svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

รู้หรือไม่ "ปะการังฟอกขาว" สภาวะต้องกังวล ส่งผลกระทบกับโลกใต้ท้องทะเลมากกว่าที่คิด

เนื่องใน "วันสัตว์น้ำโลก" (World Aquatic Animal Day) 3 เมษายน "Nation STORY" ชวนร่วมตระหนักถึงการอนุรักษ์โลกใต้ทะเล พร้อมพาไปรู้จักกับปรากฏการณ์ "ปะการังฟอกขาว" เป็นสัญญาณเตือนอะไร แล้วส่งผลกระทบอย่างไรต่อโลกใต้ท้องทะเล กับเหตุผลที่ "ปะการัง" ควรค่าอนุรักษ์

เปิดความเป็นมาของวันสัตว์น้ำโลก

"วันสัตว์น้ำโลก"
(World Aquatic Animal Day) ตรงกับวันที่ 3 เมษายน ของทุกปี วัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งมีชีวิตในโลกใต้น้ำทั่วโลก ที่มีความสำคัญต่อโลกและมนุษย์ในทุกมิติ วันดังกล่าวเริ่มต้นในปี 2020 โดย Lewis & Clark Law School เพื่อต้องการให้เราปกป้อง อนุรักษ์ และฟื้นฟูระบบนิเวศใต้น้ำ

เนื่องในวันสัตว์น้ำโลกปีนี้ ผู้เขียนขอพาไปรู้จัก "ปะการัง" สิ่งมีชีวิตที่เสมือนเป็นบ้านหลังใหญ่ของสรรพสิ่งใต้ทะเล ที่กำลังได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ กับเหตุผลที่ปะการังควรค่าอนุรักษ์

รู้หรือไม่ \"ปะการังฟอกขาว\" สภาวะต้องกังวล ส่งผลกระทบกับโลกใต้ท้องทะเลมากกว่าที่คิด
รู้จักปะการัง

เคยสงสัยกันไหม "ปะการัง" เป็นพืชหรือเป็นสัตว์? ข้อมูลจากเพจเฟซบุ๊ก Scimath คลังความรู้ ให้คำตอบไว้ว่า ปะการัง เป็นสัตว์ทะเลที่ไม่มีกระดูกสันหลัง มีโครงสร้างภายนอกเป็นหินปูนเปรียบเสมือนกระดูก โดยทั่วไปตัวปะการังจะมีรูปทรงเป็นทรงกระบอกเล็กๆ แต่ละกระบอกจะมีช่องเล็กๆ ซึ่งเป็นที่อยู่ของปะการังเเต่ละตัว ที่ปลายกระบอกจะมีหนวดที่คอยดักจับสัตว์น้ำตัวเล็กๆ 

ทั้งนี้ ในปะการัง 1 กอ จะประกอบไปด้วยปะการังจำนวนมาก โดยมีเนื้อเยื่อเชื่อมติดกัน ปะการังสามารถสืบพันธุ์ได้ 2 แบบ คือ แบบอาศัยเพศ และแบบไม่อาศัยเพศ ปะการังที่พบโดยทั่วไปมีการพัฒนาการอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มปะการัง หรือ "แนวปะการัง" ซึ่งเป็นแนวหินปูนใต้ทะเลในระดับน้ำตื้นที่แสงแดดส่องถึง โดยหินปูนดังกล่าวเป็นผลมาจากการเจริญเติบโตของปะการังหลายๆชนิด 

นอกจากนี้ ยังมีสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อีกหลายชนิดที่มีส่วนเสริมสร้างหินปูนพอกพูนสะสมในแนวปะการัง เช่น สาหร่ายหินปูน หอยที่มีเปลือกแข็ง ฯลฯ ทั้งปะการังเองและสิ่งมีชีวิตที่สร้างหินปูนได้ เมื่อตายไปแล้วจะยังคงเหลือซากหินปูนทับถมพอกพูนต่อไป เนื่องจากแนวปะการังประกอบด้วยปะการังหลายชนิดและปะการังแต่ละชนิดมีลักษณะโครงสร้างแตกต่างกันไปนั่นเอง

รู้หรือไม่ \"ปะการังฟอกขาว\" สภาวะต้องกังวล ส่งผลกระทบกับโลกใต้ท้องทะเลมากกว่าที่คิด
บทบาทและความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิต


สำหรับบทบาทของแนวปะการัง ด้วยความที่มีโครงสร้างซับซ้อน เต็มไปด้วยซอกหลืบ จึงเหมาะต่อการดำรงชีวิตสิ่งมีชีวิตในทะเล เช่น ปลาชนิดต่างๆ กุ้ง หอย ดาวทะเล ปลิงทะเล ฟองน้ำ ปะการังอ่อน กัลปังหา หนอนทะเล สาหร่ายทะเล เป็นต้น ทำให้แนวปะการังเป็นระบบนิเวศที่มีความซับซ้อน และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดในทะเล เปรียบเสมือน "ป่าดิบชื้น" 

อีกทั้ง สายพันธุ์ทางทะเลกว่า 25% พึ่งแนวปะการังในการอยู่อาศัย เพาะพันธุ์วางไข่ และเป็นแหล่งอาหาร เป็นแหล่งที่ปกป้องชายฝั่งจากคลื่นกัดเซาะ ถือว่าเป็นแหล่งประมงอาหารสำหรับมนุษย์ สร้างทรายให้กับชายหาด และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ความอุดมสมบูรณ์ของแนวปะการัง ยังดึงดูดให้มีการใช้ประโยชน์จากแนวปะการังมากขึ้น ทั้งโดยตรงและโดยทางอ้อม 
รู้หรือไม่ \"ปะการังฟอกขาว\" สภาวะต้องกังวล ส่งผลกระทบกับโลกใต้ท้องทะเลมากกว่าที่คิด
ปรากฏการณ์ "ปะการังฟอกขาว"

"ปะการัง"
เป็นระบบนิเวศที่ไวต่อสิ่งต่างๆ ปัจจุบันปะการังทั่วโลกกำลังอ่อนแอ ขณะที่แนวปะการังในออสเตรเลียระยะทางกว่า 1,000 กิโลเมตรกำลังเผชิญปัญหาการ "ฟอกขาว" เนื่องจากอุณหภูมิน้ำเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เคยออกมาเปิดเผยว่า มาจาก "ภาวะโลกร้อน" และ "ก๊าซเรือนกระจก" ที่เป็นภัยคุกคามใหญ่ที่สุดของปะการัง 

แล้ว "ปะการังฟอกขาว" คืออะไร มีผลกระทบอย่างไรกับทะเล เรามาหาคำตอบกัน

อ้างอิงข้อมูลจาก ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา อธิบายเกี่ยวกับ "ปะการังฟอกขาว" (Coral bleaching) ว่า เป็นปรากฏการณ์ที่เนื้อเยื่อปะการังมีสีซีดหรือจางลงจากการสูญเสีย "สาหร่ายซูแซนเทลลี" (zooxanthellae) ซึ่งเกิดจากสภาวะที่ไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสาหร่าย เช่น อุณหภูมิน้ำทะเลสูงเกินไป มีน้ำจืดไหลลงมาทำให้ความเค็มลดลง ตะกอนที่ถูกน้ำจืดไหลพัดพามาจากชายฝั่ง หรือแม้แต่มลพิษที่เกิดจากการใช้ประโยชน์ทางทะเลของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยน้ำเสีย การใช้ครีมกันแดด การทิ้งขยะตามแนวชายหาดก็ล้วนมีผลให้สาหร่ายซูแซนเทลลีออกมาจากเนื้อเยื่อของปะการังเพื่อความอยู่รอด

การพึ่งพาอาศัยกันของปะการัง กับ สาหร่ายซูแซนเทลลี

หากใครเคยดำน้ำชมปะการัง หรือเห็นจากภาพ จะเห็นได้ว่าปะการังมีสีสันสวยงาม ความจริงแล้ว โดยปกติเนื้อเยื่อของปะการังไม่ได้มีสีสันสวยงาม เป็นเพียงเนื้อเยื่อใสๆ เท่านั้น ส่วนที่เห็นเป็นสีสันจากปะการังไม่ว่าจะเป็นสีแดง สีส้ม สีเขียว หรือสีน้ำตาลนั้นมาจากสาหร่ายซูแซนเทลลี (Zooxanthellae) ทั้งสิ้น 

ปะการังที่สีซีดจางลง จึงมาจากสูญเสียสาหร่ายซูแซนเทลลี ซึ่งเกิดจากสภาวะที่ไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสาหร่าย เช่น อุณหภูมิน้ำทะเลสูงเกินไป วงจรชีวิตของสาหร่ายซูแซนเทลลีกับปะการัง เลยเป็นภาวะพึ่งพาอาศัยกัน (Mutualism) หากแยกกันอยู่จะไม่สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้ โดยการพึ่งพาอาศัยกันของทั้งสอง เป็นไปดังนี้

  • สาหร่ายช่วยให้เนื้อเยื่อของปะการังมีสีสันสวยงาม
  • สาหร่ายช่วยสังเคราะห์แสงให้ธาตุอาหารแก่ปะการัง เพื่อใช้ในการดำรงชีวิต และการเจริญเติบโต
  • ปะการังจะเป็นที่อยู่อาศัย และให้สาหร่ายนำของเสีย เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ ไนเตรต ฟอสเฟต มาใช้ในการสร้างสารอาหาร

รู้หรือไม่ \"ปะการังฟอกขาว\" สภาวะต้องกังวล ส่งผลกระทบกับโลกใต้ท้องทะเลมากกว่าที่คิด
นอกจากนี้ "ปะการังฟอกขาว" ยังเป็นสัญญาณเตือนหนึ่งของวิกฤตโลกร้อน เนื่องจากปะการังเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมในมหาสมุทร การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิน้ำทะเลเพียง 1–2 องศาเซลเซียส ภายในระยะเวลา 3 สัปดาห์ สามารถทำให้ปะการังเกิดการฟอกขาวขึ้นได้

สาเหตุการเกิดปะการังฟอกขาว

  • อุณหภูมิน้ำทะเลสูงเกินไป
  • ความเค็มของน้ำทะเลลดลง
  • ตะกอนสิ่งปฏิกูลจากชายฝั่งถูกน้ำทะเลชะล้างลงสู่ทะเล
  • มลพิษที่เกิดจากการใช้ประโยชน์ทางทะเลของมนุษย์ เช่น การปล่อยน้ำเสีย การใช้ครีมกันแดด และการทิ้งขยะตามแนวชายหาด

ผลกระทบ

  • ปริมาณสัตว์น้ำลดลงเนื่องจากขาดแหล่งอนุบาล
  • ปะการังฟอกขาวทำให้แนวปะการังเสื่อมโทรม ส่งผลให้กระทบต่อสมดุลในระบบนิเวศแนวปะการัง
  • ปะการังเกิดความเสื่อมโทรม ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว

เมื่อเกิดการฟอกขาวแล้ว ปะการังจะกลับคืนสู่ปกติได้หรือไม่

ปะการังฟอกขาว สามารถกลับคืนสู่สภาพปกติได้ หากสาหร่ายซูแซนเทลลีเหล่านั้นกลับเข้าสู่ตัวปะการังอีกครั้ง ซึ่งเกิดขึ้นได้เมื่อปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปกลับคืนสู่ภาวะปกติ ปะการังจะสามารถดำรงชีวิตโดยปราศจากสาหร่ายซูแซนเทลลีได้ประมาณ 2-3 สัปดาห์

อย่างไรก็ดี หากมีเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง และระยะเวลายาวอย่างต่อเนื่อง จะทำให้การฟื้นตัวของปะการังโดยธรรมชาติมีโอกาสเป็นไปได้ต่ำ หรือไม่มีเลย และถ้าสาหร่ายซูแซนเทลลีไม่กลับเข้าสู่ปะการังในช่วงเวลาดังกล่าวปะการังเหล่านั้นก็จะตายในที่สุด

อนุรักษ์แนวปะการัง เราช่วยกันได้

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ส่วนสำคัญในการทำลายแนวปะการัง มาจาก "มนุษย์" ทั้งการสร้างมลภาวะ ที่ส่งผลให้สภาพอากาศแปรปรวน หรือการสร้างมลพิษให้กับทะเลโดยตรง เราสามารถช่วยกันดูแลรักษา และอนุรักษ์แนวปะการังได้ เริ่มจากการลดการสร้างมลภาวะที่สามารถทำได้ดังต่อไปนี้

  • ลดการใช้รถโดยไม่จำเป็น
  • ลดการเผาสิ่งปฏิกูล
  • หลีกเลี่ยงการกระทำที่จะเป็นการทำลายแนวปะการัง ด้วยการทำระบบบำบัดน้ำเสีย
  • ระมัดระวังการใช้ปุ๋ยในการเกษตร เพราะเมื่อถูกชะล้างลงสู่ทะเลจะส่งผลกระทบต่อสาหร่ายในแนวปะการัง
  • ไม่ทิ้งขยะตามชายฝั่งทะเล

รู้หรือไม่ \"ปะการังฟอกขาว\" สภาวะต้องกังวล ส่งผลกระทบกับโลกใต้ท้องทะเลมากกว่าที่คิด
นี่ก็เรื่องราวของ "ปะการัง" ที่ Nation STORY นำมาเล่ากันในวันนี้ พวกมันไม่เพียงแต่สำคัญต่อโลกใต้ทะเลเท่านั้น ยังมีความสัมพันธ์กับห่วงโซ่อาหาร เพราะถ้าไม่มีปะการัง ย่อมกระทบกับความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล ก็หวังว่าเรื่องเล่านี้ จะช่วยกระตุ้นการอนุรักษ์ และลดการเกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว เพื่อให้พวกมันอยู่คู่กับท้องทะเลต่อไป...



ขอบคุณข้อมูลจาก :
เฟซบุ๊กเพจ Environman
https://www.bangkokbiznews.com/environment/1117126
https://sciplanet.org/content/8276
https://hub.mnre.go.th/th/knowledge/detail/65637
https://km.dmcr.go.th/c_3/d_1772
https://www.springnews.co.th/keep-the-world/environment/848470
https://thailandcoralbleaching.dmcr.go.th/th/blog_coral/detail/83
Scimath คลังความรู้
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร