svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

รู้จัก “ดัชนีความร้อน” อันตรายที่มากับอากาศร้อน รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

28 กุมภาพันธ์ 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รู้จัก “ดัชนีความร้อน” ต้นเหตุทำให้รู้สึกร้อนดั่งไฟสุมทรวง อันตรายที่มากับอากาศร้อน รุนแรงสุดถึงขั้นทำให้เสียชีวิต คน กทม.เตรียมตัวให้พร้อม พรุ่งนี้ค่า “ดัชนีความร้อน” เมืองกรุงพุ่งสูงสุดของประเทศไทย

ยังคง ร้อนจัด อย่างต่อเนื่อง สำหรับสภาพอากาศประเทศไทยในขณะนี้ ทั้งที่เพิ่งจะเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 67 เพียงแค่ไม่กี่วัน แต่จากสภาพอากาศร้อนจัดขณะนี้ ทำให้หลายคนไม่อยากนึกถึงช่วงที่ จะมีอุณหภูมิสูงสุดในฤดูร้อน ว่า จะร้อนจัดขนาดไหน? 

โดยวันนี้ (28 ก.พ. 67) กรมอุตุนิยมวิทยา ได้มีการรายงานอุณหภูมิสูงสุดบริเวณประเทศไทยเมื่อวานนี้ (27 ก.พ. 67) วัดได้ 38.5 องศาเซลเซียส บริเวณ ภาคเหนือ ที่ อ.แม่เพชรบูรณ์ จ.เพชรบูรณ์ และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ที่ อ.เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต ส่วนกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อุณภูมิสูงสุด วัดได้ 37.3 องศาเซลเซียส ที่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 


แม้ตัวเลขดังกล่าว จะยังไม่ใกล้เคียงกับตัวเลขสูงสุด สูงสุด 44.5 องศาเซลเซียส ที่มีการคาดการณ์ แต่หลายคน โดยเฉพาะผู้ที่ทำกิจกรรมกลางแจ้ง กลับรู้สึกว่า สภาพอากาศน่าจะร้อนกว่าตัวเลขที่มีการรายงานดังกล่าวมาก 

ความรู้สึกดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่ผิด และการรายงานข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา ก็ไม่ได้ผิดพลาดแต่อย่างใด แล้วเกิดอะไรขึ้น ทำตัวเลขอุณหภูมิ ถึงไม่ตรงกับความรู้สึก 

Nation STORY จึงไปหาข้อมูลมาอธิบายให้ฟัง.... 
 

ในกรณีที่ผู้คนมีความรู้สึกว่าตัวเลขอุณหภูมิที่เห็นนั้น เรียกกันว่า “ดัชนีความร้อน”

อะไรคือ “ดัชนีความร้อน”

ดัชนีความร้อน (Heat Index) คือ อุณหภูมิที่คนเรารู้สึกได้ในขณะนั้น (Apparent temperature) ว่า อากาศร้อนเป็นอย่างไร หรืออุณหภูมิที่ปรากฎในขณะนั้นเป็นเช่นไร โดยค่าดัชนีความร้อนนั้น สามารถนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อระบุความเสี่ยงที่ร่างกาย จะได้รับผลกระทบจากความร้อนได้ โดยเฉพาะผู้ที่ทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือเป็นโรคประจำตัว ที่อาจมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากความร้อน

หน่วยงานต่าง ๆ เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา จึงได้มีประกาศเตือนในทุก ๆ ครั้ง ที่มีการพยากรณ์ว่าช่วงเวลาดังกล่าว จะมีอากาศร้อนสูงเป็นอันตราย และยิ่งเมื่อค่าความร้อนที่เรารู้สึก ยิ่งความชื้นสูง เราจะรู้สึกร้อนมากขึ้นมากกว่าอุณหภูมิที่วัดได้ เพราะความชื้นสูง จะระบายความร้อนยาก ทำให้มีความรู้สึกอึดอัด” 

เมื่อร่างกายระบายความร้อนไม่ได้ จึงเป็นสาเหตุทำให้เกิดฮีทสโตรก หรือลมแดด คืออาการกล้ามเนื้อสร้างความร้อนมากจนร่างกายรับไม่ไหว และเกิดปฏิกิริยาการตอบสนอง อาจจะทำให้ระบบหายใจล้มเหลว และอาจจะถึงขั้นเสียชีวิตได้
รู้จัก “ดัชนีความร้อน” อันตรายที่มากับอากาศร้อน รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

สำหรับค่าดัชนีความร้อน ระดับเฝ้าระวังเตือนภัย ผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อน แบ่งได้เป็น 4 ระดับ ดังนี้

1.ระดับเฝ้าระวัง (Surveillance) ดัชนีความร้อน 27-32 องศาเซลเซียส
ผลกระทบต่อสุขภาพ - อ่อนเพลีย วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย ตามตัวจากการสัมผัสความร้อน หรือออกกำลังกายหรือทำงานใช้ แรงงานท่ามกลางอากาศที่ร้อน

2.ระดับเตือนภัย (Alert) ดัชนีความร้อน 32-41 องศาเซลเซียส
ผลกระทบต่อสุขภาพ - เกิดอาการตะคริวจากความร้อนและอาจเกิดอาการเพลียแดด (Heat Exhaustion) หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน

3.ระดับอันตราย (Warning) ดัชนีความร้อน 41 - 54 องศาเซลเซียส
ผลกระทบต่อสุขภาพ - มีอาการตะคริวที่น่อง ต้นขา หน้าท้อง หรือไหล่ ทำให้ปวดเกร็ง มีอาการเพลียแดด และอาจเกิดภาวะลมแดด (Heat stroke) ได้ หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน

4.ระดับอันตรายมาก (Danger) ดัชนีความร้อนมากกว่า 54 องศาเซลเซียส
ผลกระทบต่อสุขภาพ - เกิดภาวะลมแดด (Heat stroke) 

สำหรับคำแนะนำสุขภาพ สังเกตอาการตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ควรลดกิจกรรมกลางแจ้ง หากจำเป็นควรสวมหมวก แว่นกันแดด สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี หากทำงานกลางแจ้งควรทำงานเป็นกลุ่ม
รู้จัก “ดัชนีความร้อน” อันตรายที่มากับอากาศร้อน รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

สำหรับค่าดัชนีความร้อนในช่วงนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้มีการคาดหมาย ค่าดัชนีความร้อน สูงสุดรายวัน ช่วงระหว่างวันที่  27 - 29 กุมภาพันธ์ 2567 โดยค่าดัชนีความร้อนสูงสุดมีดังนี้

วันที่ 28 ก.พ. 67
ภาคเหนือ : วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ 31.9 องศาเซลเซียส
ภาคอีสาน : สุรินทร์ 31.1 องศาเซลเซียส
ภาคกลาง : บางนา กทม. 43.6 องศาเซลเซียส
ภาคตะวันออก : ชลบุรี 44.4 องศาเซลเซียส
ภาคใต้ : ภูเก็ต 42.8 องศาเซลเซียส

วันที่ 29 ก.พ. 67
ภาคเหนือ : ตาก 31.3 องศาเซลเซียส
ภาคอีสาน : โชคชัย จ.นครราชสีมา 32.6 องศาเซลเซียส
ภาคกลาง : บางนา กทม. 47.5 องศาเซลเซียส
ภาคตะวันออก : ชลบุรี 46.3 องศาเซลเซียส
ภาคใต้ : ภูเก็ต 42.8 องศาเซลเซียส


ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมอุตุนิยมวิทยา
 

logoline