svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

"ภาษาลู" ภาษาชาว LGBTQ+ อยากฟังเขาคุยกันแซบ ๆ ต้องทำความรู้จัก

06 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ภาษาลู" ภาษาสากลชาว LGBTQ+ เมืองไทย อยากฟังเขาคุยกันให้แซบ ๆ ให้สับ ต้องทำความรู้จัก บอกเลยง่ายนิดเดียว (ที่เหลือยากหมด) งานนี้ใครพูดได้แสดงตัวหน่อย

จากปมร้อนในโซเชียล กรณีเหตุทะเลาะวิวาทระหว่างกลุ่ม LGBTQ+ ชาวไทย กับ LGBTQ+ ชาวฟิลิปปินส์ ที่บริเวณหน้าโรงแรมแห่งหนึ่ง ในซอยสุขุมวิท 11 เมื่อช่วงกลางดึกคืนวันที่ 4 มี.ค. ที่ผ่านมา จนขึ้นเทรนด์ X และแพลตฟอร์มโซเชียลต่าง ๆ ซึ่งชื่อเรียกเหตุการณ์นี้ในโซเชียลว่า "วันกะเทยผ่านศึก" 
\"ภาษาลู\" ภาษาชาว LGBTQ+ อยากฟังเขาคุยกันแซบ ๆ ต้องทำความรู้จัก
\"ภาษาลู\" ภาษาชาว LGBTQ+ อยากฟังเขาคุยกันแซบ ๆ ต้องทำความรู้จัก

เหตุการณ์ดังกล่าว ได้นำไปสู่การขยายประเด็นในแง่มุมต่างๆ ทั้งเรื่องการความขัดแย้ง ระหว่างกลุ่ม LGBTQ+ ชาวไทย กับ LGBTQ+ ต่างชาติ จากปมต่าง ๆ  , การเข้ามาประกอบอาชีพอย่างผิดกฎหมายของ LGBTQ+ ต่างชาติ , การประกอบอาชีพ sex worker , การเรียกเก็บส่วยในธุรกิจชาวหลากสี, หรือแม้แต่การพูดถึงแฟชั่นการแต่งตัวของชาว LGBTQ+ ที่อยู่ในเหตุการณ์ ฯลฯ
\"ภาษาลู\" ภาษาชาว LGBTQ+ อยากฟังเขาคุยกันแซบ ๆ ต้องทำความรู้จัก

และอีกแง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจ คือการใช้ "ภาษาลู" ของกลุ่ม LGBTQ+ ที่พบว่าในบริเวณที่เกิดเหตุ มีการใช้กันอย่างกว้างขวางในหมู่ชาว LGBTQ+ 

Nation STORY จะพาไปทำความรู้จัก "ภาษาลู" ของกลุ่ม LGBTQ+ และมีความสำคัญอย่างไร ทำไมชาว LGBTQ+ บ้านเราจึงใช้กันอย่างแพร่หลาย....
 

จากข้อมูลของ สารนิพนธ์ "ลาภูลาษูซูแล: ภาษาลูกับการสร้างอัตลักษณ์ของกลุ่มกะเทย" โดย ปุณยาพร รูปเขียน จากคณะศิลปศาสตร์ ภาควิชามานุษยวิทยา โบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นผู้จัดทำ และได้มีการพูดคุยเชิงลึกกับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ 10 คน เพื่อวิเคราะห์ถึงความสำคัญของภาษา ที่มีส่วนในการสะท้อนสังคมและอัตลักษณ์ประจำ ระบุว่า ที่มาของ "ภาษาลู" นั้น ยังไม่สามารถชี้ชัดได้

แต่จากการค้นคว้าพบว่า มีการใช้ "ภาษาลู" กันมานานกว่า 20 ปีโดยมีการค้นหาคำว่า "ภาษาลู" บนโลกอินเตอร์เน็ตครั้งแรกเมื่อปี 2006 และมีการเขียนบทความ "ภาษาลู รู้ไว้ไม่เสียหาย" ลงในเว็บไซต์ dek-d เมื่อปี 2007 ซึ่งอาจแปลได้ว่า ช่วงเวลาดังกล่าว ได้มีการใช้ภาษาชนิดนี้ หรือได้รับความนิยมแล้ว 

ทั้งนี้ บทความบนเว็บไซต์ dek-d ระบุว่า “ภาษาลูมาจากคนคุกพูดกัน เพื่อไม่ให้ผู้คุมรู้ว่าไปทำอะไรมา” ซึ่งตรงกับการเก็บข้อมูลจาก 2 ใน 10 ผู้ที่ถูกสัมภาษณ์ ที่ระบุว่า พวกเขาเคยถูกทักว่า ทำไมถึงพูดภาษาลู เคยติดคุกมาหรือ ถึงได้พูดภาษานี้ได้

บางแหล่งก็ระบุว่า เป็นภาษาท้องถิ่น ที่ใช้พูดกันมานานแล้ว คนที่ไม่เคยรู้จัก ก็อาจจะเคยได้ยินครั้งแรกจากคลับฟรายเดย์ ตอนความลับของมิ้นต์กับมิว ที่ใช้ภาษาลู เม้าธ์มอยผู้ชายกันในลิฟต์ หรือจากท่อนแร็ปในเพลง "พักก่อน" ของสาว "มิลลิ" และสำหรับดาราก็มีหลายคนเลย ที่รู้ภาษาลู เช่น นุ่น วรนุช, สาวปันปัน สุทัตตา, ใหม่ ดาวิกา และดาราคนอื่น ๆ อีกมากมาย    

ส่วนการที่ "ภาษาลู" ได้กลายเป็นภาษาของชาว LGBTQ+ นั้น ก็ยังไม่แน่ชัดในเรื่องที่มา แต่จากการเก็บข้อมูลพบว่า กลุ่มผู้ให้สัมภาษณ์ส่วนใหญ่ เริ่มใช้ภาษาลูครั้งแรก ในสมัยวัยรุ่น อีกทั้งสมัยก่อน กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ยังไม่สามารถเปิดเผยตัวได้มากนัก จึงต้องมีการรวมกลุ่มเพื่อสร้างอัตลักษณ์ของตัวเองขึ้นมา สอดรับกับเหตุผลที่กลุ่มผู้ให้สัมภาษณ์ เลือกใช้ภาษาลู โดยเรียง 5 ลำดับได้ ดังนี้ 

  • ไม่ต้องการให้คนนอกรู้เรื่อง, 
  • นินทา, 
  • พูดเรื่องทะลึ่งลามก หยาบคาย, 
  • สนุกสนาน สีสัน ดราม่า และจริตจะก้าน 
  • สะท้อนความเป็นพวกเรา ไม่ใช่พวกเขา 

วิธีการใช้ภาษาลูง่ายนิดเดียว (ที่เหลือยากหมด)

ภาษาลูมีหลักการ แต่ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว โดยเว็บไซต์ wongnai ได้มีการเผยแพร่ "คอร์สสอนภาษาลู 101 ฉบับเร่งรีบ" 

วิธีการใช้ภาษาลู จะมีการนำคำว่า "ลู" ไว้ด้านหน้าของคำที่ต้องการ หลังจากนั้นจึงนำคำมาผวน โดยยังคงตัวสะกดและวรรณยุกต์เดิมไว้ เช่น คำว่า "เสื้อ" ให้เติมคำว่า "ลู" ด้านหน้ากลายเป็น ลู – เสื้อ เมื่อนำมาผันจึงกลายเป็น เลื่อ – สู้ หรือ คำว่า "มาก" ที่เติมคำว่า "ลู" กลายเป็น "ลู – มาก" และกลายเป็นคำว่า ลาก – มูก

หลักไวยากรณ์ภาษาลู

1. คำที่เป็นปกติทั่วไป คำที่มีสระเสียงยาว (อา อี อือ อู เอ แอ โอ ออ เออ เอีย เอือ อัว ฤ ฤา )

ขั้นแรก : ให้นำ "ล" แทนพยัญชนะเดิมของพยางค์แรก เช่น โอเค ให้คิดแยกเป็นคำก่อน อย่าง โอ-เค และเติม "ล" เพิ่มเข้าไป จะได้ว่า โ(ล)อ และ เ(ล)ค

ขั้นสอง : จากนั้นนำพยัญชนะจากคำเดิม เติม "สระอู" เข้าไป เช่น โล อู-เล คู

ขั้นสาม : เราจะยังคงเสียงวรรณยุกต์ และตัวสะกดเหมือนเดิมไว้ จะได้ว่า "โลอูเลคู"

ตัวอย่างเช่น โอเค = โลอู เลคู 

2. คำที่มีพยัญชนะ ร, ล

ขั้นแรก : คำไหนที่มี ร, ล เราจะนำ "ซ" มาแทนพยัญชนะเดิม เช่น ลอง -> ซอง และ รัก -> ซัก

ขั้นสอง : จากนั้นให้เติม "สระอู" ลงในสระเสียงยาวและเติม "สระอุ" ลงในสระเสียงสั้น ที่พยัญชนะเดิม เช่น ลอง -> ซองลูง และ รัก -> ซักรุก

ขั้นสาม : ยังคงรูปเสียงวรรณยุกต์ และตัวสะกดไว้เหมือนเดิม จะได้ว่า "ซองลูงซักรุก"

ตัวอย่างเช่น ลองรัก = ซองลูง ซักรุก

3. คำที่มีสระอุ, สระอู

ขั้นแรก : ให้นำ "หล" แทนพยัญชนะเดิม

ขั้นสอง : นำพยัญชนะเดิม เติม "สระอี" ในสระเสียงยาว และเติม "สระอิ" ในสระเสียงสั้น

ขั้นสาม : คงรูปเสียงวรรณยุกต์ และตัวสะกดไว้เหมือนเดิม

ตัวอย่างเช่น กูด = หลูดกีด, สุก = หลุกสิก 

4. คำที่มีทั้งพยัญชนะ ร, ล และคำที่มีสระอุ, สระอู

ขั้นแรก : ให้นำ "ซ" แทนพยัญชนะ ร, ล ที่มีสระ อุ, อู

ขั้นสอง : คำที่มี ร, ล และสระอู ให้ใช้ "สระอี" ส่วนคำที่มี ร, ล และสระอุ ให้ใช้ "สระอิ" จำง่าย ๆ ตามสระคำสั้น-คำยาว

ขั้นสาม : คงรูปเสียงวรรณยุกต์ และตัวสะกดไว้เหมือนเดิม

ตัวอย่างเช่น หนูไม่รู้ = หลู หนี ไล่มู่ ซู้รี้ 

และสำหรับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญภาษาลู บางคนอาจเลือกตัดคำให้สั้นลง เช่น คำว่า ‘กะเทย’ จะเหลือแค่ กะเลย – ทูย เท่านั้น
\"ภาษาลู\" ภาษาชาว LGBTQ+ อยากฟังเขาคุยกันแซบ ๆ ต้องทำความรู้จัก


ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : http://www.sure.su.ac.th/xmlui/bitstream/handle/123456789/15269/BA_Poonyaporn_Roopkean.pdf
https://www.wongnai.com/articles/lou-language

 

logoline