svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เปิดงานวิจัยการบริหารการเงินของวัด "จุดอ่อนอื้อ ช่องโหว่เพียบ"

เปิดงานวิจัยการบริหารการเงินของวัด "จุดอ่อนอื้อ ช่องโหว่เพียบ" ถึงเวลาปฏิรูปแล้วหรือยัง? สร้างความเชื่อมั่นของวัดจากสาธารณชน หลังเรื่องราวฉาวโฉ่สะเทือนวงการสงฆ์

16 พฤษภาคม 2568 เรื่องราวฉาวโฉ่สะเทือนวงการสงฆ์ กลับมากระหึ่มอีกครั้ง กรณี "ทิดแย้ม" อดีตเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง ถูกดำเนินคดี ข้อหานำเงินวัดกว่า 300 ล้าน ไปเล่นพนัน "บาคาร่า" สะท้อนถึงเงินศรัทธาประชาชนบริจาคให้วัดถูกนำไปใช้โดยมิชอบ

ผศ.ดร.ณดา จันทร์สม วารสารพัฒนบริหารศาสตร์ นิด้า เคยทำผลงานวิจัย ในหัวข้อเรื่องการบริหารการเงินของวัดในประเทศไทย : ความสอดคล้องตามหลักธรรมาภิบาล ซึ่งได้นำเสนอไว้อย่างน่าสนใจ โดยมีใจความสำคัญระบุว่า วัดเป็นนิติบุคคลประเภทองค์การไม่แสวงหากำไร มีบทบาทสำคัญกับสังคมไทยมานาน 

ซึ่งการศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบ วิธีการ และวิเคราะห์จุดอ่อนและจุดแข็ง ปัญหาและอุปสรรคของรูปแบบการบริหารการเงินของวัดไทยที่เป็นอยู่ การวางกรอบการบริหารการเงินให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการดำเนินการวัด จะช่วยให้การกำกับดูแลวัดมีกรอบแนวทางที่ชัดเจนและใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของวัดจากสาธารณชน นำไปสู่ความยั่งยืนในการพัฒนาของวัดและพุทธศาสนาในระยะยาวได้

สำหรับผลจากการศึกษา พบว่า กฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่มีอยู่เพื่อการบริหารวัดไม่เพียงพอที่จะทำให้วัดมีแนวปฏิบัติในการบริหารที่สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล เห็นได้จากโดยส่วนมากยังไม่มีโครงสร้างในการบริหารการเงินของวัดที่เป็นระบบ การจัดทำรายงานทางการเงินของวัดไม่เป็นไปตามหลักมาตรฐานบัญชีทีรับรองกันโดยทั่วไป รวมถึงยังไม่มีการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาต การเผยแพร่ข้อมูลทางการเงินของวัดให้สาธารณะรับทราบยังอยู่ในวงจำกัด หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการกำกับดูแลการบริหารการเงินของวัดยังขาดการรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบ

โดยเฉพาะสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ยังขาดบทบาทในการกำหนดกรอบในการกำกับดูแลให้การบริหารจัดการทางการเงินของวัดสอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล อีกทั้ง บุคลากรยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ดี และหลักการบริหารการเงินของผู้มีอำนาจหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการภายในวัด

https://so04.tci-thaijo.org/index.php/NDJ/article/view/17677/15755

ขณะที่ ผลการศึกษาชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อน จุดแข็ง ปัญหาและอุปสรรคของรูปแบบการบริหารการเงินของวัดไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน สรุปได้ดังนี้


จุดอ่อน

  1. การไม่มีการรายงานทางการเงินที่เป็นไปตามหลักการบัญชีที่รับรองกันโดยทั่วไปทำให้ไม่มีข้อมูลทางการเงินที่จะสะท้อนภาพรวมของวัด
  2. หน่วยงานที่ควรจะมีบทบาทในการรวบรวมข้อมูลทางการเงินของวัด โดยเฉพาะสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ยังไม่สามารถรวบรวมข้อมูลการเงินของวัดไทยได้อย่างเป็นระบบ
  3. การเปิดเผยข้อมูลทางการเงินของวัดยังอยู่ในวงจำกัด ส่วนมากวัดจะจัดทำรายงานทางการเงินและจัดเก็บไว้เองที่วัด มิได้มีการเผยแพร่ที่ให้สาธารณชนได้รับทราบ หรือหากมีการเผยแพร่จะเป็นรูปแบบในวงจำกัด เช่น ปิดประกาศในที่สาธาธารณะ เสียงตามสาย เป็นต้น
  4. ขาดการวางระบบการบริหารจัดการทรัพย์สินของวัดเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ
  5. ขาดแนวปฏิบัติที่ขัดเจนสำหรับการบริหารเงินทุนของวัดเพื่อให้มีการใช้จ่ายได้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้ให้ทุน
  6. วัดไทยจำนวนมากที่ยังขาดการวางระบบและกลไก่ในการเบิกจ่ายเงิน และบริหารการเงินของวัด โดยเน้นหลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ
  7. ขาดกลไกในการกำกับดูแลที่จะให้มีการบริหารการเงินที่สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาลของการบริหารจัดการ

จุดแข็ง

  1. วัดเป็นองค์กรทางศาสนามีความศรัทธาของพุทธศาสนิกชนเป็นฐานสำคัญของการพัฒนา ทำให้วัดสามารถที่จะระดมทุนจากเงินบริจาคตามวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ได้ จึงไม่ต้องเน้นในเรื่องการจัดหารายได้เป็นหลัก ซึ่งแตกต่างกับองค์กรไม่แสวงหากำไรในรูปแบบอื่น ในส่วนนี้ หากวัดสามารถดำรงความเชื่อมั่นและศรัทธาของพุทธศาสนิกขนให้คงองอยู่ได้อย่างยาวนาน ย่อมจะเป็นจุดแข็งสำคัญต่อการพัฒนา
  2. วัดส่วนมากจะมีความใกล้ชิดกับชุมชน ทำให้การมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการวัด โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งชุมชน ชาวบ้าน ฯลฯ สามารถทำได้ง่าย ซึ่งหากมีการวางระบบและกลไกในการบริหารจัดการทางการเงินของวัดที่ชัดเจนแล้ว หากต้องการความร่วมมือจากชุมชน และกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ ย่อมทำได้ไม่ยากนัก