ย้อนกลับช่วงเดือนกันยายน 2566 จังหวัดนครราชสีมา ได้จัดประกวดออกแบบ KORAT Monogram (โคราชโมโนแกรม) เพื่อนำผลงานออกแบบที่ชนะเลิศ นำไปต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ ที่มีสัญลักษณ์เมืองโคราช หวังสร้างการจดจำให้กับนักท่องเที่ยว ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์และบริการด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
โดย นายไพจิตร มานะศิลป์ กรรมการหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ผู้ตัดสินผลการประกวดออกแบบ KORAT Monogram เปิดเผยว่า "กางเกงแมว" เหมือน "กางเกงช้าง" ถ้านักท่องเที่ยวมาโคราชก็ต้องซื้อ "กางเกงแมว" เป็นซอฟต์พาวเวอร์โคราช
นี่คือที่มาของ "กางเกงแมวโคราช"
จุดเริ่มต้นดราม่า
หลังจากกางเกงแมวโคราชถือกำเนินขึ้น ผู้คนต่างให้ความสนใจจำนวนมาก จนกลายเป็นไอเทม "ซอฟต์พาวเวอร์" ของ จ.นครราชสีมา ที่ได้รับความนิยม อย่างไรก็ตาม กระแสฟีเวอร์นี้ผ่านมาได้สักพัก ก็เกิดดราม่าขึ้น เมื่อเพจเฟซบุ๊ก Korat Daily ได้โพสต์ข้อความของลูกเพจที่ส่งเข้ามา เพราะมีความไม่สบายใจ เนื่องจากบนกางเกงแมวโคราช มีลาย "ปราสาทหินพิมาย" และ "ประตูชุมพล" ซึ่งทั้งสองสถานที่เป็นที่เคารพสักการะของชาวโคราช
โดยทางเพจ Korat Daily ระบุข้อความว่า แอดได้รับข้อความจาก FC รายหนึ่งซึ่งแสดงความห่วงใยและไม่สบายใจเกี่ยวกับการนำ "ลายโคราชโมโนแกรม" มาจัดทำเป็นกางเกงแมว จนโด่งดังไปทั่วในขณะนี้ โดยระบุว่า
"ขออนุญาตนำเรียนสักเรื่องนะครับ พอดีน้องๆ ที่กรุงเทพฯ ไปซื้อกางเกง ที่ผลิตโดย อปท.แห่งหนึ่ง (ระบุชื่อชัดเจน) ซึ่งเป็น Soft Power กางเกงแมว แต่ดูจากลวดลาย ไม่ใช่แมวอย่างเดียว มีลายปราสาทหินพิมายและประตูชุมพลด้วย ซึ่งเห็นแล้วไม่สบายใจครับ เพราะทั้งสองสถานที่เป็นที่เคารพสักการะของชาวโคราช ไม่เหมาะที่จะเอามาทำไว้บนกางเกง ถ้าทำบนเสื้อไม่มีปัญหาอะไร ไม่ทราบว่าผ่านการพิจารณาออกมาได้อย่างไร ยังไงฝากช่วยเป็นสื่อช่วยเป็นกระบอกเสียงไปทาง อปท. ด้วยนะครับว่า อย่าทำลวดลายแบบนี้เลย เห็นแล้วมันรู้สึกไม่สบายใจครับ ขอบคุณครับ"
และบอกอีกว่า "ผมคงเป็นส่วนหนึ่งของคนที่คิดเยอะ เพราะมีความเคารพศรัทธาในย่าโมและประตูชุมพลซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์"
ถือว่าเป็นความห่วงใยอีกอย่างหนึ่งที่ควรตระหนัก เพราะแอดได้ยินอีกหลายคนบอกว่า ที่ไม่ใส่กางเกงแมว เพราะมีลายประตูชุมพลและปราสาทหินพิมายรวมอยู่ด้วย
หลังโพสต์ดังกล่าวเผยแพร่ออกไป ก็มีผู้คนในโลกออนไลน์เข้ามาคอมเมนต์จำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะไปในทิศทางเดียวกัน
ตัวอย่างของความคิดเห็นเหล่านั้น อาทิ
เปิดเจตนารมณ์ของการออกแบบ "กางเกงแมวโคราช"
ล่าสุด วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 เพจเฟซบุ๊ก "KORAT Monogram" ซึ่งเป็นเพจของทีมผู้จัดประกวดออกแบบลายโคราชโมโนแกรม ที่ถูกนำมาต่อยอดทำเป็นกางเกงแมว ออกมาเคลื่อนไหว โดยไม่ได้โต้ตอบกระทู้ดังกล่าวโดยตรง แต่ได้โพสต์ข้อความของผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับเจตนารมณ์ของการออกแบบโคราชโมโนแกรม
โดย นายธงไชย ขอเพิ่มทรัพย์ คณะกรรมการจัดงานโคราชโมโนแกรม กรรมการหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา (YEC KORAT) ชี้แจงว่า แนวคิดในการออกแบบต่อยอดจากโครงการประกวดลวดลายโคราชโมโนแกรม ผู้สร้างสรรค์วางลวดลาย โคราชโมโนแกรม บนสินค้า/ ผลิตภัณฑ์ต้นแบบในงานมามูย่า (MaMuYa) โดยแนวคิดการออกแบบสินค้าอิงกับกระแสของกางเกงช้างที่กำลังเป็นที่นิยม จึงออกมาเป็นกางเกงลายแมว ถ่ายทอดเรื่องราวของโคราชวางลงไปในกางเกง ออกแบบให้ตัวแมวโดดเด่นและได้รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับโคราช ผ่านลายโคราชโมโนแกรม
ขณะที่ นายวีรวัฒน์ เจาวัฒนา คณะกรรมการจัดงานโคราช โมโนแกรม อนุกรรมการฝ่ายท่องเที่ยวและการลงทุน หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา (YEC KORAT) ระบุว่า แนวคิดมาจากการต่อยอด โครงการ KORAT Monogram เพื่อให้เป็นสินค้าตัวอย่างว่า ลายอัตลักษณ์โคราช ที่ประกวด มีความสามารถที่จะไปอยู่บนผลิตภัณฑ์อะไรได้บ้าง โดยตนเองเลือกที่จะลองวางลายไว้บนกระเป๋า Mini Tote bag และกระติกน้ำ ให้ดูทันสมัยมากขึ้น โดยจุดประสงค์คือเป็นต้นแบบสินค้า ให้ผู้ประกอบการจังหวัดนครราชสีมาได้เอาไปพัฒนาต่อยอด เป็นสินค้าของตัวเองหรือเอาไปประยุกต์เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าตัวเอง เพิ่มโอกาสในการค้าขายต่อไป
จาก Soft Power โคราช สู่ไอเทมเกมดังระดับโลก
กางเกงแมวโคราช นอกจากจะเป็นกระแส Soft Power ในไทยแล้ว ทาง "การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย)" ซึ่งเป็นธุรกิจดิจิทัลเอนเตอร์เทนเมนต์ภายใต้กลุ่ม Sea (ประเทศไทย) ได้ขานรับนโยบายส่งเสริมสินค้าวัฒนธรรม นำ กางเกงแมวโคราช สินค้าเอสเอ็มอีไทย หนุนวัฒนธรรมและผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทยผงาดในเวทีโลก ผ่านดิจิทัลคอนเทนต์ ที่ต่อยอดมาจากการประกวดออกแบบลายโคราชโมโนแกรม (KORAT Monogram) เข้าสู่โลกดิจิทัลคอนเทนต์ในฐานะแฟชั่นไอเทมใหม่ล่าสุดใน "เกม Free Fire" วันที่ 10 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา
ซึ่ง กางเกงแมวโคราช เมื่อเข้าสู่โลกดิจิทัลคอนเทนต์ ในเกม Free Fire เกมแบทเทิลรอยัลระดับโลก จะสามารถเข้าถึงผู้เล่นทั่วโลกกว่า 160 ประเทศ
ทำความรู้จัก KORAT Monogram มีความหมายอย่างไร
สำหรับ KORAT Monogram เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของเมืองโคราช และความเป็นโคราชอย่างชัดเจน และเป็นที่จดจำว่าลาย Monogram คือ รูปแบบลวดลายที่เป็นของคนโคราชอย่างแท้จริง
โดยความหมายของคำว่า KORAT ในลวดลาย MONOGRAM รูปของตัวอักษร มีที่มาดังนี้
ทั้งนี้ รูปอักษรทั้ง 5 ตัวดังกล่าว ได้นำรูปทั้งหมดมาลวดลายของ "กางเกงแมวโคราช" ซึ่งทางหอการค้านครราชสีมา ไม่สงวนลิขสิทธิ์ พ่อค้าแม่ค้าสามารถนำไปผลิตสินค้าได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด เพียงแค่ขอให้มาติดต่อที่หอการค้า เพื่อคุมเรื่องคุณภาพและราคา หวังบรรลุวัตถุประสงค์สร้างการจดจำของนักท่องเที่ยว