svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เปิดไทม์ไลน์ ย้าย "กากแคดเมียม" กลับ จ.ตาก นักวิชาการจี้เปิดข้อมูลผลกระทบ

12 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เปิดไทม์ไลน์ส่ง "กากแคดเมียม" กลับไปฝังจ.ตาก “พิมพ์ภัทรา” สั่งอุตสาหกรรมจังหวัด เร่งบริษัทฯทำแผนขนย้าย พร้อมตรวจสอบบ่อฝังกลบให้ปลอดภัย ขณะนักวิชาการสิ่งแวดล้อม ธรรมศาสตร์ เรียกร้องประเมินผลกระทบแบบตรงไปตรงมา

เปิดไทม์ไลน์ ย้าย "กากแคดเมียม" กลับ จ.ตาก นักวิชาการจี้เปิดข้อมูลผลกระทบ
12 เมษายน 2567 จากกรณีพบ "กากแคดเมียม" ถูกขนส่งจากบ่อฝังกลบที่จ.ตาก มาที่ จ.สมุทรสาคร จำนวน 13,000 กว่าตัน จนกลายเป็นประเด็นร้อน มีการขยายผลตรวจค้นโกดังใน 3 จังหวัด ทั้งสมุทรสาคร ชลบุรี และกรุงเทพ พบการซุกซ่อนกากแคดเมียมจำนวนมาก ซึ่งเบื้องต้นยังคงหายไปประมาณ 1,380 ตัน ตามข่าวที่เสนอไปก่อนหน้านี้

ก.อุตสาหกรรม สั่งส่งกลับไปฝังกลบจ.ตาก
ล่าสุด นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดการตะกอนแคดเมียมของกระทรวงอุตสาหกรรม ว่า ตามที่ตนได้สั่งการให้ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตาก เร่งให้มีการทำแผนขนย้ายกากแคดเมียมไปยังบ่อฝังกลบที่ จ.ตาก นั้น เมื่อวันที่ 10 เมษายน อุตสาหกรรมจังหวัดตากแจ้งว่า ได้มีหนังสือถึง บมจ.เบาว์แอนด์บียอนด์ แจ้งเพิกถอนการอนุญาตขนกากตะกอนแคดเมียม และให้ดำเนินการขนกากแคดเมียมที่กระจายอยู่ในที่ต่าง ๆ กลับไปฝังกลบยังต้นทางที่จังหวัดตาก โดยต้องทำแผนการขนย้ายมาให้พิจารณาภายใน 3 วัน และทำการขนย้ายกาก พร้อมปิดหลุมฝังกลบให้เสร็จภายใน 15 พฤษภาคม 

ดังนั้นสิ่งที่ต้องเร่งในช่วง 1-2 วันนี้ คือ กระทรวงอุตสาหกรรม จะจัดทำขั้นตอน (Flow Diagram) การเคลื่อนย้ายกากแคดเมียม พร้อมมาตรการความปลอดภัย ตั้งแต่การนำออกจากสถานที่ยึดอายัดต้นทาง การขึ้นรถบรรทุก การขนส่งระหว่างทาง การนำกากเข้าพื้นที่เพื่อฝังกลบ และการปิดบ่อฝังกลบ
บ่อฝังกลบที่จ.ตาก

“กระทรวงอุตสาหกรรม จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในการสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนว่า การเคลื่อนย้ายกากแคดเมียมดังกล่าวไปที่จังหวัดตาก จะดำเนินการด้วยความถูกต้อง ปลอดภัย และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกัน กระทรวง ฯ และ บก.ปทส. ยังไม่หยุดตรวจสอบ ค้นหากากแคดเมียมที่เหลืออย่างต่อเนื่อง เพื่อนำกลับไปยังต้นทางทั้งหมด” รมว.อุตสาหกรรม กล่าว 

พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวอีกว่า ได้รับทราบจาก บมจ.เบาด์แอนด์บียอนด์ จ.ตาก ว่า ได้มีการหารือการขนย้ายกากแคดเมียมกับ บจก.เจแอนด์บี เมททอล จ.สมุทรสาคร แล้ว โดยทางเจแอนด์บี ยอมให้ทำการขนย้ายกองกากแคดเมียมจากสมุทรสาครกลับไปกลบฝังที่ตาก และทางเบาว์แอนด์บียอนด์ จะทำแผนมาให้กระทรวงพิจารณาภายในวันที่ 13 เมษายน โดยเจ้าหน้าที่ สอจ.ตาก จะรอรับแผนการขนย้ายในวันดังกล่าว 

นอกจากนี้ คณะกรรมการอำนวยการขนย้ายกากแคดเมียมและกากสังกะสี ได้ช่วยร่างหนังสือให้ สอจ.สมุทรสาคร และชลบุรี ออกคำสั่งเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.โรงงาน และ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย แก่ บจก.เจแอนด์บี เมททอล บจก.ซินหงส์เฉิง เจ้าของโกดังตำบลคลองกิ่ว และที่คลองมะเดื่อ ตลอดจนออกแบบแนวทาง และระบบติดตามตรวจสอบการขนย้ายกากตะกอนแคดเมียมจากต้นทางทั้งหมดกลับมาฝังกลบที่จังหวัดตาก  

ทั้งนี้ ในวันที่ 17 เมษายน เวลา 10.00 น. กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบโครงสร้างทางวิศวกรรมของบ่อฝังกลบของ บมจ.เบาด์แอนด์บียอนด์ ที่จังหวัดตาก ว่ามีความมั่นคง แข็งแรง มีขนาดปริมาตรที่เหมาะสมในการรองรับกากแคดเมียมทั้งหมดหรือไม่ รวมถึงระบบปั๊มน้ำ และระบบบำบัดน้ำเสีย ว่าอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้หรือไม่
เปิดไทม์ไลน์ ย้าย "กากแคดเมียม" กลับ จ.ตาก นักวิชาการจี้เปิดข้อมูลผลกระทบ

อาจารย์ มธ. จี้ประเมินความเสี่ยง "กากแคดเมียม" ตรงไปตรงมา
ดร.ณัฐฐา แสงนรินทร์ เหมจินดา อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า สิ่งที่หน่วยงานภาครัฐต้องเร่งดำเนินการในขณะนี้คือต้องตรวจสอบสภาพแวดล้อมในละแวกที่พบกากแคดเมียม เพื่อประเมินความเสี่ยงว่ากากแคดเมียมนั้นได้ปนเปื้อนในสภาพแวดล้อมใกล้เคียงมากน้อยเพียงใด เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญต่อประชาชนให้ระมัดระวังผลกระทบต่อสุขภาพ  

สำหรับแนวทางการวิเคราะห์ความเสี่ยง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบ ควรดำเนินทั้ง 3 ขั้นตอนคือ 

  1. ประเมินความเสี่ยงของแคดเมียม และโลหะหนักชนิดอื่นที่ตรวจพบต่อสุขภาพ เพื่อให้ทราบว่าความเข้มข้นการปนเปื้อนในสภาพแวดล้อมในปริมาณที่ตรวจพบส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไร หากประชาชนรับสารเข้าไปในร่างกาย ซึ่งแคดเมียมสามารถเป็นพิษแบบเฉียบพลันหากได้รับในปริมาณสูง แต่ถ้ารับสารความเข้มข้นต่ำๆ อาจแสดงความเป็นพิษแบบเรื้อรัง หรือทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ 
  2. การสื่อสารความเสี่ยง เมื่อพบความเสี่ยงของการปนเปื้อนแล้วต้องแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดการร่วมกันในหน่วยงานรัฐ และแจ้งต่อประชาชนในทันที พร้อมคำแนะนำในการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ
  3. การจัดการความเสี่ยง โดยการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนแคดเมียมด้วยวิธีการที่ถูกต้อง การใช้กลไกทางกฎหมายเพื่อให้ผู้ที่ส่วนเกี่ยวข้องรับผิดชอบ 

เปิดไทม์ไลน์ ย้าย "กากแคดเมียม" กลับ จ.ตาก นักวิชาการจี้เปิดข้อมูลผลกระทบ
ประเมินความเสี่ยงเส้นทางบรรทุก
ดร.ณัฐฐา กล่าวว่า ในเบื้องต้นภาครัฐควรประเมินความเสี่ยงสภาพแวดล้อม โดยตรวจสอบสภาพอากาศตั้งแต่จุดที่ขนย้ายกากแคดเมียมตามเส้นทางที่มีการบรรทุกจากต่างจังหวัดเข้ามายังกรุงเทพฯ รวมไปถึงบริเวณภายในโกดังของโรงงานที่จัดเก็บกากแคดเมียม

หากพบว่ามีการปนเปื้อนภายในก็ต้องขยายวงรัศมีการตรวจสอบออกไปในพื้นที่โดยรอบ ทั้งแหล่งดินเพาะปลูก แหล่งน้ำ และสภาพอากาศโดยรอบด้วยเช่นกัน ซึ่งหากตรวจสอบและประเมินความเสี่ยงแล้วพบว่าไม่มีผลกระทบ หรือมีผลกระทบก็ตาม ต้องรีบแจ้งต่อประชาชนให้ทราบถึงสถานการณ์เป็นระยะๆ  

“เป็นหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐที่ต้องเข้าไปตรวจสอบในพื้นที่โดยรอบของโกดังที่จัดเก็บ ทั้งแหล่งน้ำ พื้นที่เพาะปลูก และในอากาศ ซึ่งต้องเริ่มต้นจากโกดังที่จัดเก็บก่อน หากพบว่ามีการปนเปื้อน ก็ต้องขยายวงรัศมีการตรวจสอบออกไปจนกว่าจะไปพบว่าพื้นที่ใดบ้างที่ไม่มีการปนเปื้อนแล้ว และจากนั้นก็ต้องมีแนวทางการจัดการกากแคดเมียมที่ค้นพบอย่างถูกต้องต่อไป เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อประชาชนได้อีก” ดร.ณัฐฐา กล่าวย้ำ 

ดร.ณัฐฐา แสงนรินทร์ เหมจินดา
ดร.ณัฐฐา กล่าวอีกว่า ในส่วนประชาชนที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงโกดังที่จัดเก็บกากแคดเมียม อย่าเพิ่งตื่นตระหนก แต่ให้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด เบื้องต้นจะต้องใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการสูดดมสารแคดเมียมที่อาจกระจายตัวอยู่ในอากาศ รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงที่เป็นรอยต่อของกรุงเทพฯ อย่าง จ.นนทุบรี ก็ต้องเฝ้าระวังด้วยเช่นกัน แม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีความแน่ชัดว่ามีการปนเปื้อนหรือกระจายไปก็ตาม 

สารแคดเมียมมีความอันตรายและเป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งเข้าสู่ร่างกายได้ทางการสูดดมในอากาศ การสัมผัสทางผิวหนัง และการรับประทานพืชผักผลไม้ที่ปนเปื้อนจากการเพาะปลูก ดังนั้น ประชาชนอาจต้องตระหนักรู้ และเมื่อได้รับข่าวสารเกี่ยวกับสารเคมี หรือสารพิษ ก็ต้องคอยรับฟังข้อมูลจากภาครัฐ และกรองข่าวสารนั้นเพื่อความถูกต้อง พร้อมกับหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อให้รู้ตัวว่าต้องระวังขนาดไหน

"แต่สิ่งสำคัญคือภาครัฐต้องสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาต่อไปประชาชน" ดร.ณัฐฐา กล่าว

เปิดไทม์ไลน์ ย้าย "กากแคดเมียม" กลับ จ.ตาก นักวิชาการจี้เปิดข้อมูลผลกระทบ
  สรุปจำนวน "กากแคดเมียม" ที่หายไป  
กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยข้อมูลรายงานสรุปกรณี "แคดเมียม" เมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา พบว่า ถูกนำออกมาจากจ.ตาก ประมาณ 13,800 ตัน จนถึงปัจจุบันมี "กากแคดเมียม" ที่ถูกพบในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร ชลบุรี และกรุงเทพมหานคร รวม 12,421.11 ตัน ประกอบด้วย

  • บริษัท J&B (โรงงานประเภท 106/60) สมุทรสาคร ตรวจพบ 6,151 ตัน
  • บริษัท J&B (โรงงานประเภท 60) สมุทรสาคร ตรวจพบ 227 ตัน
  • โกดังตำบลคลองกิ่ว ชลบุรี ตรวจพบ 4,391.11 ตัน
  • บริษัท ซินหงส์เฉิง สมุทรสาคร ตรวจพบ 1,034 ตัน
  • โกดังคลองมะเดื่อ สมุทรสาคร ตรวจพบ 468 ตัน
  • บริษัท ล้อโลหะไทยฯ แถวบางซื่อ กรุงเทพ ตรวจพบ 150 ตัน

ดังนั้นจึงเหลือ "กากแคดเมียม" ที่ต้องตามหาอีกประมาณ 1,380 ตัน
เปิดไทม์ไลน์ ย้าย "กากแคดเมียม" กลับ จ.ตาก นักวิชาการจี้เปิดข้อมูลผลกระทบ

logoline