svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

อุทยานฯ หมู่เกาะสุรินทร์ เผยคลิป "วาฬโอมูระ" ว่ายน้ำทักทายเจ้าหน้าที่

28 กุมภาพันธ์ 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ โพสต์คลิป "วาฬโอมูระ" หนึ่งในสัตว์สงวนที่ใกล้จะสูญพันธุ์และหายาก ว่ายน้ำเข้ามาทักทายเจ้าหน้าที่ ส่วนเจ้าวาฬชนิดนี้ มีความสำคัญอย่างไรกับระบบนิเวศใต้ทะเล "Nation STORY" ชวนมาทำความรู้จักกับน้องกัน

28 กุมภาพันธ์ 2567 เฟซบุ๊กเพจ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ - Mu Ko Surin National Park ได้โพสต์คลิปวิดีโอ "วาฬโอมูระ" ขณะว่ายน้ำเข้ามาทักทายเจ้าหน้าที่ โดยระบุข้อความว่า 

เจ้าวาฬโอมูระว่ายน้ำเข้ามาทักทายเจ้าหน้าที่ เที่ยงนี้น้องวาฬโอมูระ ยังคงอยู่เกาะสุรินทร์

"วาฬโอมูระ" เป็นวาฬสายพันธุ์หายากที่มีความใกล้เคียงกับวาฬบรูด้า เรียกว่าเป็นญาติกับบรูด้า จึงมักถูกเข้าใจผิดอยู่บ่อยๆ และมีข้อมูลเกี่ยวกับวาฬชนิดนี้น้อยมาก "วาฬโอมูระ" ยังเป็น 1 ในสัตว์ป่าสงวนของไทยที่ใกล้จะสูญพันธุ์และหายาก สำหรับชื่อของวาฬโอมูระนั้นตั้งตามชื่อนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลชาวญี่ปุ่นนามว่าฮิเดโอะ โอมูระซึ่งเป็นผู้ค้นพบวาฬโอมูระ ในปี พ.ศ. 2546 

เครดิตภาพ : เฟซบุ๊กเพจอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ - Mu Ko Surin National Park
วาฬโอมูระ (Omura’s Whale) Balaenoptera omurai  Wada, Oishi, and Yamada, 2003 

  • ขนาด : โตเต็มที่ยาว 9.0-11.5 ม. หนักน้อยกว่า 20 ตัน ตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่า ตัวผู้เล็กน้อย
  • รูปร่าง : ค่อนข้างเพรียว ส่วนหัวมีสันนูน 1 สัน มีร่องใต้คางสีอ่อนจำนวน 80-90 ร่อง ยาวพ้นสะดือ กรามด้านซ้ายมีสีดำ ส่วนข้างขวามีสีจางหรือสีขาว
  • สี : ลำตัวเทาดำ ท้องสีอ่อน หรือชมพู
  • ซี่กรอง : จำนวน 180-210 คู่ ขนาดสั้นและกว้าง มีสีขาวเหลืองถึงดำ
  • ครีบหลัง : คล้ายวาฬบรูด้า แต่โค้งงอ มากกว่า อยู่ค่อนไปทางหาง
  • ชีวประวัติ : วัยเจริญพันธุ์ 8-13 ปี หรือความยาวไม่น้อยกว่า 9 ม.
  • พฤติกรรม : พบเพียงลำพังตัวเดียวหรือเป็นคู่ แต่อาจมีพฤติกรรมการรวมกลุ่มจำนวนมากในแหล่งอาหาร 
  • อาหาร : ปลาที่รวมฝูง กินแบบพุ่งงับฝูงเหยื่อครั้งละมากๆ (Lunge feeder)

เครดิตภาพ : เฟซบุ๊กเพจอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ - Mu Ko Surin National Park
ถิ่นอาศัยและการแพร่กระจาย : เขตร้อนถึงอบอุ่น พบทั้งเขตนอกฝั่งและชายฝั่ง ส่วนมากพบบริเวณตะวันออกของมหาสมุทรอินเดีย และฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก

ในประเทศไทยพบซากบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน ส่วนฝั่งอ่าวไทย พบตั้งแต่ จ.ประจวบคิรีขันธ์ลงไปถึง จ.สงขลา ภาพถ่ายในธรรมชาติถ่ายได้จากฝั่งทะเลอันดามัน พบใกล้เกาะราชา จ.ภูเก็ต ฝูงหนึ่งจำนวน 4 ตัว 

เครดิตภาพ : เฟซบุ๊กเพจอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ - Mu Ko Surin National Park

ชมคลิปได้ที่ >> อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ - Mu Ko Surin National Park

เป็นวาฬลึกลับ พบเจอยากที่สุดในโลกชนิดหนึ่ง 
วาฬโอมูระ  วิกิพีเดีย
วาฬโอมูระ
มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Balaenoptera omura จัดอยู่ในกลุ่มเลี้ยงลูกด้วยนม เป็นวาฬสายพันธุ์ใกล้ชิดกับวาฬบรูด้า แต่มีขนาดเล็กกว่าพบหากินใกล้ฝั่ง ถูกค้นพบครั้งแรกจากซากของมันในปี ค.ศ. 2003

อย่างไรก็ดี แม้วาฬโอมูระ มีความคล้ายคลึงกับวาฬบรูด้า แต่มีขนาดเล็กกว่า และครีบหลังโค้งงอมากกว่า อยู่ค่อนไปทางหาง มีสันบริเวณตรงกลางส่วนหัว 1 สัน ขณะที่วาฬบรูด้ามี 3 สัน มีร่องใต้คางสีอ่อนจำนวน 80-90 ร่อง ยาวพ้นสะดือ กรามด้านซ้ายมีสีดำ ส่วนข้างขวามีสีจางหรือสีขาว ลำตัวสีเทาดำ ท้องสีอ่อน หรือชมพู มีสันบริเวณตรงกลางส่วนหัว 1 สัน มีซี่กรองจำนวน 180-210 คู่ ขนาดสั้นและกว้าง มีสีขาวเหลืองถึงดำ

อาหารโปรด คือปลาขนาดเล็ก และเคย พฤติกรรมใช้วิธีกินแบบอ้าปาก ขยายร่องใต้คางให้ใหญ่ขึ้น และพุ่งเข้าฮุบเหยื่อโดยมีทั้งแบบตั้งส่วนหัวขึ้นมาเหนือผิวน้ำ หรือตะแคงตัวด้านข้าง หรือหงายท้อง

วาฬโอมูระ ถือว่าเป็นสัตว์ที่หายากที่สุดในโลกชนิดหนึ่ง ในไทยพบอยู่ราว 15 ตัว สำหรับความหายากของมัน ทำให้ไม่ทราบพฤติกรรมชัดเจน และข้อมูลที่อยู่อาศัยของมันในทะเลทั่วโลกยังคงเป็นปริศนา

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ประกาศให้วาฬโอมูระเป็นสัตว์ป่าสงวน ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562

สถานภาพการอนุรักษ์

  • สถานภาพการอนุรักษ์ในระดับโลก โดยการจัดอันดับของ IUCN (2018) คือ Data Dificient (DD) หรือ ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอต่อการจัดอันดับ
  • สถานภาพการอนุรักษ์ในประเทศไทย เป็นสัตว์ป่าสงวน ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562


องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อธิบายความสำคัญของ "วาฬโอมูระ" ไว้ว่า

วาฬแผ่นซี่กรอง เช่น วาฬโอมูระ และวาฬบรูด้า อาศัยแผ่นซี่กรองในการกรองกินแพลงค์ตอน เช่น เคย รวมทั้งปลาขนาดเล็ก เช่น ปลากะตัก เป็นอาหาร อึของวาฬจึงอุดมไปด้วยไนโตรเจน ซึ่งเป็นธาตุอาหารที่สำคัญและจำเป็นต่อไปให้แพลงค์ตอนผู้ผลิตขั้นต้นของห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศทางทะเล ในวาฬซี่กรองที่มีการอพยพ เป็นระยะทางไกล เช่น วาฬสีเทา ก็จะนำพาความอุดมสมบูรณ์ติดตัวตามไปยังทุกที่ที่มันเดินทางไปถึง
อุทยานฯ หมู่เกาะสุรินทร์ เผยคลิป \"วาฬโอมูระ\" ว่ายน้ำทักทายเจ้าหน้าที่
ขอขอบคุณที่มา :
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ - Mu Ko Surin National Park
ที่มาของคลิปวิดีโอ/ภาพ : เจ้าหน้าที่อุทยาน
ที่มาข้อมูล : คู่มือการจำแนกชนิดสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมและเต่าทะเลในประเทศไทย

อ้างอิงข้อมูลจาก :
คลังความรู้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
สัตว์ทะเลหายาก 4 ชนิด

logoline