18 มีนาคม 2568 เพจเฟซบุ๊ก อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน - Mu Ko Similan National park เผยภาพและคลิปปรากฏการณ์ "ปะการังปล่อยไข่" ซึ่งหาชมได้ยาก โดยระบุว่า คืนวันที่ 17 มีนาคม 2568 เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการดำน้ำอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ทำการสำรวจและติดตามปรากฏการณ์ "ปะการังปล่อยไข่ (Coral Spawning)" บริเวณหาดเล็ก เกาะเมียง (เกาะสี่) พบปะการังเขากวาง (Acropora sp.) ปล่อยเซลล์สืบพันธุ์เวลาประมาณ 21.10 น. คืนแรม 4 ค่ำ
การปล่อยไข่ของปะการังถือเป็นปรากฏการณ์ที่หาชมได้ยาก" หนึ่งปีมีหนึ่งครั้ง เมื่อปะการังเเต่ละโคโลนีปล่อยไข่ จะใช้เวลาเพียงสั้นๆ ประมาณ 5-15 นาทีเท่านั้น"
รู้จัก "ปะการัง"
"เนชั่นทีวี" ขอพาไปรู้จักกับปะการัง ไม่รู้ว่าท่านผู้อ่านเคยสงสัยกันไหม "ปะการัง" เป็นพืชหรือเป็นสัตว์? ข้อมูลจากเพจเฟซบุ๊ก Scimath คลังความรู้ ให้คำตอบไว้ว่า ปะการัง เป็นสัตว์ทะเลที่ไม่มีกระดูกสันหลัง มีโครงสร้างภายนอกเป็นหินปูนเปรียบเสมือนกระดูก โดยทั่วไปตัวปะการังจะมีรูปทรงเป็นทรงกระบอกเล็กๆ แต่ละกระบอกจะมีช่องเล็กๆ ซึ่งเป็นที่อยู่ของปะการังเเต่ละตัว ที่ปลายกระบอกจะมีหนวดที่คอยดักจับสัตว์น้ำตัวเล็กๆ
ทั้งนี้ ในปะการัง 1 กอ จะประกอบไปด้วยปะการังจำนวนมาก โดยมีเนื้อเยื่อเชื่อมติดกัน ปะการังสามารถสืบพันธุ์ได้ 2 แบบ คือ แบบอาศัยเพศ และแบบไม่อาศัยเพศ ปะการังที่พบโดยทั่วไปมีการพัฒนาการอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มปะการัง หรือ "แนวปะการัง" ซึ่งเป็นแนวหินปูนใต้ทะเลในระดับน้ำตื้นที่แสงแดดส่องถึง โดยหินปูนดังกล่าวเป็นผลมาจากการเจริญเติบโตของปะการังหลายๆชนิด
นอกจากนี้ ยังมีสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อีกหลายชนิดที่มีส่วนเสริมสร้างหินปูนพอกพูนสะสมในแนวปะการัง เช่น สาหร่ายหินปูน หอยที่มีเปลือกแข็ง ฯลฯ ทั้งปะการังเองและสิ่งมีชีวิตที่สร้างหินปูนได้ เมื่อตายไปแล้วจะยังคงเหลือซากหินปูนทับถมพอกพูนต่อไป เนื่องจากแนวปะการังประกอบด้วยปะการังหลายชนิดและปะการังแต่ละชนิดมีลักษณะโครงสร้างแตกต่างกันไปนั่นเอง
"ปะการัง" สืบพันธุ์อย่างไร
เว็บไซต์ คลังความรู้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการสืบพันธุ์ของปะการังไว้ว่า ปะการังเป็นสัตว์ที่สามารถสืบพันธุ์ได้ 2 แบบ คือ แบบไม่อาศัยเพศและอาศัยเพศ
การสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ ในปะการังเกิดขึ้นได้หลายลักษณะ ที่พบได้ทั่วไปคือการแตกหักจากก้อนปะการังเดิม (fragmentation) ซึ่งอาจเกิดจากคลื่นลมตามธรรมชาติ หรือกิจกรรมจากมนุษย์ ถ้าส่วนที่หักตกอยู่ในสภาวะที่เหมาะสมก็จะสามารถเจริญเติบโตเป็นโคโลนีใหม่ขึ้น
นอกจากนั้น ปะการังยังสามารถสร้างโพลิปพร้อมโครงสร้างหินปูนขึ้นมา และเมื่อโพลิปใหม่นี้เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จะหลุดออกมาจากโคโลนีแม่ (polyp expulsion) หรือในบางกรณีที่สภาวะแวดล้อมเปลี่ยนแปลง ไม่เหมาะสมหรือมีผู้ล่า โพลิปหรือเนื้อเยื่อของปะการังบางชนิดก็อาจหลุดออกมาจากโคโลนีแม่ (polyp bail-out) ซึ่งวิธีนี้มักเกิดเมื่อโคโลนีเดิมไม่แข็งแรงและไม่สามารถเติบโตต่อไปได้ และในปะการังบางชนิดเช่น ปะการังดอกกะหล่ำ (Pocillopora damicornis) สามารถผลิตตัวอ่อนปะการังได้ด้วยตัวเองจากไข่ที่ไม่ได้รับการปฏิสนธิจากน้ำเชื้อ (partheno-genesis)
ส่วนการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ ระบบสืบพันธุ์ของปะการังมีทั้งแบบที่แยกเพศ และมีสองเพศในโคโลนีเดียวกันโดยส่วนใหญ่ปะการังจะเป็นกระเทย คือ มีเพศผู้และเพศเมียในตัวเดียวกัน มีส่วนน้อยที่แยกเพศในแต่ละโคโลนี ส่วนรูปแบบของการปฏิสนธิพบว่า ประมาณร้อยละ 75 ของปะการังจะปล่อยไข่และน้ำเชื้อออกมาผสมและเกิดการปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนในมวลน้ำ (external fertilization) หรือเรียกว่ากลุ่มที่เป็น spawner โดยส่วนใหญ่ทำการปล่อยเซลล์สืบพันธุ์เป็นจำนวนมากเพียงครั้งเดียวในรอบปี เช่น กลุ่มปะการังเขากวาง (Acroporidae)
ส่วนอีกกลุ่มเป็นพวกที่มีการปฏิสนธิภายในโคโลนี (internal fertilization) แล้วปล่อยตัวอ่อนระยะว่ายน้ำ (planula larvae) ออกมาในมวลน้ำภายหลัง หรือกลุ่ม brooder ซึ่งปริมาณการปล่อยตัวอ่อนครั้งละไม่มากเท่ากับกลุ่มที่ปฏิสนธิภายนอก แต่สามารถปล่อยตัวอ่อนเป็นประจำได้ทุกเดือนและตลอดปี ตัวอ่อนปะการังใช้ระยะเวลาล่องลอยอยู่ในมวลน้ำแตกต่างกันไปในแต่ละชนิด จากนั้นจึงลงเกาะในพื้นที่ที่เหมาะสม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่แข็งหรือซากปะการัง
สำหรับช่วงการปล่อยเซลล์สืบพันธุ์นั้น เกิดขึ้นเฉพาะบางเวลา ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละชนิดและสถานที่ โดยมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการด้วยกัน เช่น การขึ้นลงของน้ำที่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับข้างขึ้นข้างแรม หรืออุณหภูมิน้ำทะเล โดยปะการังมักจะปล่อยเซลล์สืบพันธ์ในช่วงที่น้ำทะเลมีอุณหภูมิเริ่มสูงขึ้นคือช่วงฤดูใบไม้ผลิถึงต้นฤดูร้อนหลังวันขึ้น 15 ค่ำ แต่ทั้งนี้แต่ละพื้นที่ในละติจูดที่ต่างกันของโลกก็อาจมีความสัมพันธ์กับปัจจัยสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่แตกต่าง
บทบาทของปะการัง และความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิต
สำหรับบทบาทของแนวปะการัง ด้วยความที่มีโครงสร้างซับซ้อน เต็มไปด้วยซอกหลืบ จึงเหมาะต่อการดำรงชีวิตสิ่งมีชีวิตในทะเล เช่น ปลาชนิดต่างๆ กุ้ง หอย ดาวทะเล ปลิงทะเล ฟองน้ำ ปะการังอ่อน กัลปังหา หนอนทะเล สาหร่ายทะเล เป็นต้น ทำให้แนวปะการังเป็นระบบนิเวศที่มีความซับซ้อน และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดในทะเล เปรียบเสมือน "ป่าดิบชื้น"
อีกทั้ง สายพันธุ์ทางทะเลกว่า 25% พึ่งแนวปะการังในการอยู่อาศัย เพาะพันธุ์วางไข่ และเป็นแหล่งอาหาร เป็นแหล่งที่ปกป้องชายฝั่งจากคลื่นกัดเซาะ ถือว่าเป็นแหล่งประมงอาหารสำหรับมนุษย์ สร้างทรายให้กับชายหาด และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ความอุดมสมบูรณ์ของแนวปะการัง ยังดึงดูดให้มีการใช้ประโยชน์จากแนวปะการังมากขึ้น ทั้งโดยตรงและโดยทางอ้อม
ขอบคุณภาพและข้อมูล : อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน - Mu Ko Similan National park
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก : คลังความรู้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, เฟซบุ๊กเพจ Environman, Scimath คลังความรู้, มูลนิธิสืบนาคะเสถียร