svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

รวยนอกสังเวียน แบบ คอเนอร์ แม็คเกรเกอร์ และนักกีฬายุคใหม่

21 กันยายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ในยุคที่นักกีฬาอาชีพ ไม่ได้พึ่งพาแค่รายได้จากเงินรางวัล หรือค่าเหนื่อยจากต้นสังกัดอีกต่อไป การต่อยอดจากชื่อเสียงที่สร้างขึ้นน อาจนำไปสู่ช่องทางใหม่สู่ความร่ำรวยนอกสังเวียน

Highlights

  • ในปี 2020 วงการกีฬาอาจหยุดชะงัก แต่รายได้และความร่ำรวยของนักกีฬาชั้นนำของโลก กลับไม่ได้รับผลกระทบไปด้วย
  • ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเทรนด์ใหม่ เมื่อนักกีฬาอาชีพมีช่องทางรายได้อื่น ที่อาจสำคัญกว่าเรื่องในสนาม นั่นคือสปอนเซอร์ รวมถึงธุรกิจที่อาจสร้างรายได้ที่มากกว่า
  • คอเนอร์ แม็คเกรเกอร์ อดีตแชมป์ UFC คือหนึ่งในนั้น เพราะแม้จะขึ้นเวทีเพียงแค่ไฟต์เดียวในปีที่ผ่านมา และแพ้น็อค แต่เจ้าของฉายา Notorious กลับเป็นนักกีฬาที่มีรายได้สูงสุดของโลกคนปัจจุบัน

-------------------

(ภาพจาก @TheMacLife)

          ย้อนไปในปี 2016 คอเนอร์ แม็คเกรเกอร์ เคยบอกกับ คริสเตียโน โรนัลโด เจ้าของตำแหน่งนักกีฬาที่มีรายได้สูงสุดในโลกในเวลานั้น ว่าซักวัน เขาจะยกระดับตัวเองขึ้นไปเทียบชั้นกัปตันทีมชาติโปรตุเกสให้ได้

 

          ตัดภาพกลับมาในการจัดอันดับปีล่าสุดของนิตยสาร ฟอร์บส์ เจ้าของฉายา 'Notorious' ก็ทำอย่างที่ว่าไว้ได้จริง

 

          เมื่อได้รับการจัดให้เป็นนักกีฬาที่มีรายได้สูงสุดของโลกคนล่าสุด ที่ 180 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 6,000 ล้านบาท) เหนือกว่าทั้ง โรนัลโด หรือ ลิโอเนล เมสซี

 

          และเป็นครั้งแรกที่เจ้าตัวได้อันดับ 1 ในลิสต์นี้ และครั้งที่สอง ที่มีชื่อในกลุ่มท็อปเทน (ปี 2018 อยู่ในอันดับ 4 ซึ่งเป็นผลจากไฟต์กับเมย์เวเธอร์)

 

          ทั้งที่ในช่วง 3 ปีหลังสุด เจ้าตัวขึ้นเวทีเพียงแค่ 3 ไฟต์ และแพ้ไปถึง 2

 

มันนีเกมของ ฟอร์บส์
(ภาพจาก @thenotoriousmma)

          เมื่อกีฬาอาชีพเริ่มเติบโต นักกีฬาจำนวนมากสร้างตัวจนกลายเป็นมหาเศรษฐี จน ฟอร์บส์ เริ่มจัดอันดับนักกีฬาที่มีรายได้สูงสุดในโลก

 

          ในยุคแรกนั้น ไมเคิล จอร์แดน ซูเปอร์สตาร์ของ ชิคาโก บูลส์ และแบรนด์แอมบาสเดอร์ของ ไนกี้ นั้นยึดอันดับหนึ่งไว้ได้อย่างเหนียวแน่นต่อเนื่องหลายปี

 

          ก่อนจะเปลี่ยนผ่านมาสู่ยุคของ ไทเกอร์ วูดส์ และ ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ ตามด้วย โรนัลโด, เมสซี และ เลอบรอน เจมส์ ที่โกยรายได้มหาศาล ทั้งจากสัญญากับต้นสังกัด และรายได้จากสปอนเซอร์ที่หลั่งไหลเข้ามา

 

          ฟอร์บส์ อธิบายหลักเกณฑ์ในการจัดอันดับไว้แบบชัดเจน คือส่วนของรายได้จากในสนาม และนอกสนาม

 

          ในสนามคือ เงินรางวัล ค่าเหนื่อย และโบนัส โดยในปีล่าสุด คิดจากวันที่ 1 พ.ค. 2020 ถึง 1 พ.ค. 2021 ยกเว้นกรณีที่ผู้เล่นได้รับค่าแรงเกินจากเดือนพฤษภาคม จะใช้วิธีคิดจากค่าแรงตลอดฤดูกาล

 

          ขณะที่ในกรณีของ NBA จะยึดตามฤดูกาล 2020-21 ที่ผู้เล่นทุกคนรับค่าแรงลดลง 20% จากฐานปกติ

 

          ส่วนรายได้นอกสนาม จะเป็นมูลค่าโดยประมาณของสัญญาสปอนเซอร์ และไลเซนส์อื่น ๆ ใน 12 เดือน รวมถึงรายได้จากธุรกิจอื่น ๆ โดยไม่หักภาษีหรือค่าจ้างนายหน้า

 

          และส่วนนี้เองที่ทำให้นักกีฬาที่มีหัวทางธุรกิจ ก็สามารถไต่ขึ้นมาอยู่ในลำดับต้น ๆ ของลิสต์ได้ แม้จะมีรายได้ในสนามลดลง ซึ่ง แม็คเกรเกอร์ ก็อยู่ในข่ายนั้น

 

รวยนอกสังเวียน

          ก่อนหน้านี้ มีนักกีฬาแค่สองราย ที่มีรายได้นอกสนามต่อปี เกิน 70 ล้านดอลลาร์ (2,300 ล้านบาท) นั่นคือ ไทเกอร์ วูดส์ และ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์

 

          จนกระทั่งปีนี้ ที่ แม็คเกรเกอร์ ทำสำเร็จ

 

          ไฟต์ล่าสุดที่ แม็คเกรเกอร์ หวนคืนเวที ในรอบหนึ่งปี เมื่อเดือนมกราคม จบลงแบบไม่น่าประทับใจนัก ด้วยการแพ้น็อค ดัสติน ปัวริเยร์ พร้อมรับค่าตัวไป 22 ล้านดอลลาร์ (732 ล้านบาท) หรือคิดเป็น 12.2% ของรายได้ทั้งหมด

 

          ขณะที่อีก 158 ล้านดอลลาร์ (5,265 ล้านบาท) เป็นเรื่องทางธุรกิจล้วน ๆ

 

          ในจำนวนนี้ 8 ล้านดอลลาร์ (266 ล้านบาท) เป็นรายได้จากสปอนเซอร์ คือบริษัทรับพนัน DraftKings และวิดีโอเกม Dystopia: Contest of Her

 

          ส่วนอีก 150 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 5 พันล้านบาท มาจากการขายหุ้นใหญ่ของ Eire Born Spirits เจ้าของแบรนด์ไอริชวิสกี้ Proper No. Twelve ที่เขาเป็นคนก่อตั้ง ให้กับ Proximo Spirits เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

 

Proper No. Twelve
(ภาพจาก properwhiskey.com)           แม็คเกรเกอร์ ยืนยันว่าแม้เขาจะไม่ใช่ผู้ถือหุ้นใหญ่แล้ว แต่เขาจะยังมีส่วนร่วมกับแบรนด์ และการขายหุ้นใหญ่ครั้งนี้ ก็เพื่อให้ Proximo Spirits ช่วยยกระดับของ Proper No. Twelve ไปอีกขั้นในตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

 

          Proper No. Twelve ถือเป็นแบรนด์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เติบโตเร็วมากในเวลาสั้น ๆ

 

          แม็คเกรเกอร์ ก่อตั้ง Eire Born Spirits บริษัทแม่ของแบรนด์ขึ้น เมื่อเดือนกันยายน 2018 ในยุคที่ชื่อเสียงของเจ้าตัวกำลังอยู่ในช่วงพีก หลังขึ้นชกกับ เมย์เวทเธอร์ ในปีเดียวกัน

 

          รายงานระบุว่าในช่วงแรกของการเปิดตัวที่สหรัฐฯ สต็อคสำหรับ 6 เดือนของ Proper No. Twelve ขายหมดเกลี้ยงในเวลาแค่ 10 วัน ทำรายได้ให้บริษัทกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ (33,000 ล้านบาท)

 

          และปัจจุบัน เริ่มไปเปิดตลาดในสหราชอาณาจักร แคนาดา รัสเซีย โปแลนด์ และแอฟริกาใต้

 

ทิศทางในอนาคต
(ภาพจาก on-running.com)           ปี 2020 เป็นปีที่วงการกีฬาทั่วโลกหยุดชะงัก เพราะผลกระทบจากโควิด-19 จนถ้าการแข่งขันไม่ถูกเลื่อนออกไป นักกีฬาก็ต้องลงเล่นโดยไม่มีคนเข้าชมในสนาม

 

          แม้จะชดเชยด้วยการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก แต่ยอดตั๋วเข้าชมที่หายไป ก็กระทบกับรายได้ของทั้งอุตสาหกรรม

 

          แต่รายได้ที่ลดลงของทั้งอุตสาหกรรมกลับไม่กระทบนักกีฬาระดับท็อปของโลกเลย ซึ่งเป็นผลจากเทรนด์ใหม่ที่กำลังเห็นได้ชัด

 

          นั่นคือนักกีฬาจำนวนมากในยุคนี้ ไม่ได้พึ่งพาเฉพาะรายได้จากสัญญากับต้นสังกัด หรือผลงานอีกต่อไป

 

          เพราะคนกลุ่มนี้มีรายได้นอกสนามก่อนหักภาษี รวมกันถึง 1 พันล้านดอลลาร์ (33,000 ล้านบาท) หรือสูงกว่าปี 2012 ซึ่งทำได้ 556 ล้านดอลลาร์ (18,530 ล้านบาท) เกือบเท่าตัว

 

          นอกจาก แม็คเกรเกอร์ แล้ว ถ้าลองพิจารณานักกีฬาที่ติดในกลุ่มท็อป 50 เราจะเห็นภาพกว้างของเทรนด์นี้มากขึ้น

 

          ยกตัวอย่าง โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ ในอันดับ 7 จะพบว่าตำนานเทนนิสชาวสวิส มีรายได้จากผลงานในสนามแค่ 30,000 ดอลลาร์เท่านั้น เพราะอาการบาดเจ็บเข่าทำให้เจ้าตัวแทบไม่ได้ลงสนาม หรือคิดเป็น 0.03% เท่านั้น

 

          ขณะที่รายได้ 90 ล้านดอลลาร์ (3 พันล้านบาท) ในปีที่ผ่านมา มาจากสัญญาสปอนเซอร์ล้วน ๆ ทั้งจาก Rolex, Credit Suisse และ Uniqlo

 

          และมีแนวโน้มว่าเจ้าตัวจะมีรายได้จากส่วนนี้เพิ่มขึ้นอีกในอนาคต เมื่อ On ผู้ผลิตเครื่องกีฬาสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ ที่ เฟเดอเรอร์ ถือหุ้นอยู่ด้วย เพิ่งเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ค เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้มูลค่าบริษัทพุ่งไปแตะหลัก 11,000 ล้านดอลลาร์ (366,600 ล้านบาท)

 

          นอกจาก เฟเดอเรอร์ แล้ว คนอื่น ๆ ที่อยู่ในข่ายนี้ ยังมี ไทเกอร์ วูดส์ และ นาโอมิ โอซากะ (อันดับ 12 ร่วม รายได้ในสนาม 0.3% และ 8.3% ตามลำดับ) เซรีนา วิลเลียมส์ (อันดับ 28 รายได้นอกสนาม 3.6%) ฟิล มิคเคลสัน (อันดับ 29 รายได้นอกสนาม 2.4%) และ โนวัค ยอโควิช (อันดับ 46 รายได้นอกสนาม 13%)

 

          ในกรณีของ โอซากะ นั้น รายได้ 60 ล้านดอลลาร์ (2 พันล้านบาท) ยังเป็นสถิติสูงสุดของนักกีฬาหญิงในลิสต์นี้ของ ฟอร์บส์ ด้วย

 

          หรืออีกนัยหนึ่ง คือนักกีฬาอาชีพเริ่มมีความรู้ทางการเงินมากขึ้น และใช้เงินทำงานควบคู่กันไป หรือมอบหมายให้ตัวแทนที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ดูแล ระหว่างที่ยังอยู่บนจุดสูงสุดของชีวิตการเล่น แทนที่จะรอหลังจากเกษียณตัวเอง

 

          นั่นอาจเป็นไปได้ว่าในอนาคต ชื่อของนักกีฬาอย่าง เฟเดอเรอร์ อาจไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในลิสต์นักกีฬาที่มีรายได้มากสุดในโลก แต่อาจก้าวข้ามไปปรากฎในลิสต์อื่น ๆ ของ ฟอร์บส์ ด้วยก็เป็นได้

 

ชาตรี ตันสถาวีรัฐ

--------------------
SOURCE:

logoline