หากคุณเคยสังเกตเห็นนักฟุตบอลเคี้ยวหมากฝรั่งระหว่างเกม คุณอาจสงสัยว่าทำไมพวกเขาถึงทำเช่นนั้น ทำเพื่อคลายเครียดหรือเปล่า?
คำตอบที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ พวกเขากำลังเคี้ยวหมากฝรั่งที่มี "คาเฟอีน" โดยข้อมูลล่าสุดระบุว่า 97% ของสโมสรฟุตบอลอาชีพในอังกฤษให้คาเฟอีนแก่ผู้เล่น โดยหมากฝรั่งคาเฟอีนเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับสอง รองจากกาแฟช็อต
ตัวเลข 97% ถือว่าสูงมาก เมื่อพิจารณาว่าในอดีต คาเฟอีนเคยอยู่ในรายการสารต้องห้ามขององค์การต่อต้านการใช้สารกระตุ้นโลก (WADA) โดยระหว่างปี 1987 ถึง 2004 มีการกำหนดปริมาณคาเฟอีนในปัสสาวะห้ามเกิน 12 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร
แม้ว่าปัจจุบันจะถูกถอดออกจากรายชื่อสารต้องห้ามแล้ว แต่ WADA ได้เพิ่มคาเฟอีนเข้าสู่โปรแกรมเฝ้าระวังปี 2025 เพื่อตรวจสอบรูปแบบการใช้ที่ผิดปกติ
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน คาเฟอีนกลายเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรก่อนการแข่งขันของนักฟุตบอล เช่นเดียวกับอาหารคาร์โบไฮเดรต การใช้ยานวดกล้ามเนื้อ และคำปลุกใจจากผู้จัดการทีม
คาเฟอีนสามารถช่วยให้นักกีฬารู้สึกเหนื่อยน้อยลง เนื่องจากร่างกายจะสร้างสารอะดีโนซีน (Adenosine) ขึ้นมาระหว่างออกกำลังกาย ซึ่งจะทำให้รู้สึกเมื่อยล้า แต่คาเฟอีนสามารถบล็อกตัวรับอะดีโนซีนในระบบประสาท ทำให้สมองรับรู้ความเหนื่อยน้อยลง นอกจากนี้ งานวิจัยยังชี้ให้เห็นว่าคาเฟอีนช่วยเพิ่มความเร็วในการตอบสนอง พัฒนาทักษะ และการควบคุมกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากต่อกีฬาที่ต้องใช้ทั้งความแข็งแกร่งและทักษะ เช่น ฟุตบอล
การศึกษาระบุว่าปริมาณคาเฟอีนที่เหมาะสมสำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันอยู่ที่ 3-6 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม บางกรณีสามารถเพิ่มได้ถึง 9 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม อย่างไรก็ตาม ปริมาณที่มากเกินไปอาจส่งผลเสีย เช่น ทำให้เกิดความกระวนกระวายและรบกวนการนอนหลับ
นักเตะบางคนมีวิธีใช้คาเฟอีนที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น เจมี่ วาร์ดี้ กองหน้าของเลสเตอร์ ซิตี้ เคยเล่าว่าเขาดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง 3 กระป๋องและดับเบิลเอสเปรสโซก่อนการแข่งขัน โดยรวมแล้วเขาบริโภคคาเฟอีนประมาณ 350 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งยังอยู่ในขีดจำกัดที่สำนักงานความปลอดภัยด้านอาหารแห่งยุโรป (EFSA) กำหนดไว้ที่ 400 มิลลิกรัมต่อวันสำหรับคนทั่วไป
หมากฝรั่งคาเฟอีนได้รับความนิยมเนื่องจากถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้เร็วกว่าการดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มชูกำลัง โดยคาเฟอีนจากหมากฝรั่งสามารถเข้าสู่กระแสเลือดได้ภายใน 5-10 นาที ในขณะที่เครื่องดื่มต้องใช้เวลาถึง 60 นาที อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาเรื่องความไม่สบายท้องที่อาจเกิดขึ้นจากการดื่มของเหลวมากเกินไป
แม้ว่าคาเฟอีนจะมีประโยชน์ต่อการเล่นฟุตบอล แต่ก็อาจส่งผลเสียได้หากใช้ไม่เหมาะสม เช่น ทำให้เกิดอาการใจสั่น นอนไม่หลับ หรือเพิ่มระดับความวิตกกังวล ผู้เล่นบางคนอาจไวต่อคาเฟอีนมากกว่าคนอื่น ซึ่งขึ้นอยู่กับพันธุกรรมของแต่ละบุคคล
ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ แอนโทนี โรบินสัน แบ็กซ้ายของฟูแล่ม ที่เคยเกือบย้ายไปเล่นให้เอซี มิลาน แต่ต้องพลาดการย้ายทีมเนื่องจากตรวจพบภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งต่อมาพบว่าน่าจะเกิดจากการบริโภคคาเฟอีนมากเกินไป หลังจากที่เขาหยุดใช้คาเฟอีน ปัญหาดังกล่าวก็หายไป
อีกประเด็นที่ต้องพิจารณาคือผลกระทบต่อการนอนหลับ คาเฟอีนสามารถอยู่ในร่างกายได้นานถึง 9 ชั่วโมง ซึ่งอาจทำให้ผู้เล่นที่มีการแข่งขันในช่วงเย็นนอนไม่หลับ และอาจส่งผลต่อฟอร์มการเล่นในเกมถัดไป
นักวิทยาศาสตร์ด้านการนอนหลับและโภชนาการเตือนว่านักกีฬาควรใช้คาเฟอีนอย่างมีสติและอยู่ในขอบเขตที่ปลอดภัย การใช้คาเฟอีนอาจเป็นประโยชน์ในช่วงเวลาที่เหมาะสม แต่ไม่ควรถูกใช้เป็นทางลัดแทนการดูแลสุขภาพพื้นฐาน เช่น การรับประทานอาหารที่สมดุลและการพักผ่อนที่เพียงพอ
คำถามที่น่าสนใจคือ นักฟุตบอลหันมาใช้คาเฟอีนมากขึ้นเพราะมันช่วยเพิ่มประสิทธิภาพจริง ๆ หรือเป็นเพียงทางแก้ปัญหาชั่วคราวจากตารางการแข่งขันที่เข้มข้นเกินไป?
*** เรียบเรียงจาก Coffee, gum and pills: Why footballers are increasingly dosing up on caffeine ใน The Athletic