HIGHLIGHTS
- ทัพนักกีฬาจีน กลับมาสู่บทบาทมหาอำนาจในวงการกีฬาอีกครั้ง ในโอลิมปิกเกมส์ครั้งล่าสุด ที่โตเกียว หลังจากแผ่วไปใน ริโอ เกมส์ เมื่อปี 2016
- นักกีฬาจีนหลายคนสร้างผลงานระดับมาสเตอร์พีซ โดยเฉพาะ ฉวน หงฉาน สาวน้อยมหัศจรรย์วัย 14 ปี ที่ทำ Perfect Ten ได้ถึง 3 ครั้ง ในกีฬากระโดดน้ำ หรือทีมกรรเชียงหญิง ที่กลับมาคว้าเหรียญทองเป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปี
- ทั้งหมดนี้ มีที่มาจากการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อช่วยรีดประสิทธิภาพสูงสุดในตัวนักกีฬาออกมา
--------------------
ปัจจุบัน จีน พัฒนาตัวเองจากชาติที่เคยถูกปรามาสเรื่องลอกเลียนแบบมากที่สุด จนก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งตัวจริงของสหรัฐฯ ในด้านเทคโนโลยี และมีสิทธิ์แซงหน้าขึ้นไปเป็นอันดับหนึ่งด้วย
ทั้งหมดนี้ ต้องย้อนไปในการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ ครั้งที่ 19 เมื่อปี 2017 หนึ่งในไฮไลท์สำคัญคือคำกล่าวของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ที่ต้องการเห็น จีนขึ้นเป็นมหาอำนาจในด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี
และนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ เพื่อชดเชยช่องว่างว่างเรื่องคลังสมองของประเทศที่ตามหลังสหรัฐฯ โดยเน้นไปที่เรื่องสหวิทยาการ (Interdisciplinary) หรือการทำนวัตกรรมต่าง ๆ ไปประยุกต์ใช้งานจริงให้มากขึ้น
ในระยะหลัง เราถึงได้เห็นจีนเติบโตแบบก้าวกระโดดมากในเรื่องเทคโนโลยี โดยเฉพาะ AI จากการใช้ประโยชน์คลังข้อมูลมหาศาลบนโลกออนไลน์ ให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพ และมอบหมายให้บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของประเทศทำงานร่วมกับภาครัฐแบบบูรณาการ
จนแม้แต่ หลี่ ไคฟู อดีตประธาน Google China ยังกล่าวไว้ในหนังสือ AI Superpowers ว่าท้ายที่สุด พญามังกรอาจแซงหน้าพญาอินทรีขึ้นไปเป็นเบอร์หนึ่งของโลกตัวจริง
ในเรื่องกีฬาก็เช่นกัน ในโอลิมปิกเกมส์ครั้งล่าสุดที่กรุงโตเกียว ทัพนักกีฬาจีนแก้ตัวจาก ริโอ 2016 ที่จบในอันดับ 3 แบบถูกสหรัฐฯ ทิ้งห่างขาดลอย ด้วยการกลับมารั้งอันดับ 2 กับจำนวนเหรียญทองที่น้อยกว่าสหรัฐฯ เพียงเหรียญเดียว (38 ต่อ 39)
และหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่อยู่เบื้องหลังผลงานนี้ ก็คือพลังของเทคโนโลยีที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้
AI และกล้อง 3 มิติ ในกีฬากระโดดน้ำ
กระโดดน้ำคือหนึ่งในประเภทกีฬาที่ประสบความสำเร็จสูงสุดของจีนในปีนี้ ด้วยจำนวน 7 เหรียญทอง และ 5 เหรียญเงิน
ทั้ง เฉา หยวน ซึ่งสร้างประวัติศาสตร์เป็นนักกีฬาคนแรกที่ได้เหรียญทองจาก 3 อีเวนต์ที่แตกต่างกัน
และ ฉวน หงฉาน สาวน้อยมหัศจรรย์วัย 14 ปี ที่ทำ Perfect Ten ได้ถึง 3 ครั้ง ในประเภทแพลตฟอร์ม 10 เมตรหญิง
สถานีโทรทัศน์ CCTV ของจีน อธิบายเบื้องหลังความสำเร็จของทีมกระโดดน้ำชุดนี้ ว่าเป็นผลจากการใช้เทคโนโลยีเก็บข้อมูล และนำมาวิเคราะห์ ซึ่งพัฒนาโดย Baidu เพื่อหาแพทเทิร์นที่ถูกต้องสำหรับปฏิบัติตาม แทนที่จะใช้เฉพาะคำแนะนำจากปากต่อปากเหมือนในอดีต
กระโดดน้ำเป็นกีฬาที่เหตุการณ์ในสนามเกิดขึ้นเร็วมาก จากแพลตฟอร์มจนถึงน้ำ ใช้เวลาเพียงสองวินาทีเท่านั้น แต่การเคลื่อนไหวของนักกีฬาขณะลอยตัวในอากาศนั้น มีท่วงท่าที่ซับซ้อนมาก
ความท้าทายที่สุดของทีมผู้ฝึกสอน คือการวิเคราะห์การเคลื่อนไหวของนักกีฬาในช่วงเวลาแค่ 2 วินาทีนั้นให้ได้
การนำกล้องแบบ 3 มิติเก็บภาพท่วงท่าของนักกีฬาขณะอยู่บนอากาศ จะช่วยเก็บรายละเอียดต่าง ๆ ของแต่ละท่า รวมถึงสถิติต่าง ๆ เพื่อให้ทีมผู้ฝึกสอนนำไปวิเคราะห์หาข้อบกพร่อง และแสดงให้นักกีฬาเห็น แทนการอธิบายเทคนิคต่าง ๆ ด้วยคำพูด
หุ่นยนต์ ในกีฬาเทเบิลเทนนิส
เทเบิลเทนนิส คืออีกหนึ่งประเภทกีฬาที่จีนครองความเป็นหนึ่งไว้ได้ ในโอลิมปิกครั้งนี้ ด้วยจำนวน 4 เหรียญทอง และ 3 เหรียญเงิน
Pangbot M-ONE หุ่นยนต์คู่ซ้อมซึ่งพัฒนาร่วมกัน ระหว่าง SIASUN Robot & Automation กับมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ คือเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้
Pangbot เป็นมากกว่าแค่หุ่นยนต์คู่ซ้อมทั่วไป แต่มีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาช่วย เพื่อให้แขนกลสามารถปรับระดับความเร็ว เทคนิคการเล่น ทั้งการยืนตำแหน่ง ลูกสปิน ฯลฯ ได้ เพื่อให้ผู้เล่นได้คุ้นเคยเหมือนซ้อมกับคู่แข่งที่จะลงสนามด้วย
ปัจจุบัน Pangbot มีราคาอยู่ที่ 40,000 หยวน หรือประมาณ 2 แสนบาท แต่ในอนาคต เหริน เจี๋ย รองคณบดีวิทยาลัยเทเบิลเทนนิสจีน เชื่อว่าเทคโนโลยีนี้จะเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น และเป็นส่วนสำคัญในการฝึกซ้อมของนักกีฬาอาชีพในอนาคตอันใกล้
เทคโนโลยีการบินและอวกาศ ในกีฬาว่ายน้ำ
ทีมว่ายน้ำจีน จบในอันดับ 4 ด้วยผลงาน 3 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง ซึ่งเป็นผลจากการฝึกซ้อมด้วยระบบนำร่องเฉื่อย (INS) ของสถาบันเทคโนโลยีอิเลคทรอนิคส์การบินและอวกาศแห่งจีน หรือ CAAET
ระบบ INS ถูกนำมาใช้ เพื่อเก็บข้อมูลระหว่างจำลองการฝึก อย่างละเอียด ตั้งแต่ เวลา ความถี่ของจังหวะสโตรค ความยาวสโตรค และการหายใจ เพื่อนำมาปรับปรุงรูปแบบการซ้อม และรูปแบบการสนับสนุนอื่น ๆ
อุปกรณ์นี้ยังถูกนำไปติดตั้งในอุโมงค์ลม ในการฝึกซ้อมกีฬาประเภทอื่น ๆ ด้วย เช่น ตรวจจับท่าทางและการประสานงานของนักกีฬาในทีมกรรเชียงหญิง 4 คนพายคู่ จนได้เหรียญทองมาครองเป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปี และทำลายสถิติโลกได้อีกด้วย
รองเท้าไฮเทคในกีฬายกน้ำหนัก
อุปกรณ์หลายประเภทก็ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยป้องกันอาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นกับนักกีฬา ซึ่งส่งผลต่อผลงานในการแข่งขันด้วย
รองเท้าที่ หลู เสี่ยวจุ้น เจ้าของเหรียญทองในรุ่น 81 กก. และนักกีฬายกน้ำหนักที่อายุมากที่สุดในการแข่งขัน ซึ่งผลิตโดย Anta Sports นั้น สามารถรับน้ำหนักได้มากถึง 1 ตัน และทนทานกว่ารองเท้าทั่วไปถึง 2.5 เท่า
Anta นั้นเป็นผู้ผลิตเครื่องกีฬาของจีน ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1994 และปัจจุบัน ถือเป็นแบรนด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกเป็นอันดับ 3 นับจากรายได้
นักกีฬาดัง ๆ ที่เลือกใช้อุปกรณ์ของ Anta คือ เควิน การ์เนตต์ อดีตผู้เล่นมินเนโซตา ทิมเบอร์วูลฟ์ส และ แมนนี ปาเกียว
Anta เริ่มผลิตรองเท้าสำหรับกีฬายกน้ำหนักมาตั้งแต่ปี 2014 และเป็นสปอนเซอร์ให้กับทีมยกน้ำหนักองจีนมาหลายปีแล้ว แต่รองเท้ารุ่นดังกล่าวไม่เคยถูกวางตลาดอย่างเป็นทางการเลย
อนาคตของเทคโนโลยีในวงการกีฬา
จริง ๆ แล้ว เทคโนโลยีกับกีฬานั้นมีความเชื่อมโยงกันมาตลอดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
แต่ความก้าวหน้าของจีน และมหาอำนาจอื่น ๆ ก็อาจเป็นสาเหตุให้เกิดความแตกต่างในด้านพัฒนาการของนักกีฬาแต่ละชาติมากขึ้นได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ หวัง ต้าเฉา คอมเมนเตเตอร์ด้านกีฬาของสถานีโทรทัศน์ในจีนรู้สึกกังวล
หวัง เชื่อว่าความก้าวหน้านี้ไม่ควรถูกเก็บไว้เป็นสมบัติของชาติ หรือด้วยเหตุผลด้านความก้าวหน้าของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ควรถูกส่งต่อให้กับทุกคน เพื่อช่วยยกระดับให้ภาพรวมของวงการกีฬาก้าวหน้าขึ้นไปพร้อม ๆ กัน
ชาตรี ตันสถาวีรัฐ
--------------------
source: