svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เปิดหลักเกณฑ์เนรเทศต่างชาติ พฤติการณ์แบบไหน เข้าข่ายถูกเพิกถอนวีซ่า

Nation STORY ชวนอ่านหลักเกณฑ์เนรเทศต่างชาติ พฤติกรรมแบบไหน เข้าข่ายถูกเพิกสั่งถอนการอนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรไทย

ความคืบหน้ากรณี "ฝรั่งเตะหมอ" จนสังคมออกมาเรียกร้องให้เนรเทศ ด้าน นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต มีแนวคิดจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบชอบความประพฤติของชาวต่างชาติ ที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตผ่านคณะกรรมการ โดยมีด่านตรวจคนเข้าเมืองภูเก็ต เป็นเลขานุการ ซึ่งกระบวนการต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมาเริ่มมีชาวต่างชาติบางคนประพฤติตนไม่เหมาะสม จึงต้องนำกรณีหรือคดีต่างๆ เข้าสู่คณะกรรมการชุดนี้ ถ้าเกิดว่าเข้าข่ายในการเพิกถอนวีซ่า ก็จะดำเนินการอย่างเด็ดขาด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเนรเทศต่างชาติออกนอกราชอาณาจักรไทย มี 2 กรณี ดังนี้

1.การส่งผู้ร้ายข้ามแดน ตามพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551 โดยหลักการทั่วไปในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน

ต้องเป็นความผิดอาญาของทั้ง 2 ประเทศ

  • มีโทษประหารชีวิต หรือมีโทษจำคุก หรือโทษจำกัดเสรีภาพในรูปแบบอื่นตั้งแต่ 1  ปีขึ้นไป

ไม่เข้าลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายการส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้น

  • เป็นความผิดที่ระบุไว้สนธิสัญญา และไม่ใช่ความผิดที่มีลักษณะทางการเมืองหรือเป็นความผิดทางทหาร ทั้งนี้ ความผิดทางการเมืองในกรณีนี้ไม่รวมถึงความผิดเกี่ยวกับการปลงพระชนม์ ประทุษร้ายต่อร่างกายหรือเสรีภาพของประมุขแห่งรัฐ ผู้นำรัฐบาล หรือสมาชิกโดยตรงในครอบครัวของบุคคลนั้น ในกรณีที่มิได้มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกันประเทศผู้ร้องขอต้องแสดงโดยชัดแจ้งว่าจะส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้แก่ประเทศไทยในทำนองเดียวกันเมื่อประเทศไทยร้องขอซึ่งเป็นไปตามหลักต่างตอบแทน

ต้องไม่เป็นการพิจารณาคดีซ้ำ

  • บุคคลซึ่งถูกร้องขอให้ส่งข้ามแดนนั้นจะต้องไม่เคยได้รับการพิจารณาคดีจากศาลไทยหรือศาลของประเทศผู้ร้องขอในการกระทำอย่างเดียวกันกับที่มีการร้องขอให้ส่งข้ามแดน และศาลไทยหรือศาลของประเทศผู้ร้องขอได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ปล่อยตัว หรือพิพากษาให้ลงโทษ และผู้นั้นได้พ้นโทษแล้ว หรือได้รับการอภัยโทษหรือนิรโทษกรรมหรือคดีขาดอายุความหรือมีเหตุอื่นใดซึ่งไม่สามารถดำเนินคดีแก่บุคคลนั้น

2. เนรเทศตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522

มาตรา 53 คนต่างด้าวซึ่งเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรแล้วภายหลังปรากฏว่าเป็นบุคคลซึ่งมีพฤติการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 12 (7) หรือ (8) หรือเป็นบุคคลตามมาตรา 12 (10) หรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา 43 วรรคสอง หรือเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 44 หรือเป็นผู้ได้รับโทษตามมาตรา 63 หรือมาตรา 64 ให้อธิบดีเสนอเรื่องไปยังคณะกรรมการ ถ้าคณะกรรมการเห็นว่าควรเพิกถอนการอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ก็ให้เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีเพื่อสั่งเพิกถอนการอนุญาตต่อไป

มาตรา 12 ห้ามมิให้คนต่างด้าวซึ่งมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้เข้ามาในราชอาณาจักร

(7) มีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่าเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคม หรือจะก่อเหตุร้ายให้เกิดอันตรายต่อความสงบสุขหรือความปลอดภัยของประชาชนหรือความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือบุคคลซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างประเทศได้ออกหมายจับ

(8) มีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่าเข้ามาเพื่อการค้าประเวณี การค้าหญิง หรือเด็ก การค้ายาเสพติดให้โทษ การลักลอบหนีภาษีศุลกากร หรือเพื่อประกอบกิจการอื่นที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

(10) รัฐมนตรีไม่อนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรตามมาตรา 16

มาตรา 43 วรรคสอง เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบเกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศที่นำเข้ามาลงทุน คนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรตามวรรคหนึ่งต้องแสดงฐานะการเงินตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองปีแต่ไม่เกินห้าปี ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร

มาตรา 44 ห้ามมิให้คนต่างด้าวผู้ใดเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรถ้าปรากฏว่า

(1) เป็นผู้เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาของศาลไทยหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดลหุโทษหรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดที่ยกเว้นไว้ในกฎกระทรวง

(2) เป็นผู้ไม่สามารถประกอบการหาเลี้ยงชีพได้ เพราะกายพิการหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือมีโรคอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

ความใน (2) มิให้ใช้บังคับแก่คนต่างด้าวผู้เป็นบิดา มารดา สามี ภริยา หรือบุตรของบุคคลซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร และมีฐานะที่จะเลี้ยงดูซึ่งกันและกันได้

มาตรา 63 ผู้ใดนำหรือพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรหรือกระทำการด้วยประการใดๆ อันเป็นการอุปการะหรือช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกแก่คนต่างด้าวให้เข้ามาในราชอาณาจักร โดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

มาตรา 64 ผู้ใดรู้ว่าคนต่างด้าวคนใดเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ ให้เข้าพักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวนั้นพ้นจากการจับกุม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท

ผู้ใดให้คนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักร โดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้เข้าพักอาศัย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นรู้ว่าคนต่างด้าวดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า ตนไม่รู้โดยได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำเพื่อช่วยบิดา มารดา บุตร สามี หรือภริยาของผู้กระทำ ศาลจะไม่ลงโทษก็ได้

การขอกลับเข้ามาในประเทศไทย (ขอปลดแบล็กลิสต์)

คนต่างชาติที่ถูกเนรเทศหรือถูกผลักดันให้ออกนอกราชอาณาจักรไทย และประสงค์จะขอกลับมาเข้ามาในราชอาณาจักรไทยอีกครั้งจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อระยะเวลาที่ถูกผลักดันให้ออกนอกราชอาณาจักรผ่านพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี  ทางบุคคลนั้นก็มีสิทธิที่จะมาร้องขอคณะกรรมการของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ดำเนินการถอนแบล็กลิสต์ได้  ทั้งนี้ก็แล้วแต่กรณีเช่นกัน แต่หลักๆแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการ ซึ่งหลักเกณฑ์การพิจารณาปลดแบล็กลิสต์ในการห้ามเข้ามาในราชอาณาจักรไทยนั้น หลักทั่วไปจะพิจารณา ดังนี้

  • เมื่อกลับเข้ามาในประเทศไทยอีกครั้ง จะก่อปัญหาต่อสังคมไทยอีกหรือไม่
  • โทษที่เขาได้รับเป็นโทษที่สมควรที่จะเข้ามาในราชอาณาจักรได้หรือไม่
  • คนต่างด้าวมีบุตรมีภรรยาอยู่ในเมืองไทยที่จะต้องกลับมาอุปการะเลี้ยงดู

หากการกระทำความผิดของคนต่างด้าว ไม่ใช่ความผิดที่ร้ายแรง แต่ถูกส่งตัวกลับออกไป ต่อมาได้ขอปลดแบล็กลิสต์ก็มีเหตุผลที่คณะกรรมการจะพิจารณาว่าจะอนุญาตให้เข้าประเทศหรือไม่ให้เข้าก็ได้ แต่ส่วนใหญ่เมื่อเป็นกรณีในลักษณะนี้ คือ มีภาระอยู่ที่เมืองไทย มีภรรยาคนไทย มีลูกอยู่ในไทย ที่จะต้องกลับมาอุปการะเลี้ยงดู และความผิดนั้น ไม่ใช่ความผิดโดยกมลสันดาน หรือความผิดที่แก้ไม่ได้จริงๆ โดยหลักแล้วก็จะพิจารณาอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรไทยได้

 

ขอบคุณข้อมูล : เคเคบี อินเตอร์เนชั่นแนล ลอว์ เฟิร์ม, สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง, ฐานเศรษฐกิจ