8 มิถุนายน 2567 ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง รายงานสภาพอากาศประจำวัน ว่า มีร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนและอ่างตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนบนและประเทศไทยตอนบบนมีกำลังปานกลาง
ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง มีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ และมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยช่วงวันที่ 7-8 มิถุนายน 2567 พยากรณ์ว่า จะมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนช่วงวันที่ 9-10 มิถุนายน 2567 จะมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่และมีฝนตกหนักบางแห่ง และช่วงวันที่ 11-13 มิถุนายน 2567 จะมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่และมีฝนตกหนักบางแห่ง
ทั้งนี้ เรดาห์ตรวจอากาศ รายงานผลการตรวจสภาพอากาศล่าสุดเมื่อช่วงเวลา 08.45 น.วันนี้ พบการเคลื่อนตัวของกลุ่มฝน จึงคาดการณ์ว่า ตั้งแต่เวลา 06.00 น.วันนี้ ไปจนถึง 06.00 น.วันพรุ่งนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดมุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ และจังหวัดอุบลราชธานี อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดอยู่ที่ 36 องศาเซลเซียส
อย่างไรก็ตาม ที่จังหวัดนครราชสีมาช่วงที่ผ่านมา มีฝนตกเล็กน้อย และสภาพอากาศในช่วงกลางวันค่อนข้างร้อนจัด วันนี้มีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดอยู่ที่ 36 องศาเซลเซียส ในขณะที่ทั้ง 32 อำเภอของจังหวัดนครราชสีมา อาจมีฝนฟ้าคะนองแค่ร้อยละ 40 ของพื้นที่ มีโอกาสเกิดฝนน้อย จึงไม่ส่งผลดีแม้ว่าจะเข้าสู่ฤดูฝนแล้วก็ตาม
เมื่อแยกเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง พบว่า อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว ที่หล่อเลี้ยงชาวโคราชถึง 5 อำเภอ ได้แก่ อ.สีคิ้ว สูงเนิน ขามทะเลสอ เมืองนครราชสีมา และ อ.เฉลิมพระเกียรติ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเก็บกักเหลืออยู่ที่ 97.70 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 31.07 % เท่านั้น ซึ่งอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย โดยเป็นน้ำใช้การได้เพียง 74.98 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 25.70 %
ส่วนอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย มีปริมาณน้ำเหลืออยู่ที่ 85.48 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 55.15 % เป็นน้ำใช้การได้ 84.76 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 54.94 % , อ่างเก็บน้ำมูลบน อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำเหลืออยู่ที่ 55.22 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 39.17 % เป็นน้ำใช้การได้ 48.22 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 35.99 % และอ่างเก็บน้ำลำแชะ อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำเหลืออยู่ที่ 100.20 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 36.44 % เป็นน้ำใช้การได้ 93.20 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 34.78 %
ประชาชนชาวจังหวัดนครราชสีมา โดยเฉพาะเกษตรกรที่กำลังเริ่มเพาะปลูกพืช ต่างรู้สึกกังวลใจว่า หากเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงยาวนาน ปริมาณน้ำเก็บกักจะลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง จนอาจประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค และไม่มีน้ำทำการเกษตรในฤดูกาลเพาะปลูกนี้