svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ครอบครัว "บิลลี่" ฟ้องแพ่งกรมอุทยานฯ 26 ล้าน กรณี จนท.พัวพันคดีอุ้มฆ่า

04 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ครอบครัว "บิลลี่" เดินหน้าทวงความยุติธรรม ฟ้องแพ่งกรมอุทยานฯ กรณี จนท.ในสังกัดพัวพัน คดีอุ้มฆ่าบิลลี่ เรียกค่าเสียหาย 26 ล้าน Nation STORY จะพาย้อนไปดูคดีนี้ จากคดีการหายตัวไปของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงสู่คดีฆาตกรรม เกิดอะไรขึ้นบ้าง

คดีการหายตัวอย่างงปริศนาของ "บิลลี่" พอละจี รักจงเจริญ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง “บางกลอย-ใจแผ่นดิน” ที่หายตัวไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 ซึ่งในอีกไม่กี่วัน ก็จะครบการหายตัวไป 10 ปี 

โดยที่ผ่านมาทางครอบครัว ได้เดินหน้าทวงคืนความยุติธรรมให้กับ "บิลลี่" ด้วยการยื่นฟ้องผู้ที่เกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของคนในครอบครัว ซึ่งในส่วนคดีอาญานั้นอยู่ชั้นอุทธรณ์ 

แต่ในส่วนของคดีแพ่ง วันนี้ (4 เม.ย. 67) มารดาและบุตรของ "บิลลี่" ได้เดินทางมาที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก เพื่อร่วมเป็นโจทก์ฟ้องคดี ต่อกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นจำเลย กรณีเจ้าหน้าที่ภายในสังกัดของจำเลย กระทำละเมิดโดยการอุ้มฆ่า "บิลลี่" ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

โดยเรียกค่าสินไหมทดแทน อาทิ ค่าเสียหายต่อทรัพย์สิน ค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาเรียกร้องความเป็นธรรม ค่าเสียหายต่อสิทธิ เสรีภาพและชีวิต ค่าเสียหายต่อจิตใจ ค่าขาดแรงงานในครัวเรือน และค่าขาดไร้อุปการะ รวมเป็นเงินต้นกว่า 26 ล้านบาท

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่า "ศาลแพ่งรัชดา รับคำฟ้องเพื่อพิจารณา ครอบครัวบิลลี่ ยื่นฟ้องกรมอุทยานฯ ให้ชดใช้ 26 ล้านบาท เลขคดี พ.1459/67 นัดชี้สองสถาน หรือการที่ศาลนัดชี้สองสถาน เพื่อให้ฝ่ายโจทก์และจำเลยกำหนดประเด็นข้อพิพาท ที่จะนำเข้าสืบในชั้นศาล ในวันที่ 10 มิ.ย. 67 และมีนัดไต่สวนยกเว้นค่าธรรมเนียมในวันนี้"

Nation STORY จะพาย้อนกลับไปดูคดีการหายตัวไปของ "บิลลี่" นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง “บางกลอย-ใจแผ่นดิน”ว่า จากคดีการหายตัวไปสู่คดีฆาตกรรม คดีนี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง และคิดว่า การเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าว ยุติธรรมแล้วหรือยัง....
"บิลลี่" พอละจี รักจงเจริญ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง “บางกลอย-ใจแผ่นดิน”
 

ย้อนคดี "บิลลี่" จากคดีคนหาย กลายเป็นคดีฆาตกรรม

สำหรับ "บิลลี่" นายพอละจี รักจงเจริญ เป็นชายหนุ่มกลุ่มชาติพันธุ์เชื้อสายกะเหรี่ยง เกิดที่บ้านบางกลอยบน จังหวัดเพชรบุรี เป็นหลานชายของ "ปู่คออี้" ผู้นำทางจิตวิญญาณของกลุ่มชาติพันธุ์บางกลอยบนแห่งผืนป่าแก่งกระจาน หรือที่รู้จักกันในนาม "ใจแผ่นดิน" 

โดยบิลลี่ทำหน้าที่เป็นล่าม ในการผลักดันการทำงาน เพื่อสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ เนื่องจากเจ้าตัวเรียนหนังสือและสื่อสารภาษาไทยได้ ก่อนหายตัวไป "บิลลี่" ทำงานเป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี
ครอบครัว \"บิลลี่\" ฟ้องแพ่งกรมอุทยานฯ 26 ล้าน กรณี จนท.พัวพันคดีอุ้มฆ่า

ชีวิตคู่ แต่งงานกับนางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ หรือ มีนอ มีบุตรด้วยกัน 5 คน "บิลลี่" ไม่มีที่ดินทำกิน ภายหลังจากที่ถูกบังคับให้อพยพออกมาจากพื้นที่ดั้งเดิม จึงต้องออกไปรับจ้างเฝ้าสวน ส่วนภรรยามีอาชีพรับจ้างรายวันทั่วไป

ขณะที่ "บิลลี่" ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อปกป้องแผ่นดินเกิดของตนเอง ถือเป็นพยานปากสำคัญ และเป็นผู้ประสานงานในคดีเหตุการณ์เจ้าหน้าที่บุกเผาทำลายทรัพย์สินชาวกะเหรี่ยงตั้งแต่ปี 2553-2554
ครอบครัว \"บิลลี่\" ฟ้องแพ่งกรมอุทยานฯ 26 ล้าน กรณี จนท.พัวพันคดีอุ้มฆ่า
 

คดีของ "บิลลี่" เริ่มจากวันที่  17 เมษายน 2557 ขณะที่ "บิลลี่" ขี่มอเตอร์ไซค์ออกจากบ้าน เพื่อไปทำหน้าที่ที่ อบต.ในตัวอำเภอแล้วหายตัวไป มีคนเห็นบิลลี่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี จับกุมตัวไป แต่ไม่รู้ว่าพาไปไหน ผู้ใหญ่บ้านจึงเข้าแจ้งความคนหาย หลังจากนั้นไม่มีใครทราบชะตากรรมของ "บิลลี่" อีกเลย

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน (ในขณะนั้น) ยอมรับว่า ควบคุมตัว "บิลลี่" เอาไว้จริง เพราะมีน้ำผึ้งป่าในครอบครอง แต่ได้ปล่อยตัวไปแล้ว แต่ "บิลลี่" ก็ไม่กลับบ้านอีกเลย "มีนอ" เชื่อว่า สามียังมีชีวิตอยู่ ได้ทำทุกวิถีทาง ทั้งร้องเรียนจังหวัด ยื่นคำร้องต่อศาลให้ไต่สวนว่า การควบคุมตัว "บิลลี่" ขัดกับหลักกฎหมาย ยื่นหนังสือต่อสถานทูตต่างประเทศ แต่ก็ไม่มีอะไรคืบหน้า

การหายตัวไปในลักษณะนี้เรียกว่า "การถูกบังคับให้สูญหาย" หรือ Forced Disappearance แปลตรง ๆ ก็คือการ "อุ้ม" ใครสักคนให้หายไปจากสังคม ถือเป็นอาชญากรรมรุนแรง และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง 

ในระหว่างการหายตัวไปของ "บิลลี่" ประเทศไทยพยายามเสนอให้ป่าแก่งกระจาน ได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลก แต่ถูกปฏิเสธ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคณะกรรมการฯ เป็นกังวลเรื่องความขัดแย้งระหว่างชาวปกาเกอะญอกับอุทยาน รวมถึงการหายตัวไปของบิลลี่ (สุดท้ายขึ้นได้ในปี 64)
วงจรปิดจับภาพขณะ บิลลี่ ถูกควบคุมตัว

คดีการหายตัวของ "บิลลี่" เปลี่ยนสถานะจากคดีคนหาย กลายเป็นคดีฆาตกรรมอย่างเป็นทางการ เมื่อ 28 มิถุนายน 2561 กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ได้รับคดีการหายตัวไปของ "บิลลี่" เป็น "คดีพิเศษ" และนั่นกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของคดีนี้ 

โดยเดือนเมษายน 2562 ดีเอสไอพบถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร ถูกทิ้งน้ำในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในถังมีชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ และกะโหลกศีรษะซึ่งมีรอยแตกและรอยไหม้ จึงนำส่งตรวจสอบทางนิติวิทยาศาสตร์อย่างละเอียด
ครอบครัว \"บิลลี่\" ฟ้องแพ่งกรมอุทยานฯ 26 ล้าน กรณี จนท.พัวพันคดีอุ้มฆ่า

วันที่ 3 กันยายน 2562 กรมสบสวนคดีพิเศษ แถลงกรณีพบวัตถุพยานสำคัญ บริเวณใกล้สะพานแขวน ภายในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยพบ ชิ้นส่วนกระดูก 2 ชิ้น ถังน้ำมัน 200 ลิตร 1 ถัง เหล็กเส้น 2 เส้น ถ่านไม้ 4 ชิ้นและเศษฝาถังน้ำมัน ส่งให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ตรวจพิสูจน์ วัตถุเป็นชิ้นส่วนกระดูกกะโหลกศีรษะข้างซ้ายของมนุษย์ มีรอยไหม้สีน้ำตาล ร่วมกับรอยแตกร้าวและการหดตัวของกระดูกจากการถูกความร้อนที่อุณหภูมิ 200-300 องศาเซลเซียส มีการนำชิ้นส่วนกระดูกไปตรวจพบความสัมพันธ์ทางพันธุกรรม (DNA)กับแม่ของบิลลี่ โดยกระดูกที่พบ เป็นชิ้นส่วนสำคัญของร่างกาย ซึ่งอาจประเมินได้ว่า  "บิลลี่" น่าจะเสียชีวิตแล้ว
ครอบครัว \"บิลลี่\" ฟ้องแพ่งกรมอุทยานฯ 26 ล้าน กรณี จนท.พัวพันคดีอุ้มฆ่า

ต่อมากรมสอบสวนคดีพิเศษและอัยการ ได้ร่วมกันติดตามสอบสวนคดีดังกล่าว จนได้พยานหลักฐานเพิ่มเติมอันเชื่อได้ว่า กลุ่มเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ที่จับกุม "บิลลี่" ไปนั้นได้ร่วมกันกระทำความผิดต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ในคดีร่วมกันฆาตรกรรมอำพรางโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

วันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง อนุมัติหมายจับ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร และพวกรวม 4 คน คดีฆาตกรรมนายบิลลี่ 

วันที่ 15 สิงหาคม 2565  อัยการสูงสุดสั่งฟ้อง “ชัยวัฒน์” พร้อมพวก 4 ราย ในข้อหาร่วมกันฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน คดี "บิลลี่ พอละจี ” ชาวกะเหรี่ยงบางกลอย
ครอบครัว \"บิลลี่\" ฟ้องแพ่งกรมอุทยานฯ 26 ล้าน กรณี จนท.พัวพันคดีอุ้มฆ่า

วันที่ 24 เม.ย. 2566 ศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบกลาง ถนนเลียบรางรถไฟ ตลิ่งชัน ศาลนัดศาลไต่สวนพยาน คดีหมายเลขดำ อท.166/2565 ที่พนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม , นายธนเสฏฐ์ หรือ ไพฑูรย์ แช่มเทศ และ นายกฤษณพงษ์ จิตต์เทศ เป็นจำเลยที่ 1- 4 ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯ และข้อหาร่วมกันฆาตกรรมโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จากกรณีการหายตัวไปของ "บิลลี" 
ครอบครัว \"บิลลี่\" ฟ้องแพ่งกรมอุทยานฯ 26 ล้าน กรณี จนท.พัวพันคดีอุ้มฆ่า

กระทั่งวันที่ 28 ก.ย. 2566 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง อ่านคำพิพากษาคดี นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร และพวกรวม 4 คน ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯ และข้อหาร่วมกันฆาตกรรมโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จากกรณีการหายตัวไปของ "บิลลี" โดยศาลสั่งจำคุก 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา ข้อหา ม.157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ฐานจับกุม "บิลลี่" พร้อมน้ำผึ้งป่า แต่ไม่นำส่งตำรวจ

ส่วนคดีร่วมกันฆ่าบิลลี่ โดยไตร่ตรอง พยานหลักฐานยังไม่อาจเชื่อได้ว่า นายชัยวัฒน์และพวก ร่วมกันฆ่า "บิลลี่" ศาลยกฟ้องคดีฆ่าทำลายศพ ซึ่งภายหลังฟังคำพิพากษา นายชัยวัฒน์ ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ขอประกันตัวระหว่างอุทธรณ์คดี 

น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ทนายความของภรรยาบิลลี่ ระบุ หลังจากนี้จะยื่นอุทธรณ์คดีอย่างแน่นอน เนื่องจากศาลลงโทษเฉพาะความผิดมาตรา 157 กรณีจับกุมตัวนายบิลลี่ พร้อมน้ำผึ้งป่า และไม่นำตัวส่งพนักงานสอบสวน ตามขั้นตอนของกฎหมาย จึงทำให้คดีนี้ย้อนไปสู่จุดเริ่มต้นว่า "บิลลี่" ยังคงเป็นบุคคลสูญหาย จึงจะเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ในการพิสูจน์การหายตัวไปของ "บิลลี่" 
ครอบครัว \"บิลลี่\" ฟ้องแพ่งกรมอุทยานฯ 26 ล้าน กรณี จนท.พัวพันคดีอุ้มฆ่า

logoline