svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

กรมทะเลจับมือภาคเอกชน ร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ปล่อยเต่าทะเลคืนสู่ธรรมชาติ

กรมทะเลจับมือภาคเอกชน ร่วมกันปล่อยเต่าทะเลคืนสู่ธรรมชาติ เนื่องในโอกาสครบรอบ 5 ปี ของการให้บริการอควาเรียภูเก็ต และเป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่งที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ

9 กรกฎาคม 2567 นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (กรมทะเล) พร้อมด้วย Dato Simon Foong CEO อควาเรียภูเก็ต ร่วมกันปล่อยเต่าตนุ 6 ตัว อายุ 6 ปี ซึ่งบาดเจ็บและได้รับการอนุบาลจนแข็งแรงคืนสู่ธรรมชาติ ณ หาดแหลมพันวา ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต โดยเป็นความร่วมมือระหว่างอควาเรียภูเก็ต, ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบนและสถานแสดงพันธุ์สัตว์นํ้าภูเก็ตจัดขึ้น เนื่องในโอกาสครบรอบ 5 ปีของการให้บริการอควาเรียภูเก็ต และเป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่งที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ 

นอกจากนี้ เต่าทะเลยังเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญ และเป็นตัวชี้วัดถึงสุขภาพของมหาสมุทรและชายฝั่ง มีบทบาทสำคัญในการรักษาสมดุลของระบบนิเวศทางทะเลอีกด้วย ตลอดจนเพื่อร่วมรณรงค์ให้เกิดความร่วมมือและช่วยอนุรักษ์เต่าทะเลให้มีจำนวนมากขึ้นในท้องทะเลไทย 

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
นายปิ่นสักก์ กล่าวถึงสถานการณ์เต่าทะเลว่า ประเทศไทย มีเต่าทะเลอยู่ 5 ชนิด เมื่อประมาณ 10-20 ปี ที่ผ่านมา จำนวนลดลงมาก และอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ แต่จากความร่วมมือของภาคราชการ ภาคประชาชน และภาคเอกชน แนวโน้มของเต่าทะเลเพิ่มขึ้น เห็นได้จากการสำรวจการวางไข่ของเต่าทะเล โดยเฉพาะในแหล่งวางไข่ที่สำคัญ เช่น เกาะหูหยง อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน เป็นต้น ไม่ว่าจะเป็นเต่าตนุหรือเต่ากระ มีจำนวนเพิ่มขึ้น 

และที่สำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเต่ามะเฟือง ซึ่งเป็นเต่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและหายากที่สุดของประเทศไทย ในปีที่ผ่านมามีการขึ้นมาวางไข่จำนวนมากกว่า 10 รัง พบว่า แนวโน้มดีขึ้น แต่ยังอยู่ในสถานะที่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะเราจะต้องร่วมกันอนุรักษณ์บ้านของเต่าทะเล ซึ่งต้องเป็นชายหาดทรายที่สมบูรณ์และสะอาด เพื่อให้เต่าขึ้นมาและสามารถวางไข่ได้ นอกจากนี้ จะร่วมกันดูไม่ให้มีขยะทะเลหรือพลาสติกมากเกินไป เนื่องจากเต่าจะเข้าใจว่าเป็นอาหาร และกินเข้าไป ส่งผลให้บาดเจ็บและตาย 

กรมทะเลจับมือภาคเอกชน ร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ปล่อยเต่าทะเลคืนสู่ธรรมชาติ

กรมทะเลจับมือภาคเอกชน ร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ปล่อยเต่าทะเลคืนสู่ธรรมชาติ
อย่างไรก็ตาม นายปิ่นสักก์ กล่าวด้วยว่า แต่ละปีมีเต่าที่ติดอวนและบาดเจ็บหรือกินขยะทะเลเข้าไปมากกว่า 200-300 ตัว นับเป็นจำนวนค่อนข้างมาก ซึ่งมีทั้งการพันภายนอกจากเศษอวนของชาวประมงในบางพื้นที่ และการกินเข้าไป ส่วนใหญ่จะเป็นพลาสติกกับเศษขยะขนาดเล็ก

กรมทะเลจับมือภาคเอกชน ร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ปล่อยเต่าทะเลคืนสู่ธรรมชาติ
ทั้งนี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จัดตั้งมูลนิธิอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ซึ่งมีแผนงานสร้างศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก ทั้งเต่า โลมาและพะยูน จำนวน 3 แห่ง ปัจจุบันสร้างเสร็จแล้ว 2 แห่ง โดยจะเป็นโรงพยาบาลดูแลรักษาสัตว์ทะเลที่ได้รับบาดเจ็บให้มีโอกาสรอดและแข็งแรง

แต่ละปีจะมีการปล่อยกลับลงทะเล กว่า 50% ยกเว้นกรณีขาขาดหรือได้รับอุบัติเหตุร้ายแรง นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือกับภาคประชาชนและเอกชนหลายกลุ่ม เพราะการทำงานอนุรักษ์จะเริ่มตั้งแต่การลดภัยคุกคาม การให้ความรู้ และการสร้างจิตสำนึก ซึ่งหน่วยงานภาครัฐไม่สามารถทำเพียงลำพังได้ 

ขณะที่ นายหิรัญ กังแฮ หัวหน้ากลุ่มสัตว์ทะเลหายาก และใกล้สูญพันธุ์ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์เต่าทะเลในพื้นที่ จ.ภูเก็ต ในปีนี้มีรายงานการขึ้นวางไข่น้อยกว่าปีที่ผ่านๆ มา สาเหตุเนื่องจากภาวะโลกร้อน และน้ำทะเลมีอุณหภูมิสูง แม้กระทั่งการนำลูกเต่ามาอนุบาลก็ได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิสูงจนทำให้เกิดการช็อคตาย โดยเฉพาะโครงการเพาะฟักเต่ามะเฟือง 

"ซึ่งภัยคุกคามหลักนั้น จะมาจากกิจกรรมของมนุษย์ 100% เราอาจจะมองว่าการดำรงชีวิตของเต่าทะเลจะห่างไกลกับการดำรงชีวิตของเรา แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ เพราะเต่าทะเลทุกชนิด คือ ตัวประกันความเสี่ยงการท่องเที่ยวทางทะเล เมื่อภูเก็ตเป็นจังหวัดท่องเที่ยว ตัวอย่างเช่น เมื่อจำนวนเต่าทะเลน้อยลง แต่สิ่งหนึ่งที่จะเพิ่มขึ้น คือ แมงกะพรุน โดยเฉพาะในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตทั้งคนไทยและต่างชาติที่รับพิษแพงกะพรุน ร่วม 20 ราย

ในวงจรของธรรมชาติเต่าทะเลตัวเล็กๆ จะกินแมงกะพรุนตัวเล็กๆ ที่ยังไม่มีพิษเป็นอาหาร โดยเต่า 1 ตัว สามารถกินลูกแพงกะพรุนได้นับหมื่นตัว ดังนั้นเมื่อประชากรเต่ามีมาก จำนวนของแมงกะพรุนทั้งมีพิษและไม่มีพิษจะถูกควบคุมให้เกิดความสมดุล หากมีประชากรแมงกะพรุนมาก็จะย่อมจะกระทบกับการท่องเที่ยวได้ หากมีคนไปเล่นน้ำทะเลและถูกพิษเป็นจำนวนมาก จำเป็นที่เราจะต้องช่วยกันลดการคุกคามเต่าทะเลในทุกรูปแบบ" นายหิรัญ ระบุ

กรมทะเลจับมือภาคเอกชน ร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ปล่อยเต่าทะเลคืนสู่ธรรมชาติ
กรมทะเลจับมือภาคเอกชน ร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ปล่อยเต่าทะเลคืนสู่ธรรมชาติ