ช่วงนี้น้อง ๆ เด็ก ๆ หลายบ้าน เริ่มที่จะทยอยปิดเทอม ภาคเรียนที่ 2 ของปีการศึกษา 2566 กันแล้ว โดยหลายคนอยู่ระหว่างเตรียมตัว ที่จะย้ายที่เรียน หรือหาที่เรียนต่อในระดับชั้นที่สูงขึ้น หรือบางบ้านก็หาเตรียมเรียนให้บุตรหลาน ที่อายุถึงเกณฑ์จะเข้าเรียนเป็นครั้งแรก ในภาคเรียนแรกปี 2567 นี้ ซึ่งปฏิทินการเปิด-ปิด ภาคเรียน ปีการศึกษา 2567 ภาคเรียนที่ 1 ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการเปิดและปิด ภาคเรียนของของสถานศึกษา กำหนดไว้คือวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 นี้
โดยในส่วนของผู้ปกครอง ที่มีบุตรหลานเข้าเรียนอยู่แล้ว คงไม่ตื่นเต้นอะไร โดยเฉพาะกับเรื่องของค่าเทอมและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จะต้องจ่ายให้กับทางโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนของรัฐบาลหรือเอกชน เพราะยังคงต้องควักกระเป๋าจ่ายกันในแต่ละเทอม กับคำถามที่คาใจว่า นโยบายเรียนฟรี 15 ปี ที่ไม่ต้องจ่ายอะไรเลยนั้น มีอยู่จริงไหม?
แต่กับผู้ปกครองหน้าใหม่ ที่เพิ่งมีลูกหลานเข้าโรงเรียนหนังสือ ที่ระบบการศึกษาไทยตามกฎหมาย เริ่มในระดับชั้นอนุบาล หรือก่อนประถมศึกษา ปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญ ในการเลือกโรงเรียน คือเรื่องค่าใช้จ่าย ที่หลายคนมีความเข้าใจว่า การเข้าโรงเรียนของรัฐบาล น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี ในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ แต่เมื่อถึงเวลาจริง หลายคนกลับต้องตกใจกับค่าใช้ต่าง ๆ ที่จะต้องควักจ่าย
ล่าสุด เรื่องของค่าเทอมแรกเข้าของเด็กอนุบาลกับโรงเรียนของรัฐบาล ชาวเน็ตได้มีการแชร์และวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก เมื่อเพจเฟซบุ๊ก หมอแล็บแพนด้า ได้โพสต์ข้อมูลที่ลูกเพจส่งมาให้ระบุว่า
"นี่แค่เริ่มต้นนะครับ กว่าจะส่งลูกคนนึงเรียนจบ ยังต้องเจออีกเยอะ รัฐยังขนาดนี้เอกชนจะขนาดไหน"
ซึ่งหลังจากที่โพสต์ถูกเผยแพร่ ได้มีผู้คนเข้ามาแสดงความคิดอย่างถล่มทลาย โดยส่วนมากตั้งคำถามกับนโยบายเรียนฟรีว่า มีจริงหรือไม่ บางส่วนตั้งคำถามกับรายละเอียดที่ต้องจ่าย ทั้งค่าสมาคมศิษย์เก่า หรือ แม้แต่ค่าเรียนปรับพื้นฐาน
Nation STORY จึงได้ไปรวบรวมข้อมูลมาให้ดูกันว่า ค่าใช้จ่ายในการศึกษา ของโรงเรียนทั้งรัฐบาล และเอกชนนั้น ที่แท้จริงแล้วกี่บาท ผู้ปกครองต้องจ่ายเท่าไหร่ แล้วคำว่าเรียนฟรี 15 ปี มีอยู่จริงไหม....
ตามข้อมูล พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ตามยุทธศาสตร์ที่ 4 : ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ข้อ 7 การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา งบประมาณ 85,853.3 ล้านบาท จะพบว่า นโยบายการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 15 ปี ตั้งแต่อนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่มีเป้าหมาย 10,790,000 คน นั้น
จะมีงบฯ เฉลี่ยต่อหัวประมาณ 7,754.05 บาท ประกอบด้วยค่าจัดการเรียนการสอน ค่าหนังสือเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเครื่องแบบนักเรียน และค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
โดย สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ หรือ สพฐ. ได้กำหนด แนวทางการดำเนินงาน ตามโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐานปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ดังนี้
ขณะที่ในส่วนของโรงเรียนเอกชน ได้มีประกาศกระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดทำประกาศการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่นของโรงเรียนเอกชน เพื่อให้การจัดทำประกาศค่าธรรมเนียมการศึกษา และค่าธรรมเนียมอื่นของโรงเรียนเอกชนในระบบ เป็นไปในแนวทางที่กฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนกำหนด มิให้เป็นการแสวงหากำไรเกินควร หรือเป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร เกิดความโปร่งใส และสร้างความเป็นธรรม
โดยข้อ 4 กำหนดให้โรงเรียนต้องจัดทำประกาศรายการค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่นและผลตอบแทนอันไม่มีลักษณะแสวงหากำไรอันเกินควร โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารโรงเรียน และเสนอผู้อนุญาตลงนามรับทราบก่อนเผยแพร่ หรือปิดประกาศไว้ในที่เปิดเผยในโรงเรียน พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้ปกครองทุกคนทราบล่วงหน้า
ข้อ 5 ให้โรงเรียนเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษา ได้ไม่เกินส่วนต่างระหว่างค่าใช้จ่ายรายหัวภาครัฐ และเงินที่ได้รับอุดหนุนจากรัฐ เว้นแต่โรงเรียนใดไม่ขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐ ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาได้ตามรายการที่ประกาศ ตามข้อ 4
ข้อ 6 โรงเรียนใดที่มีความจำเป็นต้องเรียกเก็บค่าธรรมเนียมอื่น ให้พิจารณาเก็บได้ตามรายการที่ระบุไว้ในบัญชีท้ายประกาศนี้
ข้อ 7 รายการค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่น ต้องเป็นไปตามรายการในตราสารจัดตั้งและรายละเอียดเกี่ยวกับกิจการของโรงเรียน
ข้อ 8 โรงเรียนจะเรียกเก็บเงินอื่นใดจากผู้ปกครองหรือนักเรียนนอกจากที่ประกาศไว้มิได้
ข้อ 9 การประกาศรายการค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่น โรงเรียนต้องกำหนดเงื่อนไขการคืนเงินค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่นไว้ในประกาศทุกครั้ง โดยการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวโรงเรียนต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมแห่งเงื่อนไขแก่ผู้ปกครองและนักเรียนเป็นสำคัญ
ข้อ 10 โรงเรียนต้องจัดส่งประกาศรายการค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่นให้ผู้อนุญาตลงนามทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน ก่อนเปิดภาคเรียนแรกของทุกปีการศึกษา
ข้อ 11 เมื่อผู้อนุญาตรับทราบประกาศค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่นแล้วโรงเรียนต้องบันทึกรายการค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่นเข้าในระบบอิเล็กทรอนิกส์ ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ผู้อนุญาตรับทราบและต้องนำประกาศเข้าระบบเว็บไซต์ของโรงเรียนด้วย
สำหรับบัญชีแบนบท้าย รายการค่าธรรมเนียมอื่นตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการเรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดท าประกาศการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่นของโรงเรียนเอกชน
รายการค่าธรรมเนียมอื่น ประกอบด้วย
หมวด 1 ค่าอาหาร
หมวด 2 ค่าใช้จ่ายแรกเข้า
หมวด 3 เบ็ดเตล็ด
หมวด 4 รายการที่โรงเรียนให้บริการเพิ่มเติม