svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

รู้จัก "บ่าง" มีอะไรเป็นเอกลักษณ์ กับที่มาของสำนวน "บ่างช่างยุ"

07 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

พารู้จัก "บ่าง" สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ร่อนได้ เจ้าของเสียงร้องคล้ายคนร้องไห้ พร้อมเปิดความเป็นมาของสำนวน "บ่างช่างยุ"

"บ่าง" สัตว์หน้าตาคล้ายกระแต รูปร่างหยั่งกะกระรอกบินขนาดใหญ่ ซึ่งภาษาใต้จะเรียกบ่างว่า "พุงจง" หรือ "พะจง" ส่วนคนตะวันตกมองว่า หน้าตาเหมือนตัว "ลีเมอร์" ในมาดาร์กัสกา จึงเรียกว่า "flying lemur" 

ข้อมูลทั่วไปของบ่าง อ้างอิงข้อมูลจากเพจเฟซบุ๊ก ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และเพจ Princess Maha Chakri Sirindhorn Natural History Museum อธิบายไว้ดังนี้ 

รู้จัก "บ่าง" มีอะไรเป็นเอกลักษณ์ กับที่มาของสำนวน "บ่างช่างยุ"
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Galeopterus variegatus
ชื่อสามัญ : Colugo, Flying lemur
วงศ์ : Cynocephalidae 
ลักษณะทั่วไป : ความยาวหัวและลำตัว 34-42 ซม. หาง 22-27 ซม. น้ำหนัก 1-1.8 กิโลกรัม 
ลักษณะทางกายภาพ : ผิวหนัง ย่น ตาใหญ่สีแดงและสะท้อนแสงไฟ ใบหูเล็ก 
ขน : สีขนมีทั้งสีน้ำตาล สีน้ำตาลแดง หรือสีเทา ขึ้นอยู่กับพื้นที่ป่าและสภาพแวดล้อมที่อาศัยอยู่ ตัวเมียสีซีดกว่าตัวผู้เล็กน้อย 

เอกลักษณ์ของบ่าง

นอกจากลักษณะทั่วไปที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว บ่างยังมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นั่นก็คือ มีหนังบางๆ หรือพังผืดเชื่อมติดต่อกันทั่วตัว โดยเชื่อมระหว่างขาหน้าและขาหลัง ขาหลังกับหาง ระหว่างขาหน้ากับคอ และระหว่างนิ้วทุกนิ้ว มีนิ้ว 5 นิ้ว ไม่มีนิ้วหัวแม่มือ มีเล็บแหลมคม เพื่ออาไว้ใช้ในการไต่ และเกาะเกี่ยวต้นไม้ อยู่ในอันดับ "Dermoptera" ที่แปลว่า ปีกหนัง สัตว์
รู้จัก "บ่าง" มีอะไรเป็นเอกลักษณ์ กับที่มาของสำนวน "บ่างช่างยุ"
บ่าง เป็นสัตว์ที่ตั้งท้องนานประมาณ 60 วัน ออกลูกคราวละตัว บางครั้งอาจมี 2 ตัว ถ้าอยู่ในพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ แม่บ่างอาจออกลูกมากกว่า 1 ครั้งต่อปี 

โดยลูกบ่างแรกเกิด มักมีการพัฒนาไม่มากนัก หากดูเผินๆ คล้ายสัตว์ที่มีกระเป๋าหน้าท้อง แม่บ่างจะเลี้ยงลูกไว้โดยให้เกาะที่ท้อง เวลาเขาเกาะอยู่กับต้นไม้ผังผืดระหว่างขา จะทำหน้าที่เหมือนเปลเลี้ยงลูกเป็นอย่างดี แม้ช่วงมีลูกอ่อน แม่บ่างก็จะร่อนหาอาหารได้เหมือนกัน ลูกบ่างจึงต้องยึดเกาะขนที่หน้าท้องของแม่ไว้แน่น เพื่อไม่ให้ตกลงมา

อีกอย่างที่เป็นเอกลักษณ์ของบ่าง คือ เขาเป็นสัตว์ที่มีเสียงร้องคล้ายกับ "คนร้องไห้" ด้วยเหตุนี้เลยทำให้คนโบราณมองว่าบ่างน่ากลัว และพิลึก ในอดีตหากผู้ใดเจอ หรือได้ยินเสียงบ่างร้อง เลยมักคิดว่าเป็น "ผีป่า"  

รู้จัก "บ่าง" มีอะไรเป็นเอกลักษณ์ กับที่มาของสำนวน "บ่างช่างยุ"
ที่อาศัยและพฤติกรรม


ส่วนแหล่งที่อยู่ บ่าง จะอาศัยและหากินบนต้นไม้ พบได้ในป่าทุกประเภท หรือแม้แต่ป่าเสื่อมโทรม รวมถึง ตามสวนผลไม้ในพื้นที่เกษตรกรรม 

สัตว์ชนิดนี้ออกหากินในเวลากลางคืนตามเรือนยอดไม้ เมื่อใดที่ต้องการย้ายจากต้นที่หากินอยู่ไปยังอีกต้น เขาจะใช้วิธีการร่อนจากเรือนยอดไปยังลำต้นอีกต้นหนึ่ง ก่อนจะค่อยๆไต่ขึ้นไปบนเรือนยอดของต้นไม้นั้นอีกที วิธีนี้เองที่บ่างใช้ในการเดินทางไปเรื่อยๆในผืนป่า

อย่างไรก็ดี ข้อจำกัดของบ่างคือ การเดินทางที่เป็นไปได้ช้าในแต่ละคืน เขาจึงเลือกอยู่ในพื้นที่ที่มีต้นพืชอาหารอยู่ใกล้ๆ เราจึงพบบ่างได้บ่อยในพื้นที่ที่เป็น "ป่าใหญ่" ซึ่งมีอาหารเหลือเฟือ และต้นไม้อยู่ไม่ห่างกัน มากกว่าหย่อมป่าที่เรือนยอดไม่เชื่อมต่อกันนั่นเอง

แล้วตอนกลางวัน บ่างทำอะไรล่ะ? แน่นอนกลางคืนออกหากิน กลางวันเขาย่อมต้องการพักผ่อน ช่วงกลางวัน บ่างเลยเกาะนอนตามลำต้นของไม้ใหญ่ แต่ก็ไม่ใช่นอนไม่เลือกที่นะ เขาจะเลือกลำต้นที่คล้ายกับสีขน เพื่อพรางตัวให้เจอยาก แถมยังปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี แม้ว่าจะเป็นสัตว์ที่มีศัตรูตามธรรมชาติไม่มากนัก ดังนั้น สถานภาพของบ่างเลยไม่น่าเป็นห่วง 

ทั้งนี้ เราสามารถพบบ่างได้ในตอนเหนือของลาว กัมพูชา เวียดนาม คาบสมุทรมลายู เกาะบอร์เนียว สุมาตรา บาหลี ชวา สำหรับในประเทศไทย พบได้ในบางพื้นที่ของภาคตะวันออก ประชากรบ่างส่วนใหญ่พบในภาคตะวันตกตั้งแต่กาญจนบุรีลงมาจนถึงตอนใต้สุดของแหลมมลายู

บทบาทในระบบนิเวศ

ด้วยความที่บ่างหากินบนต้นไม้ จึงมีการคาดการณ์ว่า ปกติเขากินพืชเป็นอาหารหลัก เช่น ใบอ่อน ยอดอ่อน รวมถึง ดอกไม้ บางครั้งก็อาจกินแมลงที่อยู่บนต้นไม้เสริมด้วย 

นอกจากนี้ ในสวนผลไม้ที่พบบ่างได้บ่อย เช่น สวนมะพร้าว สวนทุเรียน ซึ่งเป็นพืชที่มีดอกขนาดใหญ่ การมีบ่างเข้าไปช่วยผสมเกสร นั่นยิ่งทำให้พวกพืชมีโอกาสติดผลมากขึ้น

จากพฤติกรรมกินพืชเป็นหลักนี่เอง เลยอาจจะพออนุมานได้ว่า บทบาทหน้าที่ในระบบนิเวศของบ่าง  คือ ผสมเกสรดอกไม้ขนาดใหญ่ที่บานในเวลากลางคืน ซึ่งถือเป็นการเติมเต็มงานของแมลงและค้างคาวที่ช่วยกันทำอยู่ 
รู้จัก "บ่าง" มีอะไรเป็นเอกลักษณ์ กับที่มาของสำนวน "บ่างช่างยุ" สำนวน "บ่างช่างยุ"

ไม่รู้มีใครเคยได้ยินสำนวน "บ่างช่างยุ" กันบ้างไหม หากเคยได้ยิน แล้วคุณรู้หรือไม่ ที่มาของสำนวนนี้เกี่ยวอะไรกับสัตว์ที่ร่อนได้อย่างบ่าง 

ก่อนอื่นเราดูความหมายของสำนวนนี้กัน โดยในเว็บไซต์ ศิลปวัฒนธรรม ได้อธิบายสำนวน "บ่างช่างยุ" ไว้อย่างน่าสนใจ ว่า เป็นสำนวนไทยที่เกิดจากคำ 3 คำ ประกอบด้วย  "บ่าง" (สัตว์ป่า) + "ช่าง" (นิยม ,ชอบ) + ยุ (ทำให้แตกแยก , ยุแยง) ซึ่งตามพจนานุกรม ฉบับราชยัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้ให้ความหมายสำนวนนี้ว่า "(สำ) น. คนที่ชอบพูดส่อเสียดยุยงให้เขาแตกกัน" 

ส่วนที่มานั้น ว่ากันว่ามาจากนิทานสุภาษิตเรื่องหนึ่ง เล่าถึง "บ่าง" ซึ่งอยู่ในป่าและมี "ค้างคาว" เป็นเพื่อน เขาทั้งสองกินผลไม้เช่นเดียวกัน แต่บ่างเกิดความริษยา เพราะไม่มีปีกแบบค้างคาว ทำให้หากินได้ช้ากว่า จึงมีความคิดที่จะทำให้ค้างคาวออกไปจากป่านั้น

แผนการของบ่าง คือ การทำให้ค้างคาว ซึ่งเป็นเพื่อนกับ "นก" และ "หนู" เพราะค้างค้าวบินได้แบบนก หน้าตาคล้ายหนู ทั้งสามเลยเป็นมิตรกัน และนกกับหนูต่างก็แชร์ที่อยู่ร่วมกันตามต้นไม้ แถมค้างคาวยังไปมาหาสู่เพื่อนตัวเล็กเสมอ ส่วนบ่างทำได้แต่ดูอยู่ห่างๆ 

บ่างจึงไปหานกกับหนู โดยบอกว่า ค้างคาว เป็นสัตว์ร้าย จะนำโรคภัยมาให้ทั้งคู่ได้ เนื่องจากขี้ค้างค้าวมีกลิ่นแรง พอนกกับหนูได้ยินแบบนั้นก็เกิดความหวาดกลัวค้างคาวขึ้นมา เลยตัดสินใจขับไล่ค้างคาวไม่ให้มาข้องแวะกันอีก ค้างคาวเลยต้องระเห็จระเหินไปอยู่ที่อื่น

นี่เองเลยเป็นที่มาของสำนวน "บ่างช่างยุ" ซึ่งถูกนำมาเปรียบเทียบกับคนที่มักพูดจายุแยงให้ผู้อื่นทะเลาะกัน เรียกได้ว่าเป็นการส่งเสริมความร้าวฉานในหมู่คณะ
รู้จัก "บ่าง" มีอะไรเป็นเอกลักษณ์ กับที่มาของสำนวน "บ่างช่างยุ"
เรื่องเล่าที่ว่ามา ก็เป็นเพียงนิทานเรื่องหนึ่ง เรื่องจริงแน่นอนว่า "บ่าง" ไม่ได้มีพฤติกรรมอะไรแบบนั้น เขาเป็นเพียงสัตว์ป่าที่ต้องการดำรงชีวิต เพื่อให้อยู่รอด เฉกเช่นเดียวกับสัตว์ชนิดอื่นๆก็เท่านั้น

สัตว์ทุกชนิดและทุกตัว ที่มีหน้าที่ของเขาเอง เพื่อให้ระบบนิเวศทำงานของมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วงอากาศร้อนแบบนี้ หากใครอยู่ในพื้นที่ที่อาจได้พบสัตว์ ไม่ว่าจะเป็น สุนัข แมว นก หรือชนิดอื่นๆ ถ้าเป็นไปได้ อย่าลืมวางภาชนะใส่น้ำสะอาดไว้บริเวณรอบๆ บ้าน เผื่อเพื่อนร่วมโลกของเราจะแวะมากินน้ำ คลายร้อนไปได้บ้าง 

หรือ หากพบเห็นสัตว์ป่าบาดเจ็บพลัดหลง สามารถแจ้งได้ที่สายด่วนพิทักษ์ป่า 1362



ขอบคุณข้อมูลจาก :
เพจเฟซบุ๊ก ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช  
เพจ Princess Maha Chakri Sirindhorn Natural History Museum
ศิลปวัฒนธรรม

logoline