svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

"รักฉันอย่าตามหาฉัน" เทรนด์ใหม่ทางออกปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

01 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"รักฉันอย่าตามหาฉัน" ทำตัวเองให้หายไป เทรนด์ใหม่ทางออกปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เมื่อความอดทน และกฎหมาย ไม่ตอบโจทย์อย่างแท้จริง แถมในต่างประเทศ ยังทำเป็นธุรกิจกันเป็นล่ำเป็นสัน

ปรากฎเป็นข่าวทางสื่อถี่ขึ้น สำหรับเรื่องราว "ความรุนแรง การทำร้ายร่างกันในครอบครัว" ที่ปัจจุบันมีความรุนแรง โหดร้าย เพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีตที่ผู้คนมักกล่าวว่า "ผัวเมียตีกันกันเดี๋ยวก็ดีกัน" แต่ในปัจจุบันพบว่า สุดท้ายมักกลายเป็นเรื่องเศร้า

เช่นกรณีของ "น้องนุ่น" ที่ถูกสามีจัดฉาก "คนหาย" แต่สุดท้ายกลายเป็นเรื่องเศร้า มีการทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต ก่อนจะมีการเผาอำพรางคดี โดยมีสาเหตุจาก ความหึงหวง และการควบคุมอารมณ์ 
กรณีคดีน้องนุ่น ถูกสามีจัดฉากคนหาย ก่อนพบเป็นการฆ่าอำพราง

หรืออย่างกรณีล่าสุด "มะเหมี่ยว" อดีตผู้สมัคร สส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่หายตัวปริศนา พร้อมลูกน้อยนานกว่า 12 วัน จนสามีต้องโพสต์ตามหาทางโซเชียล รวมถึงผ่านทางมูลนิธิกระจกเงา ก่อนที่จะปรากฎความจริงว่า การหายตัวอย่างปริศนา เกิดจากปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ด้วยการฝ่ายหญิงถูกทำร้ายร่างกายจนสุดจะทน ไม่สามารถกลับไปอยู่เป็นครอบครัวเดียวกันได้อีก
"มะเหมี่ยว" อดีตผู้สมัคร สส. ที่หายตัวเพราะทนถูกทำร้ายร่างกายไม่ไหว

ซึ่งจากข้อมูลของ "มูลนิธิกระจก" พบเรื่องราวที่น่าตกใจคือ ผู้ที่หายตัวจากปัญหาความรุนแรงในครอบครัวนั้น ผู้ถูกกระทำจำนวนไม่น้อย เลือกที่จะหายตัวเองไป เพื่อหลีกหนีจากปัญหาดังกล่าว รวมถึงปัญหาเช่นนี้ ก็มีในต่างประเทศเช่นกัน แถมยังมีการทำเป็นธุรกิจการช่วยให้หาย อย่างเป็นล่ำเป็นสัน

Nation STORY จะพาไปดูถึงข้อข้อมูลที่น่าตกใจดังกล่าวว่า ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น เกิดอะไรขึ้น และมีข้อกฎหมายเกี่ยวข้องกับความรุนแรงในครอบครัวอย่างไร และเราในฐานะผู้ที่พบ เห็นสามารถช่วยเหลือเบื้องต้นได้อย่างไรบ้าง........
 

เปิดข้อมูลน่าตกใจ คนจงใจหาย เมื่อครอบครัวไม่ใช่เซฟโซนอีกต่อไป

มูลนิธิกระจก ได้มีการเปิดเผยว่า กรณีหญิงสาวถูกประกาศตามหาในโลกออนไลน์ เมื่อมูลนิธิกระจกเงาตรวจสอบพบว่า ผู้ทำประกาศคือ สามีหรือแฟน ของคนในภาพนั้น ความสัมพันธ์ มีทั้งแบบเพิ่งคบหากันไม่นาน คบกันเนิ่นนานแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส กระทั่งแบบอยู่กินมีลูกเป็นพยานรัก  

ทุกครั้งเมื่อมูลนิธิกระจกเงา รับแจ้งเหตุสามี ภรรยาหรือคู่รักหายตัวไป สิ่งที่ต้องทำหลังคุยข้อมูลเบื้องต้น คือ การตรวจสอบใบแจ้งความ และขอคุยกับญาติที่แท้จริงของฝ่ายที่หายตัวไป 

การตรวจสอบในฐานะคนกลาง มักพบว่า  “คนหาย-ไม่ได้หาย” แต่สมัครใจหนีไป ไม่อยากอยู่ร่วมครอบครัวเดียวกันแล้ว  หลายกรณีมีเหตุผลว่า ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ทำร้ายทุบตี ,มีปัญหาด้านเศรษฐกิจ หรือแม้กระทั่งมีคนรักใหม่ แต่คนรักเก่าไม่ยอมเลิกรา

ปัญหาผัวหาย-เมียหนี มีสถิติเพิ่มสูงขึ้นทุกปี  ในปี 2566 ที่มาผ่าน มูลนิธิกระจกเงา รับแจ้งเหตุคนหายจากสาเหตุปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและแย่งความปกครองบุตรกว่า 404 กรณี
 

ความรุนแรงในครอบครัว ไม่ใช่แค่เรื่องในครอบครัว หลายครั้งฝ่ายที่ตามหาคนหายที่หนีไป มักใช้ลูกเป็นเครื่องมือ ในการเรียกร้องต่อรอง ซึ่งส่งผลกระทบต่อตัวเด็ก เพราะภาพและข้อมูลของเด็ก ถูกเผยแพร่ในโลกออนไลน์ จากความขัดแย้งของพ่อแม่ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของประกาศตามหา

และที่น่ากลัวกว่านั้น ความแค้นของความผิดหวัง มักปะทุกลายเป็นความรุนแรง ทั้งการทำร้ายตัวเอง ทำร้ายภรรยา หรือญาติภรรยา กระทั่งมีหลายเหตุการณ์ที่รุนแรงในระดับต้องตายกันทั้งบ้าน

ในสถานการณ์จริง ฝ่ายผู้ถูกกระทำยังไม่มีแนวทางใด ที่จะได้รับความช่วยเหลือให้รอดพ้น จากความรุนแรงนั้นได้ ในขณะผู้กระทำความรุนแรง ซึ่งจะเพิ่มระดับความรุนแรงขึ้น ก็ขาดคนรับฟังหยุดยั้งปัญหา เป็นความรุนแรงในครอบครัวอย่างแท้จริง ที่ต้องแก้ปัญหากันเอง แล้วกลายเป็นข่าวอาชญากรรมในไม่ช้า


คนหาย ที่เกิดจากความรุนแรงในครอบครัว ควรมีที่ปลอดภัยหลบหนีจากความรุนแรง มีคนกลางคอยรับฟังเพื่อให้คำปรึกษาและรักษาความลับ และต้องทำงานร่วมกับฝ่ายผู้กระทำความรุนแรงด้วย นี่ไม่ใช่ความรัก แต่เป็นความร้อนรุ่มที่พร้อมจะกลายเป็นระเบิดเวลาในอนาคต


"สิ่่งที่ควรทำ" เมื่อโดนคนในครอบครัวทำร้ายร่างกาย

สำหรับข้อกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัว มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ แต่สิ่งที่ควรปฏิบัติหลังเกิดเหตุ ควรดำเนินการดังต่อไป

แจ้งความดำเนินคดี

การทำร้ายร่างกายกัน อย่างไรก็ถือเป็นความผิดทางอาญา แต่ต้องดูต่อไปว่า การทำร้ายนั้นร้ายแรงแค่ไหน ได้รับบาดเจ็บแค่ไหน อย่างไรบ้าง ผู้ที่ถูกทร้ายควรถ่ายภาพบาดแผล ที่ถูกทำร้ายไว้ทุกจุด รวมถึงไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจร่างกาย ให้หมอเป็นผู้ประเมิน ออกความเห็นเป็นใบรับรองแพทย์ มาเพื่อใช้ในการแจ้งความต่อไป โดยจะต้องแจ้งความภายใน 3 เดือน ไม่เช่นนั้นจะถือว่า คดีจะขาดอายุความ

ผู้ถูกกระทำสามารถแจ้งตำรวจได้เลยว่า ขอแจ้งความเรื่องความรุนแรงในครอบครัว เนื่องจากโดนทำร้ายร่างกายมา ซึ่งทำให้นอกจากผู้กระทำ จะต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายอาญาแล้ว ยังอาจต้องรับผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน

และหากมีการกระทำความผิด ฐานใช้ความรุนแรงในครอบครัว โดยทำร้ายคู่กรณี จนได้รับบาดเจ็บตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 แล้ว จะกลายเป็นเรื่องของอาญาแผ่นดิน จะยอมความกันไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม กฎหมายยกเว้นให้กรณี ที่เป็นการทำร้ายไม่ถึงขั้นสาหัส ให้สามารถยอมความกันได้ เพราะเป็นเรื่องในครอบครัว และสุดท้ายหลายกรณีก็มักจบลงด้วยลักษณะนี้ 

ใช้เป็นเหตุฟ้องหย่าการใช้ความรุนแรงในครอบครัว หรือถูกคู่ชีวิตทำร้ายร่างกายนั้น อาจจะกลายเป็นเหตุให้ใช้ฟ้องหย่าได้ โดยจะกำหนดไว้ว่า สามีหรือภริยาทำร้ายหรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาท หรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่ง หรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้ 

อย่างไรก็ตาม การจะใช้เรื่องการโดนคู่ชีวิตทำร้ายร่างกาย มาเป็นเหตุฟ้องหย่า การทำร้ายนั้นจะต้องร้ายแรงด้วย ซึ่งเรื่องความร้ายแรง ก็เป็นดุลยพินิจของศาลในการมองว่า แบบไหนร้ายแรง แต่ก็มีคำพิพากษาฎีกา กรณีที่ภรรยาโดนสามีทำร้ายร่างกาย ด้วยการใช้ไม้ตีจนภรรยาได้รับอันตรายแก่กาย ซึ่งศาลคดีอาญาพิพากษาลงโทษปรับ 1,000 บาท และฝ่ายภรรยาก็ไม่ได้พาแพทย์ที่ตรวจบาดแผลของตนมานำสืบว่า บาดแผลที่ได้รับร้ายแรงแค่ไหน ศาลจึงมองว่ายังไม่ร้ายแรง

ดังนั้น กรณีที่ถูกทำร้ายด้วยการใช้ไม้ หรือก้อนหิน หรือวัตถุอื่นใด ผู้ถูกกระทำควรรีบไปหาแพทย์เพื่อตรวจบาดแผล และควรนัดแพทย์ผู้ตรวจมาเบิกความที่ศาล ให้เห็นถึงความร้ายแรงด้วย ซึ่งหากถูกคู่กรณีกระทำจนติดเป็นนิสัย แบบนี้อย่างไรก็ตามฟ้องหย่าได้ 

ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงในครอบครัว 

มาตรา 391 ผู้ใดใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือ จิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ยกตัวอย่างเช่น ตบหน้ามีรอยแดงๆ ชกต่อยเพียงฟกช้ำไม่มีเลือดไหล ศีรษะโน เป็นต้น

มาตรา 295 ผู้ใดทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 296 ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ถ้าได้กระทำต่อบุคคลเฉพาะเจาะจง เช่น บุพการี เจ้าพนักงาน เป็นต้น หรือพฤติการณ์พิเศษ เช่น การวางแผนล่วงหน้า กระทำทารุณกรรม เป็นต้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 297 ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตราย สาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 ถึง 200,000 บาท โดยกำหนดลักษณะบาดแผลซึ่งถือเป็นอันตรายสาหัสไว้ 8 ลักษณะ เช่น ตาบอด ใบหน้าเสียโฉมอย่างติดตัว แท้งลูก ป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาหรือทำงานไม่ได้เกินกว่า 20 วัน เป็นต้น

แล้วถ้าเห็น ผัวเมีย ทำร้ายร่างกายกัน ช่วยอะไรไม่ได้จริงหรือ?

เรื่องของการทำร้ายร่าง กันระหว่างสามีภรรยา กรณีที่เกิดนอกบ้าน หรือไม่ใช่ที่ลับตา หากพลเมืองดีเข้าไปห้ามหรือช่วย มักจะตามมาด้วยคำว่า "เรื่องของผัวเมียอย่ายุ่ง" แต่อย่างไรก็ตาม กรณีเหล่านี้ผู้ที่เห็นเหตุการณ์ สามารถเข้าไปช่วยห้าม หรือช่วยเหลือได้ เนื่องจากเป็นเหตุซึ่งหน้า ประชาชนมีสิทธิจับผู้ทำความผิดได้ ผู้พบเห็นการกระทำความรุนแรงในครอบครัว มีหน้าที่แจ้งเจ้าพนักงานให้ทราบ โดยได้รับความคุ้มครอง ไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา ทางปกครอง

หากอยากจะช่วย ควรทำอย่างไร?

1. ตั้งสติให้ดีก่อนหาทางช่วยเหลือ

- พบเห็นคนอื่น “ตกอยู่ในอันตราย” หากไม่เข้าช่วยเหลือ ผู้ถูกทำร้ายอาจเจ็บสาหัสหรือตาย ซึ่งตนเอง “อาจช่วยได้” และประเมินเหตุการณ์แล้ว “ไม่น่าจะต้องกลัวเป็นอันตราย” แก่ตนเองหรือผู้อื่น

2. เข้าไปห้ามและเจรจาไกล่เกลี่ย ถ้าประเมินสถานการณ์แล้วคนร้ายไม่มีอาวุธ สามารถเข้าแยกตัวออกผู้ถูกทำร้ายออกจากคนก่อเหตุ

3. รีบตามคนมาช่วยร่วมด้วยหาวิธี และหาหนทางตามคนมาช่วยให้ได้มากที่สุด เพื่อช่วยระงับเหตุไม่ให้ลุกลามบานปลาย เช่น รปภ. ที่อยู่ในจุดเกิดเหตุ

4. โทรแจ้งหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือได้เร่งด่วน
- ตำรวจ โทร. 191
- ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300
- ศูนย์ช่วยเหลือเร่งด่วน สายด่วน 1507, 1578
- มูลนิธิปวีณาเพื่อเด็กและสตรี สายด่วน 1134

พบเห็นคนถูกทำร้าย ไม่มีเหตุสมควรกลัวเป็นอันตราย ไม่เข้าไปช่วย อาจมีความผิดฐาน พบเห็นคนอื่นตกอยู่ในอันตราย “ที่ตนอาจช่วยได้” และ “ไม่น่าจะต้องกลัวเป็นอันตราย” แก่ตนเองหรือผู้อื่น แต่ไม่ช่วยตามความจำเป็น อาจมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อย่างไรก็ตาม ข้อกฎหมายได้ยกเว้น ผู้พบเห็นคนถูกทำร้าย มีเหตุสมควรกลัวเป็นอันตราย แต่ไม่เข้าไปช่วย โดยไม่มีความผิด
- ผู้ก่อเหตุมีอาวุธ
- ผู้ก่อเหตุขู่ว่ามีอาวุธ, ทำร้าย
- ผู้ก่อเหตุเป็นผู้ชาย แต่ผู้เห็นเหตุการณ์เป็นผู้หญิง
\"รักฉันอย่าตามหาฉัน\" เทรนด์ใหม่ทางออกปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

รู้จัก “พาคนหนี” ธุรกิจที่เกิดขึ้นเพราะ ครอบครัวไม่ใช่เซฟโซน

เว็บไซต์ BrandCase เปิดเผยว่า ในญี่ปุ่น ปี 2022 มีบุคคลหายสาบสูญ สูงถึง 80,000 กว่าคน ซึ่งผู้คนในจำนวนหนึ่ง ไม่ได้หายไปเพราะถูกลักพาตัว ฆาตกรรม หรือภัยพิบัติแต่อย่างใด แต่พวกเขากลับเลือกที่จะ หายตัวไปเอง..

กลุ่มคนเหล่านี้ถูกเรียกว่า Jouhatsu หรือในภาษาญี่ปุ่น แปลว่า ระเหย หรือในอีกความหมายหนึ่งคือ  กลุ่มคนที่จงใจหายตัวไป หรือย้ายถิ่นฐาน เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ หลีกหนีเรื่องที่น่าเศร้า ไม่ว่าจะเป็นเพราะ การตกงาน ครอบครัวที่มีการใช้ความรุนแรง หรือการมีหนี้สินท่วมตัว

เมื่อเรื่องเป็นแบบนี้ ทำให้เกิดธุรกิจสีเทา ๆ ที่เรียกว่า “Night Moving” หรือธุรกิจ “พาคนหลบหนี” ขึ้นมา ซึ่งธุรกิจนี้จะช่วยลูกค้าตั้งแต่

- จัดหาที่พักใหม่ที่คนอื่นสามารถพบเจอได้ยาก
- พาคนหลบหนี
- ขนย้ายของ
-ไปจนถึงลบหลักฐานการหลบหนี ที่สามารถใช้ตามหาตัวของลูกค้าได้

ตัวอย่างบริษัทหนึ่งที่ทำธุรกิจนี้ ชื่อว่า Yonigeya TS Corporation มีสาขาทั้งหมด 22 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศญี่ปุ่น โดยบริษัทสามารถคิดค่าบริการในแต่ละครั้ง ได้ถึงหลักหมื่น ไปจนถึงหลักแสนบาท

สาเหตุทำไมธุรกิจ Night Moving ถึงมีความโดดเด่นในประเทศญี่ปุ่น มีเหตุผลหลัก 2 อย่างดังนี้

1. สังคมญี่ปุ่นมีความกดดันสูง และมีแนวคิดว่า ทุกคนต้องประสบความสำเร็จ ทำให้หลายคนที่กดดัน หรือล้มเหลวในชีวิตบางส่วน ต้องการเลือกใช้บริการนี้

2. ญี่ปุ่นให้สิทธิ์ในความเป็นส่วนตัวสูง แม้ครอบครัวจะอยากตามหาคนหายมากขนาดไหนก็ตาม แต่กฎหมายของญี่ปุ่นจะไม่ให้สิทธิ์แก่ครอบครัว หรือคนอื่นใดในการติดตามธุรกรรมผ่าน ATM รวมถึงการใช้กล้องวงจรปิดเป็นเบาะแส

มีเพียงแค่ 2 กรณีเท่านั้น ที่ตำรวจจะสามารถเข้ามาแทรกแซงได้คือ ผู้ที่หายตัวไปนั้น ถูกสงสัยว่า ก่ออาชญากรรม หรือมีหลักฐานว่าเสียชีวิต จากการฆ่าตัวตายเท่านั้น และแม้ว่าจะมีนักสืบเอกชน ที่คนทั่วไปสามารถจ้าง เพื่อตามหาคนหายได้ แต่ก็มีค่าบริการที่สูงอยู่ดี โดยมีราคาค่าบริการที่ราว ๆ 18,000 บาทต่อวัน ทำให้การตามหาคนหายในญี่ปุ่น กลายเป็นเรื่องที่ทำได้ค่อนข้างยาก จนทำให้สุดท้ายแล้วหลายครอบครัว ก็ไม่ได้แจ้งความ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตามหาคนหาย เพราะพวกเขาก็รู้สึกละอายใจ ที่เป็นหนึ่งในสาเหตุเช่นกัน
\"รักฉันอย่าตามหาฉัน\" เทรนด์ใหม่ทางออกปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

ขอบคุณข้อมูล : https://www.brandcase.co/40617
มูลนิธิกระจกเงา
MKC Legal Office
สำนักงานกิจการยุติธรรม
ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300
อ้างอิง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ,296,297,297,391
พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 (มาตรา 4, 23)
กฎหมายน่ารู้ : บ้านไม่ใช่เวทีมวย! เราจึงต้องช่วยหยุดความรุนแรง

 

 

logoline