svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

"ไม่อยากถูกบังคับเกณฑ์ทหาร" เปิดความในใจชายไทย ทำทุกทางให้รอดเป็นทหาร

"เกณฑ์ทหาร" ในห้วงเวลาเดือนเมษายน เราจะได้เห็นบรรยากาศการลุ้นใบดำใบแดง นั่นสะท้อนว่าไม่มีใครอยากถูก "บังคับเกณฑ์ทหาร" วันนี้ "Nation STORY" นำเรื่องราวของ "ชายไทย" ที่ต้องเข้ารับการตรวจเลือก เขาหาวิธีไหนที่ไม่ต้องเป็น "ทหารเกณฑ์" กันบ้าง

"เกณฑ์ทหาร" เป็นหน้าที่ของชายไทย ถูกกำหนดไว้ไว้ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ โดย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ระบุไว้ในหมวด 4 หน้าที่ของปวงชนชาวไทย โดยมาตรา 50 (5) ระบุว่า

"รับราชการทหารตามที่กฎหมายบัญญัติ" 

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 หมวด 1 บททั่วไป มาตรา 7 ระบุว่า

"ชายที่มีสัญชาติเป็นไทยดามกฎหมาย มีหน้าที่รับราชการทหารด้วยตนเองทุกคน"

รัฐธรรมนูญไทย พ.ศ.2560
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ชายไทยทุกคนต้องเข้าใจหน้าที่การลงบัญชีทหารกองเกิน การรับหมายเรียก การตรวจเลือกคนเข้ากองประจำการ การเรียกพล การระดมพล และการปลดชายไทย พร้อมทั้งกำหนดโทษของการไม่เข้าเกณฑ์ทหารถึงขั้นจำคุกไม่เกิน 3 ปี 

ดังนั้นถ้าจะกล่าวว่า ชายไทยถูกบังคับให้ต้อง "เกณฑ์ทหาร" คงไม่ผิดไปนัก!

รายละเอียด พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 >> คลิกที่นี่

\"ไม่อยากถูกบังคับเกณฑ์ทหาร\" เปิดความในใจชายไทย ทำทุกทางให้รอดเป็นทหาร

  ไทม์ไลน์ "เกณฑ์ทหาร"  
ชายไทยที่ต้อง "เกณฑ์ทหาร" ประกอบด้วย

  • ผู้ที่เกิดโดยพ่อที่มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในประเทศไทย หรือที่ต่างประเทศ
  • ผู้ที่เกิดโดยมีมารดาสัญชาติไทย แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือบิดาไม่มีสัญชาติ
  • ผู้ที่เกิดในราชอาณาจักรไทย (ยกเว้นผู้ที่อยู่ในกลุ่มผู้แทนทางการทูต)
  • ผู้ที่เปลี่ยนแปลงสัญชาติเป็นไทย
  • ผู้ที่ได้คืนสัญชาติเป็นไทยตั้งแต่อายุครบ 17 ปี ย่าง 18 ปี ในวาระแรกที่ได้ขึ้นทะเบียนทหารในอำเภอที่กฎหมายกำหนด

ทั้งนี้ การเกณฑ์ทหาร จะต้องอายุ 20 ย่าง 21 ปี แต่มีขั้นตอนทางเอกสารต่างก่อนหน้านั้น โดยเฉพาะต้องมีการลงทะเบียนบัญชีทหารกองเกิน พร้อมทำตามไทม์ไลน์ ดังนี้

  • อายุ 17 ปีบริบูรณ์ ชายไทยแสดงตนขึ้นทะเบียนทหารภายในเดือนม.ค.-ธ.ค. ของ พ.ศ. นั้นๆ (นำพ.ศ.เกิด + 17 = ปีพ.ศ.ที่ขึ้นทะเบียนทหาร)  
  • อายุ 20 ปีบริบูรณ์ ชายไทยต้องไปรับหมายเรียก เพื่อไปแสดงตนที่อำเภอท้องถิ่นที่เป็นภูมิลำเนาทหารของตน ในเดือนม.ค.-ธ.ค. ของ พ.ศ. นั้นๆ (นำพ.ศ.เกิด + 20 = ปีพ.ศ.ที่ไปรับหมายเรียก)  
  • เข้ารับการตรวจคัดเลือก หรือ เกณฑ์ทหาร ช่วงวันที่ 1-12 เม.ย.ของทุกปี ตามวันและเวลาที่กำหนดในหมายเรียก
  • เข้ารับการเรียกพลทหารกองหนุน เข้ารับการฝึกวิชาทหาร ตามที่กำหนด

\"ไม่อยากถูกบังคับเกณฑ์ทหาร\" เปิดความในใจชายไทย ทำทุกทางให้รอดเป็นทหาร

  ข้อยกเว้นไม่ต้อง "ทหารเกณฑ์"  
แม้ว่า รัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.รับราชการทหาร จะกำหนดให้เป็นหน้าที่ของชายไทยทุกคน แต่มีข้อกำหนดในการเข้าเป็นทหารยกเว้นกลุ่มคนบางประเภท ซึ่งบุคคลที่ได้รับการยกเว้นการเกณฑ์ทหาร ประกอบไปด้วย

  • บุคคลที่มีร่างการพิการ ทุพพลภาพ
  • บุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องรับราชการทหารกองประจำการ
  • พระภิกษุที่มีสมณศักดิ์ชั้นเปรียญ นักบวชนิกาบมหายาน
  • บุคคลที่ได้รับการยกเว้น เมื่อลงบัญชีทหารกองเกินแล้วไม่เรียกมาตรวจเลือกรับราชการทหารในยามปกติ
  • สามเณร ภิกษุ นักบวชพุทธศาสนานิกายมหายน ที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ
  • นักบวชศาสนาอื่นที่ผู้ว่าราชการจังหวัดออกใบสำคัญให้ไว้
  • นักเรียนโรงเรียนเตรียมทหาร กระทรวงกลาโหม
  • บุคคลที่ผ่านการเรียนนักศึกษาวิชาทหาร (เรียน รด.) ครบตามหลักสูตรที่กำหนด 
  • นักศึกษาของศูนย์กลางอบรมการศึกษาผู้ใหญ่ของกระทรวงศึกษาธิการ
  • นักศึกษาของศูนย์ฝึกการบินพลเรือนของกระทรวงคมนาคม
  • ครูในความควบคุมของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดออกใบสำคัญให้ไว้

\"ไม่อยากถูกบังคับเกณฑ์ทหาร\" เปิดความในใจชายไทย ทำทุกทางให้รอดเป็นทหาร
นอกจากนี้ ได้กำหนด 15 กลุ่มโรคที่ไม่ต้อง "เกณฑ์ทหาร" เนื่องจากมีความไม่สมบูรณ์ของร่างกายในการเข้าเป็นทหารกองประจำการ ประกอบด้วย

  • โรคหรือความผิดปกติของตา
  • โรคหรือความผิดปกติของหู
  • โรคของหัวใจและหลอดเลือด
  • โรคเลือดและอวัยวะสร้างเลือด
  • โรคของระบบหายใจ
  • โรคของระบบปัสสาวะ
  • โรคหรือความผิดปกติของกระดูก ข้อ และ กล้ามเนื้อ
  • โรคของต่อมไร้ท่อและภาวะผิดปกติของเมตาบอลิซึม
  • โรคทางประสาทวิทยา
  • โรคติดเชื้อ
  • โรคทางจิตเวช
  • โรคอื่น ๆ อาทิ กะเทย, มะเร็ง, ตับอักเสบเรื้อรัง, ตับแข็ง, คนเผือก, โรคลูปัสอิธิมาโตซัส, กายแข็ง และรูปวิปริตต่างๆ 
  • โรคตุ่มน้ำพอง
  • โรคลำไส้พองแต่กำเนิด
  • โรคพร้องเอนไซม์ (G6PD) เม็ดเลือดแดงผิดปกติ 

  หาช่องโหว่พ้น "เกณฑ์ทหาร"  
ตามที่กล่าวมาข้างต้นว่า "เกณฑ์ทหาร" เป็นหน้าที่ของชายไทย ซึ่งจากข้อยกเว้นของผู้ที่ไม่ต้องการเป็นทหารเกณฑ์นั้น มีอยู่ 2 ทางเท่านั้น 

  1. ป่วยเป็น 15 กลุ่มโรค ที่ไม่ต้องเกณฑ์ทหาร 
  2. ผ่านการเรียนนักศึกษาวิชาทหาร หรือ เรียน รด. ครบตามหลักสูตรที่กำหนด 3 ปี 

ขั้นตอนการตรวจเช็กความสมบูรณ์ของร่างกาย
ประเด็นแรก การป่วยเป็น 15 กลุ่มโรค
หากพบว่าป่วยจริง ถือว่าเหมาะสมที่ควรได้รับการยกเว้น แต่หากในความเป็นจริงที่เกิดขึ้นเสมอ และถูกสังคมตั้งคำถามมาหลายครั้ง ถึงการเจ็บป่วยบางโรค อาทิ หอบหืด ถูกนำมาเป็นเงื่อนไขในการหลีกเลี่ยง ไม่ต้อง "จับใบดำใบแดง" 

แม้ว่าหลักฐานสำคัญในการใช้ยืนยันว่าป่วยจริงคือ "ใบรับรองแพทย์" และ "ประวัติการรักษา" ถือว่าเป็นหลักฐานที่เหมาะสม แต่ในทางกลับกันก็เป็นช่องว่างด้วยเช่นกัน 

  ไม่อยากถูกบังคับเป็น "ทหารเกณฑ์"  
คุณดาว (นามสมมติ) ผู้ปกครองของทหารเกณฑ์ท่านหนึ่ง เปิดใจกับ "Nation STORY" ว่า ไม่มีใครอยากให้ลูกถูกบังคับให้ไปเป็นทหารเกณฑ์ เธอเองก็เช่นกัน เพราะทำให้สูญเสียโอกาสในชีวิตขั้นต่ำ 6 เดือน ในกรณีจบปริญญาตรีและยื่นความจำนงค์สมัคร แต่หากวัดดวงจับได้ใบแดงก็เสียเวลาไป 1 ปีเต็มๆ ไม่รวมความเป็นห่วงเรื่องความรุนแรงในค่ายทหารที่เป็นข่าวอยู่เนื่องๆ ดังนั้นเธอต้อง "วิ่งทหาร" ยอมจ่ายเพื่อไม่ให้ลูกต้องเข้าไปอยู่ในกรมกอง

"พี่รู้ไหม เดี๋ยวนี้เหมือนเสือนอนกิน คนที่เราไปติดต่อเขาบอกว่า ให้ไปหาใบรับรองแพทย์มาให้ว่าป่วย แล้วหมอที่ไหนจะออกให้เรา ประวัติการรักษาหอบหืดไม่มี แล้วเราไม่ใช่คนใหญ่คนโต ยิ่งเห็นชื่อโรคที่จะให้ลูกเราเป็นไม่ไหวนะ ถ้าต้องลงในประวัติเกณฑ์ทหารว่ามีประวัติป่วยเป็นโรคพวกนั้น (15 กลุ่มโรค) เท่ากับทำลายอนาคตลูก"

คุณดาว บอกอีกว่า ลูกประชาชนคนตาดำๆ ไม่มีเส้นสาย สุดท้ายก็ต้องยอมให้ลูกวัดดวง สุดท้ายทุกวันนี้ลูกชายต้องออกจากงานที่ทำ ไปเป็นทหาร  1 ปี ถามว่าเงินเดือนทหารเกณฑ์ที่ได้มาไม่ถึงหมื่น ชีวิตที่ไปอยู่ในค่ายทหาร มันคุ้มกันไหมกับสิ่งที่ลูกชายต้องเสียไป

ขณะที่ "เอ" ลูกชายของคุณดาว บอกกับ "Nation STORY" ว่า ไม่มีใครอยากถูกบังคับ ผมก็ไม่ได้อยากเป็นทหารเกณฑ์ ยิ่งพอเป็นแล้วรู้สึกว่าหลังฝึกเสร็จ 3 เดือนแรก ก็แทบไม่มีอะไรที่ทำเป็นชิ้นเป็นอัน ยิ่งวันหยุดยิ่งน่าเบื่อ ต้องอยู่แต่ในกรม ออกไปไหนไม่ได้ ยกเว้นลากลับบ้าน บางทีวันหยุดก็อยากไปไหนมาไหนบ้าง
  เรียนรด. ไม่ใช่เรื่องง่ายๆอีกต่อไป  
ส่วนประเด็น "เรียนรด." สำหรับผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง ในอดีตนั้นนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สามารถสมัครเข้าเรียนรด.ได้ทุกคน แต่ในปี 2553 ได้กำหนดให้ผู้ที่จะเรียนรด. จะต้องผ่านเกณฑ์ทดสอบสมรรถภาพเพื่อคัดเลือกนักศึกษาวิชาทหาร ประกอบด้วย

ผู้ชาย

  • วิ่ง 800 เมตร ใน 3 นาที 15 วินาที
  • ลุกนั่ง (ซิทอัพ) 34 ครั้ง ใน 2 นาที
  • ดันพื้น (วิดพื้น) 22 ครั้ง ใน 2 นาที

ผู้หญิง

  • วิ่ง 800 เมตร ใน 4 นาที
  • ลุกนั่ง (ซิทอัพ) 25 ครั้ง ใน 2 นาที
  • ดันพื้น (วิดพื้น) 15 ครั้ง ใน 2 นาที (เข่าติดพื้น)

การทดสอบแต่ละประเภทมีคะแนนเต็ม 100 คะแนน หากสามารถทำได้อย่างสมบูรณ์ จะได้รับคะแนนเต็มในส่วนนั้น ๆ หากได้คะแนนเต็มทั้ง 3 ส่วน จะสามารถรายงานตัวเข้ารับการฝึกได้ทันที 

มาตรการสกรีนคนจากการทดสอบสมรรถภาพ ส่งผลผู้ประสงค์เข้าเรียนรด.ที่ไม่ผ่านการทดสอบ ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารเมื่ออายุ 21 ปีบริบูรณ์  เมื่อเกิดความเสี่ยงต้องไปวัดดวงกับ "ใบดำใบแดง" ทำให้ต้องเตรียมพร้อมทางร่างกายให้เต็มที่ ในขณะเดียวกันกับเกิดสิ่งที่ไม่ชอบมาพากลในการ
\"ไม่อยากถูกบังคับเกณฑ์ทหาร\" เปิดความในใจชายไทย ทำทุกทางให้รอดเป็นทหาร
คุณชมพู่ คุณแม่ของลูกชาย 2 คน ที่อยู่ในระดับม.ปลาย บอกกับ "Nation STORY" ว่า ลูกชายคนโตเป็นคนแข็งแรง สามารถผ่านการทดสอบตั้งแต่รอบแรก ได้เรียนสนใจ แต่ลูกชายคนรอง อาจจะเตรียมตัวน้อยไปบ้าง ในการทดสอบครั้งแรกไม่ผ่าน แต่สิ่งที่น่าแปลกคือ เพื่อนของลูกชายคนรอง ซึ่งทำการทดสอบแย่กว่า กลับผ่านการคัดเลือกเข้าไปเรียนรด. ทำให้เกิดคำถามในใจมากมายว่าเกิดอะไรขึ้นกับเรื่องนี้

"ไม่ได้อยากกล่าวหามาก แต่มันมีการพูดถึงการจ่ายเพื่อให้ได้เรียน ซึ่งในปีต่อมาลุกชายเตรียมตัวมากขึ้น ผ่านไปเรียนรด.ได้ก็โล่งใจ เพราะเราเองก็ไม่ได้อยากให้ลูกเป็นทหารเกณฑ์"

คุณชมพู่ บอกเราอีกว่า นโยบายการยกเลิกเกณฑ์ทหาร ส่งผลกระทบกับเด็กๆมาก ลูกชายถึงกับมาบอกว่า จะไม่เรียนรด.แล้วได้ไหม เพราะเดี๋ยวเขาก็ยกเลิก จะไม่มีเกณฑ์ทหารแล้ว ก็บอกลูกไปว่าไม่ได้ มันไม่มีอะไรแน่นอน เอาจริงๆคนที่ยอมเรียน รด. คือคนที่ไม่อยากถูกเกณฑ์ทหารและคนที่อยากไปสอบเข้าในหน่วยงานทหารต่างๆ

แม้ว่า กระทรวงกลาโหม บอกว่าพยายามให้เกิดทหารสมัครใจ แต่ต้องยอมรับว่า ทุกวันนี้คนที่ผ่านการ "เกณฑ์ทหาร" คือคนที่ไม่ได้สมัครใจเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลกระทบต่อคนหลายหมื่นคนต่อปี สิ่งนี้จึงถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องเร่งหาทางออก เพื่อลดผลกระทบให้มากที่สุด