะทุของภูเขาไฟกุมเบร บิฮา (Cumbre Vieja) ในประเทศสเปน นับเป็นการกลับมาปะทุครั้งแรกในรอบ 50 ปี สร้างความเสียหายให้กับประชาชนชาวสเปนทั้งทางตรงและทางอ้อม อย่างไรก็ตามยังมีภูเขาไฟอีกมากที่ต้องจับตามองและพร้อมปะทุอีก

Highlights

  • การปะทุของภูเขาไฟบนเกาะลา ปัลมาครั้งแรกในรอบ 50 ปี แม้ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บจากการปะทุของภูเขาไฟกุมเบร บิฮา แต่ความเสียหายของบ้านเรือนจากการปะทุครั้งนี้ คาดการณ์ว่าได้รับผลกระทบราว 200300 หลังคาเรือน
  • ยังมีภูเขาไฟคุกรุ่นรอบโลกที่ยังปะทุและน่าจับตามองอยู่มาก เป็นไปได้ว่าอาจปะทุอีกในรอบ 10 ปี
  • ในประวัติศาสตร์เคยมีการปะทุของภูเขาไฟที่คร่าชีวิตผู้คนราว 100,000 คนในครั้งเดียว

-------------------

การปะทุของภูเขาไฟกุมเบร บิฮา (Cumbre Vieja) พ่นไอลาวากว่า 1,000 องศาเซลเซียส

          ประชาชนในเมืองลาปัลมา (La Palma) บนเกาะคานารีราว5,000กว่าชีวิตต้องเร่งอพยพอย่างฉับพลันหลังจากการปะทุของภูเขาไฟกุมเบร บิฮา (Cumbre Vieja) ซึ่งพ่นไอลาวาอุณหภูมิสูงกว่า 1,000 องศาเซลเซียส และก่อให้เกิดการกระจายตัวของแก๊สอันตรายไปทั่วบริเวณ

 

          การปะทุครั้งใหญ่นี้เกิดขึ้นเมื่อช่วงบ่ายของวันอาทิตย์ที่ 19 กันยายน 2021 ที่ผ่านมา สร้างความเสียหายต่อบ้านเรือนไปแล้วราวๆ183หลังคาเรือน ประชาชนกว่า 6,000 รายต้องเร่งอพยพออกจากพื้นที่โดยเร็วที่สุด

 

          เกษตรกรส่วนหนึ่งที่อาศัยในอยู่ในลา ปัลมา แสดงความวิตกกังวลถึงความเสียหายทางการเกษตรว่าการไหลบ่าของลาวาอาจส่งผลกระทบต่อพืชพันธุ์ต่างๆและผลผลิตในไร่ของเขา การขุดเจาะน้ำบาดาลมาใช้เพื่อการเกษตรกรรมรวมถึงอุปโภคและบริโภคภายในครัวเรือนอาจไม่สามารถทำได้อีกต่อไปในอนาคตหากยังไม่มีการจัดการที่ดีในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติในครั้งนี้ ความเสียหายดังกล่าวถูกประเมินแล้วว่าสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินราว 87 ล้านยูโร (102 ล้านเหรียญสหรัฐ)

 

          ลา ปัลมา ยังคงมีการเฝ้าระวังอย่างสูงสุดหลังจากในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาสามารถตรวจจับการสั่นสะเทือนของภูเขาไฟได้มากกว่า 20,000 ครั้ง โดยจากการปะทุในครั้งนี้ โคนาส เปเรซ (Jonas Perez) ไกด์ท้องถิ่นได้บอกเล่าประสบการณ์สุดระทึกว่า ตัวเขาสามารถรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนของภูเขาไฟ และเสียงของการปะทุนั้นดังสนั่นหวั่นไหวพอๆกับเครื่องบินรบ20ลำเลยทีเดียว

 

          หมู่เกาะคานารี เป็นหมู่เกาะที่ประกอบด้วยเกาะย่อยๆอีก 7 เกาะ โดยก่อนหน้านี้ภูเขาไฟกุมเบร บิฮา เคยปะทุมาแล้วในปี 1971 และ 1949

 

ภูเขาไฟที่น่าจับตามอง และอาจปะทุอีกในรอบ 10 ปี
          ดร.ทอม ไฟฟ์เฟอร์ นักภูเขาไฟวิทยาชาวเยอรมันได้ศึกษาพร้อมทั้งรวบรวมภูเขาไฟที่ในปัจจุบันยังมีความคุกรุ่นอยู่มากและยังต้องเฝ้าจับตามองกันต่อไปว่าจะมีการปะทุครั้งใหม่เกิดขึ้นในช่วงเร็ววันนี้อีกหรือไม่ไว้คร่าวๆดังนี้
การปะทุของภูเขาไฟ Stromboli ในอิตาลี ยุโรป
ภูเขาไฟ Stromboli (Eolian Islands, Italy)

          ภูเขาไฟ Stromboli ตั้งอยู่บนเกาะเล็กๆ ทางตอนเหนือของซิซิลี ประเทศอิตาลี เป็นภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก โดยการระเบิดและแผ่พุ่งลาวายังคงมีให้เห็นอย่างสม่ำเสมอ

 

ภูเขาไฟ Etna (Sicily, Italy)
          ภูเขาไฟ Etna ในซิซิลี เป็นภูเขาไฟที่ใหญ่และมีพลังมากที่สุดในยุโรป แม้การปะทุจะเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งรวมถึงปลดปล่อยลาวาจำนวนมหาศาล แต่ไม่ค่อยเกิดอันตรายต่อพื้นที่ที่อาศัยอยู่เท่าไหร่นัก และภูเขาไฟ Campi Flegrei ใกล้กรุงเนเปิลส์ ยังเป็นอีกหนึ่งภูเขาไฟที่ถูกจับตามองว่าจะเกิดการปะทุอีกหรือไม่
นักท่องเที่ยวแห่ชมภูเขาไฟ Fagradalsfjall

ไอซ์แลนด์
ภูเขาไฟ Fagradalsfjall (Reykjanes Peninsula, Iceland)

          ภูเขา Fagradalsfjall ปะทุขึ้นในเดือนมีนาคม 2021 ซึ่งเป็นครั้งแรกหลังจากที่ภูเขาไฟลูกนี้นอนสงบมาเกือบ 800 ปี และในปัจจุบันภูเขาไฟลูกนี้ยังคงพ่นลาวาออกมาอยู่เรื่อยๆ  

 

ภูเขาไฟ Nyiragongo ในดีอาร์คองโก ทะเลสาบลาวาที่ใหญ่ที่สุดในโลก

แอฟริกา
ภูเขาไฟ Erta Ale (Danakil depression, Ethiopia)

          ภูเขาไฟ Erta Ale ขึ้นชื่อเรื่องทะเลสาบลาวาที่ยังไหลต่อเนื่องมานานนับสิบๆปีตั้งแต่การค้นพบครั้งแรกในปี 1960

 

ภูเขาไฟ Nyiragongo (Congo)
          หนึ่งในภูเขาไฟที่สวยงามที่สุดและยังคงความคุกรุ่นมากที่สุดในโลกเช่นกัน ภูเขาไฟ Nyiragongo อยู่ใกล้ทะเลสาบ Kivu บริเวณชายแดนตะวันออกของ ดีอาร์คองโกกับรวันดาในอุทยานแห่งชาติ Virunga ภูเขาไฟแห่งนี้ขึ้นชื่อเรื่องทะเลสาบลาวาที่ใหญ่ที่สุดในโลก

 

          การปะทุยังอาจเกิดขึ้นได้กับ ภูเขาไฟ Nyamuragira ในคองโก, เกาะ Barren บริเวณมหาสมุทรอินเดีย, ภูเขาไฟ Ol Doinyo Lengai ในแทนซาเนีย, เกาะ Mayotte ในมหาสมุทรอินเดีย และ ภูเขาไฟ Piton de la Fournaise บนเกาะ Réunion
 
ภูเขาไฟ Sinabung ในอินโดนีเซียเกิดการปะทุ ควันสูงเสียดฟ้าหลักกิโล
อินโดนีเซีย
          ด้วยจำนวนเกาะในประเทศอินโดนีเซียที่มีมากกว่า 13,000 แห่ง อินโดนีเซียจึงเป็นประเทศที่นำโด่งด้านภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นมากที่สุดในโลก และด้วยความที่มีภูเขาไฟมากมายขนาดนี้ยอดการเสียชีวิตก็มีมากที่สุดเช่นกัน ในอินโดนีเซียภูเขาไฟที่ต้องจับตามองยังมีอยู่มากจนสามารถลิสต์ได้ยาวเป็นห่างว่าวอาทิ ภูเขาไฟ Sinabungและ Kerinci บนเกาะ Sumatra ภูเขาไฟ Dukono และ Ibu บนเกาะ Halmahera ภูเขาไฟ Karangetang บนเกาะ Siau, ภูเขาไฟ Soputan ทางตอนเหนือของ Sulawesi และภูเขาไฟ Krakatau เป็นต้น
ภูเขาไฟ Masaya ในนิคารากัว ในรอบ 30 ปี ปะทุไปแล้วกว่า 13 ครั้ง
เม็กซิโก อเมริกากลาง และหมู่เกาะแคริบเบียน
ภูเขาไฟ Popocatépetl (Central Mexico)
          ภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นมากที่สุดแห่งหนึ่งของเม็กซิโก ซึ่งการปะทุครั้งใหญ่ในอดีตก่อให้เกิดดินโคลนถล่มขนาดมหาศาลและทำลายถิ่นฐานของชาว แอซเท็ก (Aztec) จนหมดสิ้น

 

ภูเขาไฟ  Fuego (Guatemala)
          หนึ่งในภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นที่สุดในอเมริกากลาง และยังมีลาวาพวยพุ่งพร้อมทั้งเถ้าภูเขาไฟอยู่เสมอ

 

ภูเขาไฟ  Pacaya (Guatemala)
          ภูเขาไฟลูกนี้นับเป็นภูเขาไฟที่ยังมีพลังอยู่ในช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมา  และยังคงเกิดการปะทุอยู่เรื่อย ๆ

 

ภูเขาไฟ  Soufrière St. Vincent (West Indies, St. Vincent)
          แม้ว่าจะเป็นภูเขาไฟที่มีอายุน้อยที่สุดบนเกาะ St. Vincent แต่ก็เกิดการระเบิดอยู่บ่อยครั้ง พื้นที่ตอนเหนือของเกาะส่วนใหญ่ได้รับความเสียหายจากการปะทุครั้งใหญ่ในปี 1902 ซึ่งความรุนแรงมีขนาดใกล้เคียงกับการปะทุของภูเขาไฟ Mont Pelée ใน Martinique

 

ภูเขาไฟ  Masaya (Nicaragua)
          ภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นมากที่สุดแห่งหนึ่งของนิการากัว และปริมาณลาวาที่ไหลหลากนั้นมากพอๆกับการเกิดทะเลสาบสักแห่ง

 

          นอกเหนือจากที่ได้กล่าวไปข้างต้น ภูเขาไฟ Kilauea ในสหรัฐอเมริกา ภูเขาไฟ  Sakurajima บนเกาะคิวชูของญี่ปุ่น และ ภูเขาไฟ Taal ในฟิลิปปินส์ (หนึ่งในภูเขาไฟที่เคยปะทุยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์) ยังคงเป็นที่จับตามองของนักธรณีวิทยา

 

ผลกระทบจากการปะทุของภูเขาไฟ 
          ภูเขาไฟสามารถจำแนกลักษณะออกได้เป็น 3 ประเภทได้แก่ ภูเขาไฟที่ยังมีพลังหรือคุกรุ่น (active volcanoes) เป็นภูเขาไฟซึ่งยังมีการปะทุอยู่หรือกำลังจะเกิดการปะทุในอนาคต ภูเขาไฟสงบ (dormant volcanoes) เป็นภูเขาไฟที่ยังไม่มีการปะทุแต่สามารถเกิดขึ้นได้ในอนาคต  และภูเขาไฟดับสนิท (extinct volcanoes) เป็นภูเขาไฟที่จะไม่เกิดการปะทุขึ้นอีก ซึ่งการปะทุขึ้นในแต่ละครั้งนอกจากจะสร้างความเสียหายให้แก่ทรัพย์สินและสิ่งต่างๆโดยรอบแล้ว ยังมีอันตรายอีกมากมายที่สามารถส่งผลรุนแรงต่อสุขภาพได้ไม่ว่าจะเป็นแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์และไฮโดรเจนซัลไฟด์จากการระเบิด เถ้าภูเขาไฟ สะเก็ดก้อนหินจากการระเบิด

 

          ถึงแม้ว่าแก๊สจากการระเบิดจะสามารถจางหายไปเองได้ แต่ปริมาณที่พรั่งพรูออกมาจากการปะทุแต่ละครั้งคงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสลายแก๊สเหล่านี้ให้ออกไปในไม่กี่วินาที ซึ่งหากร่างกายได้รับแก๊สหรือควันในปริมาณมากเกินไป จะส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ จนอาจทำให้มีอาการวิงเวียนศรีษะ อาเจียน สำลักควัน หรือในกรณีที่แย่ที่สุดอาจส่งผลให้เสียชีวิตได้
 
ภูเขาไฟตัมโบรา (Tambora) บนเกาะซัมบาวา ประเทศอินโดนีเซีย
ย้อนรอยการปะทุของภูเขาไฟในอดีตที่คร่าชีวิตมากที่สุด
          ในปี 1815 ภูเขาไฟตัมโบรา (Tambora) บนเกาะซัมบาวา ประเทศอินโดนีเซียได้เกิดการปะทุขึ้นและเป็นอันต้องจารึกลงในประวัติศาสตร์โลก การปะทุส่งเสียงดังไปไกลกว่า 100 ไมล์ และส่งผลต่อสภาพอากาศไปทั่วทั้งโลก ลาวาที่ไหลปกคลุมทั่วเกาะซัมบาวาแผดเผากลบร่างชาวบ้านในบริเวณนั้นทันทีราว 8,000 คน ประชากรบางส่วนที่หลงเหลืออยู่ต้องประสบกับโรคระบาดและสภาวะขาดแคลนอาหาร โดยการปะทุครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์นี้คร่าชีวิตมนุษยชาติทั้งทางตรงและทางอ้อมไปราว 92,000 ชีวิต

 

          ถัดมาอีกไม่กี่ทศวรรษในปี 1883 ภูเขาไฟกรากาตัว จากประเทศอินโดนีเซีย เกิดการปะทุที่ส่งผลให้เกิดคลื่นสึนามิซัดถล่มบ้านเมืองด้วยคลื่นสูง 40 เมตร และคร่าชีวิตผู้คนราว 36,417 คน ซึ่งความรุนแรงของการปะทุในครั้งนี้เทียบเท่าได้กับแรงระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมา 13,000 ลูก ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 

 

          จากข้อมูลของ U.S. Geological Survey (USGS) พบว่ายังมีภูเขาไฟที่ยังมีพลังอยู่ราว 1,500 แห่งทั่วโลก โดยมีประมาณ 500 แห่งจากทั้งหมด 1,500 ที่เคยเกิดการปะทุขึ้นในประวัติศาสตร์ และภูเขาไฟส่วนใหญ่บนโลกตั้งอยู่บริเวณ "วงแหวนแห่งไฟ (Ring of Fire)" รอบมหาสมุทรแปซิฟิก

 

ภัคสุภา  รัตนภาชน์
หล่อหลอมตัวเองด้วยประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมรอบโลก อาหาร และผู้คน  

--------------------

อ้างอิง:

logoline