svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เปิดข้อมูลด้านวิศวกรรม เหตุใด "ถนนพระราม 2" สร้างยาก สร้างนานจริงหรือ?

เปิดข้อมูล "ถนนพระราม 2" จากผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมปฐพี ดินถล่ม เหตุใดสร้างยากและใช้เวลาสร้างนานจริงหรือไม่?

29 กุมภาพันธ์ 2567 ดราม่า "ถนนพระราม 2" ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ความอันตรายของถนนที่เกิดจากการก่อสร้างสุดอันตราย เกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อยครั้ง โดยเฉพาะจากอุปกรณ์ก่อสร้างโครงสร้างต่าง ๆ ล่าสุดถูกมองว่าเป็นถนนที่สร้างยาวนาน ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2513 จนถึงวันนี้สร้างยังไม่เสร็จ ยังคงสร้างอยู่ สร้างต่อไปอีกหลายปี 

ดราม่าร้อนๆที่เพิ่งเกิดขึ้น "ถนนพระราม 2" ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นอีกครั้ง เมื่อเพจเฟซบุ๊ก “Paksabuy” ออกมาตั้งคำถามว่า ทำไมนักท่องเที่ยวไปหัวหิน น้อยลง ซึ่งเหล่านักท่องเที่ยวได้ให้ในหนึ่งเหตุผลคือ "เบื่อรถติดพระราม 2" และมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการก่อสร้างตลอดเส้นทาง
เปิดข้อมูลด้านวิศวกรรม เหตุใด \"ถนนพระราม 2\" สร้างยาก สร้างนานจริงหรือ?
ล่าสุด รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมปฐพี ดินถล่ม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ออกมาโพสต์ถึงปมปัญหาในการก่อสร้าง "ถนนพระราม 2" ในเชิงวิศวกรรม เปิดข้อมูลปัญหาที่แท้จริงที่ไม่เคยมีใครพูดถึง มีรายละเอียดดังนี้ 

  ถนนพระราม 2 ทำไมถึงสร้างยาก เเละสร้างนานจริงหรือไม่  
ถ้าพูดว่าสร้างยากก็เห็นจะจริง เพราะชั้นดินที่เป็นดินฐานรากของถนนนั้น เป็นดินเหนียวอ่อนที่ตกตะกอนใหม่ในช่วงท้ายๆของยุคที่กรุงเทพฯยังเป็นทะเล เเละน้ำทะเลค่อยๆลดระดับลง จนเกิดตะกอนดินเหนียวอ่อนที่มีความอ่อนเเละหนาที่สุดเเห่งหนึ่งในประเทศ

สังเกตได้ง่ายๆคือริมถนนด้านที่ติดกับทะเล บางพื้นที่ยังมีลักษณะของป่าชายเลนให้เห็นอยู่ นั่นคือสภาพเดิมๆ

ดังนั้น เมื่อนำดินไปถมบดอัดขึ้นมาเป็นถนน ซึ่งถึงเเม้จะบดอัดดินตัวถนนดีอย่างไร เเต่ดินเหนียวอ่อนใต้ฐานรากยังคงอ่อนอยู่ จึงทำให้ถนนเกิดการทรุดตัวจมลงในดินฐานรากอย่างมากหลังจากก่อสร้างเสร็จ
รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์

จึงนำมาสู่ประเด็นที่สองคือ ถนนสร้างนานจริงหรือไม่ ซึ่งถ้ามองอย่างเป็นธรรมก็คงพูดไม่ได้ว่าสร้างนาน เเต่ด้วยเพราะเมื่อสร้างไปเเล้วก็ทรุดตัว ปล่อยไปนานๆน้ำก็เริ่มจะท่วมเพราะถนนทรุดตัวต่ำกว่าระดับน้ำท่วมถึง

ดังนั้นก็ต้องมีการซ่อมโดยการบดอัดถนนยกระดับขึ้นไป ซึ่งเนื่องจากเป็นถนนที่มีความยาว ประกอบกับเปิดการจราจรให้เป็นเส้นหลักลงภาคใต้ไปเเล้ว ก็เลยไม่สามารถปิดถนนทั้งหมดทีเดียวเเล้วซ่อมได้ ก็เลยต้องซ่อมเป็นช่วงๆต่อเนื่องไป 

ทำให้เหมือนถนนยังสร้างไม่เคยเสร็จ เพราะพอถมเเล้วทรุดหายไปเรื่อยๆ (รูปที่ 1 ผมถ่ายตอนปี 2008 ขณะที่มีการถมยกระดับถนนขึ้น จะเห็นระดับถนนเก่าที่ทรุดลงไปเทียบกันถนนใหม่ที่ถมยกระดับขึ้นมา) 
รูปที่ 1

ทั้งนี้ หากมองถนนที่อยู่ทิศตรงข้ามกัน คือถนนสายหลักที่ไปทางภาคตะวันออกเเต่เดิมเป็นถนนสุขุมวิทสายเก่า ที่วิ่งมาเลียบชายฝั่งอ่าวไทย เเละต้องเอารถไปข้ามเเพที่เเม่น้ำบางปะกง ต่อมาจึงมีการตัดถนนลัดจากบางนาไปบางปะกง เรียกว่าถนนสาย 34 (รูปที่ 2) ซึ่งถนนก่อสร้างผ่านพื้นที่ดินอ่อน หนาเช่นเดียวกับถนนพระราม 2 (รูปที่ 3) หลังการสร้างเสร็จ ผ่านไปสิบปี ถนนที่สูงประมาณ 2.5 เมตร มีบางช่วง ทรุดลงไป 2.5 เมตร (รูปที่ 4) คือถนนเหมือนจมหายไปในดินอ่อนเฉยๆ
รูปที่ 2
รูปที่ 3
ปัญหาดังกล่าวในถนนสาย 34 ก็คือปัญหาเดียวกันกับถนนพระราม 2 วิศวกรกรมทางหลวงก็เห็นปัญหาอย่างชัดเจน ดังนั้นเมื่อจะมาซ่อมสร้างถนนสายธนบุรี-ปากท่อ เเนวเส้นพระราม 2 ซึ่งก็จะต้องตัดผ่านชั้นดินอ่อนเเบบเดิม (รูปที่ 5-6) ซึ่งจากข้อมูลก็พบว่ามีดินอ่อนหนากว่า 12-15 เมตร (รูปที่ 7) ทำให้กรมทางหลวง ณ เวลานั้นตัดสินใจป้องกันการทรุดตัวโดยการ "ตอกเข็มปูพรม" (ปี 1992) ด้วยเข็ม I-0.22x0.22 ยาวประมาณ 12 เมตร บนหัวเข็มใส่ตัวครอบเพื่อรับ slab รับน้ำหนักถนน (รูปที่ 8) โดยเงินงบประมาณในการก่อสร้างที่สูง เพราะต้องการให้หมดปัญหาการทรุดตัว
เปิดข้อมูลด้านวิศวกรรม เหตุใด \"ถนนพระราม 2\" สร้างยาก สร้างนานจริงหรือ?
รูปที่ 5
รูปที่ 6
อย่างไรก็ตาม พอใช้งานไป เกือบจะครบ 30 ปี slab ก็อาจจะเสื่อมสภาพ หัก ทรุดตัว ต้องมีการปรับปรุง เเต่ปัญหาคือ ถนนเส้นนี้มีปริมาณการจราจรต่อเนื่อง การเเก้ไขพร้อมการขยายเพื่อรองรับปริมาณรถก็เลยเป็นไปโดยความยากลำบาก ยิ่งตอกย้ำคล้ายๆว่ายังสร้างไม่เสร็จ

"เเล้วมีเทคนิคอื่นหรือไม่ที่ทำให้ชั้นดินอ่อนเเข็งเเรงขึ้น"
คำตอบคือมี ซึ่งถนนสาย 34 บางนา-บางปะกง หลังจากที่ทรุดกระหน่ำก็มีการปรับปรุงด้วยเทคโนโลยีล่าสุด ณ เวลานั้นคือการก่อสร้างเสาเข็ม ดิน-ซีเมนต์ (ปี 1997) ปูพรมลงในดินฐานราก 

การปรับปรุงนั้นก็ได้อานิสงจากการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิที่จะต้องมีระบบการขนส่งโลจิสติกที่ดี ทำให้ต้องปรับปรุงถนนเส้นนี้ไปด้วย พร้อมกับการก่อสร้างทางยกระดับลอยฟ้าไปในเวลาเดียวกัน เพิ่มด้วยถนนสาย Motorway อีกเส้น การไปทางทิศตะวันออก ก็เลยหมดปัญหา โดย Motorway ก็ต้องปรับปรุงดินฐานรากทั้งเส้นเช่นกัน เเต่ใช้เทคนิคการเร่งการทรุดตัวด้วย PVD เเละ Preloading ซึ่งเป็นเทคนิคเดียวกับการก่อสร้างทางวิ่งสนามบินสุวรรณภูมิ

ดังนั้นจะเห็นตัวอย่างจากถนนสายตะวันออกว่า การก่อสร้างถนนในพื้นที่ดินอ่อนเป็นการก่อสร้างที่ต้องยอมลงทุน ที่หลักๆมีเเค่สองทางคือ ปรับปรุงดินฐานรากให้มีคุณภาพดีขึ้น หรือตอกเสาเข็มทำถนนลอยฟ้าไป
รูปที่ 7

กลับมาที่ถนนพระราม 2 จะเห็นว่า Step การพัฒนาก็คล้ายๆสายตะวันออก เพียงเเต่มีข้อจำกัดหลายประการ ที่สำคัญคือเป็นถนนที่มีการจราจรหนาเเน่นเพราะเป็นเส้นหลักลงภาคใต้ ซึ่งหวังว่าเมื่อทางยกระดับเสร็จสิ้น ปัญหาต่างๆก็จะลดลงไป เเต่ถนนเส้นล่างก็คงยังต้องหาวิธีปรับปรุงดินฐานรากให้เหมาะสมต่อไป

ในอนาคต ถนนเส้นนี้อาจจะไม่ได้ใช้เพื่อการคมนาคมเท่านั้น ในช่วงตรุษจีน ช่วงที่น้ำทะเลขึ้นสูง ถนนเส้นนี้ถูกน้ำทะเลท่วม ดังนั้น ในอนาคต ถนนเส้นนี้จะกลายเป็นคันกันน้ำทะเลชั้นที่ 2 ต่อจากถนนสายในที่อยู่ใกล้ชายทะเล เราจึงควรมองให้เป็นภาพรวม เเละลงทุนทีเดียวให้คุ้มค่า

ทางเลือกอื่นๆ ถ้ามองในเรื่องการคมนาคม เช่น ถนนข้ามอ่าวไทย ก็เป็นไปได้ เเต่คงจะต้อง Combine กับการสร้างประตูควบคุมระดับน้ำทะเลในอ่าวไทย ซึ่งมีการศึกษาในเบื้องต้นบ้างเเล้ว เเต่สิ่งสำคัญคือการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการให้ดีต่อไป
รูปที่ 8
ถนนพระราม 2