svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ค่ำนี้ชวนชม "ดาวศุกร์สว่างที่สุด" ครั้งแรกของปี สังเกตได้ทางทิศไหน เช็กได้ที่นี่

ค่ำวันนี้ (16 ก.พ.68) ชวนชม "ดาวศุกร์สว่างที่สุด" ครั้งแรกของปี สดร. เผย ดูได้ช่วงหัวค่ำ จนถึงเวลาประมาณ 3 ทุ่ม พร้อมแนะสังเกตได้ทางทิศไหน

16 กุมภาพันธ์ 2568 เพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า 16 ก.พ. 68 "ดาวศุกร์สว่างที่สุด" ครั้งแรกของปี ปรากฏทางทิศตะวันตกช่วงหัวค่ำ จนถึงเวลาประมาณ 21.00 น.

ขอบคุณภาพจาก : เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมา ทางเพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้โพสต์ภาพและข้อความเกี่ยวกับ "ดาวศุกร์สว่างที่สุด" ครั้งแรกของปี 2568 โดยระบุว่า ค่ำ 16 ก.พ. 68 "ดาวศุกร์สว่างที่สุด" ครั้งแรกของปี ในช่วงหัวค่ำของวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2568 ดาวศุกร์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งที่ปรากฏสว่างที่สุด สังเกตได้ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ จนถึงเวลาประมาณ 21.00 น. ปรากฏสว่างเด่นชัดทางทิศตะวันตก คาดว่ามีค่าอันดับความสว่างปรากฏมากถึง -4.6 (ดวงจันทร์เต็มดวง มีค่าอันดับความสว่างปรากฏ -12) หากดูผ่านกล้องโทรทรรศน์จะเห็นดาวศุกร์ปรากฏเป็นเสี้ยวคล้ายดวงจันทร์ 

นอกจากนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าวยังสามารถสังเกตเห็นดาวเสาร์ปรากฏถัดลงมาใกล้ขอบฟ้า อีกทั้งยังมีดาวพฤหัสบดีปรากฏสว่างบริเวณกลางท้องฟ้า และดาวอังคารปรากฏสว่างเป็นสีส้มแดงทางทิศตะวันออกอีกด้วย หากทัศนวิสัยท้องฟ้าดีสามารถชมความสวยงามของดาวศุกร์ และดาวเคราะห์ต่าง ๆ ได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจน 

ขอบคุณภาพจาก : เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ดาวศุกร์สว่างที่สุด
(The Greatest Brilliancy) คือช่วงที่ดาวศุกร์โคจรห่างจากโลกในระยะที่เหมาะสม และมีขนาดเสี้ยวค่อนข้างใหญ่ทำให้สะท้อนแสงได้มากที่สุด จึงปรากฏสว่างมากบนท้องฟ้า สำหรับในช่วงอื่น แม้ดาวศุกร์จะมีเสี้ยวที่หนากว่า แต่ด้วยตำแหน่งอยู่ที่ห่างจากโลก ความสว่างจึงลดลงตามไปด้วย 

การที่เราเห็นดาวศุกร์เป็นเสี้ยวอยู่เสมอ เนื่องจากดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์ลำดับที่ 2 ถัดจากดาวพุธ โคจรรอบดวงอาทิตย์ใกล้กว่าโลก จึงไม่สามารถเห็นดาวศุกร์สว่างเต็มดวงได้ เพราะจะปรากฏสว่างเต็มดวงเมื่ออยู่หลังดวงอาทิตย์ ดังนั้น คนบนโลกจึงมองเห็นดาวศุกร์ปรากฏเป็นเสี้ยวอยู่เสมอ ความหนาบางของเสี้ยวแตกต่างกันไปในแต่ละตำแหน่งของวงโคจร และปรากฏอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ได้มากที่สุด 47.8 องศา เราจึงสังเกตเห็นดาวศุกร์ได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นหรือหลังดวงอาทิตย์ตกเท่านั้น ไม่เคยปรากฏอยู่กลางท้องฟ้าหรือในช่วงเวลาดึก สำหรับคนไทยจะมีชื่อเรียกดาวศุกร์ในแต่ละช่วงเวลาต่างกันไป ได้แก่ "ดาวประจำเมือง" คือ ดาวศุกร์ที่ปรากฏทางทิศตะวันตกในช่วงหัวค่ำ และ "ดาวประกายพรึก" คือ ดาวศุกร์ที่ปรากฏทางทิศตะวันออกในช่วงเช้ามืด

ขอบคุณภาพจาก : เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

สำหรับปรากฏการณ์ดาวศุกร์สว่างที่สุด ในครั้งที่ 2 ของปีนี้ จะปรากฏดาวศุกร์สว่างช่วงเช้ามืด ในวันที่ 24 เมษายน 2568 ปรากฏสว่างเด่น เห็นชัดเจนด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลาประมาณ 04.00 น. จนดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้า





ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก : เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ