svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ลูกเต่าตนุ รังสุดท้ายของฤดูกาล ฟักตัวแล้ว เตรียมปล่อยกลับสู่ทะเล (มีคลิป)

22 พฤษภาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> NationTV
logoline

น้องฟักตัวแล้ว ลูกเต่าตนุ 85 ตัว รังสุดท้ายของฤดูกาล ที่หาดท้ายเหมือง จ.พังงา เจ้าหน้าที่ทำการอนุบาลทั้งหมดไว้ชั่วคราว เนื่องจากคลื่นลมมีกำลังแรง เตรียมปล่อยกลับสู่ท้องทะเลในภายหลัง พร้อมรู้จักบทบาทเต่าตนุ มีความสำคัญอย่างไรกับระบบนิเวศทางทะเล

22 พฤษภาคม 2567 นายปรารพ แปลงงาน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง เปิดเผยว่า อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง ได้ร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 2 จังหวัดภูเก็ต ติดตามการฟักของเต่าตนุ ที่พบร่องรอยการขึ้นวางไข่วันที่ 5 เมษายน 2567 ทางเจ้าหน้าที่ทำการย้ายไข่มาเพาะฟักหน้าที่ทำการอุทยานฯ และพบการยุบของหลุมวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 เนื่องจากมีฝนตกหนักต่อเนื่องทำให้ทรายแน่น 

ลูกเต่าตนุ รังสุดท้ายของฤดูกาล ฟักตัวแล้ว เตรียมปล่อยกลับสู่ทะเล (มีคลิป)
เจ้าหน้าที่จึงทำการขุดตรวจสอบหลุมเพาะฟัก พบลูกเต่ารอขึ้นจากหลุมจำนวน 85 ตัว รอฟัก 3 ฟอง (ฟักต่อใน ICU Box) ไข่ไม่ได้รับการผสม 5 ฟอง ตายโคม 2 ตัว หยุดพัฒนา 1 ฟอง (ไข่ในหลุมทั้งหมด 96 ฟอง) คิดเป็นอัตราการรอดจากหลุมเพาะฟัก 96.70% รวมระยะเวลาเพาะฟัก 46 วัน ทั้งนี้เนื่องจากคลื่นลมมีกำลังแรง จึงทำการอนุบาลลูกเต่าตนุทั้งหมดไว้ชั่วคราว เพื่อรอปล่อยในภายหลัง

ลูกเต่าตนุ รังสุดท้ายของฤดูกาล ฟักตัวแล้ว เตรียมปล่อยกลับสู่ทะเล (มีคลิป)

ทำความรู้จัก "เต่าตนุ"

เต่าตนุ
(Green turtle) หรือที่รู้จักกันในอีกชื่ออื่นๆ เช่น เต่าเขียว , เต่าแสงอาทิตย์ มีลักษณะจะงอยปากค่อนข้างทู่เมื่อเปรียบเทียบกับเต่ากระ มีรอยหยักขนาดเล็กอยู่บนริมฝีปากทั้งบนและล่าง เกล็ดบนส่วนหัวตอนหน้ามีจำนวน 1 คู่ มีเกล็ดกลางหลัง จำนวน 5 เกล็ด เกล็ดแถวข้าง คู่แรกสุดไม่ติดกับเกล็ดขอบคอ มีจำนวน 4 คู่ ลักษณะขอบของเกล็ดจะเชื่อมต่อกันไม่ซ้อนกัน กระดองสีน้ำตาลเหลือบขาวและดำ เมื่อโตเต็มที่จะมีความยาวประมาณ 120 ซม. น้ำหนัก 150 กก.

โดยเต่าตนุเพศเมียเต็มวัยวางไข่ทุก 2 ปี เริ่มวางไข่ได้ตั้งแต่ช่วงอายุ 14-25 ปี สามารถวางไข่ได้ตลอดทั้งปี แต่มีช่วงสูงสุดระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ส่วนเต่าตนุเพศผู้สามารถผสมพันธุ์กับเพศเมียได้หลายตัว และเต่าตนุเพศเมียสามารถผสมพันธุ์กับเพศผู้ได้หลายตัวเช่นกัน

อาหารของเต่าตนุ ก็ถือว่าน่าสนใจทีเดียว เพราะเต่าสายพันธุ์นี้วัยเด็กกินทั้งพืชและสัตว์น้ำเล็กๆ เป็นอาหาร แต่เมื่อเต่าตนุโตเต็มวัย จะกลายเป็นสัตว์ที่กินพืชเป็นหลัก ได้แก่ สาหร่ายทะเล และหญ้าทะเล

เต่าตนุมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศทางทะเล โดยการเล็มหญ้าทะเลและป้องกันไม่ให้พวกมันเติบโตมากเกินไปและทำให้สัตว์ทะเลอื่นหายใจไม่ออก (อ้างอิงจาก loveandaman)

ลูกเต่าตนุ รังสุดท้ายของฤดูกาล ฟักตัวแล้ว เตรียมปล่อยกลับสู่ทะเล (มีคลิป)
ถิ่นอาศัยและการแพร่กระจาย

เราสามารถพบ "เต่าตนุ" ได้ในเขตร้อนและกึ่งร้อน ตามแนวชายฝั่ง แหล่งหญ้าทะเลและเกาะ ในประเทศไทยพบการแพร่กระจายในธรรมชาติ ทั้งฝั่งทะเลอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน โดยแหล่งวางไข่ บริเวณฝั่งอ่าวไทย ได้แก่ เกาะคราม จ.ชลบุรี และเกาะกระ จ.นครศรีธรรมราช ส่วนฝั่งอันดามัน ได้แก่ เกาะสิมิลัน เกาะสุรินทร์ (เกาะตอริลลา เกาะสต็อก) เกาะระ เกาะพระทอง เกาะคอเขา จ.พังงา และหมู่เกาะอาดังราวี จ.สตูล

สถานภาพ "เต่าตนุ" จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พรบ. สงวนและคุ่มครองสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2535


ชมคลิปนาทีลูกเต่าตนุออกจากหลุมฟัก


ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก : 
Love Andaman
คลังความรู้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง

logoline