svasdssvasds
เนชั่นทีวี

กีฬา

ปิดฉากความวุ่นวาย "ดูบอลโลกฟรี" กับกฎ Must Have เจ้าปัญหา

การดูบอลโลกของคนไทยกำลังจะเปลี่ยนไป หลัง กสทช. มีมติเอกฉันท์ ตัด "ฟุตบอลโลก" ออกจากกฎ Must Have ปัญหาของกฎนี้อยู่ที่ตรงไหน ที่ผ่านมาคนไทยได้ดูบอลโลกกันอย่างไร Nation STORY ขอย้อนความอีกครั้ง

ศึก ฟุตบอลโลก เป็นการแข่งขันฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก เริ่มแข่งกันมาตั้งแต่ปี 1930 และจัดขึ้นทุกๆ 4 ปี (ยกเว้นในปี 1942 และ 1946 ที่ไม่มีแข่งเนื่องจากเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง) การแข่งขันได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จากที่ตอบรับลงแข่งแค่ไม่กี่ทีมในครั้งแรก สู่การแข่งขันของกว่า 200 ประเทศที่เป็นสมาชิกของฟีฟ่า 

เช่นเดียวกับการถ่ายทอดสด ที่ทุกวันนี้ "ฟุตบอลโลก" คือทัวร์นาเมนต์ที่แฟนบอลนับพันล้านคนต่างเฝ้ารอ

สำหรับประเทศไทย การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก เริ่มขึ้นในปี 1970 ที่ประเทศเม็กซิโก โดยคนไทยได้รับชมเฉพาะนัดชิงชนะเลิศ ที่ทีมชาติบราซิล ชนะ ทีมชาติอิตาลี 4-1

หลังจากนั้นเป็นต้นมา คนไทยก็ได้รับชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกในทุกๆ 4 ปี โดยส่วนใหญ่เป็นการสนับสนุนโดยรัฐบาล ในรูปแบบโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย หรือ "ทีวีพูล" 

ช่วงแรกเป็นถ่ายทอดสดเฉพาะแมตช์สำคัญ เช่นนัดเปิดสนาม รอบรองชนะเลิศ รอบชิงชนะเลิศ ก่อนจะมาเป็นการถ่ายทอดสดครบทุกแมตช์ในปี 1990 ที่อิตาลีเป็นเจ้าภาพ 

มาถึงฟุตบอลโลกปี 2002 เป็นครั้งแรกที่ภาคเอกชนเป็นผู้ดำเนินการอย่างเต็มตัว โดยบริษัท ทศภาค เป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ที่ได้ดำเนินการแบบธุรกิจเต็มรูปแบบ แต่ยังถ่ายทอดสดผ่านทางฟรีทีวีเช่นเดิม โดย ทศภาค หารายได้จากโฆษณาก่อนเกม พักครึ่ง หลังจบเกม และบริเวณมุมจอเล็ก ๆ ระหว่างเกม นอกจากนี้ยังจัดกิจกรรมพิเศษคือการถ่ายทอดสดจอยักษ์ในลานเบียร์และลานหน้าห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ควบคู่กับการจำหน่ายสินค้าในเครือร่วมกันไปด้วย รวมถึงการขายสัญญาณให้กับผู้ที่สนใจทั้งโรงแรม ผับ บาร์ คาราโอเกะ และสถานบันเทิงต่าง ๆ ไปใช้ดึงดูดลูกค้า
ปิดฉากความวุ่นวาย \"ดูบอลโลกฟรี\" กับกฎ Must Have เจ้าปัญหา

หลังจาก ทศภาค เป็นเจ้าภาพถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกไป 2 ครั้ง (2002, 2006) ทำให้ภาคเอกชนอื่นๆมองเห็นช่องทางในการทำธุรกิจผ่านการแข่งขันรายการนี้มากขึ้น และสุดท้ายเป็นบริษัท อาร์เอส โปรโมชั่น ที่ทุ่มเงินคว้าลิขสิทธิ์ของปี 2010 และ 2014 ไปครอง

ในฟุตบอลโลก 2010 การถ่ายทอดสดเป็นไปอย่างไม่มีปัญหา อาร์เอส ถ่ายทอดสดผ่านฟรีทีวีและหารายได้จากโมเดลธุรกิจแบบเดียวกับฟุตบอลโลก 2 ครั้งที่ผ่านมา แต่ปัญหาเริ่มเกิดขึ้นเมื่อมีการตั้งกฎ Must Have & Must Carry ที่กลายเป็นการทำให้ไม่มีใครกล้าลงทุน จนคนไทยเกือบพลาดดูบอลโลกไปหลายต่อหลายครั้ง
ปิดฉากความวุ่นวาย \"ดูบอลโลกฟรี\" กับกฎ Must Have เจ้าปัญหา
กฎ Must Have & Must Carry คืออะไร
ในปี พ.ศ. 2555-2556 (ค.ศ. 2012-2013) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ออกหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการออกอากาศโทรทัศน์ภาคพื้นดิน 2 ฉบับ คือ หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สําคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะทางฟรีทีวี (Must Have) และ หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (Must Carry) 

Must Have "ต้องได้ดูฟรี"
สำหรับกฎ Must Have มีจุดประสงค์เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการโทรทัศน์ที่มีคุณภาพอย่างเป็นธรรม และเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนด้อยโอกาสให้เข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการโทรทัศน์ได้อย่างเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป

โดยให้ 7 รายการถ่ายทอดสดกีฬาสำคัญ ถือเป็นรายการโทรทัศน์ที่สามารถให้บริการแก่ประชาชนได้ภายใต้การให้บริการฟรีทีวีเท่านั้น ดังนี้

  • การแข่งขันฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final)
  • การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ (SEA Games)
  • การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ (Asian Games)
  • การแข่งขันอาเซียนพาราเกมส์ (ASEAN Para Games)
  • การแข่งขันเอเชียนพาราเกมส์ (Asian Para Games)
  • การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก (Olympic Games)
  • การแข่งขันกีฬาพาราลิมปิก (Paralympic Games)

Must Carry "ต้องดูได้ทุกแพลตฟอร์ม"
นอกจากกฎ Must Have แล้ว กสทช.ยังได้ออกหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป หรือที่เรียกว่า “Must Carry”

กฎดังกล่าวเป็นการบังคับให้แพลตฟอร์มบริการโทรทัศน์ทุกรายที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. นำช่องฟรีทีวี ไปออกอากาศในทุกช่องทาง ทั้งทางเสาอากาศ จานดาวเทียม เคเบิลทีวี และช่องทางออนไลน์ โดยต้องออกอากาศต่อเนื่องตามผังรายการของแต่ละสถานี ไม่มีจอดำเกิดขึ้น
ปิดฉากความวุ่นวาย \"ดูบอลโลกฟรี\" กับกฎ Must Have เจ้าปัญหา
ประกาศที่ออกมาโดยมีเจตนารมณ์เพื่อให้คนไทยได้รับชมมหกรรมกีฬาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม แต่สุดท้ายกลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้คนไทยเกือบไม่ได้ดูฟุตบอลโลกทันเวลา 

  • ฟุตบอลโลกปี 2014 ที่บราซิล เป็นยุคเริ่มต้นของ "ทีวีดิจิทัล" ในประเทศไทย อาร์เอส ผู้ซื้อลิขสิทธิ์มาตั้งแต่ยังไม่มีประกาศจาก กสทช. ต้องการถ่ายทอดสดผ่านกล่องทีวีดิจิทัลของตัวเอง แต่ถูก กสทช. บีบให้ถ่ายทอดสดผ่านฟรีทีวี จนเป็นเรื่องเป็นราวฟ้องไปถึงศาลปกครอง สุดท้ายรัฐต้องจ่ายค่าชดเชยทางธุรกิจให้อาร์เอสไป 427 ล้านบาท
  • ฟุตบอลโลกปี 2018 ที่รัสเซีย แฟนบอลไทยต้องรอลุ้นจนถึงช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการแข่งขันจะเริ่มแค่ 1 เดือน ก่อนที่รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องขอความร่วมมือจากภาคเอกชน 9 ราย ในการซื้อลิขสิทธิ์มูลค่า 1,400 ล้านบาท มาถ่ายให้คนไทยได้ดู
  • ฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ คนไทยก็ต้องลุ้นจนเหนื่อยอีกครั้ง ก่อนที่ กสทช. จะมีมติอนุมัติเงินสนับสนุน 600 ล้านบาท จากกองทุน กทปส. ให้ (ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการจ่ายเงินไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของกองทุน) ขณะที่เงินอีกก้อนจำนวน 700 ล้านบาทมาจาก กกท. ซึ่งระดมเงินจากผู้สนับสนุนภาคเอกชนหลายราย


ปัญหาของกฎ Must Have & Must Carry 
การออกกฎ Must Have & Must Carry แม้จะเป็นเจตนาที่ดี ที่ต้องการให้ประชาชนคนไทยเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง แต่กฎดังกล่าวกลับทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้เผยแพร่บทความเรื่อง ถอดบทเรียนลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 ระบุปัญหาของกฎดังกล่าวไว้ว่า Must Have และ Must Carry ทำให้ภาคเอกชน หรือ เพย์ทีวี ขาดแรงจูงใจในการซื้อลิขสิทธิ์ เนื่องจาก 

  1. ต้นทุนค่าลิขสิทธิ์จะมีราคาสูงเพิ่มสูงขึ้น เพราะไม่ใช่แค่การอนุญาตให้ผู้ใช้งานกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีการรับชมผ่านช่องทางใดช่องทางหนึ่งได้ต่อไปแล้ว แต่บังคับว่าดูได้ทุกช่องทางทั่วประเทศ ส่งผลให้เจ้าของสิทธิก็ต้องคิดเพิ่มค่าลิขสิทธิ์เพิ่มเติม 
  2. ค่าลิขสิทธิ์มหกรรมกีฬาสำคัญมีราคาสูง แต่เมื่อซื้อมาแล้วก็ต้องอนุญาตให้ฟรีทีวีเอาไปเผยแพร่ต่อได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ปัญหาที่เกิดตามมาก็คือทำให้จำนวนผู้ชมเพย์ทีวีไม่มากอย่างที่ควรเพราะดูบอลผ่านฟรีทีวีได้อยู่แล้ว และจะส่งผลให้เอกชนไม่สามารถสร้างรายได้จากค่าสมัครสมาชิกจากแฟนบอลที่รับชมการแข่งขันได้ ในทางกลับกันฟรีทีวีก็ไม่มีแรงจูงใจในการไปซื้อลิขสิทธิ์ เพราะก็ต้องอนุญาตให้เพย์ทีวีรายอื่นเอาไปถ่ายทอดต่อได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายด้วยเช่นกัน ตลอดจนทำให้ขายค่าโฆษณาได้ไม่คุ้มกับค่าลิขสิทธิ์ จึงทำให้อาจเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่านัก


จากปัญหาดังกล่าว ทำให้ทุกฝ่ายต่างเห็นพ้องต้องกันว่า กฎ Must Have & Must Carry ไม่เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจในโลกยุคปัจจุบันอีกต่อไป ส่งผลให้มีการเรียกร้องให้ กสทช. แก้ไขกฎดังกล่าวโดยเร็ว ก่อนจะต้องไปแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเหมือนฟุตบอลโลก 2-3 ครั้งที่ผ่านมา
ปิดฉากความวุ่นวาย \"ดูบอลโลกฟรี\" กับกฎ Must Have เจ้าปัญหา
และล่าสุด ในการประชุม บอร์ด กสทช. เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 67 ที่ผ่านมา ได้มีการลงมติเป็นเอกฉันท์ 7 เสียง เห็นควรให้ถอนการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอด "ฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย" ออกจากประกาศหลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ.2555 หรือ ประกาศมัสต์แฮฟ (Must Have) เป็นที่เรียบร้อย

โดยศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. เปิดเผยว่า สาเหตุที่ตัดฟุตบอลโลกออก เพราะมีมูลค่าทางการตลาดชัดเจน และเป็นประเภทกีฬาที่มีปัญหามาโดยตลอด จากมติ 7 เสียง ที่ถอดกีฬาประเภทนี้ออกจากกฎ Must have จะมีผลทันที ระหว่างนี้อยู่ขั้นตอนเพื่อรอการประกาศชัดเจน

ด้าน ศ.กิตติคุณ ดร. พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ กล่าวว่า บริบทการถ่ายทอดฟุตบอลโลกได้เปลี่ยนแปลงไปมาก จนถึงวันนี้ถือว่าการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายก็เข้าสู่กลไกการแข่งขันอย่างสมบูรณ์แล้ว

       “การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย มีเงื่อนไขของเจ้าของลิขสิทธิ์อยู่แล้วว่า ควรให้มีการถ่ายทอดสดอย่างทั่วถึงขั้นต่ำกี่คู่ หรือคู่พิเศษที่จะมีการเก็บเงินเพิ่มได้เท่าไหร่ ล้วนเป็นกลไกทางการตลาด ซึ่งเราไม่อยากให้มีการแทรกแซงกลไกดังกล่าว”


หลังจากนี้เชื่อว่าการถอดฟุตบอลโลกออกจากกฎ Must Have น่าจะทำให้ภาคเอกชนมีแรงจูงใจในการมองหาช่องทางดำเนินธุรกิจมากขึ้น ซึ่งต้องติดตามกันต่อไปว่า ฟุตบอลโลก 2026 ที่เยอรมนี จะมีเอกชนเจ้าใดคว้าลิขสิทธิ์ไปครอง และจะถ่ายทอดสดให้แฟนบอลชาวไทยได้รับชมกันในรูปแบบใด