23 พฤษภาคม 2568 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยภายหลังหารือกับ ดาโตะ ซรี ฮาจี ฟาดิลละห์ บิน ฮาจี ยูซฟ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเปลี่ยนผ่านพลังงานและปฏิรูปน้ำของมาเลเซีย ว่าการหารือ ครั้งนี้ประเด็นสำคัญอยู่ที่การพัฒนาลุ่มน้ำโก-ลก โดยเฉพาะการบริหารจัดการบริเวณปากแม่น้ำ เพื่อป้องกันปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม รวมไปถึงมีการหยิบยกเรื่องการทำเอ็มโอยูเพื่อพัฒนาลุ่มน้ำโก-ลก โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการร่วมกันก่อนที่จะเซ็นเอ็มโอยู
ขณะที่ การประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนใน "แม่น้ำกก" ที่ผ่านมา มีการประชุมอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ โดยได้ประสานงานให้กรมควบคุมมลพิษไปเก็บตัวอย่างน้ำ เนื่องจากข้อมูลเดิมจากการทดสอบน้ำยังไม่พบค่าที่เป็นอันตรายต่อประชาชน แต่ด้วยความกังวลจึงสั่งการให้ตรวจน้ำถี่ขึ้นเป็นสัปดาห์ละครั้ง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน โดยเราให้ความสำคัญกับคุณภาพน้ำเป็นพิเศษ
อย่างไรก็ตาม นายประเสริฐ ย้ำว่า คุณภาพน้ำยังใช้ในสาธารณูปโภคได้อยู่ ขณะเดียวกัน ก็ได้มีการกำชับให้ดูแลเรื่องสัตว์น้ำที่ป่วย รวมถึงให้ดูระบบนิเวศ นอกจากนี้ ยังได้พูดคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดให้ดูแลอย่างใกล้ชิดด้วย
เมื่อถามว่า รัฐบาลไทยได้มีการพูดคุยกับรัฐบาลเมียนมา เกี่ยวกับสารปนเปื่อนในแม่น้ำแล้วหรือยัง? : นายประเสริฐ กล่าวว่า ได้ประสานทางกระทรวงการต่างประเทศว่าให้มีการพูดคุยกัน แต่ในส่วนของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. เตรียมการพบปะพูดคุยกันกับฝั่งรัฐบาลเมียนมา ซึ่งเราเข้าใจว่าสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งคือฝั่งเมียนมาทำเหมืองทอง และอาจจะมีการใช้สารเคมีบางอย่าง
ส่วนได้มีการรายงานหรือไม่ว่า จะประสานพูดคุยกับกลุ่มว้า ซึ่งเป็นพื้นที่ทำเหมืองทอง นายประเสริฐ กล่าวว่า ยังไม่ได้รับรายงาน
ทั้งนี้ จะต้องประสานกับหน่วยงานด้านความมั่นคง เพื่อคุยกับกลุ่มว้าเองหรือไม่ นายประสริฐ กล่าวว่า กำลังหาวิธีพูดคุยกันอยู่ ทราบดีว่าประเทศเมียนมามีปัญหาภายใน
เมื่อถามย้ำว่า ในพื้นที่สามารถให้ทหารพูดคุยโดยตรงได้ใช่หรือไม่ ? นายประเสริฐ กล่าวว่า ต้องมีวิธีสื่อสารพูดคุยกันได้ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อไทย จึงต้องคุยให้ได้
สำหรับเบื้องต้นจะมีแนวทางการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบหรือไม่ นายประเสริฐ กล่าวว่า ยังไม่พบความเสียหายหนักๆ ที่เกิดขึ้น
ส่วนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลเพิกเฉยต่อปัญหาดังกล่าว? นายประเสริฐ ยืนยันว่า ไม่ได้เพิกเฉย โดยนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้ดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด โดยในวันที่ 27 พ.ค.นี้ จะมีการประชุมหารือกันอีกครั้งหนึ่ง เพื่อสรุปสถานการณ์
สำหรับ "แม่น้ำกก" ถือเป็นหนึ่งในแม่น้ำที่มีความสำคัญอีกสายหนึ่ง ที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของชาวบ้านในจังหวัดเชียงรายมาอย่างยาวนาน ก่อนหน้านี้ "แม่น้ำกก" ถูกตรวจพบว่า มีการปนเปื้อนสารโลหะหนักอย่าง "สารหนู" มีค่าสูงเกินค่าเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งการปนเปื้อนสารดังกล่าวในแม่น้ำ มีต้นตอมาจากการทำเหมืองทองในพื้นที่ต้นน้ำในประเทศเมียนมา
ขณะที่ ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ "ครูตี๋" มองว่า ปัญหามลพิษข้ามพรมแดนนี้ กระทบกับการใช้ชีวิตของประชาชนเป็นอย่างมาก ทั้งการอุปโภค บริโภค ประมง การเกษตร ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าวิถีชีวิตของคนริมฝั่งแม่น้ำกกในอนาคตจะเป็นอยู่อย่างไร แต่สิ่งที่หายห่วงคือ ยังมีชาวบ้านที่คิดว่าปัญหาดังกล่าวยังเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ในความเป็นจริง มันเป็นสิ่งที่ร้ายแรงเป็นอย่างมาก
โดย "ครูตี๋" ยืนยันว่า ปัญหานี้ต้องแก้ที่ต้นตอ คือ ต้องหยุดทำเหมืองทองบริเวณต้นน้ำในประเทศเมียนมา และผู้ที่จะเข้ามาจัดการกับปัญหานี้ได้ต้องเป็นรัฐบาลเท่านั้น เนื่องจากสิ่งที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับความมั่นคง ,เรื่องพรมแดน,ชีวิตประชาชน รัฐบาลต้องทำทุกวิถีทางในการแก้ไขปัญหานี้ให้ได้ เพราะทุกวันที่เหมืองทองยังดำเนินการอยู่ ก็เท่ากับว่าสารพิษตกค้างในแม่น้ำกกก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ด้าน หัวหน้าศูนย์วิชาการสนับสนุนด้านการบริหารจัดการน้ำ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.ชูโชค อายุพงศ์ ที่มองว่า การทำเหมืองบริเวณต้นน้ำกกนั้น อยู่ในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง มีการสู้รบ อาจจะทำให้ระบบบำบัดไม่ได้มาตรฐาน ส่งผลให้มีสารพิษไหลมาตามแม่น้ำ นับว่าตอนนี้แม่น้ำกก เข้าสู่ภาวะวิกฤตแล้ว โดยรัฐบาลต้องเดินหน้าแก้ไขอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งภายในประเทศ และเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา และ ประเทศจีน ในการทำเหมืองให้มีมาตรฐานสากล รวมถึง ต้องประเมินสถานการณ์ ระยะสั้น กลาง ยาว
หากวันนี้รัฐบาลไม่ทำอะไร ปล่อยปัญหาไว้ จะเหลือเพียงประชาชนที่รอรับชะตากรรมกับปัญหาที่จะตามมาในทุก ๆ ด้าน ซึ่งตอนนี้ควรจะมีการตั้งคณะทำงานระดับชาติได้แล้ว
ส่วนการทำฝายดักตะกอน รศ.ชูโชค มองว่า ต้องทำการประเมิน ตามหลักวิชาการก่อนว่าคุ้มค่าหรือไม่ สามารถดักได้มากเพียงใด สำหรับประชาชนก็ต้องติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด เพราะไม่ใช่แค่ "แม่น้ำกก" เท่านั้น ยังมี "แม่น้ำสาย-แม่น้ำรวก" ที่มีแนวโน้มว่าจะได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองบริเวณต้นน้ำในเขตรัฐฉาน ประเทศเมียนมาอีกด้วย