2 มีนาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) ออกแถลงการณ์กรณีพิพาท ระหว่างแนวเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมากับแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ว่า ตามที่ได้ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชได้เข้าทำการรื้อถอนหมุดหลักฐาน ซึ่งเจ้าหน้าที่ของส.ป.ก.ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ในท้องที่หมู่ 10 บ้านเหวปลากั้ง ตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา อันอาจก่อให้เกิดเป็นประเด็นพิพาทในระหว่างส่วนราชการด้วยกัน นั้น
ส.ป.ก. ขอออกแถลงการณ์ยืนยันว่า
1. ที่ดินในบริเวณพิพาทเป็นที่ดินที่ ส.ป.ก.เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ เพื่อใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามมาตรา 26 (3) และมาตรา 36 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน ในท้องที่อำเภอสีคิ้ว อำเภอสูงเนิน และอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ให้เป็นเขตปฏิรูป ที่ดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งกรมแผนที่ทหารได้ตรวจสอบข้อมูล Field book ซึ่งเป็นการบันทึกการรังวัดขอบเขตของกรมอุทยานฯ เอง ตามมาตรฐานแผนที่และการรังวัดสากลแล้ว ยืนยันพื้นที่ข้อพิพาทไม่ได้อยู่ในเขตอุทยานฯ แต่ประการใด
2. ที่ดินในบริเวณพิพาทตามข้อ 1 นั้น ส.ป.ก.ได้รับมาจากการนำที่ดินที่จำแนกออกจากป่าเขาใหญ่เฉพาะพื้นที่ที่อยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติและเขตป่าสงวน (พื้นที่อยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ตามพระราชกฤษฎีกาที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2505) เนื้อที่ประมาณ 33,896 ไร่ ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ วันที่ 3 มีนาคม 2530 มอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับไปดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามข้อเสนอของคณะกรรมการพัฒนาที่ดินครั้งที่ 6/2527 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2527 ที่มีกรมป่าไม้ (ผู้รับผิดชอบงานอุทยานแห่งชาติในขณะนั้น) และส.ป.ก. ร่วมเป็นกรรมการ ซึ่งได้สำรวจเป็นที่ยุติแล้วว่า พื้นที่ที่ส่งมอบให้ส.ป.ก. ข้างต้นมีสภาพการใช้ประโยชน์โดยการประกอบเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่กว่า 86.25 %
3. ส.ป.ก. จึงมีอำนาจหน้าที่นำที่ดินเนื้อที่ประมาณ 33,896 ไร่ ที่ได้รับมอบมาข้างต้น (รวมถึงที่ดินบริเวณพิพาท) มาจัดให้แก่เกษตรกรตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 โดยไม่มีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการทับซ้อนของแผนที่แสดงแนวเขตในบริเวณพื้นที่พิพาทระหว่าง ส.ป.ก.กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช แต่ประการใด
อย่างไรก็ดี ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีนโยบายให้ปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐตามโครงการ One Map เพื่อให้ที่ดินที่ ส.ป.ก.ได้รับมาในบริเวณพิพาทไปอยู่ในแนวเขตอุทยานแห่งชาตินั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการปรับปรุงกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ และช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้สุจริตซึ่งเสียสิทธิตามกฎหมาย ว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจากผลกระทบดังกล่าวเพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาผลกระทบ ที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนจากการดำเนินงานปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐ จำนวน 10 ข้อ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติต่อไป
สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น นั้น ส.ป.ก.ยังคงยึดมั่นในหลักการว่า หากปรากฏข้อเท็จจริงใด ๆ ว่า มีเจ้าหน้าที่ของ ส.ป.ก.ได้ดำเนินการรังวัดจัดที่ดินในพื้นที่ที่ยังมีสภาพป่า ย่อมเป็นกรณีที่ไม่ชอบด้วยระเบียบและข้อตกลงอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในกรณีดังกล่าวนี้ ส.ป.ก.ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงตลอดจน ย้ายเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องออกจากพื้นที่เพื่อให้การตรวจสอบเป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายด้วยแล้วและหากพบว่าเจ้าหน้าที่ของ ส.ป.ก. ผู้ใดได้กระทำความผิดหรือ มีการจัดที่ดินโดยฝ่าฝืนเจตนารมณ์แห่งกฎหมายหรือกระทำการใดๆ ที่ไม่ถูกต้องอันก่อให้เกิดความเสียหายกับการดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ส.ป.ก. จะดำเนินการตามกฎหมายทั้งทางวินัย ทางแพ่ง และทางอาญา กับผู้เกี่ยวข้องให้ถึงที่สุด และในทางกลับกัน หากตรวจสอบแล้วพบว่า ส.ป.ก. ได้ดำเนินการจัดที่ดินที่ชอบด้วยระเบียบและกฎหมาย ก็เป็นกรณีสมควรที่เกษตรกรจะต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิกฎหมายและมีความชอบธรรมในการถือครองที่ดินของ ส.ป.ก. ต่อไป โดยไม่ควรที่จะมีหน่วยงานใดก็ตามรบกวนหรือรอนสิทธิของประชาชนเหล่านี้
อนึ่ง ส.ป.ก.จะยืนหยัดในการปฏิบัติหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิของเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรมให้เป็นไปตามเจตนารมณ์แห่งกฎหมายทุกประการและจะดำเนินการตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของ สป.ก. ที่ปฏิบัติหน้าที่มิชอบเพื่อพิสูจน์ทราบ และหากพบการกระทำความผิด จะดำเนินการตามกฎหมายโดยเคร่งครัดต่อไปสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม