กลายเป็นประเด็นที่คนไทยกลับมาให้ความสนใจ และจับตาอีกครั้ง กับกรณีสถานการณ์ความไม่สงบ จากการสู้รบที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมา ใกล้บริเวณชายแดนของไทย จนทำให้ขณะนี้เริ่มมีผู้หนีภัยความไม่สงบจากประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ยังพบว่า มีอาวุธจากการสู้รบ ลอยปลิวข้ามมาตกในฝั่งประเทศไทย สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชนชาวไทย
รวมถึงยังมีความกังวลในเรื่อง การรุกล้ำอธิปไตยของประเทศไทย โดยเฉพาะการรุกล้ำน่านฟ้า โดยเครื่องบินรบจากประเทศเพื่อนบ้าน ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้
จนนำมาสู่การตั้งคำถาม ถึงความพร้อมในการปกป้องอธิปไตยของประเทศไทย โดยเฉพาะการปกป้องน่านฟ้า ของกองทัพอากาศไทย ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา ดูจะเป็น "เชิงตั้งรับ" ไม่รวมเร็วทันใจตามที่ประชาชนคาดหวัง จึงมีการตั้งคำถามตัวโต ๆ ว่า "แต่ละวันกองทัพอากาศไทยทำอะไรบ้าง"
Nation STORY จึงจะพาทุกคนไปดูกันว่า แต่ละวันกองทัพอากาศไทย มีภารกิจใดบ้าง แล้วสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมาครั้งนี้ กองทัพอากาศไทยมีความพร้อมเพียงใด....
แต่ละวันกองทัพอากาศไทยมีภารกิจอะไรบ้าง
ข้อมูลจาก เพจเฟซบุ๊ก กองทัพอากาศไทย Royal Thai Air Force เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2023 ได้มีการให้ข้อมูลไว้ว่า
แต่ละวันที่ผ่านไป กองทัพอากาศทำอะไรกันบ้าง
หากจะยกตัวอย่างเพียงวันนี้วันเดียวกองทัพอากาศได้ปฏิบัติภารกิจทั้ง Combat และ Non-Combat ต่าง ๆ ตั้งแต่ก่อนพระอาทิตย์ขึ้นจนถึงค่ำคืน ดังนี้
- การเข้าเวรเตรียมพร้อมสำหรับภารกิจ (Quick Reaction Alert: QRA) ของ F-16 และ Gripen
- ภารกิจการบินลาดตระเวนรบตามแนวชายแดนด้านตะวันตกด้วย F-16
- ภารกิจการบินควบคุมไฟป่า บรรเทาปัญหาหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดย BT-67, DA-42 และ UAV
- ภารกิจการบินลาดตระเวนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ด้วย DA-42
- ปฏิบัติการฝนหลวงและยั้บยั้งลูกเห็บ โดย BT-67 และ Alpha Jet
- ภารกิจการรับพี่น้องชาวไทยจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศซูดานกลับประเทศไทย โดย Airbus A340-500 และส่งกลับภูมิลำเนาด้วย C-130H
นอกจากนี้เครื่องบินหลายแบบของกองทัพอากาศ เช่น Gripen, F-16, F-5, Alpha Jet และ UAV ก็ยังคงเข้าร่วมการฝึกสนับสนุนทางอากาศโดยใกล้ชิด (Close Air Support: CAS) รวมทั้งกองทัพอากาศยังจัด EC-725 เตรียมค้นหาและช่วยชีวิต และสนับสนุนศูนย์การแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) อีกด้วย
“กำลังในอากาศ เป็นโล่อันแท้จริงอย่างเดียว ที่จะป้องกันมิให้การสงครามมาถึงท่ามกลางประเทศของเราได้ ทั้งเป็นประโยชน์ใหญ่ยิ่งในการคมนาคมเวลาปกติ” จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ (พระบิดากองทัพอากาศ)
ความพร้อมของกองทัพอากาศไทยกับสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา
สำหรับสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมาครั้งนี้ ทางกองทัพอากาศไทย ออกมายืนยันความพร้อม โดยระบุว่า ศูนย์ยุทธการทางอากาศ ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพอากาศ ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ด้วยการเฝ้าตรวจทางอากาศตลอดเวลา 24 ชั่วโมง
พร้อมทั้งได้ประเมินสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา พร้อมสั่งการให้อากาศยาน วิ่งขึ้นสกัดกั้นทันที ถ้ามีแนวโน้มจะรุกล้ำอธิปไตย และเตรียมการส่ง UAV ในการปฏิบัติภารกิจร่วมกับ หน่วยเฉพาะกิจ ราชมนู กองกำลังนเรศวร เพื่อรักษาความปลอดภัยของประชาชนชาวไทย
โดยเพจเฟซบุ๊ก กองทัพอากาศไทย Royal Thai Air Force ได้มีการโพสต์ย้ำว่า
กองทัพอากาศส่ง 2 บ.ข.๑๙/ก (F-16 A/B) ขึ้นบินลาดตระเวนรบ เพื่อระวังป้องกันและตรวจความเคลื่อนไหวบริเวณแนวชายแดน และเตรียม บ.ข.๑๙/ก (F-16 A/B) อีก 2 ลำ พร้อมบินขึ้นสกัดกั้นหากตรวจพบการบินล้ำแดน เพื่อรักษาความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนชาวไทย
ขณะที่ทางเพจเฟซบุ๊ก thaiarmedforce.com ซึ่งเป็นเพจเกี่ยวกับเรื่องราวทางการทหาร ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 1.4 แสน คน ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า จากโพสในเพจของ @กองทัพอากาศไทย Royal Thai Air Force ในสถานการณ์ที่มีการสู้รบกันใน #เมียวดี และ #เมียนมา ซึ่งน่าจะทำให้เราเข้าใจปฏิบัติการและขีดความสามารถของกองทัพอากาศในปัจจุบันได้มากพอสมควรในสองประเด็นดังต่อไปนี้
-------------------
ฝูง 103 กับการลาดตระเวนฝั่งตะวันตก
ปัจจุบันกองบิน 1 โคราช เหลือฝูงบินเพียงฝูงเดียวคือ 103 เท่านั้น โดยยุบรวมเครื่องบินที่ยังใช้ได้จากฝูง 102 มา และปลดประจำการไปบางส่วน เหลือรวมกันประมาณ 23 ลำ
ขีดความสามารถ ทั้ง F-16 OCU และ ADF ไม่ได้ทำการปรับปรุงระบบอะไร มีแค่ทำโครงสร้าง Falcon up/STAR และ re-wiring ใหม่ แต่ยังมีขีดความสามารถเรื่อง Endurance ที่เป็นสมรรถนะของ F-16 แต่แรก แต่ระบบเรดาร์ กระเป้าชี้เป้า เอวิโอนิกส์ และระบบป้องกันตัว เป็นรองทั้ง F-5 ในฝูง 211 และ FA-50 block 10 ในฝูง 401 ทั้งสิ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ เพราะเครื่องบินมีอายุเหลือไม่มากแล้ว และใกล้จะปลดประจำการ
กองทัพอากาศระบุว่าได้ส่ง F-16 ฝูง 103 มาบินลาดตระเวนรบ แปลว่าเป็นการบินตามตาราง ไม่ใช่การบินจากการเตรียมพร้อมขึ้นสกัดกั้น ซึ่งในกรณีนั้นน่าจะยังคงใช้ F-16AM/BM ที่กองบิน 4 ตาคลี ต่อไป และถ้าแบบนี้น่าจะไม่ต้องทำการวางกำลังที่ตาคลี และกองทัพอากาศเคยทำแบบนี้มาแล้วก่อนหน้านี้
-------------------
กองทัพอากาศมีการเตรียมพร้อมบินสกัดกั้น 24 ชม. ทุกวันหรือไม่และควรจะต้องทำหรือไม่
ตามที่มีข้อมูลคือ แต่เดิมกองทัพอากาศไม่ได้จัดเครื่องบินในภารกิจ Quick Reaction Alert หรือ QRA แบบ 24 ชั่วโมงและ 7 วันต่อสัปดาห์ แต่จะมีเฉพาะกลางวัน ส่วนการบินลาดตระเวนติดอาวุธนั้น มีการบินกลางคืนอยู่บ้าง ซึ่งเป็นการบินตามแผน ดังภาพที่กองทัพอากาศลงไว้ ไม่นานนี้ทราบว่ากองทัพอากาศมีแนวคิดเรื่องการเตรียมเครื่องบินสำหรับภารกิจ QRA กลางคืนอยู่ แต่ปัจจุบันไม่รู้ว่าทำหรือยัง
แต่ขณะที่เพื่อนบ้านเราเอง มีขีดความสามารถรบกลางคืน และก็แสดงให้เห็นมาหลายปีแล้ว โดยเฉพาะเมียนมามีการโจมตีตอนกลางคืนด้วยเครื่องบินรบหลายแบบ กองทัพอากาศเองก็เห็นจากเรดาร์เฝ้าตรวจซึ่งทำงาน 24 ชั่วโมง ดังนั้นก็เป็นไปได้ว่าอาจเกิดการล้ำแดนตอนกลางคืนได้ ไม่ต่างจากกลางวัน
ประกอบกับในปัจจุบันโลกเรามีปัญหาภัยคุกคามด้านอื่นมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องเครื่องบินที่บินออกนอกเส้นทางหรือใช้ในการก่อการร้าย ตั้งแต่เหตุการณ์ 911 จนถึงเหตุการณ์ MH370 ซึ่งเหตุการณ์หลังนี้เกี่ยวข้องกับประเทศไทยโดยตรงเนื่องจาก MH370 บินย้อนกลับมาเหนือจังหวัดนราธิวาส แต่กองทัพอากาศไทย (ซึ่งจริง ๆ รวมถึงทุกกองทัพอากาศในแถบนี้) ไม่มีใครส่งเครื่องบินขึ้นไปดูเลย จน MH370 หายไปลึกลับและหาไม่เจอ
นำมาสู่ประเด็นว่า เราควรจัด QRA แบบ 24/7 หรือไม่ โดยจัดตั้งแต่ยามสงบ ไม่ต้องรอเมื่อมีเหตุหรือมีสถานการณ์แบบที่การสู้รบในเมียนมาแบบนี้ ซึ่งหมายถึงไม่ต้องรอให้ระดับ DEFCON สูงขึ้นแล้วจึงจัดให้มี QRA กลางคืน แต่เป็นการจัดเอาไว้ตลอดเวลาเลย โดยอาจจะจัดแค่ 1 ฝูงก็เพียงพอเพื่อประหยุดงบประมาณ ซึ่งอาจจะเป็นฝูง 403 หรือ 401 ที่กองบิน 4 ที่ใช้ F-16AM/BM และ FA-50 Block 10 ตามลำดับ
ขอบคุณภาพและข้อมูล : เพจเฟซบุ๊ก กองทัพอากาศไทย Royal Thai Air Force
เพจเฟซบุ๊ก thaiarmedforce.com
X แคน สาริกา @can_nw