svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

9 มีนาคม 2459 วันเกิด "ป๋วย อึ๊งภากรณ์" ผู้ที่ยูเนสโกยกเป็นบุคคลสำคัญของโลก

08 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

9 มีนาคม 2459 วันเกิด "ป๋วย อึ๊งภากรณ์" นักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญ อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ ผู้ได้รับการการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็น บุคคลสำคัญของโลก เมื่อปี 2558

ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นที่รู้จักกันดีใน ฐานะนักเศรษฐศาสตร์สำคัญของประเทศไทย อดีตเคยเป็นทั้งอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเคยเป็นสมาชิกของขบวนการเสรีไทย

ขณะที่บทบาททางการเมืองนั้น มีส่วนสำคัญในเหตุการณ์ทางการเมือง "ตุลาคม" ทั้งปี 2516 และ 2519 โดยแสดงความกล้าหาญ ในการส่งจดหมายในนาม "นายเข้ม เย็นยิ่ง" ถึงจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยให้กับสังคม จุดประกายสำคัญๆให้กับขบวนการ 14 ตุลาคม 2516 

ทั้งนี้ สเตฟาน คอลินยองส์ (Stefan Collingnon) นักวิชาการร่วมสมัยชาวเยอรมัน ได้กล่าวยกย่อง ดร.ป๋วยว่าเป็น “บิดาของเมืองไทยสมัยใหม่” (Founding Father of Modern Thailand) ในฐานะผู้วางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย

นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2508 ดร.ป๋วย ได้รับ รางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ และได้รับการยกย่องจาก องค์กรยูเนสโกให้เป็น บุคคลสำคัญของโลก ในปี พ.ศ. 2558
9 มีนาคม 2459 วันเกิด \"ป๋วย อึ๊งภากรณ์\" ผู้ที่ยูเนสโกยกเป็นบุคคลสำคัญของโลก

  เปิดประวัติ "ป๋วย  อึ๊งภากรณ์"  
ดร.ป๋วย เกิดวันที่ 9 มีนาคม 2459 ที่ตลาดน้อย เขตสัมพันธ์วงศ์ กรุงเทพฯ บิดาชื่อ นายซา เป็นชาวจีนอพยพ มารดาชื่อ นางเซาะเซ้ง สำเร็จการศึกษาแผนกภาษาฝรั่งเศส จากโรงเรียนอัสสัมชัญ พระนคร ในปี พ.ศ. 2476 และได้รับการคัดเลือกให้เป็นครูสอนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ระหว่างนั้นก็ได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง และในปี 2480 ได้ปริญญา ธรรมศาสตร์บัณฑิต 

ดร.ป๋วย เริ่มเป็นล่ามให้แก่อาจารย์ฝรั่งเศส ในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง จนได้สอบแข่งขันจนได้รับทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อทางเศรษฐศาสตร์และการคลังที่ ลอนดอน สคูล ออฟ อีโคโนมิกส์ ของมหาวิทยาลัยลอนดอนประเทศอังกฤษจนจบปริญญาเอก

ในช่วงที่ศึกษาที่อังกฤษนี้เอง ที่ ดร.ป๋วย ได้เข้าร่วมขบวนการเสรีไทยกับคนไทยในอังกฤษ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง (ขบวนการเสรีไทยจัดตั้งขึ้นใน 3 ประเทศ คือ ประเทศไทย ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศอังกฤษ) โดยมี นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้นำขบวนการเสรีไทยในประเทศไทย และดร.ป๋วย เคยเข้ามาปฏิบัติงานในประเทศไทยหลายครั้งแบบเป็นความลับ 
ดร.ป๋วย และ ปรีดี

  เส้นทางงานด้านเศรษฐกิจ  
ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ เข้ารับราชการในกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เมื่อปีพ.ศ. 2492  และอีก 4 ปีต่อมาได้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารของสภาพเศรษฐกิจแห่งชาติ  และได้ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยได้ 7 เดือน ก่อนถูกปลดจากเพราะเหตุการณ์ทางการเมือง 

กระทั่งปีพ.ศ. 2499 ดร.ป๋วย ได้เข้ารับตำแหน่งที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจการคลัง ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทยในอังกฤษระหว่างนี้ได้มีส่วนช่วยให้ไทยขายดีบุกและยางพาราแก่อังกฤษและประเทศในยุโรปได้มากขึ้น เมื่อไทยได้เข้าเป็นสมาชิกสภาดีบุกระหว่างประเทศ ดร.ป๋วย ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนไทย ได้รับเลือกเป็นประธานสภาดีบุกระหว่างประเทศ

กระในเวลาต่อมา ดร.ป๋วย ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกตำแหน่งหนึ่ง ในปลายปี 2502 ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดำรงตำแหน่งยาวนาน ถึง 12 ปี 

ผลงานของ ดร.ป๋วย ในขณะเป็นผู้ว่าการแบงค์ชาติ ถือว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่นคงแก่ระบบธนาคารพาณิชย์ โดยสามารถรักษาเสถียรภาพเงินตราทำให้เงินบาทได้รับความเชื่อถือทั้งในและนอกประเทศอย่างมาก
9 มีนาคม 2459 วันเกิด \"ป๋วย อึ๊งภากรณ์\" ผู้ที่ยูเนสโกยกเป็นบุคคลสำคัญของโลก   "ป๋วย อึ้งภากรณ์" วางรากฐานการศึกษา  
ดร. ป๋วย เข้ารับตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปีพ.ศ. 2507 โดยจะลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ถูกนายกรัฐมนตรียับยั้งไว้ ซึ่งขณะนั้นคณะเศรษฐศาสตร์ มีอาจารย์ประจำเพียง 4 คนเท่านั้น ทำให้ดร.ป๋วย ได้เริ่มมีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานการศึกษา โดยได้ปฏิรูปงานสำคัญ 4 ด้าน 
1. การปรับปรุงหลักสูตรปริญญาตรี 
2. การผลิตอาจารย์ 
3. เริ่มหลักสูตรปริญญาโท สอนเป็นภาษาอังกฤษ 
4. ริเริ่มโครงการบัณฑิตอาสาสมัคร

ดร.ป๋วย เร่งผลิตอาจารย์ โดยประกาศรับสมัครคนรุ่นใหม่ แล้วหาทุนส่งไปเรียนต่างประเทศ ทำให้คณะเศรษฐศาสตร์เติบโตขึ้น ภายในเวลาไม่นาน ผลงานที่เป็นรูปธรรมก็ปรากฎ จำนวนอาจารย์ประจำคณะที่มีเพียงไม่กี่คน เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีอาจารย์เพิ่มขึ้นนับร้อยในปี 2518 โดยส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับปริญญาโทและเอก
9 มีนาคม 2459 วันเกิด \"ป๋วย อึ๊งภากรณ์\" ผู้ที่ยูเนสโกยกเป็นบุคคลสำคัญของโลก
  จุดพลิกผันของชีวิต  
วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ดร.ป๋วย เผชิญกับเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญ เมื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถูกบุก นักศึกษาถูกสังหาร ดร.ป๋วยถูกกล่าวหาว่าเป็น "คอมมิวนิสต์" จนต้องเดินทางออกจากประเทศไปอยู่ประเทศอังกฤษ 

ในช่วง ดร.ป๋วย อยู่นอกประเทศ ได้เดินทางไปพบคนไทยในต่างประเทศ และบุคคลสำคัญในประเทศต่างๆ เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมนี สวีเดน เดนมาร์ก ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย เพื่อให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ เหตุการณ์บ้านเมืองในประเทศไทยเวลานั้น เพื่อเรียกร้องให้เกิดประชาธิปไตยในไทยอย่างสันติวิธี

กระทั่งปีพ.ศ. 2520 ได้เดินทางไปให้การต่อ คณะกรรมการวิเทศสัมพันธ์ สภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐอเมริกา ซึ่งสืบพยาน เรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ 6 ตุลา

กระทั่งวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้ถึงแก่อนิจกรรมที่บ้าน ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เนื่องจากเส้นโลหิตใหญ่ในช่องท้องโป่งแตก (aortic aneurysm) สิริอายุได้ 83 ปี ทางครอบครัวได้ทำการเผาศพและบรรจุอัฐินำกลับมาเมืองไทย วันที่ 16 สิงหาคม ก่อนที่ครอบครัวอึ้งภากรณ์ นำอังคารของ ดร.ป๋วยไปลอยทะเล ส่วนอัฐิบางส่วนนำไปบรรจุที่วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร
9 มีนาคม 2459 วันเกิด \"ป๋วย อึ๊งภากรณ์\" ผู้ที่ยูเนสโกยกเป็นบุคคลสำคัญของโลก ขอบคุณข้อมูลและภาพ


 

logoline