svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

26 มี.ค. วันสถาปนากิจการรถไฟไทย เดินรถ "กรุงเทพ-อยุธยา" ครั้งแรก 128 ปีที่แล้ว

25 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

วันที่ 26 มีนาคม "วันสถาปนากิจการรถไฟ" วันนี้เมื่อ 128 ปีที่แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดเส้นทางรถไฟ "กรุงเทพฯ-นครราชสีมา" ในช่วงแรกเดินรถ สถานีกรุงเทพฯ–อยุธยา ระยะทาง 71 กิโลเมตร

กิจการรถไฟไทย ริเริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2398 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงได้รับพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการจากสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย แห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งในเครื่องราชบรรณาการนั้นมีรถไฟเล็กจำลองย่อส่วนจากรถจักรไอน้ำของจริงที่ใช้ในเกาะอังกฤษ ประกอบด้วยหัวรถจักรไอน้ำชนิดมีปล่องสูงและรถพ่วงครบขบวน ซึ่งเป็นที่สนพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในชณะนั้น

แต่ตลอดรัชสมัยของพระองค์ยังไม่มีการสร้างทางรถไฟเกิดขึ้น เพราะภาวะเศรษฐกิจของราชอาณาจักรสยามในขณะนั้นยังอยู่ในฐานะที่ไม่มั่นคงและยังมีจำนวนประชากรน้อยอยู่

กระทั่ง รัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงได้รับแรงบันดาลพระราชหฤทัยจากการทรงทอดพระเนตรการสร้างทางรถฟในชวาและทรงประทับรถไฟในอินเดีย พระองค์ทรงเห็นว่ารถไฟจะทำให้ราชอาณาจักรสยามมีความเจริญยิ่งขึ้น และจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงให้กับราชอาณาจักรได้ 
 

ในขณะนั้นราชอาณาจักรสยามกำลังถูกกดดันจากชาติตะวันตกในการล่าอาณานิคม ดังนั้นการสร้างทางรถไฟจึงได้เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2433 โดยมีประกาศพระบรมราชโองการ สร้างทางรถไฟสยามตั้งแต่กรุงเทพมหานครถึงนครราชสีมา ดังมีข้อความแสดงพระราชดำริบางตอนว่า..

“การสร้างหนทางรถไฟเดินไปมาในระหว่างหัวเมืองไกล เป็นเหตุให้ความเจริญแก่บ้านเมืองได้เป็นอย่างสำคัญอันหนึ่ง เพราะทางรถฟอาจจะชักย่นหนทางหัวเมืองซึ่งตั้งอยู่ไกลไปมาถึงกันยากให้กลับเป็นหัวเมืองใกล้ไปมาถึงกันได้โดยสะดวกเร็วพลัน การย้ายขนสินค้าไปมางเป็นการลำบาก ก็สามารถจะย้ายขนไปมาถึงกันได้โดยง่าย เย็นการเปิดโอกาสให้อาณาประชาราษฎร์ มีทางตั้งการทำมาหากินกว้างขวางออกไปและทำทรัพย์สมบัติกรุงสยามให้มากมียิ่งขึ้นด้วย ทั้งเป็นคุณประโยชน์ในการบังคับบัญชา ตรวจตราราชการบำรุงรักษาพระราชอาณาเขตให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขได้โดยสะดวก”

ในปี พ.ศ. 2430 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ เซอร์แอนดรู คลาก และบริษัทปันชาร์ด แมกทักการ์ด โลเธอร์ ดำเนินการสำรวจเพื่อสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา และมีทางแยกตั้งแต่เมืองลพบุรี - เชียงใหม่ 1 สาย จากเมืองอุตรดิตถ์ - ตำบลท่าเดื่อริมฝั่งแม่น้ำโขงอีก 1 สาย และจากเมืองเชียงใหม่ไปยังเชียงราย - เชียงแสนหลวงอีก 1 สาย โดยทำการสำรวจให้แล้วเสร็จเป็นตอน ๆ รวม 8 ตอน ในราคาค่าจ้างโดยเฉลี่ยไม่เกินไมล์ละ 100 ปอนด์ หรือประมาณ 24,500 บาทต่อกิโลเมตร ทั้งสองฝ่ายลงนามในสัญญา เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2430

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ทรงเปิดเส้นทางรถไฟสายกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2439 

ต่อมา เดือนตุลาคม พ.ศ. 2433 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนากรมรถไฟขึ้นเป็นครั้งแรกในสังกัดกระทรวงโยธาธิการ แรกเริ่มที่ก่อตั้งกรมรถไฟนั้น ทางราชการได้แบ่งส่วนราชการกรมรถไฟ ในกระทรวงโยธาธิการ ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 16 ตอน 24 ลงวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2442 หรือ ร.ศ. 118 ไว้ดังต่อไปนี้

ตำแหน่งข้าราชการกระทรวงโยธาธิการ รัตนโกสินทร ศก 118
กรมรถไฟ

  • กองกลาง
  • กองแบบอย่าง
  • เซกชั่นบางกอก
  • เซกชั่นปากเพรียว
  • เซกชั่นหินลับ
  • เซกชั่นหมวกเหล็ก
  • เซกชั่นจันทึก
  • เซกชั่นคลองไผ่
  • เซกชั่นสีคิ้ว
  • เซกชั่นโคราช
  • เซกชั่นท่าเรือ
  • เซกชั่นลพบุรี

พระราชทานธงกรมรถไฟ
พร้อมกันนี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ธงมีตราเครื่องหมายสำหรับกรมรถไฟ ตามประกาศกระทรวงโยธาธิการ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 16 ตอน 50 ลงวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2442 หรือ ร.ศ. 118 มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

“ธงช้างทรงเครื่องยืนแท่นตามพระราชบัญญัติธง ร.ศ. 118 มาตรา 5 ที่มุมมีตรารูปล้อรถมีปีกมีพระมหาพิไชยมงกุฎอยู่เบื้องบน”

26 มี.ค. วันสถาปนากิจการรถไฟไทย เดินรถ \"กรุงเทพ-อยุธยา\" ครั้งแรก 128 ปีที่แล้ว
รวมทั้ง ทรงพระราชทานพระบรมราชานุมัติให้กระทรวงโยธาธิการว่าจ้าง มิสเตอร์ จี. มูเร แคมป์เบลล์ สร้างทางรถไฟหลวงจากกรุงเทพ (หัวลําโพง) ถึงนครราชสีมา เป็นสายแรก เป็นทางขนาดกว้าง 1.435 เมตร และได้เสด็จพระราชดำเนินประกอบพระราชพิธีกระทำพระฤกษ์ เริ่มการสร้างทางรถไฟ ณ บริเวณย่านสถานีกรุงเทพ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2434 

ปัจจุบัน การรถไฟฯ ได้สร้างอนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวงเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานรำลึกเหตุการณ์สำคัญในอดีต และเพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณ เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2534 โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร เสด็จมาทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด

ปี พ.ศ. 2439 การก่อสร้างทางรถไฟสาย กรุงเทพฯ – นครราชสีมา สำเร็จบางส่วน พอที่จะเปิดการเดินรถได้ ซึ่งในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพระราชพิธีเปิดการเดินรถไฟเส้นทางรถไฟสายแรกของสยาม เดินรถช่วงแรกระหว่าง สถานีกรุงเทพฯ – อยุธยา ระยะทาง 71 กิโลเมตร และเปิดให้ประชาชนเดินทางไปมาระหว่าง กรุงเทพฯ – อยุธยา ได้ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2439 เป็นต้นไป

กรมรถไฟ หรือ การรถไฟแห่งประเทศไทย จึงถือเอาวันที่ 26 มีนาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนากิจการรถไฟจนถึงปัจจุบัน
 

logoline