svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

รู้จัก "มัสยิดกรือเซะ" ศาสนสถานโบราณ แลนด์มาร์คเมืองปัตตานี

29 กุมภาพันธ์ 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"Nation STORY" ชวนทำความรู้จัก "มัสยิดกรือเซะ" ศาสนสถานโบราณ แลนด์มาร์คสำคัญเมืองปัตตานี หนึ่งในสถานที่ที่ "นายกฯ เศรษฐา" ไปเยี่ยมชม ระหว่างลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ วันที่ 27-29 ก.พ. 2567

ย้อนกลับไป เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมคณะ ได้เดินทางไปเยี่ยมชม "มัสยิดกรือเซะ" อำเภอเมืองปัตตานี จ.ปัตตานี ระหว่างลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง พร้อมคณะ เยี่ยมชม "มัสยิดกรือเซะ"
โดยวันนั้น นายกรัฐมนตรี และคณะได้สวมเสื้อที่ตัดจากผ้าปาเต๊ะสีเขียวลายผ้าพระราชทาน "ผ้าลายชบาปัตตานี" ที่ทางจังหวัดตัดมอบให้นายกรัฐมนตรีและคณะ เพื่อสวมใส่ในการปฏิบัติภารกิจ ณ จังหวัดปัตตานี

รู้จัก \"มัสยิดกรือเซะ\" ศาสนสถานโบราณ แลนด์มาร์คเมืองปัตตานี
ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้พบปะผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่นและประชาชน ที่มัสยิดกรือเซะ โดยทันทีที่นายกฯ มาถึงกลุ่มดนตรีการแสดงพื้นเมืองชายแดนใต้ วงอาเนาะบุหลันลูกพระจันทร์ โรงเรียนวัดสุวรรณากร ได้แสดงดนตรีรองเง็ง บทเพลงอินังอาหรับ ต้อนรับ ก่อนที่นายกฯ จะรับฟังบรรยายประวัติของมัสยิดกรือเซะ จาก นายมูหมัด ซอเร่ เดง สมาชิก อบต.ตันหยงลุโละ และถ่ายภาพหมู่กับผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ด้านหน้ามัสยิด 

ทั้งนี้ ทางผู้นำท้องถิ่นได้ขอให้นายกรัฐมนตรีช่วยบูรณะมัสยิดดังกล่าวในท่องเที่ยว

เสียงจากชาวบ้าน
รู้จัก \"มัสยิดกรือเซะ\" ศาสนสถานโบราณ แลนด์มาร์คเมืองปัตตานี

"Nation STORY" ขอยกบทสัมภาษณ์ของชาวบ้านมาให้อ่านกัน ว่าพวกเขาเหล่านั้น ต้องการอะไรบ้าง โดยนายนาเซ พ่อค้าขายลูกชิ้นด้านหน้ามัสยิดกรือแซะ บอกว่า ในโอกาสที่นายกฯ มาพื้นที่ เขาอยากให้แก้ปัญหาด้านเศรษฐ์กิจ ชาวบ้านได้ค้าขายแล้วสามารถเลี้ยงครอบครัวส่งลูกเรียนหนังสือสูงๆ ตอนนี้ค้าขายดีขึ้น นักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้านกำลังมาในพื้นที่แล้ว มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ต่างเดินทางมาเทียวตลอด พ่อค้าแม่ค้าก็ขายของได้ดีขึ้น ต่างจากเมื่อก่อนที่เงียบ

ด้าน นายอีลียะ ลาเตะ นายก อบต.ตันหยงลูโละ บอกว่า อยากเสนอท่านนายกฯ ในเรื่องของการส่งเสริมการท่องเที่ยวมัสยิดกรือเซะ เพราะเป็นที่รู้จักทั้งคนไทยและชาวต่างขาติ และที่สำคัญที่จะยืนหนังสือผ่านนายกรัฐมนตรี คือการซ่อมแซมมัสยิดกรือเซะ เนื่องจากตัวอาคารเริ่มเอียง กังวลว่าจะถล่มลงมา ก็อยากให้หน่วยงานเข้ามาดูแลให้ดีขึ้น

"ทาง อบต. ก็คาดหวังว่าชาวบ้านจะรายได้เพิ่มขึ้น จากการสนับสนุนของท่านนายกรัฐมนตรี เพราะมัสยิดกรือเซะ คือโบราณสถาน มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน" นายอีลียะ กล่าวทิ้งท้าย

รู้จัก "มัสยิดกรือเซะ" 
รู้จัก \"มัสยิดกรือเซะ\" ศาสนสถานโบราณ แลนด์มาร์คเมืองปัตตานี
"มัสยิดกรือเซะ" หรือ "มัสยิดสุลต่านมูซัฟฟาร์ชาห์" สันนิษฐานได้ว่าเป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 22 ร่วมสมัยกรุงศรีอยุธยา มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "มัสยิดปิตูกรือบัน" ซึ่งชื่อนี้มาจากรูปทรงของประตูมัสยิด ที่มีลักษณะเป็นวงโค้งแหลมแบบกอทิกของชาวยุโรป และแบบสถาปัตยกรรมของชาวตะวันออกกลาง โดยคำว่า "ปิตู" แปลว่า ประตู ส่วน "กรือบัน" แปลว่า ช่องประตูที่มีรูปโค้ง 

ช่วงเวลาที่มัสยิดกรือเซะถูกสร้างนั้นยังเป็นที่ถกเถียง บ้างว่าสร้างในรัชสมัยสุลต่านมูซัฟฟาร์ชาห์ บ้างก็ว่าสร้างในรัชสมัยรายาบีรู

"มัสยิดกรือเซะ" สร้างด้วยอิฐ เสาทรงกลม ประตูรูปโค้งแหลม เป็นมัสยิดประจำเมืองอดีต ผู้ออกแบบสร้างมัสยิด คือ ซัยคซอฟียุดดีน อัลอิสมอิมาส อูละมะอะ แห่งปอเนาะ กรือเซะในรัชสมัยของราชาฮิเยาครองราชย์ มัสยิดกรือเซะมีคอเต็บ ชื่ออับดุลบัญญัร และในที่สุดรัชสมัยสุลต่านมูฮัมหมัด ดูวา เกิดสงครามระหว่างสยามกับปาตานี ในปี พ.ศ.2329 ทำให้บ้านเมืองได้รับความเสียหาย 

ตำนานที่เล่าขานต่อกันมา 

ว่ากันว่า มัสยิดกรือเซะ มีตำนานที่เล่าขานกันมานาน คือ ตำนานเรื่องนางลิ้มกอเหนี่ยว เกี่ยวกับเรื่องนี้ ในเว็บไซต์ museum-press ระบุตำนานดังกล่าวมาจาก นางลิ้มกอเหนี่ยว ได้เดินทางมาจากจีน เพื่อมาตามหาลิ้มโต๊ะเคี่ยม ผู้เป็นพี่ชาย ที่ได้เข้ามาตั้งรกรากที่ปัตตานี และได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ก่อสร้างมัสยิดกรือเซะ แต่ลิ้มโต๊ะเคี่ยม ตัดสินใจไม่เดินทางกลับไปกับลิ้มกอเหนี่ยว จนทำให้ลิ้มกอเนี่ยวเสียใจ ตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง พร้อมกับสาปแช่งให้มัสยิดแห่งนี้เป็นสถานที่ที่สร้างไม่สำเร็จ กระทั่งต่อมา เมื่อการก่อสร้างไปถึงยอดโดม ก็เกิดฟ้าผ่าทำให้โดมพังทลายลง และเมื่อจะสร้างขึ้นใหม่ก็กลับถูกฟ้าผ่าอีก จนทำให้มัสยิดแห่งนี้เป็นมัสยิดที่สร้างไม่เสร็จมาจนทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.ครองชัย หัตถา ภาควิชาภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้ศึกษาพบว่า จากหลักฐานทางโบราณคดี และชั้นดินที่พบจากการขุดค้นมัสยิดกรือเซะเมื่อหลายปีก่อนหน้านี้ ซึ่งไม่พบคาร์บอน หรือเศษผงเถ้าของการเผาไหม้แต่อย่างใด ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ตำนานที่ระบุว่ามัสยิดเคยถูกฟ้าผ่า หรืออาจเคยถูกเผาจนเสียหายนั้น น่าจะไม่เป็นความจริง

สอดคล้องกับข้อมูลจากการสำรวจและบูรณะของ กรมศิลปากร พบว่าโครงสร้างโดมของมัสยิดกรือเซะนั้น มีลักษณะไม่แข็งแรง และขาดความสมดุลจึงทำให้พังทลาย ทั้งยังไม่พบร่องรอยถูกเผาหรือถูกฟ้าผ่าตามตำนานที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด เพราะหลังราชวงศ์กลันตันปกครองปัตตานีถัดจากราชวงศ์ศรีวังสา ได้ย้ายศูนย์กลางเมืองไปยังบานาและจะบังติกอตามลำดับ มัสยิดกรือเซะจึงถูกทิ้งให้โรยราไป

แต่อย่างไรก็ดี มัสยิดกรือเซะ ยังคงอยู่ และเป็นเอกลักษณ์แห่งอู่อารยธรรมอิสลามของราชอาณาจักรปาตานีจนถึงปัจจุบันนี้ ทางกรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียน "มัสยิดกรือเซะ" เป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ.2478 และทำการบูรณะซ่อมแซมเมื่อปี พ.ศ.2500 , พ.ศ. 2525 , พ.ศ. 2547 ตามลำดับ เพื่อให้มัสยิดกรือเซะคงสภาพเป็นโบราณสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมืองปัตตานี และใช้เป็นที่ปฏิบัติศาสนกิจได้ต่อไป

สำหรับมัสยิดกรือเซะ เป็นมัสยิดที่ผ่านเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 นับเป็นช่วงปีแรกๆที่เริ่มมีเหตุความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นพร้อมกัน 11 จุด ใน 3 จังหวัด ได้แก่ ยะลา ปัตตานี และสงขลา ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ก่อเหตุรวมกัน 108 คน กว่า 30 คน เสียชีวิตที่มัสยิดกรือเซะ 

แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของปัตตานี 

ปัจจุบัน มัสยิดแห่งนี้ ไม่เพียงเป็นศาสนสถานโบราณ ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของปัตตานี ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ซึ่งการที่ นายกฯ ลงพื้นที่มาเยี่ยมชม ย่อมช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้คนอยากมาเที่ยวชม

มัสยิดกรือเซะ ปัตตานี เปิดให้เข้าชมได้ตลอดทั้งวัน (บริเวณด้านนอก) หากใครเดินทางไปท่องเที่ยว หรือมีโอกาสได้ไป จ.ปัตตานี อย่าลืมไปเช็กอิน เยี่ยมชมศาสนสถานโบราณ แลนด์มาร์คแห่งนี้กันด้วยนะ


อ้างอิงจาก : 
https://mgronline.com/travel/detail/9670000017708
https://travel.trueid.net/detail/vLKy1gRP4Zda
https://www.bangkokbiznews.com/politics/1115139
https://www.thaipbs.or.th/news/content/337500 
https://www.museum-press.com
https://pattani.prd.go.th
https://travel.trueid.net/detail/vLKy1gRP4Zda
https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_1425
https://thematter.co/brief/173579/173579
วิกิพีเดีย

logoline