ท่ามกลางชิ้นส่วนของศพที่กระจายไปทั่วสวนสาธารณะแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ซึ่งใช้ระยะเวลากว่า 8 วันในการรวบรวม มีชิ้นส่วนของโลหะชิ้นหนึ่งที่ฝังอยู่ในชิ้นส่วนแขน ซึ่งนำไปสู่การระบุตัวตนของเหยื่อ ‘มิสบี’ ได้ ในเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ.1985
เวลาต่อมา ได้มีการนำตัว ‘มิสเตอร์เอ’ แฟนของผู้ตายไปสอบสวน เขาปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด แต่นั่นไม่น่าแปลกใจเท่ากับคำให้การที่ระบุว่า
‘บิลลี่ เรย์ คือฆาตกร’ ‘บิลลี่ เรย์ คืออีกคนหนึ่งในตัวผม’ และ ‘ผมไม่ได้เป็นคนทำ’
บิลลี่ เรย์ คือใคร?
ก่อนหน้านี้มิสเตอร์เอได้รับการวินิจฉัยจากหมอระบุว่าเขาเป็นโรคหลายอัตลักษณ์ (Dissociative Identity Disorder) หรือ ณ ขณะนั้นรู้จักกันในชื่อ ‘โรคหลายบุคลิก’ ... มิสเตอร์เอเป็นชายวัย 49 ปี เขาเคยแต่งงานมีครอบครัวและมีลูกสาว เขาเป็นมิตร ใจดี สุภาพและไม่ค่อยแสดงออกทางอารมณ์มากนัก แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่กลายเป็น ‘บิลลี่ เรย์’ เขาจะก่อความรุนแรงจนบางครั้งต้องโทษคดี ตั้งแต่การขโมยเงิน การทำร้ายร่างกายผู้อื่น รวมไปถึงพยายามใช้ค้อนฆ่าครอบครัวของตัวเองซึ่งกลายเป็นจุดแตกหักทำให้เขาต้องหย่าขาดจากภรรยา
หลังจากผ่านเหตุการณ์ครั้งนั้นมาได้ ภรรยาของมิสเตอร์เอได้พบกับโน้ตที่มิสเตอร์เอเคยเขียนไว้ระบายความรู้สึกส่วนตัว
‘ ผมต้องไปบอกคุณหมอ เขาต้องได้รับรู้ว่าอาการของผมน่าวิตกแค่ไหน ผมรู้ว่า ‘บิลลี่ เรย์’ จะทำอะไร ครอบครัวของผมกำลังตกอยู่ในอันตราย’
ส่วนท้ายสุดของโน้ตฉบับนี้ลงท้ายด้วยประโยคสั้น ๆ ว่า
‘ ช่วยผมด้วย ’
หลังจากหย่าขาดจากภรรยา มิสเตอร์เอได้เริ่มความสัมพันธ์ครั้งใหม่ แต่ครั้งนี้กลับลงท้ายด้วยความตาย!
แน่นอนว่า การตัดสินคดีนี้มาพร้อมกับคำถามมากมายที่ศาลจะต้องให้ความกระจ่างต่อสาธารณชน ... ในเมื่อโรคหลายอัตลักษณ์ยังมีข้อถกเถียงมากมายทั้งในทางการแพทย์และทางกฎหมาย มันจึงเป็นไปอย่างยากลำบาก
ตัวตนแตกแยก หรือ แกล้งทำ?
ความเจ็บปวดในวัยเด็กเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหลายอัตลักษณ์ จากสถิติพบว่ากว่าร้อยละ 90 ผู้ป่วยจะต้องมีบาดแผลทางจิตใจค่อนข้างรุนแรงในวัยเด็ก เช่น การถูกข่มขืน การถูกทำร้ายทั้งทางร่างกายและจิตใจ การถูกทอดทิ้ง หรือผ่านเหตุการณ์รุนแรงอย่างสงคราม และยิ่งอายุน้อยมากเท่าไหร่ก็จะเสี่ยงต่อการเกิดตัวตนที่แตกแยกออกมามากเท่านั้น
ในปี ค.ศ. 2019 เจนี เฮย์นส์ ฟ้องพ่อแท้ ๆ ของเธอหลังจากถูกข่มขืนและทำร้ายร่างกายตั้งแต่เธออายุได้ 4 ขวบ เจนีถูกทำร้ายมาอย่างยาวนานติดต่อกันกว่า 7 ปีและทำให้สภาพจิตใจของเธอต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดด้วยการเกิดตัวตนใหม่อีกกว่า 2,500 คนในร่างเดียว! เธอให้การต่อศาลว่า
‘เวลาที่มันเกิดขึ้น ตัวตนอื่น ๆ ของฉันจะเดินออกมาจากด้านหลัง และเบี่ยงเบนความสนใจไปจากตัวฉัน พวกเขาคือเกราะป้องกันไม่ให้พ่อทำร้ายฉันได้’
เจนีอธิบายบุคลิกที่เกิดขึ้นว่า แต่ละตัวตนจะตอบสนองตามแต่ละเหตุการณ์ เช่น มัสเซิล จะเป็นวัยรุ่นชายร่างสูงสวมเสื้อแขนสั้นโชว์กล้าม ปรากฏตัวขึ้นเพื่อปกป้องเจนีอย่างใจเย็นในเวลาที่ถูกทำร้ายรุนแรงเป็นพิเศษ
เช่นเดียวกับมิสเตอร์เอ ในช่วงที่อายุได้ 4-5 ขวบ แม่มักจะลงโทษเขาด้วยการจับขังในตู้เสื้อผ้า และเมื่อมีอายุได้ 19 ปี มิสเตอร์เอโดนพี่ชายล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งต่อมาพี่ชายของเขาถูกจับข้อหาล่วงละเมิดทางเพศลูกของตัวเองด้วย!
นอกจาก ‘บิลลี่ เรย์’ มิสเตอร์เอยังมีตัวตนที่ชื่อ ‘แฮรี่’ ซึ่งเป็นคนเท่ห์ ๆ และ’ราฟท์’ ที่มีรศนิยมทางเพศเป็นชายรักชาย
บาดแผลทางจิตใจของมิสเตอร์เอส่งผลให้เขาต้องเข้าโรงพยาบาลกว่า 17 แห่งในช่วงระยะเวลา 20 ปีก่อนเหตุการณ์ฆาตกรรม และบางครั้งเขาต้องอยู่ในโรงพยาบาลนานกว่า 8 เดือน และก่อนหน้าการเกิดฆาตกรรมหนึ่งปี มีหมอวินิจฉัยว่าเขามีความเสี่ยงที่จะก่อเหตุฆาตกรรมได้!
การปรากฏตัวของตัวตนในแต่ละครั้ง จะทำให้ผู้ป่วยโรคหลายอัตลักษณ์สูญเสียความทรงจำ เจ้าของร่างจะไม่มีความทรงจำ ณ ขณะที่ให้ตัวตนอื่นควบคุมร่างกาย และอัตลักษณ์ของแต่ละตัวตนจะแตกต่างกันออกไปไม่ว่าจะเป็นลักษณะนิสัย เพศ หรืออายุ บางตัวตนของผู้ป่วยเป็นเด็ก ก็จะทำให้ ณ เวลานั้นมีเสียงแหลมเล็กไม่ต่างจากเด็ก
อย่างกรณีของแมรี่ เรย์โนลด์ เคสผู้ป่วยหลายอัตลักษณ์สุดคลาสสิกของอเมริกา ได้มีการเปรียบเทียบลายมือของเธอระหว่างตัวตนดั้งเดิมและตัวตนที่สอง พบว่าลายมือของเธอเหมือนเป็นคนละคนกัน เช่นเดียวกับกรณีของหลุยส์ วิเว่ ที่ถูกระบุว่าตัวตนเดิมของเขานั้นป่วยเป็นอัมพาตครึ่งซีกล่าง แต่อีกตัวตนหนึ่งของเขากลับสามารถเดินได้เฉกเช่นคนปกติ
มาถึงตรงนี้ก็จะเห็นว่าอาการแบบนี้เป็นสิ่งคุ้นชินกับบางอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ...
นั่นคือ ‘การเข้าทรง’
เมื่อคนเข้าทรง คุณจะพบว่ามีอาการเดียวกับผู้ป่วยที่เป็นโรคหลายอัตลักษณ์หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียความทรงจำของเจ้าของร่างดั้งเดิม เสียงที่เปลี่ยนไป การพูดคนละภาษา ความเชื่อว่าตนเองเป็นเจ้าของร่างนั้นอย่างหมดใจ ความเชื่อว่าตัวเองถอดวิญญาณลอยออกมาจากร่างได้ หรือบางรายมีอาการหมดสติก่อนที่จะสลับตัวตน โดยทั่วไปการเป็นโรคหลายอัตลักษณ์จะไม่สามารถควบคุมการเปลี่ยนตัวตนได้ แต่มีผู้ป่วยหลายคนที่สามารถเรียนรู้ที่จะสะกดจิตตัวเองและทำให้เกิดการสลับตัวตนของพวกเขาได้ในที่สุด
สถิติบ่งชี้อย่างชัดเจนว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคหลายอัตลักษณ์ถูกพบเห็นในประเทศสหรัฐอเมริกามากกว่าในแถบเอเชียกว่าร้อยเท่า จากสถิติในปี ค.ศ. 2015 อเมริกามีผู้ป่วยที่อยู่ในการรักษากว่า 220 คน ในขณะที่ในประเทศทางเอเชียกลับพบเพียงประเทศละ 1-2 คนเท่านั้น เนื่องจากความตระหนักถึงการมีอยู่ของโรคนี้ในสังคมเอเชียส่วนใหญ่จะถูกผูกไปกับวัฒนธรรมทางด้านภูติผีและการเข้าทรง ซึ่งส่งผลให้ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง
คนหลายอัตลักษณ์ เหยื่อหรือผู้ล่า?
ก่อนหน้าการฆาตกรรม มิสเตอร์เอเคยพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน เขาบอกด้วยความสิ้นหวังว่า
‘ ไม่ว่าเรื่องจะเป็นยังไง สุดท้ายชีวิตของผมก็คงต้องจบลงในคุกหรือความตายอยู่ดี’
‘ ผมไม่สามารถรับมือกับบิลลี่ เรย์ได้อีกแล้ว เขาทำลายชีวิตของผม’
แพทย์ที่รักษามิสเตอร์เอระบุว่าอาการป่วยของเขามีอันตรายเป็นอย่างมากทั้งต่อคนอื่นและต่อตัวเขาเอง
เป้าหมายของการรักษาโรคหลายอัตลักษณ์คือการรวมทุกอัตลักษณ์ให้กลับมาอยู่ในร่างเดียว ซึ่งเป็นเรื่องยากและใช้เวลานาน .. อย่างต่ำคือ 6 ปี อย่างมากคืออาจไม่สามารถรักษาหายได้เลย ในขณะที่คำถามหลายอย่างก็ไม่ได้รับความกระจ่างในทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ เนื่องจากความผิดปกติของโรคหลายอัตลักษณ์ยังมีการศึกษาและความเข้าใจไม่มากนักแม้ในปัจจุบัน
ความไม่เข้าใจที่เกิดขึ้น ผสมกับปรากฏการณ์ของโรคที่กระตุ้นความสนใจของคนได้ ส่งผลให้มีภาพยนตร์หลายเรื่องนำสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเขาไปสร้างเรื่องราวที่ออกมาในโทนสยองขวัญสั่นประสาท และทำให้ภาพลักษณ์ของผู้ป่วยโรคหลายอัตลักษณ์ได้รับความเข้าใจคลาดเคลื่อน ... คนรอบข้างต่างผลักไสพวกเขาเพราะความหวาดระแวง ในขณะเดียวกันตัวผู้ป่วยก็หวาดกลัวตัวเองและยิ่งทำให้อาการแย่ลงกว่าเดิม!
แม้มิสเตอร์เอจะเป็นเพียงแค่หยิบมือเดียวของคดีฆาตกรรมที่เกิดขึ้นเมื่อเทียบกับจำนวนคดีที่เกิดจากน้ำมือของคนปกติทั่วไป
ในทางกลับกัน คนหลายอัตลักษณ์ก็ต้องทนทุกข์กับการตกเป็นเหยื่อด้วยเช่นกัน
ไม่นับรวมการตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงตั้งแต่เด็ก ในปีค.ศ.1991 ’ซาราห์’ แจ้งความให้ดำเนินคดีกับ ‘มาร์ค ปีเตอร์สัน’ ที่มีเพศสัมพันธ์กับตัวตนอีกคนหนึ่งของเธอ ‘เจนนิเฟอร์’ โดยที่ซาราห์ไม่สมัครใจ!
เจนนิเฟอร์เป็นตัวตนที่ไร้เดียงสา และไม่เข้าใจเรื่องของเพศสัมพันธ์ มาร์ครู้เรื่องนี้เป็นอย่างดี และใช้ช่องว่างนี้ในการตะล่อมให้เธอมีเพศสัมพันธ์กับตัวเอง โดยเขาระบุว่า ‘เจนนิเฟอร์’ ก็ดูจะสนุกกับสิ่งที่ทำ หากแต่ ‘ซาราห์’ ไม่รู้เห็นกับสิ่งนี้และไม่ยินยอม .. ขั้นตอนการไต่สวนในคดีนี้มีความยากลำบากเพราะในภาวะที่มีการเปลี่ยนตัวตนเป็นเจนนิเฟอร์ ซาราห์ไม่รับรู้เรื่องที่เกิดขึ้นกับเธอเลย และซาราห์ต้องทำให้ศาลแน่ใจว่าคำให้การของตัวตนแต่ละคนที่อยู่ในซาราห์นั้นเป็นความจริง! อย่างไรก็ตามสุดท้ายศาลตัดสินให้ ‘มาร์ค ปีเตอร์สัน’ มีความผิด แม้ทนายของเขาจะอ้างว่าเจนนิเฟอร์มีนิสัยชอบมีความสัมพันธ์ไม่เลือกหน้ากับผู้ชายในผับอยู่แล้ว แต่ด้วยความที่มาร์คล่วงรู้ความผิดปกติของเจนนิเฟอร์มาก่อน ศาลจึงเห็นว่าการกระทำของมาร์คคือการล่อลวงไปข่มขืนโดยเจตนา
มาตรฐานของการตัดสินคดี ที่ตั้งอยู่บนความ ‘รู้ผิดชอบชั่วดี’
พื้นฐานของการตัดสินคดีที่จำเลยเป็นผู้วิกลจริตนั้นขึ้นอยู่กับการตีความและบทบัญญัติทางกฏหมายในแต่ละประเทศ ทฤษฎีหนึ่งซึ่งถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในสหรัฐอเมริกาและประเทศอังกฤษ คือหลักเอ็มนักเทน (M’Naghten rules)
หลักเอ็มนักเทนถูกตั้งขึ้นจากเหตุการณ์ลอบสังหารนายกรัฐมนตรีอังกฤษโรเบิร์ต พีล ในปีค.ศ.1843 โดยนายเดเนียล เอ็มนักเทน เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้เอ็ดเวิร์ด ดรัมมอนด์ เลขานุการส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีเสียชีวิต
เอ็มนักเทนพ้นผิดจากข้อกล่าวหา และทำให้คำตัดสินของศาลในคดีนี้ กลายเป็นมาตรฐานการตัดสินผู้ต้องหาที่มีความวิกลจริตในหลายประเทศทั่วโลก
‘ บุคคลวิกลจริต จะต้องก่อเหตุภายใต้ผลจากความบกพร่องทางจิต .. และผู้ถูกกล่าวหาไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำนั้น ‘ผิด’ ’
อย่างไรก็ตาม ภายใต้หลังการดังกล่าว และภายใต้ข้อจำกัดของการศึกษาเรื่องโรคหลายอัตลักษณ์
คดีในศาลสหรัฐอเมริกามักพิจารณาให้ผู้ต้องหาที่โต้แย้งด้วยอาการโรคหลายอัตลักษณ์ ‘มีความผิด’ สาเหตุมาจากข้อวินิจฉัยและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับโรคหลายอัตลักษณ์ที่ผู้ต้องหาเป็นนั้นขาด ‘ความน่าเชื่อถือ’ และ ณ ขณะที่อัตลักษณ์อื่นลงมือกระทำความผิด มีข้อบ่งชี้ว่าตัวตนนั้น ๆ รู้ผิดชอบชั่วดี และมีสติสัมปชัญญะครบทุกประการต่างจากคนวิกลจริต
ในปี ค.ศ.1980 ผู้ต้องหาก่อเหตุฆาตกรรมพ่อของตัวเองเนื่องจากป่วยเป็นโรคหลายอัตลักษณ์ ศาลตัดสินว่าอาการป่วยด้วยโรคหลายอัตลักษณ์ไม่ได้ทำให้เขาต้องขาดจากการรับผิดชอบการฆาตกรรมครั้งนี้ ศาลตัดสินให้มีความผิด
ในปี ค.ศ.1982 ผู้ต้องหาที่ป่วยเป็นโรคหลายอัตลักษณ์ก่อเหตุเมาแล้วขับ ศาลพิจารณาเห็นว่าจำเลยอยู่ในสภาพจิตสำนึกหรือบุคลิกภาพใดก็ไม่สำคัญ ตราบเท่าที่บุคลิกภาพที่ควบคุมพฤติกรรมนั้นมีสติสัมปชัญญะและตระหนักถึงการกระทำว่าผิด ศาลจึงตัดสินให้มีความผิด
ในปี ค.ศ.1988 ในคดีฆาตกรรม แม้จำเลยจะให้การว่าตัวตนอีกคนหนึ่งของเขาทำให้เขาไม่สามารถไม่สามารถควบคุมการกระทำที่ผิด ๆ ได้ แต่ศาลพิจารณาเห็นว่า การมีตัวตนและบุคลิกภาพที่แตกแยกออกไปไม่เกี่ยวข้องกับการทำถูกหรือผิด ศาลตัดสินให้มีความผิด
ในปี ค.ศ.2000 ในคดีละเมิศทางเพศ ศาลปฏิเสธหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่บ่งชี้การเป็นโรคหลายอัตลักษณ์ เนื่องจากขาดความน่าเชื่อถือ
บทสรุปของคดี บิลลี่ เรย์
ในปี ค.ศ.1896 ศาลได้พิจารณาเรื่องราวของมิสเตอร์เอ
‘ในคดีที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยหลายอัตลักษณ์ มักจะมีความกังวลเสมอว่ามันเป็นแค่ข้อกล่าวอ้าง เพราะในเวลาปกติจำเลยไม่ได้แสดงพฤติกรรมของคนที่มีอาการทางจิตเวช’
‘อย่างไรก็ตามมีการบันทึกเกี่ยวกับการเข้ารับการรักษาย้อนหลังได้กว่า 9 ปีที่ยืนยันได้ว่าจำเลยมีอาการทางจิตเวชรุนแรง’ ‘และมีหลักฐานยืนยันว่าในวัยเด็ก จำเลยเคยประสบปัญหาความรุนแรงและการถูกคุกคามทางเพศ’ ‘คนรอบข้างก็เคยพบเจอกับ บิลลี่ เรย์ ซึ่งเป็นตัวตนอีกหนึ่งคนและมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวรุนแรงผิดปกติ’ ‘และพบว่าการรักษาไม่ได้มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร’
‘อย่างไรก็ตาม โรคหลายอัตลักษณ์เป็นประเด็นที่ยังมีข้อถกเถียงทางการแพทย์และมีข้อมูลสนับสนุนที่น่าเชื่อถือน้อย อาจมองได้ว่าตัวตนอื่น ๆ ที่แสดงออกมาไม่ได้แยกออกเป็นเอกเทศ แต่เป็นส่วนหนึ่งของตัวตนของจำเลยที่แยกย่อยออกมาเท่านั้น’
‘ แต่เมื่อพิจารณาถึงอาการทางประสาทที่มีระยะเวลายาวนาน และลักษณะอาการของจำเลยที่ ไม่สามารถแยกแยะว่าสิ่งไหนผิดได้ ณ ขณะที่เป็นบิลลี่ เรย์ จึงสรุปได้ว่ามิสเตอร์เอไม่เข้าข่ายมีพฤติกรรมของการเป็นอาชญากร’
ศาลจึงมีคำตัดสินให้มิสเตอร์เอ ‘พ้นผิด’ จากข้อกล่าวหา
พีร์ญาดา ประสูตร์แสงจันทร์
--------------------
ที่มา :