วันที่ 13 เมษายนของทุกปี ถือว่าเป็นวันที่มีความสำคัญ กับคนไทยทุกคนเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะเป็น "วันมหาสงกรานต์" หรือ "วันขึ้นปีใหม่ไทย" แล้ว ยังเป็น "วันผู้สูงอายุแห่งชาติ" อีกด้วย
โดยความสำคัญของ "วันผู้สูงอายุแห่งชาติ" นั้น มีขึ้นเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้ผู้คน โดยเฉพาะบรรดาลูกหลาน หันมามองและเอาใจใส่ผู้สูงอายุภายในบ้าน ที่ถือเป็นบุคคลสำคัญคนใกล้ตัว
วันดังกล่าวนี้ มีขึ้นเช่นเดียวกับนานาชาติ ที่ให้ความสำคัญต่อผู้สูงอายุ ด้วยการกำหนดให้มี "วันผู้สูงอายุสากล" แต่ในประเทศไทย มีการกำหนดให้ "วันผู้สูงอายุแห่งชาติ" ตรงกับวันสงกรานต์ ด้วยวัตถุประสงค์หลายประการ
Nation STORY ขอพาไปดูถึงความเป็นมา และความสำคัญของ "วันผู้สูงอายุแห่งชาติ" ว่า วันดังกล่าวนี้ มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตคนไทยอย่างไรบ้าง....
สำหรับความเป็นมาของ "วันผู้สูงอายุแห่งชาติ" เริ่มตั้งแต่ในอดีตสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ได้มี นโยบายดูแล ส่งเสริมให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี มีคุณภาพ และดำรงชีวิตในสังคมได้ จึงจัดตั้ง "สถานสงเคราะห์คนชราขึ้น" ให้การสงเคราะห์ผู้สูงอายุ ที่เดือดร้อน ประสบปัญหา ให้ได้มีที่พักพิง จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการดูแลผู้สูงอายุ โดยกรมประชาสงเคราะห์เป็นหน่วยงานที่ดูแล และได้จัดตั้ง "สถานสงเคราะห์คนชราบางแค" เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2496
ต่อมาปี 2525 องค์การสหประชาชาติ จัดประชุมสมัชชาโลกเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ที่ออสเตรเลีย และได้ให้ความหมายของคำว่า "ผู้สูงอายุ" ไว้ว่าคือ บุคคลเพศชาย หรือ เพศหญิง ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และพิจารณาประเด็นสำคัญเกี่ยวกับผู้สูงอายุไว้ 3 ประการ คือ ด้านมนุษยธรรม, ด้านการพัฒนา และด้านการศึกษา
ในปีเดียวกัน องค์การอนามัยโลก ยังได้กำหนด คำขวัญส่งเสริมผู้สูงอายุไว้ว่า "Add Life to Years" เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ช่วยกันส่งเสริมสุขภาพ ผู้สูงอายุ และคณะกรรมการอำนวยการวันอนามัยโลก ของกระทรวงสาธารณสุข ได้มีมติให้ใช้ คำขวัญเป็นภาษาไทยว่า "ให้ความรัก พิทักษ์อนามัย ผู้สูงวัยอายุยืน"
จากนั้น ในวันที่ 14 ธันวาคม 2525 รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้อนุมัติให้วันที่ 13 เมษายนของทุกปี เป็น "วันผู้สูงอายุแห่งชาติ"
ดอกไม้สัญลักษณ์ "วันผู้สูงอายุ"
นอกจากการกำหนดให้วันที่ 13 เมษายนของทุกปี เป็น "วันผู้สูงอายุแห่งชาติ" แล้ว รัฐบาลสมัย พล.อ.เปรม ยังได้เลือก "ดอกลำดวน" เป็นดอกไม้ประจำวันผู้สูงอายุแห่งชาติด้วย เนื่องจาก เป็นพืชยืนต้นที่มีอยู่มาก ในสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นต้นไม้ที่ให้ความร่มเย็น ลำต้นมีอายุยืน มีใบเขียวตลอดปี ให้ร่มเงาดี และดอกมีสีนวล กลิ่นหอม กลีบแข็งไม่ร่วงง่าย เปรียบเสมือน "ผู้ทรงวัยวุฒิ" ที่คงคุณธรรมความดีงามไว้ให้เป็นแบบอย่างแก่ลูกหลานตลอดไป
นอกจากนี้ ในทางด้านพฤกษศาสตร์ ต้นลำดวน ยังใช้เป็นยาบำรุงหัวใจได้อีกด้วย ประการสำคัญ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงดำริให้จัดสวนนี้ขึ้น เพื่อให้เป็นตัวอย่างที่ดีของผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุกับความสัมพันธ์ต่อสังคมไทยในปัจจุบัน
สำหรับคำว่า "ผู้สูงอายุนั้น" หมายถึงผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป โดยผู้ที่อยู่ในวัยนี้ จะมีการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน ทั้งทางร่างกายและจิตใจ เช่น ความจำไม่ดี หลงลืมง่าย อารมณ์อ่อนไหว และที่สำคัญคือ ร่างกาย ที่เริ่มอ่อนแอลง การเคลื่อนไหวร่างกายทำได้ช้าลง เจ็บป่วยได้ง่าย
โดยสถิติจากกรมสุขภาพจิตพบว่า คนอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป จะเผชิญกับสถานการณ์ความเหงาเฉียบพลันได้ 1 ใน 10 ซึ่งสาเหตุหลักของความเหงาในผู้สูงอายุ มักมาจากการเสียชีวิตของคนในครอบครัว รองลงมาคือ ขาดการติดต่อจากคนใกล้ชิด หากขาดการดูแลอาจกลายเป็นความเหงาเรื้อรัง เป็นจุดเริ่มต้นของโรคซึมเศร้า ส่งผลให้เกิดโรคทางกายหลายโรค เช่น ความดันโลหิตสูง ภูมิต้านทานต่ำ การนอนผิดปกติ อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
โดยปี 2566 ที่ผ่านมา ไทยมีประชากรผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ หรือประมาณ 13 ล้านคน ของประชากรไทยทั้งประเทศ 66,057,967 คน หรือกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ และในปี 2567 นี้ ถือเป็นปีที่ประเทศไทย ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ เพราะในจำนวนผู้สูงอายุกว่า 13 ล้านคนนี้ กลุ่มที่มากที่สุด คือ กลุ่มอายุ 60-69 ปี หากสำรวจข้อมูลที่ลึกลงไปอีก ยังพบว่ากลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 100 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นด้วย (ข้อมูล : กรมการปกครอง)
ดังนั้นการที่ประเทศไทย ได้กำหนดให้ "วันผู้สูงอายุแห่งชาติ" ผูกรวมไว้กับวันวันสงกรานต์ ตรงกับวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี ก็นับเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ผู้คนนอกจากจะทำบุญตักบาตรในช่วงเช้าตามวิถีชาวพุทธ รวมถึงเล่นน้ำสงกรานต์เพื่อคลายร้อนแล้ว กิจกรรมสำคัญอันดับต้น ๆ ของวัน คือการรดน้ำดำหัวขอพรจากผู้หลักผู้ใหญ่ที่นับถือ หรือการกลับไปหาผู้สูงอายุ ที่อยู่ที่ในครอบครัวของตนเอง
ดังนั้น ในวันที่ 13 เมษายน นี้ นอกจากการเดินทางไปเล่นน้ำสงกรานต์แล้ว อยากให้คนไทยทุกคนอย่าลืมมาร่วมกันให้ความสำคัญกับ "ผู้สูงอายุ" ผู้ที่เคยสร้างประโยชน์ให้แก่ชาติบ้านเมืองมาแล้วนับไม่ถ้วน หรืออย่างน้อย ๆ ก็เป็นหนึ่งในผู้มีพระคุณของครอบครัว เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวที ตามประเพณีไทยที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน
ขอบคุณข้อมูล : กรมสุขภาพจิต
www.kapook.com
https://www.thaipbs.or.th/news/content/338862