svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

วันนี้ในอดีต 4 มีนาคม คดีสังหาร 4 อดีตรัฐมนตรี บทเรียนความรุนแรงการชิงอำนาจ

04 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

วันนี้ในอดีต 4 มีนาคม 2492 "คดีสังหาร 4 อดีตรัฐมนตรี" กลางถนนพหลโยธิน อีกหนึ่งหน้าบันทึกประวัติความรุนแรง ของเกมช่วงชิงอำนาจการเมืองไทย

4 มีนาคม วันนี้ในอดีตเมื่อ 75 ปีที่แล้ว หรือเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2492 ถือเป็นอีกวันหนึ่ง ที่มีความสำคัญกับหน้าประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทย กับกรณีการเกิดคดีสังหาร "4 อดีตรัฐมนตรี" ของประเทศไทยในคราวเดียวกัน ผู้เสียชีวิตประกอบด้วย "จำลอง ดาวเรือง , ถวิล อุดล , ทองเปลว ชลภูมิ, ทองอินทร์ ภูริพัฒน์" ทั้งหมดเป็นนักการเมือง สายของ "นายปรีดี พนมยงค์" อดีตนายกรัฐมนตรี 

เหตุการณ์ครั้งนี้ เกิดขึ้นในช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองไทย อยู่ระหว่างการช่วงชิงอำนาจกันอย่างดุเดือด ของ "กลุ่มทหารและอำนาจนิยม-กลุ่มอนุรักษ์นิยม-กลุ่มเสรีนิยมและสังคมนิยม"
จำลอง ดาวเรือง อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

 

โดยกลุ่มทหารและอำนาจนิยม นำโดย "จอมพล ป. พิบูลสงคราม" และกลุ่มที่รวมตัวกันเป็นคณะรัฐประหาร พ.ศ. 2490 นำโดย "พลโทผิน ชุณหะวัน" (เป็นผู้บัญชาการทหารบก )(28 พฤษภาคม พ.ศ. 2491 -  23 พฤษภาคม พ.ศ. 2497) ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กลุ่มนี้จะเสียอำนาจและลดบทบาทลง ก่อนที่จะกลับมามีอำนาจอีกครั้งหนึ่ง หลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2490

กลุ่มอนุรักษ์นิยมเป็นกลุ่มนิยมเจ้าและขุนนางเก่า มีผู้นำคนสำคัญเช่น ควง อภัยวงศ์, เสนีย์ ปราโมช และคึกฤทธิ์ ปราโมช กลุ่มนี้มีพรรคการเมืองของตัวเองคือ พรรคประชาธิปไตย และพรรคก้าวหน้า ก่อนที่ใน พ.ศ.2489 จะรวมตัวกันตั้งเป็นพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มอนุรักษ์นิยมจะมีบทบาททางการเมือง ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ในระหว่าง พ.ศ. 2488 - 2490 กลุ่มที่มีบทบาทมากกว่า คือกลุ่มเสรีนิยมและสังคมนิยม

กลุ่มเสรีนิยมและสังคมนิยม เป็นการรวมตัวอย่างหลวม ๆ ของกลุ่มที่สนับสนุน นายปรีดี พนมยงค์ และโดยมากเคยร่วมงานกันในกลุ่มเสรีไทย สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้แก่ กลุ่มข้าราชการพลเรือน ทหารเรือ ผู้ประกอบการและนักธุรกิจเอกชน ซึ่งรวมตัวกันอยู่ในพรรคแนวร่วมรัฐธรรมนูญ ที่มี พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นผู้นำ และกลุ่มของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคสหชีพ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากภาคอีสาน ซึ่ง นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์, นายถวิล อุดล, นายจำลอง ดาวเรือง เป็นแกนนำคนสำคัญของพรรคสหชีพ นายทองอินทร์ ได้เป็นรัฐมนตรีครั้งแรกใน พ.ศ. 2487 ส่วนคนอื่น ๆ ได้เป็นรัฐมนตรีในระหว่าง พ.ศ. 2488 - 2490 
นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
 

ปูมหลังการเมืองไทย เกมชิงอำนาจก่อนจุดเริ่มต้นความรุนแรง

ในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 "พลโทผิน ชุณหะวัน" และพวก ทำรัฐประหารยึดอำนาจจาก "รัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์" ทำให้กลุ่มทหารและอำนาจนิยม กลับคืนสู่อำนาจอีกครั้งหนึ่ง ในระยะแรกคณะรัฐประหารเชิญ "นายควง อภัยวงศ์" มาเป็นนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งรัฐบาล 

ก่อนที่จะบังคับให้ "นายควง อภัยวงศ์" ลาออกแล้วเชิญ "จอมพล ป.พิบูลสงคราม" มาเป็น "นายกรัฐมนตรี" เขาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 (8 เมษายน พ.ศ. 2491 - 16 กันยายน พ.ศ. 2500) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อีกตำแหน่งหนึ่ง (15 เมษายน พ.ศ. 2491 - 25 มิถุนายน พ.ศ. 2492)

ในช่วงเวลาดังกล่าว "จอมพล ป. พิบูลสงคราม" นายกรัฐมนตรี มีมือขวาอย่าง "พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์" โดยยุคนั้นเปรียบเป็นเหมือน "ยุครัฐตำรวจ" และเหนืออื่นใด "คณะรัฐประหาร" ของรัฐบาล "จอมพล ป." ได้เฝ้าติดตามและกวาดล้างศัตรูทางการเมืองอย่างดุเดือด

ไล่เรียงมาตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2490 มีการจับกุมศัตรูทางการเมืองจำนวนมาก ในข้อหาต่าง ๆ กัน บุคคลส่วนใหญ่ที่ถูกจับกุม เป็น "อดีตรัฐมนตรี" ในรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ และ "กลุ่มผู้สนับสนุน" นายปรีดี พนมยงค์"
นายถวิล อุดล

ซึ่งในช่วงเวลานั้น "นายทองอินทร์" ถูกจับกุมในข้อหามีอาวุธไว้ในครอบครอง "นายทองเปลว" ถูกจับกุมในข้อหาฉ้อราษฎร์บังหลวง ส่วน "นายถวิล" ถูกจับกุมในข้อหาทุจริตเงินเสรีไทย แต่ที่สุดก็ถูกปล่อยตัวไป 

ต่อมาในช่วง พ.ศ. 2491 "นายทองอินทร์" และ "นายถวิล" ก็ถูกจับกุมในข้อหากบฏแบ่งแยกดินแดนอีสาน ส่วน "นายจำลอง" ถูกจับกุมในข้อหาคอมมิวนิสต์ แต่ที่สุดก็ถูกปล่อยตัว เพราะไม่มีหลักฐานในการกระทำผิด ขณะที่ "นายทองเปลว" ถูกจับกุมในเหตุการณ์กบฏเสนาธิการ 1 ตุลาคม พ.ศ.2491 หลังออกจากที่คุมขัง ก็เดินทางไปลี้ภัยการเมืองที่ปีนัง 
นายทองเปลว ชลภูมิ

ถัดมาในปี พ.ศ. 2492 หลังเกิดการต่อสู้ชิงอำนาจอีกครั้ง ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 ระหว่างขบวนการประชาธิปไตย ที่นำโดย นายปรีดี พนมยงค์ กับรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นรัฐบาล ที่สืบเนื่องมาจากการรัฐประหาร พ.ศ. 2490

โดยเหตุการณ์ได้ยุติลงในเวลา 18.00 น. ของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 ผลปรากฏว่า ฝ่ายของนายปรีดีพ่ายแพ้ จึงถูกเรียกว่า "กบฎวังหลวง" ซึ่งฝ่ายกบฏได้ยอมแพ้ และแยกย้ายกันหลบหนี ต่อในวันที่ 1 มีนาคม 2492 หนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ได้ลงพาดหัวแถลงการณ์ของ "จอมพล ป. พิบูลสงคราม" นายกรัฐมนตรี  ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า

"ได้มีกลุ่มบุคคลก่อการ หวังจะยึดอำนาจการปกครองกลับคืน หลังจากการรัฐประหาร เมื่อปี พ.ศ. 2490 โดยกลุ่มบุคคลดังกล่าว ได้ทำการยึดพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกต อันเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง เป็นการกระทำที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง"

มีเปิดเผยชื่อหัวหน้าขบวนการคือ "นายปรีดี พนมยงค์" อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมออกประกาศตามจับและให้สินบนนำจับ ค่าหัวลดหลั่นกันลงไป เช่น นายปรีดี หัวหน้าขบวนการ มีรางวัลนำจับ 50,000 บาท , พล.ร.ต.สังวรณ์ สุวรรณชีพ รองหัวหน้า รางวัลนำจับ 30,000 บาท

และจากเหตุการณ์กบฏวังหลวง 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 ทำให้รัฐบาลได้อาศัยเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นข้ออ้างในการจับกุม และกวาดล้างศัตรูทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้ดำเนินการอย่างเข้มข้นกว่าเดิม พล.ต.ต.เผ่า ศรียานนท์ ได้ตั้งกองบัญชาการกวาดล้าง และจับกุมคณะก่อการดังกล่าวขึ้น ณ วังปารุสกวัน
ทหารหน้าพระบรมมหาราชวัง  

การกวาดล้างเริ่มตั้งแต่รุ่งเช้าของวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2492 นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์, นายถวิล อุดล และนายจำลอง ดาวเรือง ถูกจับกุมตัว ส่วนนายทองเปลว ชลภูมิ ได้รับโทรเลขลวงจากรัฐบาลว่า ภารกิจของปรีดีนั้นสำเร็จลุล่วงด้วยดี จึงได้เดินทางกลับเข้าประเทศไทยโดยเครื่องบิน และถูกจับกุมในวันที่ 1 มีนาคม ในข้อหากบฎ 

ระหว่างที่ถูกควบคุมตัวในข้อหากบฏ 4 อดีตรัฐมนตรี มีการถูกข่มขู่และกระทำทารุณกรรม จากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตลอดจนการสร้างพยานหลักฐานเท็จขึ้นมา เพื่อให้รับสารภาพ

"ย้อนนาทีสังหาร 4 อดีตรัฐมนตรี สายปรีดี"

กระทั่ง เมื่อมาถึงวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2492  "4 อดีตรัฐมนตรี" ซึ่งถูกคุมขังไว้ในที่ต่าง ๆ ถูกนำตัวขึ้นรถของตำรวจ หมายเลขทะเบียน กท. 10371 เพื่อนำไปคุมขังที่สถานีตำรวจบางเขน โดยอ้างเหตุความปลอดภัย ตำรวจที่ทำหน้าที่ควบคุม 4 อดีตรัฐมนตรีคือ "พ.ต.อ.หลวงพิชิต  สุรการ" โดยรับ "นายทองเปลว" ที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน  "นายจำลอง" ที่สถานีตำรวจนครบาลยานนาวา "นายถวิล"ที่สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง และ "นายทองอินทร์" ที่สถานีตำรวจนครบาลสามเสน

แต่เมื่อรถที่ไปรับตัว 4 อดีตรัฐมนตรี วิ่งมาถึงหลักกิโลเมตรที่ 12 ถนนพหลโยธิน เวลาประมาณ 03.00 น. ของวันที่ 4 มีนาคม 2492 ใกล้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน ผู้ต้องหาทั้งหมดถูกยิงเสียชีวิต ด้วยกระสุนไม่ต่ำกว่า 10 นัด ทั้งหมดอยู่ในสภาพที่ทุกคนยังสวมกุญแจมืออยู่ มีการส่งศพไปชันสูตรที่โรงพยาบาลกลาง 

หลังเกิดเหตุ กรมตำรวจในขณะนั้นแถลงว่า เกิดเหตุกลุ่มโจรมลายูพร้อมอาวุธครบมือ ดักซุ่มยิงเพื่อชิงตัวผู้ต้องหา มีการปะทะกับตำรวจ ทำให้ทั้ง 4 คน ถูกลูกหลงเสียชีวิต แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ตำรวจทั้งหมดราว 20 นายที่อยู่ในเหตุการณ์ ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตเลยแม้แต่รายเดียว 

ต่อมาศพของ "4อดีตรัฐมนตรี" ได้มีการนำตั้งบำเพ็ญกุศลที่ "วัดมกุฏกษัตริยาราม" ซึ่งภายในงานศพ มีตำรวจสายสืบและสันติบาล มาติดตามเฝ้าดูความเคลื่อนไหว ผู้ที่เข้าร่วมงานศพ "4 อดีตรัฐมนตรี" ตลอดเวลา ทำให้สังคมตั้งข้อสงสัยว่า "ทั้งหมดเสียชีวิตเพราะถูกกระสุนของโจรมลายูจริงหรือไม่"

และจากนั้นไม่นาน ก็ได้มีการฆาตกรรมนักการเมือง และบุคคลฝ่ายที่รัฐบาลเห็นว่า เป็นผู้ที่อยู่ตรงข้ามอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลาหลายปี เช่น นายเตียง ศิริขันธ์, นายหะยีสุหรง อับดุลกาเดร์, นายอารีย์ ลีวีระ

อย่างไรก็ตาม คดีนี้ได้ถูกรื้อฟื้น และตัดสินอย่างจริงจัง หลังการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2500 โดย "จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์" ศาลดำเนินคดีในปี พ.ศ. 2502 พบผู้ต้องหา 5 ราย ได้แก่ พล.ต.จ.ผาด ตุงคะสมิท, พล.ต.จ.ทม จิตรวิมล, ร้อยตำรวจโทจำรัส ยิ้มละมัย, ร.ต.ท.ธนู พุกใจดี และสิบตำรวจเอกแนบ นิ่มรัตน์ 

โดยศาลพิพากษาในปี พ.ศ. 2504 จำคุกตลอดชีวิตผู้ต้องหา 3 ราย คือ พล.ต.จ.ผาด, พล.ต.จ.ทม และ ส.ต.อ.แนบ ส่วน ร.ต.ท.จำรัส และ ร.ต.ท.ธนู ศาลยกฟ้อง ท่ามกลางข้อสงสัยของผู้คนในสังคมว่า ผู้ต้องหาเหล่านี้ เป็นผู้ต้องหาตัวจริงหรือไม่ 

ต่อมา ศาลฎีกาสรุปข้อเท็จจริงคดีนี้ไว้ว่า ผู้ตายทั้ง 4 คน เป็นนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลในขณะนั้น ทั้งเป็นบุคคลสำคัญในพรรคฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล และเคยเป็นรัฐมนตรีมาแล้ว ได้มีการกบฏขึ้นในระหว่างที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ในระยะติด ๆ กัน ถึง 2 ครั้ง ย่อมเป็นที่เข้าใจว่า เพราะพรรคพวกฝ่ายตรงข้ามเป็นผู้ก่อขึ้น

และมีรายงานว่า ผู้ตายได้ร่วมในการกบฏ จึงมีเหตุเพ่งเล็งถึงผู้ตายว่า ได้มีส่วนร่วมอยู่ด้วย แล้วผู้ตายก็ถูกจับกุมในระยะเวลาใกล้ชิดนั้น และถูกแยกย้ายควบคุมไว้ในสถานที่ต่าง ๆ กัน มีเจ้าพนักงานตำรวจควบคุมอยู่อย่างแข็งแรง ไม่มีเหตุที่จะต้องย้ายไปทำการควบคุมที่อื่นรวมกันไว้ทั้ง 4 คน

อย่างไรก็ตาม ในหนังสือ "13 ปี กับบุรุษเหล็กแห่งเอเซีย" ของ พ.ต.อ.พุฒ บูรณสมภพ นายตำรวจคนสนิทของ พล.ต.อ.เผ่า ซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุ ตอนหนึ่งได้บันทึกถึงคดีนี้ว่า ผู้ต้องหาทั้งหมดไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด ยิ่งโดยเฉพาะ ส.ต.อ.แนบ เป็นเพียงนายตำรวจชั้นผู้น้อย ที่ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ และไม่รู้จักกับผู้ต้องหาคนอื่น ๆ ด้วยซ้ำ ซึ่งตน (พ.ต.อ.พุฒ) ทราบว่า ผู้ลงมือสังหารจริง ๆ คือใคร แต่ไม่ขอเปิดเผย แต่การกระทำแบบนี้ ต้องใช้การประชุมในขั้นสูง และที่ประชุมต้องตัดสินร่วมกันว่า ต้องใช้วิธีเด็ดขาด นั่นคือใช้วิธีการที่เรียกว่า Eliminate คือการลบให้หายจากบัญชีพลเมืองของโลกไปเลย

และนี่คือหนึ่งในหน้าประวัติการเมืองที่ในอดีต ที่ครั้งหนึ่งเคยมีการใช้ความรุนแรงในการจัดการฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง เพื่อช่วงชิงอำนาจมาไว้อยู่กับฝ่ายของตนเอง


ขอบคุณข้อมูล : oknation
วิกิพีเดีย
https://pridi.or.th/th/content/2021/03/629
https://www.komchadluek.net/today-in-history/315324
https://th.wikipedia.org/wiki/กบฏวังหลวง
https://th.wikipedia.org/wiki/คดีฆ่า_4_อดีตรัฐมนตรี_พ.ศ._2492
https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_1778

logoline