svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

กรมทรัพยากรธรณี เฉลยให้ ทำไม "คัลแลน-พี่จอง" ถึงขุดไม่เจอเพชร ที่จันทบุรี

กรมทรัพยากรธรณี ไขคำตอบ ทำไม "คัลแลน-พี่จอง" ถึงขุดไม่เจอเพชรที่จันทบุรี แล้วถ้าอยากเจอเพชรที่ไทย ต้องไปที่ไหน?

20 พฤษภาคม 2567 กรมทรัพยากรธรณี โพสต์เฟซบุ๊กตอบข้อสงสัย ทำไมพี่จองถึงขุดไม่เจอเพชรที่จันทบุรี ระบุว่า

กรมทรัพยากรธรธรณีดีใจมากที่คัลแลน พี่จอง และน้องแดน กลับไปเยือนจังหวัดจันทบุรีอีกครั้ง และไปตามจับหินสีสวยๆ ทริปนี้ เพราะจังหวัดจันทบุรีมีทรัพยากรธรณีหลายด้าน ทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรณีวิทยาบนบกและชายฝั่ง แหล่งอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับชั้นนําของประเทศ

คัลแลนตาถึงและทำถึงที่พาทุกคนมาที่แหล่งพลอยจันทบุรี นี่นับว่าเป็นพื้นที่กรณีศึกษาด้านธรณีวิทยาแหล่งแร่ในทวีปเอเชียที่และพัฒนาเป็นพื้นที่ต้นแบบที่ต่างประเทศต้องเข้ามาศึกษาดูงานด้านบริหารจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณีโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน

ประสบการณ์ขุดหาพลอยและร่อนแร่แบบดั้งเดิมนี้ทั้งสามคนเจอพลอยหลายชนิดทั้งโกเมน สตาร์แซปไฟร์ หรือพลอยสตาร์ และนิล แต่ไม่เจอเพชรที่พี่จองบอกว่าอยากขุดเจอ ทั้งที่เป็นรัตนชาติเหมือนกัน แต่ทำไมถึงขุดหาพลอยเจอแต่ไม่เจอเพชรที่จันทบุรีแล้วในประเทศไทยมีเพชรไหม? มาหาคำตอบกันที่โพสต์นี้

แหล่งจับหินสีสวยเกิดขึ้นได้อย่างไร

ที่มาของแหล่งรัตนชาติที่อุดมสมบูรณ์จนถึงขนาดที่ว่าคัลแลน พี่จอง น้องแดน สามารถขุดหาได้โดยง่ายนั้น มาจากลักษณะทางธรณีวิทยาบริเวณเขาพลอยแหวนในจังหวัดจันทบุรี ที่เป็นปล่องภูเขาไฟเก่า ในอดีตเมื่อภูเขาไฟระเบิดขึ้น หินหนืด (magma) ก็แทรกดันตัวผ่านรอยแตก หรือรอยแยกของหินที่เป็นต้นกำเนิด หรือพลอยแซปไฟร์ ก่อนจะเย็นตัวลงบนเปลือกโลกเป็นหินภูเขาไฟสีเทาดำหรือหินบะซอลต์

เวลาต่อมาหินบะซอลต์ที่มีพลอยตกผลึกอยู่เกิดกระบวนการผุพังอยู่กับที่และสะสมทับถมตัวเป็นชั้นหินบะซอลต์ผุ หรือชั้นดินบะซอลต์ แต่พลอยแชปไฟร์ และเพื่อนแร่ ที่มีความคงทนมากกว่าไม่ได้ผุพังไปด้วยจึงยังคงอยู่ในชั้นหินบะซอลต์ผุที่พี่จองไม่ต้องออกแรงเยอะหรือขุดลึกมากก็จับหินสีสวยๆ ได้แล้ว

ด้วยเอกลักษณ์ทางธรณีวิทยานี้ "หินบะซอลต์เขาพลอยแหวน" จึงเป็นเป็นทรัพยากรธรณีประจำจังหวัดจันทบุรีซึ่งเป็นแหล่งพลอยที่สำคัญและเป็นต้นกำเนิดพลอยแซปไฟร์หลากสีทั้งสีเหลือง สีเขียว สีน้ำเงิน รวมทั้งพลอยสตาร์

พลอยเลือกเจ้าของ ส่วนเพชรจะต้องเลือกที่ขุด

เพชรประกอบด้วย ธาตุคาร์บอน (C) มากถึง 99.95 % และยังถือกำเนิดขึ้นในปัจจัยและลักษณะทางธรณีวิทยาที่แตกต่างจากพลอย โดยแหล่งเพชรแบบปฐมภูมิเกิดอยู่ที่ลึกภายใต้โลกในหินหนืดที่มีธาตุคาร์บอนเป็นองค์ประกอบหลักในสภาวะแวดล้อมที่มีความดันและอุณหภูมิสูง โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเกิดเพชรคือประมาณ 900 – 1,300 องศาเซลเซียส และความดัน 45 - 60 กิโลบาร์ ซึ่งอยู่ที่ความลึกลงไปใต้ผิวโลกประมาณ 150 - 200 กิโลเมตร

เพชรมักเกิดรูปของผลึกในหินแปลกปลอม (Xenoliths) และถูกพาขึ้นมาสู่ผิวโลกบริเวณปล่องหินภูเขาไฟชนิดหินคิมเบอร์ไลต์ (Kimberlites pipe) และหินแลมโพรไอต์ (Lamproites pipe) ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในทวีปแอฟริกา นอกจากนี้ยังมีที่ จีน อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย อเมริกาใต้ รัสเซีย และแคนาดา

แล้วถ้าพี่จองอยากเจอเพชรที่ไทยจะเจอได้จากไหนบ้าง

แม้ในประเทศไทยจะไม่ยังพบแหล่งแร่ปฐมภูมิที่ให้กำเนิดผลึกเพชรให้ขุดเหมือนพลายชนิดอื่น แต่พี่จองยังมีโอกาสเจอเพชรในรูปแบบทุติยภูมิ เพราะเพชรทนทานต่อการสึกกร่อนมาก เมื่อหินที่มีผลึกเพชรเกิดร่วมด้วยผุพังลงในบริเวณนั้น และถูกพัดพาไปสะสมตามแม่น้ำลำธารตลอดจนบริเวณชายฝั่งทะเล กลายเป็นบริเวณที่ค้นหาผลึกเพชรได้

ในประเทศไทยมีประวัติการพบเพชรแบบทุติยภูมิที่ปะปนอยู่ในแหล่งลานแร่ดีบุก พบทั้งบนบกและในทะเลตามแนวชายฝั่งอันดามัน บริเวณจังหวัดภูเก็ตและพังงา แต่ต้นกำเนิดเดิมของเพชรยังไม่ทราบแน่ชัด ยังไม่พบหลักฐานใดที่จะบ่งชี้ว่าเพชรที่พบมีกำเนิดมาจากการผุพังของหินคิมเบอร์ไลต์ดังเช่นแหล่งเพชรอื่นของโลก

นอกจากเพชรจะมีแหล่งหินต้นกำเนิดและธาตุองค์ประกอบที่ต่างจากพลอยแล้ว เพชรยังเป็นแร่ธรรมชาติที่แข็งที่สุดถึงระดับ 10 มีคุณสมบัติในการหักเหของแสงและการกระจายแสงสูงมากกว่ารัตนชาติอื่น แม้ในปัจจุบันจะมีการสังเคราะห์เพชรพลอยเทียมที่มองผิวเผินคล้ายของธรรมชาติ แตถ้าไม่แน่ใจว่าอัญมณีที่มีอยู่เป็นเพชรพลอยชนิดไหน ของแท้หรือไม่ เพราะว่าไม่ได้ลงหลุมขุดเองล้างพลอยเองแบบคัลแลน พี่จอง น้องแดนแล้วละก็

กองวิเคราะห์และตรวจสอบทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรธรณี ให้บริการตรวจวิเคราะห์รัตนชาติ ธรณีวัตถุ โดยใช้วิธีวิเคราะห์สมบัติทางกายภาพโดยใช้อุปกรณ์พื้นฐานและเครื่องมือขั้นสูง ศึกษาสมบัติทางกายภาพโดยวิธีศิลาวรรณา และเครื่องมือพื้นฐานด้านอัญมณีศาสตร์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองวิเคราะห์และตรวจสอบทรัพยากรธรณี


ข้อมูลโดย : กองทรัพยากรแร่

อ้างอิงข้อมูล : รายงานวิชาการ ทธ. “มารู้จักเพชรกันเถอะ” (2538), รายงานวิชาการ ทธ. เพชร ลึกลับ เล่อค่า อมตะ (2555), แผนที่และข้อมูลแหล่งแร่ของไทย ชุดแร่รัตนชาติของประเทศไทย ฉบับที่ 1 แหล่งพลอยทับทิมและแซปไฟร์ในประเทศไทย (2543)

ภาพ : เป็นวันที่ใช้แรงเยอะ..แต่สุขใจเพราะเราอยู่ด้วยกัน l จันทบุรี Ep.2