ที่มา "คลองดำเนินสะดวก"
วันนี้ในอดีต ย้อนไปเมื่อ 25 พ.ค. 2411 เป็นวันแรกที่มีการเปิดใช้ "คลองดำเนินสะดวก" หลังจากที่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงพระราชดำริ เมื่อปี 2409 เห็นว่าการคมนาคมที่ไปมาระหว่างกรุงเทพฯ - สมุทรสาคร โดยมีคลองภาษีเจริญเป็นเส้นทางคมนาคม ช่วยทำการสัญจรไปมาได้สะดวกดี ถ้ามีคลองระหว่างกรุงเทพฯ - สมุทรสงคราม และราชบุรี ก็จะสะดวกขึ้นอีกเป็นอันมาก การไปมาหาสู่โดยทางน้ำก็จะมีความสามารถและคล่องตัวมากยิ่งขึ้น
รู้หรือไม่ "คลองดำเนินสะดวก" ใช้แรงงานมนุษย์ล้วนๆ
รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้อำนวยการขุดคลอง และเป็นผู้ควบคุมดูแล เริ่มขุดในปี 2409 เริ่มจากแม่น้ำท่าจีนบริเวณปากคลองบางยาง อ. บ้านแพ้ว จ. สมุทรสาคร, อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ไปเชื่อมต่อกับแม่น้ำแม่กลอง ที่ ต.บางนกแขวก อ. บางคนที จ. สมุทรสงคราม
โดยใช้กำลังของทหาร ข้าราชการ ชาวบ้าน และชาวจีนร่วมกันขุด ใช้กำลังของคนล้วนๆ ไม่ใช้เครื่องจักรหรือเครื่องทุ่นแรง ใช้วิธีขุดระยะหนึ่งแล้วเว้นไว้ระยะหนึ่งให้น้ำเซาะดินที่ไม่ได้ขุดพังไปเอง ใช้เวลาในการขุดประมาณ 2 ปีเศษจึงเสร็จสิ้น โดยเป็นคลองซึ่งขุดได้ตรงและยาวที่สุดในประเทศ งบประมาณในการขุด 1,400 ชั่ง หรือประมาณ 112,000 บาท
ที่มาของคำว่า "ดำเนินสะดวก"
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่าเป็นคลองที่มีเส้นตรง ได้รับความสะดวกในการสัญจร จึงพระราชทานนามคลองที่ขุดใหม่นี้ว่า "คลองดำเนินสะดวก" โดยคลองมีความยาว 840 เส้น หรือประมาณ 32 กม. และได้ทำพิธีเปิดใช้คลองนี้เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2411
ทั้งนี้หลังจากที่เปิดใช้ "คลองดำเนินสะดวก" ไม่นานก็เต็มไปด้วยเรือนานาชนิดที่สัญจรไปมาไม่เว้นแม้แต่เวลากลางคืน
"คลองดำเนินสะดวก"เป็นเส้นทางหลักที่สำคัญที่สุดของชาวบ้าน ใช้ในการสัญจรและการค้าขาย มีคลองซอย มากกว่า 200 สาย, ลำคลองต่างๆแทบจะไม่เคยว่างเว้นจากเรือที่สัญจรไปมาอย่างไม่ขาดสาย กระทั่งระยะหลังมีการตัดถนนใหม่ๆ มากมาย ย่นระยะทางให้สั้นลงและเข้าถึงทุกที่ ชาวบ้านจึงหันมาใช้ถนนแทน
ปัจจุบันคลองแห่งนี้ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดราชบุรีคือ ตลาดน้ำดำเนินสะดวก