ท่ามกลางสถานการณ์ชายแดนไทยที่ติดต่อกับเมียนมา และ กัมพูชากำลังร้อนระอุจากการปราบปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ครั้งใหญ่ในรอบประวัติศาตร์ของรัฐบาลไทย แต่ดูเหมือนเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมคำ แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ตรงข้ามอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ได้ชิงตัดหน้านำเสนอผลงานในการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เมื่อต้นเดือนมกราคม 2568
ภายใต้การทำงานคู่ขนานขององค์การคุ้มครองบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมคำ ในฐานะตัวแทนรัฐบาลสปป.ลาว และสภาบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมคำ ตัวแทนของกลุ่มบริษัทดอกงิ้วคำ จำกัด นักลงทุนจีน ในฐานะผู้สัมปทานพื้นที่จากสสป.ลาว 99 ปี
ในเวทีการประชุมประเมินผลการแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมคำ แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว มีพลโทคำกิ่ง ผุยหล้ามะนีวง รองรัฐมนตรีกระทรวงป้องกันความสงบ ,ดร.สะถาบันดิด อินสีเชียงใหม่ รองรัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุน สปป. ลาว และนายเกาหลง รองประธานสภาบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมคำ เข้าร่วมประชุม
พลจัตวา วันทอน สุริศักดิ์ รองหัวหน้ากรมตำรวจ สปป.ลาว รายงานว่า ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ได้นำกฎหมายมาบังคับใช้อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมของประชาชนลาว ปัจจุบันได้ลดปัญหาแก็งคอลเซ็นเตอร์ได้ผลอย่างน่าพอใจ และนโยบายในปี 2568 จะยกระดับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นปิดช่องการเข้ามาทำมาหากินของแก๊งคอลเซ็นเตอร์
“เนชั่นทีวี” ได้ลงพื้นที่สำรวจเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมคำ ที่มีมูลค่าการลงทุนมากกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พบว่า บ่อนกาสิโนยังมีการเปิดบริการในโรงแรมดอกงิ้วคำตามปกติ แต่จำนวนคนใช้บริการบางตา
ส่วนอาคารขนาดใหญ่ยังสร้างอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่อยู่อาศัย และโรงพยาบาลขนาด 300 เตียง ถนนขนาด 8 เลน อาคารด่านสากลสามเหลี่ยมคำ และสนามบินบ่อแก้ว ที่รองรับผู้โดยสารได้มากกว่าปีละ 2 ล้านคนได้เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ เช่นเดียวกับโรงเรียนก็เปิดการเรียนการสอนถึงระดับมัธยมศึกษา
เมื่อ เนชั่นทีวี เปรียบเทียบกับปี 2566 ที่เคยได้เข้ามาสำรวจพื้นที่แห่งนี้ ปัจจุบันนี้จะเห็นได้ชัดเจนว่า บรรยากาศเงียบเหงา มองด้วยสายตา ทั้งร้านอาหาร ผับบาร์ โรงแรมกลับปิดตัวลงไปหลายแห่ง อาคารชนาดใหญ่มีบางส่วนที่ปิดร้างไปหลายแห่ง
จากการสอบถามผู้คนในเมืองนี้ ให้ข้อมูลตรงกันว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ของตำรวจสปป.ลาว ตำรวจจีน และตำรวจเวียดนาม ทำให้ความพลุกพล่านของคนหายไป และในทุกพื้นที่สำคัญ ได้มีการติดป้ายเบอร์โทรสายด่วนตลอด 24ชั่วโมง รวมทั้งรัฐบาลสปป.ลาวได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาประจำการ เพื่อตอกย้ำความปลอดภัย
แม้ว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมคำ ได้ถูกยกระดับให้เป็นโมเดลของเขตเศรษฐกิจพิเศษในสปป.ลาว ที่มีทุกหน่วยงานของรัฐบาลสปป.ลาวเข้ามาดูงานอย่างต่อเนื่อง รวมถึงผู้นำประเทศของสปป.ลาวก็เคยมาเยือนหลายครั้ง แต่ภาพจำของผู้กุมบังเหียน อย่าง”จ้าว เหว่ย”ผู้ทรงอิทธิพลในแวดวงกาสิโน จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่สายตาทั่วโลก ยังคงจับจ้องมายังพื้นที่แห่งนี้ว่าเป็นเมืองสีขาว หรือสีเทากันแน่ โดยทาง”จ้าวเหว่ย”เคยบอกกับ “เนชั่นทีวี”ว่า เขายังมั่นใจว่าเมืองนี้เป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีความปลอดภัย ไม่ใช่พื้นที่สีเทา และยากที่จะอธิบายหากไม่ได้มาสัมผัสด้วยตนเอง
สิ่งที่น่าจับตามองว่า ในงานเทศกาลดอกงิ้วบาน ครั้งที่ 22 ถือเป็นสัญลักษณ์ความยิ่งใหญ่ของเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมคำ แต่ในปีนี้กลับไร้เงาของ "จ้าวเหว่ย" ประธานสภาเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมคำ ที่เก็บตัวเงียบมาเป็นเวลาหลายเดือน แต่มีนายเกาหลง รองประธานสภาเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมคำมาทำหน้าที่แทนในเวทีสำคัญต่างๆ
เขากล่าวบนเวทีว่า ตลอดเวลา 18 ปีที่ผ่านมา ได้พัฒนาเมืองตามแผนงานที่กำหนดไว้ และจะเดินหน้าอย่างต่อเนื่องให้สอดคล้องกับโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ภายใต้สายสัมพันธ์ที่ดีระหว่างลาว-จีน
แต่ภาพที่จะตอบคำถามได้ดีว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมคำจะไปในทิศทางไหนหลังจากนี้ คือ การปรากฏตัวของ พลเอกวิไล หล้าคำฟอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงป้องกันความสงบ สปป.ลาว ในฐานะประธานเปิดงานเทศกาลดอกงิ้วบานครั้งที่ 22
พร้อมข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่มาช่วยตอกย้ำว่า รัฐบาลสปป.ลาว พร้อมสนับสนุนการเติบโตของเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมคำ ที่ปัจจุบัน ถือว่า มีจุดยุทธศาสตร์ที่ล้ำหน้าเมืองอื่นๆ ตรงมีความครบเครื่องของระบบคมนาคมทางอากาศ และระบบคมนาคมทางน้ำ
แม้ว่าวันนี้ไฟยังสาดส่องไปยัง “เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมคำ” ว่าเป็นพื้นที่ฟอกเทาเป็นขาวหรือไม่ แต่สิ่งที่ถูกสื่อออกมาผ่านงานศิลปะ ที่มีผู้นำทางทหาร และการเมืองของสปป.ลาว เดินควงแขนผู้บริหารสภาเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมคำ ร่วมเปิดงานนิทรรศการภาพสามเหลี่ยมคำ ครั้งที่ 2 ที่เล่าเรื่องราวผ่านภาพวาดให้เห็นถึงคำว่า “สันติภาพ” เพื่อต้องการสื่อให้คนภายนอกให้ถึงแนวทางในการพัฒนาเมืองหลังจากนี้
แต่วันนี้ สิ่งที่ประสบความสำเร็จคือ กลายเป็นหนึ่งในพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญของ 2 ประเทศ ที่ปักหมุดไว้ทั้งระบบเศรษฐกิจ และระบบความมั่นคงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คำว่า “มังกรผงาดในลุ่มแม่น้ำโขง” หรือจะเป็นเรื่องจริง
ข่าวโดย : สกาวรัตน์ ศิริมา