svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ไขข้อข้องใจ กับ กยศ. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา

ไขข้อข้องใจ กับ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และทำอย่างไร ถ้าไม่อยากถูกหักเพิ่มเดือนละ 3,000 บาท

หลังจาก พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่  20 มีนาคม 2566 โดยมีสาระสำคัญคือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไม่เกิน 1% ต่อปี  พร้อมลดอัตราเบี้ยปรับจากสูงสุด 18% เหลือ 0.5% ต่อปี และไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน 

ล่าสุดรัฐบาล โดย นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้เดินหน้าปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ ตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ผ่านทาง www.studentloan.or.th ซึ่งสาระสำคัญ คือ การตัดลำดับการชำระหนี้ใหม่เป็น “เงินต้น – ดอกเบี้ย – เบี้ยปรับ” พร้อมยืนยันว่าผู้กู้ทุกคนจะเห็นยอดหนี้ลดลงทันที

ไขข้อข้องใจ กับ กยศ. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา

สำหรับการคำนวณหนี้แบบใหม่นี้ ครอบคลุมผู้กู้ประมาณ 3.5 ล้านราย โดยขณะนี้ กยศ. ดำเนินการได้แล้วกว่า 2.3 ล้านราย หรือ ราว 70% ซึ่งผู้กู้สามารถตรวจสอบยอดหนี้ใหม่ได้ผ่านเว็บไซต์ studentloan.or.th 

ส่วนผู้กู้ที่เคยทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ก่อนการคำนวณหนี้แบบใหม่ แม้อาจเห็นยอดหนี้สูงขึ้นในช่วงแรก แต่ระบบจะปรับยอดหนี้ให้อัตโนมัติ หลังจากระบบใหม่แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม นี้ ผู้กู้จะสามารถตรวจสอบยอดหนี้ที่แท้จริงได้ผ่านทางเว็บไซต์

ขณะที่ การคืนเงินให้ผู้กู้ที่จ่ายเกิน หลังคำนวณหนี้ตามกฎหมายใหม่นั้น ข้อมูล ณ วันที่ 7 พฤษภาคม 2568 จากจำนวนบัญชีผู้กู้ยืม 3.8 ล้านบัญชี มีบัญชีที่มียอดชำระเกิน 286,362 บัญชี เป็นเงิน 3,399.12 ล้านบาท , กยศ. คืนแล้ว 2,528 บัญชี เป็นเงิน 73.81 ล้านบาท และในเดือนพฤษภาคม 2568 จะคืนเงินเพิ่มเติมอีก 1,215 บัญชี เป็นเงิน 2.95 ล้านบาท และจะทยอยคืนทั้งหมดภายในเดือนกันยายน 2569 ขณะที่ จำนวนบัญชีที่มียอดหนี้ลดลงมีจำนวน 3,548,016 บัญชี (ยอดหนี้ลดลง 46,225.6 ล้านบาท) 

ไขข้อข้องใจ กับ กยศ. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา

สำหรับระบบการหักเงินเดือนผ่านองค์กรนายจ้าง ที่ผ่านมา กยศ. ได้ดำเนินการหักเฉพาะยอดหนี้ปีปัจจุบัน ไม่รวมยอดหนี้ค้างในปีก่อนหน้า ซึ่งบางรายจะมียอดหนี้ค้างเก่าทำให้ในเดือนเมษายน 2568 มีผู้กู้ที่ถูกหักเงินเดือนเพิ่ม 3,000 บาท เพื่อชำระยอดหนี้ค้างเก่า จำนวน 490,225 ราย (510,716 บัญชี) และในเดือนพฤษภาคมอีก จำนวน 251,083 ราย (258,151 บัญชี)

3,000 บาท มายังไง ? ทำไมต้องหัก?

กรณีหักเงินเพิ่ม 3,000 บาทนั้น มาจากการที่ผู้กู้ยืมมียอดค้างชำระหนี้ก่อนหักเงินเดือน รวมถึงในระหว่างแจ้งหักเงินเดือนผู้กู้ยืมไม่ได้ชำระส่วนต่างในวันที่ 5 ก.ค.ของงวดปีนั้นๆ

ทั้งนี้ ในการแจ้งลูกหนี้ กยศ. จะแจ้งทางหนังสือตามที่อยู่ตามทะเบียนราษฎร์ และจะมีการแจ้งผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ รวมถึง แอพ กยศ.Connect ซึ่งผู้กู้ยืมสามารถตรวจสอบข้อมูลการค้างชำระหนี้ผ่านแอพดังกล่าวได้เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม กยศ. ได้วางแนวทางรองรับผู้กู้ที่ได้รับผลกระทบจากการหักเงินเดือนเพิ่ม 3,000 บาทต่อบัญชี ดังนี้

  1. ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ กับ กยศ. ในเดือนพฤษภาคม 2568 โดยจะต้องชำระตามยอดหนี้ที่ปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ในงวดแรกด้วยตนเอง และต้องแจ้งให้นายจ้างทราบเพื่อจะได้ไม่ถูกหักเงินเดือนเพิ่มอีก 3,000 บาท ในเดือนนั้น ซึ่งนายจ้างจะเริ่มหักเงินเดือนตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ตั้งแต่งวดที่ 2 เป็นต้นไป 
  2. ผู้กู้ยืมเงินที่ยังไม่ได้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ และยังคงมียอดหนี้ค้างชำระ หากผู้กู้ยืมเงินไม่สามารถให้หักเงินเดือนเพิ่ม 3,000 บาท ในเดือนพฤษภาคม และมิถุนายน 2568 จะต้องยื่นขอปรับลดจำนวนการหักเงินเดือนทางเว็บไซต์ กยศ. ภายในวันที่ 17 พฤษภาคม 2568 ซึ่งจะมีผลปรับลดจำนวนหักเงินเดือนเฉพาะเดือนพฤษภาคมนี้ เท่านั้น 

ทั้งนี้ หากดำเนินการไม่ทันสามารถยื่นขอปรับลดการหักเงินเดือนได้อีกครั้งในเดือนมิถุนายน 2568 โดยจะต้องยื่นขอปรับลดจำนวนการหักเงินเดือน ภายในวันที่ 14 มิถุนายน 2568 และ กยศ. จะแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้กู้ยืมเงินทราบทาง SMS พร้อมแจ้งให้นายจ้างทราบในระบบ e-PaySLF ต่อไป

ถ้าไม่อยากถูกหัก 3,000 บาท ต้องทำอย่างไร 

เบื้องต้น ผู้กู้ยืมควรติดต่อขอปรับโครงสร้างหนี้ / ชำระยอดค้าง โดยสามารถเดินทางมาติดต่อ กยศ. หรือขอปรับโครงสร้างหนี้ Online ซึ่งจะช่วยให้ยอดผ่อนชำระต่อเดือนของลูกหนี้ลดลง และจะไม่ถูกหักเพิ่มเดือนละ 3,000 บาท

ไขข้อข้องใจ กับ กยศ. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา

 

เปิดเหตุผลทำไม กยศ.ขอรับการจัดสรรงบกลางฯ 2,838.64 ล้านบาท

ไขข้อข้องใจ กับ กยศ. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา

เปิดตัวเลขค่าจ้างดำเนินคดีติดตามทวงหนี้ กยศ.

ไขข้อข้องใจ กับ กยศ. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา

อย่างไรก็ตาม กยศ. มีมาตรการลดหย่อนหนี้ เพื่อจูงใจให้ผู้กู้ยืมชำระเงินคืน เพื่อให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างระยะเวลาปลอดหนี้ และผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ ที่ กยศ. ยังไม่ฟ้องคดี โดยจะได้รับส่วนลดต้นเงิน 5 – 10% และส่วนลดเบี้ยปรับ 100% เมื่อชำระหนี้ปิดบัญชีในคราวเดียว โดยผู้กู้ยืมสามารถตรวจรายละเอียดและลงทะเบียนขอรับสิทธิได้ที่ www.studentloan.or.th ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม – 31 พฤษภาคม 2568