svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ไขความจริงการศึกษาไทย "เรียนซ้ำชั้น" ยังมีอยู่ ยาขมที่ รร.-เด็ก ไม่อยากเจอ

04 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ไขความจริงระบบการศึกษาไทย เมื่อสังคมพากันวิตก กรณีครูโพสต์พฤติกรรมเด็กไทยเกินเยียวยา เรียนแบบมักง่ายก็ได้เลื่อนชั้น เพราะนโยบายห้ามซ้ำชั้น ความจริง มาตรการดังกล่าวยังมีอยู่ไหม หากไม่อยากใช้ยาแรง ยังมีทางไหนอีกบ้าง ช่วยพัฒนาการเรียนของเด็กได้อย่างยั่งยืน

ปมร้อน "ระบบการศึกษาไทย" ที่มีผู้คนจำนวนมากคาใจ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นผู้ปกครอง กรณีที่โซเชียลมีการแชร์เรื่องราวที่ครูคนหนึ่ง โพสต์ระบายความหนักใจ พฤติกรรมของเด็กนักเรียน ที่เขียนการบ้านส่งครูด้วยลายมือไม่สวย อ่านไม่ออก โดยมีการเรียกร้องให้ทางโรงเรียน ประกาศนโยบาย เรียนซ้ำชั้น อย่าปล่อยให้เด็กพูดต่อหน้าครูว่า “ไม่ทำ ไม่ส่ง เพราะยังไงก็ผ่านอยู่แล้ว” 

เรื่องราวครั้งนี้ ผู้คนในสังคมได้นำมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ส่วนใหญ่กังวลกับระบบการศึกษาไทยในปัจจุบัน มีผู้ปกครองจำนวนไม่น้อย เห็นด้วยกับการนำนโยบายซ้ำชั้นกลับมาใช้ พร้อมยกตัวอย่างที่พบเห็นหรือประสบมากับตัวเอง รวมถึงคนรอบข้าง 


สำหรับประเด็นการให้ "ซ้ำชั้น" นั้น ผู้คนในสังคมส่วนมากเข้าใจว่า กระทรวงศึกษาธิการ โดย สพฐ. ได้มีการยกเลิกนโยบาย ดังกล่าวไปแล้ว แต่ในความเป็นจริง "การซ้ำชั้น" ยังมีอยู่ แต่ทางกระทรวงศึกษาธิการ และโรงเรียนไม่อยากให้เกิดขึ้นกับนักเรียนคนใด เนื่องจากยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ใจชัดว่า การให้ "ซ้ำชั้น" จะเป็นผลดีอย่างไร เรื่องนี้จึงเป็นเหมือนยาขมของเกือบทุกโรงเรียนและของเด็ก เมื่อโรงเรียนจะให้เด็กเรียนซ้ำชั้น ปัจจุบันจึงไม่ค่อยปรากฏภาพนักเรียนซ้ำชั้นให้ได้กัน

Nation STORY จะพาไปไขความจริงว่า "มาตรการซ้ำชั้น" ในระบบการศึกษาของไทยนั้น ยังมีอยู่ไหมในปัจจุบัน เหตุใดจึงไม่ค่อยพบเห็นเด็กไทยซ้ำชั้น และมีทางออกปัญหาเด็กเรียนอ่อน เรียนแย่ ที่ดีกว่าการซ้ำชั้นหรือไม่.... 
 

ทั้งนี้ ในเรื่องของการ "ซ้ำชั้น" สพฐ. โดยกระทรวงศึกษาธิการ ได้ออกมาตรการ หรือแนวปฏิบัติ การเรียนซ้ำชั้น มาตั้งแต่ ปี 2559 ลงนามโดย นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ซึ่งเป็นเลขา กพฐ. ในสมัยนั้น โดย สพฐ. ได้ยืนยันว่า ไม่ได้มีนโยบายไม่ให้เด็กซ้ำชั้น จึงมีแนวทางมาให้ ผู้บริหารและครู ได้ปฏิบัติ ดังนี้ 

ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 และได้กําหนดแนวปฏิบัติการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ตามหลักสูตรดังกล่าว เพื่อให้สถานศึกษา นําไปปฏิบัติ นั้น เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ชัดเจน และตรงกันในประเด็นของการเรียนซ้ําชั้น สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงขอซักซ้อมความเข้าใจ ดังนี้
 

1. การวัดและประเมินผลการเรียน

ให้สถานศึกษาจัดให้มีการวัดและประเมินผลการเรียน ของผู้เรียนเป็นระยะระหว่างเรียน โดยใช้เทคนิคการวัดและประเมินอย่างหลากหลาย เพื่อตรวจสอบพัฒนาการ ความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของผู้เรียน ถ้าพบปัญหาหรือข้อบกพร่องในตัวผู้เรียน ต้องดําเนินการช่วยเหลือและ ซ่อมเสริมทันที โดยเฉพาะชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ต้องพัฒนาให้ผู้เรียนสามารถอ่านออก เขียนได้

2. การสอนซ่อมเสริม

เป็นการแก้ไขข้อบกพร่องและพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ ทักษะ หรือ เจตคติ/คุณลักษณะตามมาตรฐานการเรียนรู้/ตัวชี้วัดตามหลักสูตร กรณีผู้เรียนที่มีผลการประเมินไม่ผ่านเกณฑ์ หรือได้ระดับผลการเรียน “9” สถานศึกษาต้องจัดสอนซ่อมเสริมให้แก่ผู้เรียนก่อนที่จะสอบแก้ตัว โดยใช้เวลา นอกเหนือไปจากการสอนปกติ ทั้งนี้ ให้อยู่ในดุลยพินิจของสถานศึกษา

3. การสอบแก้ตัว ให้ผู้เรียนสอบแก้ตัว 2 ครั้ง โดยดําเนินการดังนี้

3.1 สอบแก้ตัวครั้งที่ 1 ให้ผู้เรียนยื่นคําร้องสอบแก้ตัว โดยให้ครูผู้สอนประจําวิชาหรือ ครูประจําชั้นสอนซ่อมเสริมและสอบแก้ตัว ให้เสร็จสิ้นก่อนเปิดภาคเรียนหรือในภาคเรียนแรกของปีการศึกษา ถัดไป

3.2 สอบแก้ตัวครั้งที่ 2 กรณีสอบแก้ตัวครั้งที่ 1 แล้วไม่ผ่าน หรือไม่มาสอบแก้ตัวใน ครั้งที่ 1 สถานศึกษาให้โอกาสสอบแก้ตัวอีก 1 ครั้ง โดยสถานศึกษาแต่งตั้งกรรมการสอนซ่อมเสริมและ สอบแก้ตัว ให้เสร็จสิ้นก่อนเปิดภาคเรียนหรือในภาคเรียนแรกของปีการศึกษาถัดไป

4. การเรียนซ้ำรายวิชา

ผู้เรียนที่ได้รับการสอนซ่อมเสริมและสอบแก้ตัว 2 ครั้งแล้ว ไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินรายวิชา หรือยังได้ระดับผลการเรียน “0” ให้สถานศึกษาดําเนินการดังนี้

4.1 ถ้าเป็นรายวิชาพื้นฐาน ให้เรียนรายวิชานั้น

4.2 ถ้าเป็นรายวิชาเพิ่มเติม ให้เรียนรายวิชานั้นหรือเปลี่ยนรายวิชาเรียนใหม่ ทั้งนี้ ให้อยู่ในดุลยพินิจของสถานศึกษา ในกรณีเปลี่ยนรายวิชาเรียนใหม่ ให้หมายเหตุในระเบียนแสดงผลการเรียนว่า เรียนแทนรายวิชาใด  ในการเรียนรายวิชาให้อยู่ในช่วงใดช่วงหนึ่งที่สถานศึกษาเห็นว่าเหมาะสม เช่น พักกลางวัน วันหยุด ชั่วโมงว่างหลังเลิกเรียน ภาคฤดูร้อน เป็นต้น

5.  การเรียนซ้ำชั้น หากพบปัญหาที่เกิดกับผู้เรียนในกรณีใดกรณีหนึ่ง ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเป็น ปัญหาต่อการเรียนในระดับที่สูงขึ้น ดังนี้

ระดับประถมศึกษา


1) ผู้เรียนไม่ผ่านรายวิชาเกินครึ่งหนึ่งของรายวิชาที่เรียน ตามโครงสร้างเวลาเรียนของ สถานศึกษา

2) ผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-2 เมื่อได้รับการประเมินแล้วยังอ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่ได้ คิดเลขไม่ได้

ระดับมัธยมศึกษา 

การเรียนซ้ําชั้นของผู้เรียนในระดับมัธยมศึกษา เมื่อผู้เรียนไม่ผ่านเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่ง หรือทั้ง 2 ข้อ ดังนี้

1) ผู้เรียนมีระดับผลการเรียนเฉลี่ยในปีการศึกษานั้นต่ํากว่า 1.00  และมีแนวโน้มว่าจะ เป็นปัญหาต่อการเรียนในระดับชั้นที่สูงขึ้น

2) ผู้เรียนมีผลการเรียน 6, ร, มส เกินครึ่งหนึ่งของรายวิชาที่ลงทะเบียนเรียน ในปีการศึกษานั้น

ทั้งนี้ การพิจารณาให้ผู้เรียน เรียนซ้ำชั้น หรือรายวิชาให้สถานศึกษาดําเนินการในรูปของคณะกรรมการ และให้สถานศึกษาแจ้งผู้ปกครอง และผู้เรียนทราบเหตุผลของการเรียนซ้ำชั้น
ไขความจริงการศึกษาไทย \"เรียนซ้ำชั้น\" ยังมีอยู่ ยาขมที่ รร.-เด็ก ไม่อยากเจอ
ไขความจริงการศึกษาไทย \"เรียนซ้ำชั้น\" ยังมีอยู่ ยาขมที่ รร.-เด็ก ไม่อยากเจอ

ทั้งนี้ มีตัวอย่างของโรงเรียน ที่ให้เด็กที่ไม่ผ่านเกณฑ์ซ้ำชั้นการศึกษา ปีการศึกษา 2566 ซึ่งเป็นการยืนยันว่า "การซ้ำชั้น" ยังมีอยู่ แต่โรงเรียนแทบทุกแห่งไม่อยากให้เกิดขึ้นกับเด็กหากไม่เกินที่จะเยียวยาจริงๆ 
ไขความจริงการศึกษาไทย \"เรียนซ้ำชั้น\" ยังมีอยู่ ยาขมที่ รร.-เด็ก ไม่อยากเจอ
ไขความจริงการศึกษาไทย \"เรียนซ้ำชั้น\" ยังมีอยู่ ยาขมที่ รร.-เด็ก ไม่อยากเจอ


เรียนซ้ำชั้น ดาบสองคมระบบการศึกษา เมื่อผลวิจัยชี้ชัดไมได้ทำให้อะไรดีขึ้น

มีงานวิจัยชี้การแก้ปัญหาเด็กเรียนอ่อน โดยวิธี "ซ้ำชั้น" ไม่ช่วยให้ผลการเรียนดีขึ้น กลับสร้างตราบาปให้เด็กหมดความนับถือตัวเอง เกิดปัญหาพฤติกรรม และเป็นปัจจัยให้ลาออกกลางคัน โดยงานวิจัยของยูเนสโก ศึกษาผลของการให้นักเรียนซ้ำชั้น หรือ grade repetition เขียนโดยนาย jere  brophy ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลจากทุกทวีปพบว่า

การให้เด็กที่เรียนอ่อนซ้ำชั้นนั้น ไม่ช่วยให้เด็กเรียนดีขึ้น เด็กอาจได้ผลการเรียนในปีนั้นดีขึ้น จากผลที่ถูกให้เรียนซ้ำ แต่ในระยะยาวเด็กก็ยังคงเป็นเด็กเรียนอ่อนเช่นเดิม ทั้งนี้ เพราะสาเหตุแท้จริงที่ทำให้เด็กเรียนอ่อน ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้ถูกจุด

ที่สำคัญการให้เด็กซ้ำชั้น ยังมีผลกระทบต่อพฤติกรรม อารมณ์และความสัมพันธ์ทางสังคมของเด็กด้วย เนื่องจากหากเด็กถูกซ้ำชั้น จะทำให้เขารู้สึกว่า เป็นการลงโทษและเป็นตราบาปทางสังคม ทำให้เด็กเกิดความเครียด หมดความนับถือในตัวเอง ลดความสัมพันธ์กับเพื่อน เกิดปัญหาพฤติกรรม ที่สุดเด็กจะตัดสินใจลาออกจาก รร.ไปเรียนที่อื่น หรือเด็กบางรายก็เลิกเรียนกลางคัน เพราะรู้สึกตัวเองไม่มีคุณค่า 
ไขความจริงการศึกษาไทย \"เรียนซ้ำชั้น\" ยังมีอยู่ ยาขมที่ รร.-เด็ก ไม่อยากเจอ

สำหรับในประเทศไทยเอง สพฐ. เคยได้รับรายงานว่า เด็กเลือกลาออกไปเรียน รร.เอกชนแทน เพื่อหนีการซ้ำชั้น และเด็กบางรายออกกลางคัน ทำให้เกิดปัญหา และที่ผ่านมาทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาต้องไปตามตัวเด็กกลับมาสู่ระบบการศึกษาโดยให้แล้วไปเรียนกับ กศน. แทน นอกจากนี้ยังมีข่าวเด็กคิดสั้น เพราะความเครียดจากการต้องเรียนซ้ำชั้นอีกด้วย
 

“ผลวิจัยชี้ชัดว่า การเรียนซ้ำชั้นไม่ส่งผลดีต่อเด็ก แต่การให้เด็กเรียนอ่อนเลื่อนชั้นได้ โดยมีครูช่วยสอนซ่อมเสริมให้ จะทำให้เด็กพัฒนาผลการเรียนได้ดีกว่าการให้เด็กเรียนซ้ำชั้น ถ้า รร. จัดระบบดูแลแก้ไขผลการเรียนของนักเรียนที่มีประสิทธิภาพ มีการสอนเสริมให้เด็กที่เรียนอ่อน และจริงจังกับการประเมินผลเด็กเพื่อนำผลประเมินมาพัฒนานักเรียนแล้วจะเป็นการดีที่ช่วยให้เด็กพัฒนาการเรียนได้ดีขึ้นอย่างแท้จริง ส่วนหากจำเป็นจะต้องให้เด็กเรียนซ้ำชั้นจริงๆ คิดว่าน่าจะเป็นกรณีที่เด็กขาดเรียนนานเพราะป่วยเท่านั้น” 


คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้มีการระบุว่า แม้จะมีผลวิจัยต่างประเทศออกมาเช่นนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่า สพฐ. จะปล่อยให้เด็กเลื่อนชั้นโดยอัตโนมัติ นโยบายให้เด็กตกซ้ำชั้นได้ยังคงอยู่ แต่ สพฐ. เพียงต้องการสื่อสารให้เข้าใจว่า การแก้ปัญหาเด็กเรียนอ่อนนั้น ไม่ควรจะมาคิดแต่การให้นักเรียนซ้ำชั้นเท่านั้น 
ไขความจริงการศึกษาไทย \"เรียนซ้ำชั้น\" ยังมีอยู่ ยาขมที่ รร.-เด็ก ไม่อยากเจอ

ขอบคุณข้อมูลจาก : เพจเฟซบุ๊ก Suchaya Pornsai 
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 
โรงเรียนเมืองกาฬสินธุ์
https://drive.google.com/file/d/1I2uJcvSaz-yoLi5qw9A4VoiVCj0WaLdi/view



 

logoline