svasdssvasds
เนชั่นทีวี

กีฬา

"ไทยลีก" ให้โควต้าแข้งต่างชาติเยอะไปไหม หรือนักเตะไทยจะมีหน้าที่แค่วิ่งดีใจ?

04 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

มองอย่างไรกับเรื่องโควต้านักเตะต่างชาติในศึกลูกหนัง "ไทยลีก" หลังมีเสียงวิจารณ์ว่า นักเตะชาวไทยมีหน้าที่แค่วิ่งดีใจ เหตุเพราะส่งนักเตะต่างชาติลงสนามพร้อมกันได้ถึง 7 คน

โดยในศึกฟุตบอล รีโว่ ไทยลีก 2023/24 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 มี.ค. 67 ที่ผ่านมา ในเกมที่ "ปราสาทสายฟ้า" บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เฉือนชนะ "แข้งเทพ" ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด 3-2 รั้งจ่าฝูงต่อไปโดยมีแต้มนำหน้า การท่าเรือ เอฟซี ทีมอันดับ 2 ถึง 5 คะแนน

อย่างไรก็ตามในเกมดังกล่าว บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด มีการส่งนักเตะต่างชาติลงสนามถึง 7 รายจากตัวจริง 11 คน ประกอบไปด้วย เจฟเฟอร์สัน ทาบินาส (ฟิลิปปินส์), คิม มิน ฮยอค (เกาหลีใต้), ดิออน คูลส์ (มาเลเซีย), เคนเน็ต ดูกอล (ออสเตรเลีย), ลูคัส คริสปิม (บราซิล), โกรัน เคาซิช (เซอร์เบีย) และ กิลเยร์เม่ บิสโซลี่ (บราซิล) โดยมีนักเตะสัญชาติไทยลงเป็นตัวจริงแค่ 4 รายเท่านั้น คือ ศิวรักษ์ เทศสูงเนิน, นฤบดินทร์ วีรวัฒโนดม, ธีราทร บุญมาทัน และ ศุภชัย ใจเด็ด

จากประเด็นดังกล่าว ทำให้หลังจบเกม อิศวะ สิงห์ทอง อดีตนักเตะทีมชาติไทย เจ้าของฉายา "กัตตูโซ่เมืองไทย" แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า "ผู้เล่นต่างชาติ 7 คน ทั้งอาเซียน/เอเชีย/ยุโรป ผู้เล่นคนไทยมีหน้าที่แค่วิ่งดีใจ โควต้าต่างชาติเยอะไปครับนาย" 

จากนั้น อิศวะ ก็ได้อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับมุมมองดังกล่าวว่า "นักเตะไทยมีหน้าที่แค่วิ่งดีใจ เป็นการเปรียบเปรยให้เห็นว่าโควต้า ต่างชาติเยอะเกินไป ผมนั่งดูถ่ายทอดสดเห็นอุ้มแอสซิสต์…ก็ยินดี เห็นอาร์มโหม่งประตูชัย ก็ยินดี…ยินดีกับบรรดาเหล่านักเตะทีมชาติไทย โชว์ฟอร์มเพื่อเป็นกำลังหลักในทีมชาติไทย"

"ผมแค่คิดว่าถ้าลดโควค้าต่างชาติลงมา เราอาจจะเห็น พรรษากับสุพรรณ แบทเทิลกันในตำแหน่งเซ็นเตอร์ เราอาจจะเห็นพีรดลกับปกเกล้าชิงเหลี่ยมปั้นเกมในเเดนกลาง และเราอาจจะเห็นศศลักษณ์กับพีรพัฒน์เติมเกมสู้กันทางฝั่งซ้าย…สุดท้ายอาจจะเป็นทีมชาติไทยที่ได้ประโยชน์…ขอบคุณครับ"

ซึ่งหลังจากนั้นก็มีแฟนบอลเข้าไปแสดงความเห็นกันเป็นจำนวนมาก ทั้งในแง่สนับสนุนและคัดค้าน

กฎโควต้าแข้งต่างชาติในไทยลีก 2023/24
สำหรับโควต้านักเตะต่างชาติในศึกฟุตบอลไทยลีกฤดูกาลนี้ ยังใช้กฎระเบียบเดิมจากฤดูกาล 2022/23 โดยมีรายละเอียดดังนี้

การขึ้นทะเบียนนักกีฬาฟุตบอลต่างชาติ (5+1+ไม่จำกัด)

  • นักกีฬาฟุตบอลต่างชาติ สัญชาติทั่วไป ไม่เกิน 5 คน
  • นักกีฬาฟุตบอลต่างชาติ ที่มีสัญชาติอยู่ในประเทศสมาชิกของ เอเอฟซี ได้ 1 คน
  • นักกีฬาฟุตบอลต่างชาติ ที่มีสัญชาติอยู่ในประเทศสมาชิกของอาเซียน ได้ไม่จำกัดจำนวน

การส่งรายชื่อนักกีฬาฟุตบอลต่างชาติลงทำการแข่งขัน (3+1+3)

  • นักกีฬาฟุตบอลต่างชาติ สัญชาติทั่วไป ไม่เกิน 3 คน
  • นักกีฬาฟุตบอลต่างชาติ ที่มีสัญชาติอยู่ในประเทศสมาชิกของ เอเอฟซี ได้ 1 คน
  • นักกีฬาฟุตบอลต่างชาติ ที่มีสัญชาติอยู่ในประเทศสมาชิกของอาเซียนได้ 3 คน


เมื่อสำรวจรายชื่อนักเตะต่างชาติของแต่ละสโมสรแล้ว พบว่ามีนักเตะที่ขึ้นทะเบียนรวมทั้งสิ้น 108 คน โดย "เดอะ แรบบิท" บีจี ปทุม ยูไนเต็ด มีแข้งต่างชาติมากที่สุดถึง 10 คน ตามมาด้วย ราชบุรี เอฟซี และ ลำพูน วอร์ริเออร์ ที่มีแข้งต่างชาติ 7 คนเท่านั้น ส่วนทีมที่มีนักเตะต่างชาติน้อยที่สุดคือ สุโขทัย เอฟซี (5 คน)
\"ไทยลีก\" ให้โควต้าแข้งต่างชาติเยอะไปไหม หรือนักเตะไทยจะมีหน้าที่แค่วิ่งดีใจ?
มุมมองผู้สนับสนุน: แข้งต่างชาติเบียดโอกาสนักเตะไทย
ในโลกออนไลน์มีการแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้กันต่างๆนานา โดยกลุ่มที่ "เห็นด้วย" กับมุมมองของ อิศวะ สิงห์ทอง ได้ให้ความเห็นว่า การมีนักเตะต่างชาติในสโมสรเป็นเรื่องที่ดีก็จริง แต่บางครั้งนักเตะต่างชาติที่ดึงตัวเข้ามา ฝีเท้าก็ไม่ได้แตกต่างกับนักเตะไทยมากมาย แต่ที่ได้ลงสนามบ่อยกว่าก็คงเป็นเพราะทีมต้องจ่ายค่าจ้างแพงกว่าจึงต้องใช้ให้คุ้มค่าที่สุด 

นั่นจึงกลายเป็นการเบียดโอกาสแจ้งเกิดของนักเตะดาวรุ่งชาวไทยที่ไม่มีเวทีให้ลงสนาม ต้องไปหาวิธีลงเล่นด้วยการย้ายไปเริ่มต้นใหม่ในลีกรอง ซึ่งต้องยอมรับว่าในการแข่งขันลีกระดับล่างนั้นมีสภาพแวดล้อมและการฝึกซ้อมที่เข้มข้นต่างกัน สุดท้ายนักเตะดาวรุ่งของไทยจึงอาจมีพัฒนาการที่ขาดช่วงไป

นอกจากนี้ยังมีการให้ความเห็นว่า ยิ่งนักเตะชาวไทยมีโอกาสลงสนามมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นผลดีต่อทีมชาติไทยมากเท่านั้น เพราะจะเป็นการทำให้กุนซือทีมชาติไทยมองเห็นศักยภาพและพัฒนาการของนักเตะแต่ละรายได้อย่างต่อเนื่อง ดีกว่าการที่นานๆจะได้ลงสนามที หรือได้ลงเล่นแต่ถูกจำกัดหน้าที่เป็นเพียง "ลูกหาบ" คอยส่งบอลให้นักเตะต่างชาติแต่เพียงอย่างเดียว
\"ไทยลีก\" ให้โควต้าแข้งต่างชาติเยอะไปไหม หรือนักเตะไทยจะมีหน้าที่แค่วิ่งดีใจ?
มุมมองผู้คัดค้าน: "ลีกอาชีพ" ไม่มีที่ว่างสำหรับผู้แพ้
ด้านผู้ที่ให้ความเห็นในอีกมุมหนึ่ง มองว่า "ไทยลีก" คือลีกฟุตบอลอาชีพ และเมื่อเป็นอาชีพ เจ้าของสโมสรที่เป็นผู้ลงทุนก็ย่อมต้องการใช้งานนักเตะที่ทำผลงานได้ดีที่สุดเท่านั้น ดังนั้นหากจำกัดโควต้านักเตะต่างชาติ ก็อาจจะทำให้นักเตะไทยบางคน-บางตำแหน่ง มองว่าไม่จำเป็นต้องมุ่งมั่นฝึกซ้อมเต็มที่มากก็ได้ เพราะ "ยังไงก็ได้ลง" เนื่องจากไม่มีนักเตะต่างชาติมาแย่งตำแหน่งของตัวเอง

นอกจากนี้ยังมองว่าการมีนักเตะต่างชาติฝีเท้าดีในทีมก็ยิ่งเป็นผลดีกับพัฒนาการของฝีเท้านักเตะไทย ที่จะต้องเร่งศักยภาพขึ้นมาเพื่อชิงตำแหน่งตัวจริงในทีมให้ได้ โดยยกตัวอย่างลีกฟุตบอลในทวีปยุโรป ที่บางสโมสรเต็มไปด้วยนักเตะต่างชาติ แต่ก็ทำให้นักฟุตบอลในประเทศของพวกเขาพัฒนาขึ้นด้วยเช่นกัน
\"ไทยลีก\" ให้โควต้าแข้งต่างชาติเยอะไปไหม หรือนักเตะไทยจะมีหน้าที่แค่วิ่งดีใจ?
กรณีศึกษา "เจลีก" แข้งต่างชาติมากแค่ไหนก็ไม่หวั่น
อย่างที่ทราบกันดีว่า ฟุตบอลไทยลีกในปัจจุบันมีโมเดลต้นแบบมาจาก "เจลีก" ลีกฟุตบอลของประเทศญี่ปุ่น ทำให้เราต้องย้อนไปศึกษาว่า พวกเขาทำอย่างไร ฟุตบอลของเขาถึงมีการเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งในระดับสโมสรและทีมชาติ

โดยปัจจุบัน ฟุตบอลเจลีก ถือเป็นลีกที่มีนักเตะต่างชาติมากเป็นอันดับต้นๆของเอเชีย เนื่องจากกฎระเบียบของพวกเขาไม่มีการจำกัดการขึ้นทะเบียนนักเตะต่างชาติ (ดึงตัวเข้าทีมได้แบบไม่จำกัดจำนวน" เพียงแต่จะมีชื่อลงเล่นในแต่ละเกมได้ไม่เกิน 5 คน

สาเหตุของการไม่จำกัดแข้งต่างชาตินั้น เนื่องมาจาก เจลีก ต้องการขยายตลาดให้ใหญ่ขึ้นทั้งในระดับเอเชียและระดับโลก โดยเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2017 ซึ่งนั่นเป็นุดเริ่มต้นที่ทำให้เราได้เห็นชื่อของนักเตะระดับโลกอย่าง อันเดรส อิเนียสต้า, ลูคัส โพโดลสกี้, เฟร์นานโด ตอร์เรส ฯลฯ ย้ายไปเล่นที่นั่นในช่วงปลายอาชีพค้าแข้ง รวมถึงเป็นการเปิดโอกาสให้นักเตะไทยอย่าง ชนาธิป สรงกระสินธ์ ไปพิสูจน์ฝีเท้าในเวทีเจลีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การที่นักเตะต่างชาติหลั่งไหลสู่ประเทศญี่ปุ่น กลับไม่เป็นปัญหาต่อพัฒนาการของนักเตะท้องถิ่น เหตุเพราะเจลีกยังมีกฎ "โฮมโกรว์น" หรือนักเตะที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่เป็นเยาวชน โดยปัจจุบัน เจลีกบังคับให้แต่ละทีมต้องมีนักเตะ HG อยู่ในทีมไม่น้อยกว่า 4 คน หากสโมสรใดมีน้อยกว่านั้นก็จะถูกตัดชื่อนักเตะที่ขึ้นทะเบียนในทีมชุดใหญ่ไปตามจำนวนที่ขาด จนกว่าสโมสรนั้นๆจะทำได้ ซึ่งจากกฎนี้ก็ทำให้เป็นการบังคับทางอ้อมให้แต่ละสโมสรต่างก็ต้องเร่งพัฒนาระบบเยาวชนของทีมตัวเองไปโดยปริยาย

และเมื่อในลีกมีนักเตะต่างชาติฝีเท้าดี สโมสรก็ได้รับความนิยมมากขึ้น ลีกก็เติบโต นักเตะท้องถิ่นก็ได้ประสบการณ์ ขณะเดียวกันนักเตะเยาวชนก็มีระบบที่เข้มแข็งมารองรับ ทั้งหมดนี้คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้วงการลูกหนังญี่ปุ่นเติบโตเป็นเจ้าเอเชียจนถึงปัจจุบันนั่นเอง

logoline