svasdssvasds
เนชั่นทีวี

กีฬา

เจาะ 3 เหตุผล ทำไม "มูรินโญ่" ตกงานทุก 3 ปี หรือนี่จะเป็นอาถรรพ์?

17 มกราคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สร้างความประหลาดใจไม่น้อยกับการที่กุนซือเบอร์ต้นๆของโลกอย่าง "โชเซ่ มูรินโญ่" ถูก โรม่า ปลดจากตำแหน่งเฮดโค้ชอย่างกะทันหัน ทำให้การคุมทัพ 9 สโมสรตลอดอาชีพของเขา ไม่มีครั้งไหนเลยที่เจ้าตัวจะได้ทำงานเกิน 3 ฤดูกาล เพราะอะไรถึงเป็นแบบนั้น?

ในโลกของวงการฟุตบอล ชื่อของ “โชเซ่ มูรินโญ่” คือหนึ่งในกุนซือที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่ง โดยผลงานของเจ้าตัวแทบจะการันตีแชมป์ได้ในทุกสโมสรที่เข้าไปคุมทัพ 

แต่ดูเหมือนการทำทีมของ มูรินโญ่ จะมีปัญหาในระยะยาว เพราะทีมของเขากุมบังเหียนอยู่นั้นดูจะ "หมดแรง" ทุกครั้งยามเมื่อเข้าสู่ฤดูกาลที่ 3

และปัจจุบันกับการทำทีม “หมาป่าแห่งกรุงโรม” โรม่า ก็เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นอีกครั้ง หลังจากถูกสโมสรปลดจากตำแหน่งเมื่อวันอังคารที่ 16 ม.ค. ที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ มูรินโญ่ กลายเป็นตำนานกุนซือของยอดทีมแห่งกรุงโรมทีมนี้ไปแล้ว หลังจากพา โรม่า คว้าแชมป์ ยูฟ่า ยูโรป้า คอนเฟอเรนซ์ ลีก ซึ่งแม้จะเป็นถ้วยใบเล็กที่สุดของยุโรป แต่นั่นคือการได้แชมป์ยุโรปเป็นครั้งแรกของสโมสรนับตั้งแต่ปี 1961 

อย่างไรก็ตาม ในซีซั่นนี้ โรม่า กลับออกสตาร์ทฤดูกาลใหม่ได้อย่างย่ำแย่ ชนะเพียง 3 จาก 8 เกมในลีก หล่นไปรั้งอันดับ 10 ของตาราง จนเกิดกระแสข่าวตามการรายงานของ “สกาย สปอร์ตส์ อิตาเลีย” ที่บอกว่า โรม่า เลือกที่จะไม่ต่อสัญญากับมูรินโญ่อีกหลังจากจบฤดูกาลนี้

ซึ่งแม้ว่าในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย. สถานการณ์จะเริ่มดีขึ้น คว้าชัยชนะได้เป็นกอบเป็นกำ แต่เมื่อเข้าสู่เดือน ธ.ค. ก็กลับสู่ความย่ำแย่อีกรอบ โดยเก็บชัยชนะได้แค่นัดเดียวจาก 6 เกมหลัง กระทั่งถูกปลดในที่สุด

และกลายเป็นอีกครั้งที่ ”เดอะ สเปเชียล วัน” ผู้เนรมิตแชมป์ในช่วงแรก ต้องพบกับความล้มเหลวในฤดูกาลที่ 3 

โชเซ่ มูรินโญ่ และการตกงานครั้งล่าสุดกับ โรม่า

  • อาถรรพ์ซีซั่นที่ 3

ย้อนไปดูผลงานของ มูรินโญ่ สมัยคุมทัพ “ปีศาจแดง” แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด “จ่ามู” เริ่มต้นได้ดีอย่างน่าทึ่งด้วยการคว้าดับเบิ้ลแชมป์ ทั้งยูโรป้าลีกและลีกคัพในฤดูกาลแรกของเขา ขณะที่ในซีซั่นที่ 2 ภาพรวมก็ดีขึ้นเช่นกัน เมื่อสามารถเก็บแต้มเฉลี่ยเพิ่มขึ้น จาก 1.82 แต้มต่อเกมในซีซั่นแรก มาสู่ 2.13 แต้มต่อเกมในซีซั่นที่สอง

อย่างไรก็ตามในฤดูกาลที่สามซึ่งเป็นฤดูกาลสุดท้ายของเขานั้น ได้คุมทัพไปเพียง 17 เกมก่อนจะกระเด็นออกจากตำแหน่ง และสถิติการเก็บแต้มของเขาลดลงเหลือเพียง 1.53 แต้มต่อเกมเท่านั้น 

เหตุการณ์แบบเดียวกันนี้เกิดขึ้นเช่นกันในการคุมทัพ เชลซี ครั้งที่ 2 โดยเริ่มจาก ทำได้ 2.16 แต้มต่อเกม จบอันดับ 3 ในซีซั่นแรก จากนั้นก็มาเก็บ 2.29 แต้มต่อเกม พาทีมซิวแชมป์ลีกคัพและพรีเมียร์ลีกในซีซั่นที่สอง ก่อนจะร่วงมาเหลือแค่ 0.94 แต้มต่อเกมในซีซั่นที่สาม กระทั่งต้องออกจากตำแหน่งไปหลังคุมทีมได้แค่ 16 เกม

หรือหากจะย้อนไปไกลกว่านั้นอีก ไม่ว่าจะเป็นการคุมทัพ เรอัล มาดริด หรือแม้กระทั่งการคุม เชลซี ช่วงแรก มูรินโญ่ก็เคยเจอกับเหตุการณ์คล้ายๆกัน โดยซีซั่นที่ 3 ของเขาในถิ่น ซานติอาโก้ เบร์นาเบว และที่สแตมฟอร์ด บริดจ์ (ยุคแรก) ค่าเฉลี่ยการเก็บแต้มต่อเกมในฤดูกาลที่ 3 ก็จะน้อยกว่าสองฤดูกาลแรกทั้งสิ้น

และด้วยผลงานแบบนี้นี่เองที่ทำให้ตลอดอาชีพกุนซือของเขานั้น แม้จะผ่านงานมาแล้วถึง 9 สโมสร แต่เจ้าตัวกลับไม่เคยคุมทีมไหนเกิน 200 เกมมาก่อนเลย และการคุมทีมในแต่ละสโมสรของเขานั้นก็ไม่เคยเกิน 4 ปีทั้งสิ้น

แต่นั่นก็แลกมาด้วยการคว้าถ้วยแชมป์ 25 รายการตลอดอาชีพ ที่เป็นเกียรติยศซึ่งกุนซือส่วนใหญ่ทั่วโลกยังไม่เคยเฉียดใกล้ด้วยซ้ำ

มูรินโญ่ กับภาพอันชินตาเรื่องการชูถ้วยแชมป์ในแทบทุกสโมสรที่คุมทัพ (ภาพ: talkSPORT)

  • ทำไมถึงไม่เคยได้คุมทีมระยะยาว

มีการวิเคราะห์กันมากมายว่าทำไม โชเซ่ มูรินโญ่ กุนซือที่พาทีมคว้าแชมป์ได้แทบจะทุกที่ๆเข้าไปทำงาน ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในโค้ชที่ดีที่สุดของโลกในยุคปัจจุบัน ถึงไม่เคยได้คุมทีมระยะยาวมากกว่า 3 ฤดูกาล ซึ่งจากการวิเคราะห์ในหลากหลายมุมมองสามารถสรุปได้ 3 เหตุผล ดังนี้

1. สไตล์
โชเซ่ มูรินโญ่เป็นผู้จัดการทีมที่มีแท็กติกชัดเจน นั่นคือ "เน้นผลการแข่งขัน" เริ่มจากการขันแนวรับให้เหนียวแน่นที่สุดเพื่อป้องกันการเสียประตู และใช้โอกาสแค่ไม่กี่ครั้งในการโจมตีเพื่อให้ได้ชัยชนะ

แท็กติกการเล่นดังกล่าวต้องอาศัย "ทีมเวิร์ก" หรือความเข้าใจกันของนักเตะแต่ละคนอย่างสูง ทำให้จำเป็นต้องยึดมั่นใน 11 ตัวจริงอย่างแน่วแน่ ไม่สามารถ "โรเตชั่น" หรือการสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนผู้เล่นได้มากนัก 

และจากการที่บรรดานักเตะตัวจริงต้องกรำศึกหนักตลอดทั้งซีซั่น ส่งผลให้สภาพร่างกายอ่อนล้าอย่างรวดเร็วเนื่องจากการออกแรงหรือใช้พลังงานมากเกินไป หลายคนถึงกับประสบปัญหาอาการบาดเจ็บเรื้อรังไปตลอดอาชีพด้วยซ้ำ เช่น เอแด็น อาซาร์ หรือ เชส ฟาเบรกาส เป็นต้น

2. ไม่นิยมใช้งานดาวรุ่ง
ด้วยการที่ยึดมั่นกับผลการแข่งขันแต่ละนัดอย่างเต็มที่ ทำให้คำว่า "ดีที่สุด" คือสิ่งเดียวที่ มูรินโญ่ ปรารถนา และนั่นก็ส่งให้บรรดาดาวรุ่งไม่ค่อยได้รับโอกาสลงสนามมากนัก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือที่เชลซี เมื่อเหล่าดาวรุ่งพุ่งแรงอย่าง แดเนียล สเตอร์ริดจ์, เควิน เดอ บรอยน์, โรเมลู ลูกากู และแม้แต่รูเบน ลอฟตัส-ชีค จะกลายเป็นเพียงส่วนเกินของทีม จนสุดท้ายหลายๆคนก็จำต้องเลือกที่จะอำลาทีมไปเพื่อหาโอกาสลงเล่น

และเมื่อทีมไร้ดาวรุ่ง ทีมก็ไม่มีใครที่จะขึ้นมาทดแทนเหล่านักเตะตัวจริงที่โรยราลงไป ส่งผลให้ผลงานค่อยๆตกต่ำลง

3. ยอมหักไม่ยอมงอ
ลักษณะนิสัยของ มูรินโญ่ ประการหนึ่งก็คือการพยายามปกป้องนักเตะของตัวเอง จนบางครั้งเจ้าตัวเลือกที่จะหันไปวิพากษ์วิจารณ์เรื่องอื่นเพื่อเบี่ยงเบนประเด็น เช่น ตำหนิการทำหน้าที่ของผู้ตัดสิน ใช้วาทะจิกกัดกุนซือฝ่ายตรงข้าม ซึ่งในมุมของแฟนบอลอาจมองว่าเป็นสีสัน แต่ในมุมของสโมสร นั่นคือการสร้างปัญหา

และดังที่กล่าวไปแล้ว การที่ มูรินโญ่ ยึดมั่นกับผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ทำให้เขาต้องการเสริมทัพด้วยนักเตะที่ดีที่สุดหรือเหมาะสมที่สุดเท่านั้น ซึ่งนำมาสู่การใช้งบประมาณมหาศาล ทำให้ต้องมีปัญหากับบอร์ดบริหารที่เป็น "เจ้าของเงิน" อยู่เสมอ จนสุดท้ายก็ต้องแยกทางกัน

จึงอยู่ที่บรรดาสโมสรต่างๆที่สนใจจ้างไปคุมทัพว่าจะเลือกเส้นทางใด หากได้ มูรินโญ่ ไปคุมทีม ก็เหมือนการเสกแชมป์สู่ทีมได้แน่ แต่หากมองไปที่การสร้างทีมระยะยาว กุนซือจอมเก๋ารายนี้อาจไม่ใช่คำตอบ

โชเซ่ มูรินโญ่

logoline