svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

29 มีนาคม วันเล็งเห็นคุณค่าแมนนาที "วัวทะเล" ญาติใกล้ชิด "พะยูน" ผู้รักสงบ

29 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

วันนี้วันอะไร นอกจากจะเป็นวันศุกร์สิ้นเดือนที่หลายๆ คนรอคอย ยังตรงกับ "วันเล็งเห็นคุณค่าแมนนาที" สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอาศัยในน้ำ ที่มักถูกเรียกกันว่า "วัวทะเล" ผู้รักสงบ และเป็นญาติใกล้ชิด "พะยูน" ในโอกาสนี้เลยอยากชวนมาทำความรู้จักเจ้าสิ่งมีชีวิตแสนน่ารักนี้กัน

ว่าแล้วก็เริ่มสำรวจกันเลย หากคุณได้เจอ "แมนนาที" จะพบว่าสัตว์ชนิดนี้ มีลักษณะคล้าย "พะยูน" ​บางที่จึงเรียก​ "พะยูนหางกลม" หรือ "วัวทะเล" (อังกฤษ : Manatee , Sea cow) 

แมนนาที ถือเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอาศัยในน้ำขนาดใหญ่สกุลหนึ่ง โดยคำว่า "แมนนาที" (manatí) มาจากภาษาตีโน ซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองในแถบแคริบเบียน แปลว่า "เต้านม" ปัจจุบันพวกเขา โดยเฉพาะ "แมนนาทีอินเดียตะวันตก" เป็นหนึ่งในกลุ่มสัตว์ชนิดที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ด้วยเหตุนี้เอง วันเล็งเห็นคุณค่าแมนนาที จึงถือกำเนิดขึ้น เพื่อให้ประชากรโลกหวงแหนในสิ่งมีชีวิตที่กำลังเสี่ยงหายไป

แมนนาที
"วัวทะเล" ที่อยู่ในน้ำจืด

"แมนนาที"
เป็นสัตว์กินพืช มีลำตัวสีเทาหรือน้ำตาล อาศัยอยู่ในบริเวณน้ำกร่อยและน้ำจืด เพื่อหาหญ้าทะเลและสาหร่ายกินเป็นอาหาร เขามักใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการหาอาหารในเขตน้ำตื้น บางครั้งก็อาจเข้าไปหากินในแหล่งน้ำจืดที่ไกลจากทะเลถึง 300 กิโลเมตรได้ โดยเขตอาศัยของแมนนาที ได้แก่ พื้นที่หนองน้ำตื้นแถบชายฝั่งของอเมริกาเหนือ อเมริกากลาง อเมริกาใต้ และทะเลแคริบเบียน 

ส่วนบทบาทของวัวทะเล เขาคอยควบคุมปริมาณของหญ้าทะเล และยังถือเป็นสัตว์สำคัญในระบบนิเวศ ที่ช่วยบ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในน้ำได้อย่างรวดเร็ว

อ้างอิงข้อมูลจากเพจเฟซบุ๊ก Environman พบว่า ครอบครัวของ "แมนนาที" มีสกุลเดียวคือ Trichechus แยกได้เป็น 3 ชนิด ดังนี้ 

1.แมนนาทีอินเดียตะวันตก หรือ แมนนาทีแคริบเบียน

  • อาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเล บริเวณเขตน้ำกร่อยและในแม่น้ำ ในฟลอลิดา ทะเลแคริบเบียน ถึงตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ 
  • ลำตัวยาว 3.5 เมตร ไม่มีขน มีสีเทาน้ำตาล น้ำหนักราว 1,590 กิโลกรัม 
  • ปลายครีบคู่หน้ามีเล็บ 3-4 เล็บ 
  • กินอาหารพวกพืชน้ำ หญ้าทะเล และสาหร่าย 
  • เคลื่อนที่ช้า อาจอยู่ตัวเดียวหรืออยู่รวมเป็นฝูง 

2.แมนนาทีอะเมซอน 

  • อาศัยอยู่ในน้ำจืดบริเวณลุ่มแม่น้ำอะเมซอน 
  • ลำตัวสีเทาเข้ม และมีแถบสีชมพูอ่อนที่ท้อง 
  • ปลายครีบไม่มีเล็บ 
  • ลำตัวยาว 3 เมตร น้ำหนัก 450 กิโลกรัม 
  • กินพืชน้ำเป็นอาหาร 

3.แมนนาทีแอฟริกาตะวันตก หรือ แมนนาทีเซเนกัล 

  • อาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเล น้ำกร่อย และน้ำจืด ในประเทศเซเนกัล ประเทศแองโกลา ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของทวีปแอฟริกา 
  • ลำตัวมีสีน้ำตาลเทา ยาว 3-4 เมตร น้ำหนัก 700 กิโลกรัม 
  • กินพืชน้ำหรือพืชที่อยู่ในป่าชายเลนเป็นอาหาร 
  • ส่วนใหญ่อยู่ตัวเดียว แต่บางครั้งก็พบเป็นฝูงมากถึง 15 ตัว 

แมนนาที
ความต่างกันของ แมนนาที และพะยูน

หลายคนเห็นภาพแมนนาที อาจคิดว่าสัตว์ชนิดนี้คล้ายกับ "พะยูน" ผู้เขียนจึงขอนำข้อมูลของวัวทะเล และพะยูน จากเว็บไซต์ fishingthai และ trueid มาเล่า เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ว่าทั้งสองเหมือนและแตกต่างกันอย่างไร

เป็นญาติใกล้ชิดและรักสงบ

  • แมนนาทีกับพะยูน เป็นสัตว์ลูกด้วยนม กินพืชเป็นอาหาร และรักสงบทั้งคู่ ปกติพวกเขาชอบใช้เวลาส่วนมากไปกับการกินหญ้าทะเล 
  • ขนาดตัวใหญ่ เคลื่อนไหวเชื่องช้า

พะยูน
ลักษณะของร่างกาย

  • ที่ทั้งสองเหมือนกัน คือ ลำตัว กับส่วนหางที่แบนเหมือนปลาวาฬ ดวงตากับหูเล็ก
  • ใบหางต่างกัน โดยพะยูน มีใบหางสองแฉกเหมือนโลมา ส่วนแมนนาที มีใบหางกลมและไม่มีแฉก 
  • จมูกต่างกัน พะยูนมีรูจมูกอยู่ลำต้นที่คว่ำลงของส่วนที่มีลักษณะคล้ายงวง หรือปลายของของริมฝีปากบน  ขณะที่แมนนาที มีรูจมูกอยู่ตรงส่วนหน้าของงวง ซึ่งจะสั้นกว่าของพะยูน

แมนนาทีอยู่ในน้ำจืด ขณะที่พะยูนอยู่ในน้ำเค็ม

  • - "แมนนาที" อาศัยอยู่ในเขตน้ำจืด ส่วน "พะยูน" อาศัยในเขตน้ำเค็ม นอกจากนี้ แม้พะยูนจะชอบกินพืชใต้น้ำเช่นเดียวกับแมนนาที แต่พะยูนแทบไม่เคยเข้าไปในเขตน้ำจืดเลย

สถานภาพปัจจุบัน

  • ทั้งสองได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายให้พ้นจากการถูกล่า

จุดอื่นๆ ที่ต่างกัน

  • แมนนาทีโตได้ใหญ่และหนักกว่าพะยูนหลายเท่า

แมนนาที
ภัยคุกคามอันตราย 

แม้ในโลกของแมนนาที รวมถึง พะยูน อาจจะไม่มีผู้ล่าตามธรรมชาติ พวกเขาก็ยังถือว่าเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ จากการถูกทำลายแหล่งที่อยู่อาศัย เนื่องจากกระทำของมนุษย์ที่ขยายดินแดน รวมถึง การเดินทางทางน้ำ ทำให้สัตว์ทั้งสองได้รับบาดเจ็บหรือตายจากการชนกับเรือ หรือโดนใบพัดเรือ , การปนเปื้อนของน้ำจากขยะเองก็ส่งผลกระทบกับพวกเขาด้วย

ดังนั้น เนื่องในวันเล็งเห็นคุณค่าแมนนาที จึงเป็นวาระที่ดีที่จะได้ศึกษาข้อมูลของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสุดน่ารักนี้ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์แบบบูรณาการ ให้พวกเขาอยู่กับท้องทะเลต่อไป


ขอบคุณข้อมูลจาก : 

NIDA Library
https://news.trueid.net/detail/JdoPMNJeqMNO
https://fishingthai.com/manatee-and-dugong-dugon/#google_vignette
Environman
https://www.facebook.com/environman.th/photos/a.1757249537736819/2088572731271163/?type=3
มูลนิธิปันปัญญา
วิกิพีเดีย

logoline