ในช่วงอากาศร้อน ๆ เช่นนี้ การท่องเที่ยวทะเล ถือเป็นหนึ่งในตัวเลือกยอดนิยมของคนทั่วไทย แต่ช่วงนี้กลับปรากฎว่า แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลในหลายพื้นที่ เมื่อไปถึงแทนที่จะแดดสวยน้ำใส กลายเป็นท้องทะเลเต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตประเภท "แมงกะพรุน" จำนวนมาก ลอยอยู่เต็มทะเล หลายชนิดมีความอันตรายต่อผู้ที่ไปสัมผัสถูก เช่น "แมงกะพรุนไฟเรือรบโปรตุเกส" หรือ แมงกะพรุนกล่อง จนชายหาดหลายแห่ง มีต้องประกาศเตือนนักท่องเที่ยวในการลงเล่นน้ำทะเล
หรืออย่างกรณีล่าสุด ที่ชายหาดบางแสน เกิดปรากฎการณ์ แพลงก์ตอนบลูม จนทำให้น้ำทะเลกลายเป็นสีเขียวมัทฉะ ทั้งที่ปกติแถวบางแสนแล้ว ปรากฎการณ์ แพลงก์ตอนบลูม จะเกิดช่วงหน้าฝน แต่กลับมาเกิดในช่วงที่อากาศร้อนเช่นนี้ จนกลายเป็นคำถามว่า ขณะนี้โลกของเราเกิดอะไรขึ้นกันแน่ และอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้น?
ล่าสุด ชาวเน็ตต่างพากันฮือฮา เมื่อ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ชื่อดัง ได้โพสต์ผ่าน Thon Thamrongnawasawat เป็นคลิป แมงกะพรุน จำนวนมหาศาล ลอยในทะเลที่หน้าหาดท้ายเหมือง จ.ภูเก็ต โดยระบุว่า
คลิปแมงกะพรุนท่วมทะเลที่หน้าหาดท้ายเหมือง ถ่ายจากโดรนกองทุนเต่า ที่เพื่อนธรณ์ช่วยกันสนับสนุน
คลิปยาวเกินครึ่งนาที แมงกะพรุนยังไม่หมด คงพอบอกได้ว่าเยอะขนาดไหน
คำถามคือทำไมเยอะปานนั้น ?
ขอเริ่มจากแมงกะพรุนในคลิป เกือบทั้งหมดเป็นชนิดเดียวกัน ตัวใหญ่หน่อย โดนแล้วคัน แต่ไม่รุนแรงถึงขั้นแมงกะพรุนกล่องหรือหัวขวด
แต่แค่เห็นก็คงไม่มีใครอยากลงน้ำ เยอะปานนี้เหมือนแหวกว่ายกลางมหาสมุทรกะพรุน
ข่าวว่าแมงกะพรุนเยอะในอันดามัน มีมาตั้งแต่ต้นเดือน มีหลายชนิด บางแห่งอยู่ใกล้ฝั่ง บ้างอยู่ไกลไปจนถึงเกาะสิมิลั
คำอธิบายที่พอบอกได้คือเกี่ยวข้องกับ ปรากฏการณ์ IOD ที่ทำให้น้ำเย็นในอันดามันตอนพฤศจิกายน-มกราคม
ธาตุอาหารจากที่ลึกถูกดันขึ้นมาในเขตตื้น เมื่อมีแดดจัด แพลงก์ตอนพืชเพิ่มจำนวนตามธาตุอาหาร ตัวอ่อนแมงกะพรุนที่กินแพลงก์ตอนพวกนี้จึงเพิ่มอย่างเร็ว
เมื่อแมงกะพรุนเด็กมีเยอะ โตขึ้นมาพร้อมกัน จึงกลายเป็นปรากฏการณ์แมงกะพรุนท่วมทะเล
ไม่ได้เกี่ยวกับเภทภัย เตือนว่าแผนดินไหวภูเขาไฟใต้น้ำระเบิด สึนามิ ก็อตซิลล่าบุก หรือใดๆ ทั้งสิ้น
แมงกะพรุนท่วมทะเลยังเกี่ยวกับกระแสน้ำที่อาจพัดแมงกะพรุนมารวมกัน
เพราะแมงกะพรุนว่ายได้นิดหน่อย แต่ไม่สามารถว่ายเป็นระยะไกลหรือกำหนดทิศทางตัวเอง ต้องไปตามกระแสน้ำ
แมงกะพรุนจึงเป็น Plankton ขณะที่ปลาเป็น Nekton ว่ายน้ำได้อิสระโดยไม่สนใจกระแสน้ำ
ในอดีตมีปรากฏการณ์แมงกะพรุนแบบนี้เกิดขึ้นเป็นระยะ แต่ปีนี้เกิดหลายที่ หลายชนิด และบางจุดเยอะมาก
IOD + โลกร้อน อาจทำให้มีอะไรแปลกๆ หลายประการ
หากเพื่อนธรณ์สงสัย เอะอะก็โทษโลกร้อน คงต้องบอกตามตรงว่า เสิร์ชหาข้อมูลปรากฏการณ์แปลกๆ ทีไร เจอแต่งานที่บอกว่าโลกร้อนกำลังส่งผลกระทบรุนแรง แทบทุกเรื่องในทะเลเข้าไปเกี่ยวข้องทั้งนั้น
เพราะมหาสมุทรไม่เคยร้อนระดับนี้ เพราะปัจจัยและกระบวนการสิ่งแวดล้อมล้วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์
เมื่อทะเลรองรับความร้อนมหาศาลของโลกมายาวนานจนรับไม่ไหว อะไรต่อมิอะไรก็ปะทุออกมา
สุดท้าย แล้วลูกเต่ามะเฟืองจะเป็นไง ? วันนี้ลูกบิ๊กมัมออกมาแล้ว 40+ ตัว กำลังจะลงทะเลคืนนี้
คำตอบคือแมงกะพรุนไม่กินเต่ามะเฟือง มีแต่เต่ากินแมงกะพรุน
เต่าน้อยจะพุ่งฝ่าออกไปกลางทะเล จากนั้นก็แฮปปี้ มีของกินลอยตุ๊บป่องอยู่มากมาย
เต่ามะเฟืองจึงกลายเป็นสัตว์ที่ควบคุมปริมาณแมงกะพรุนดีที่สุด
โลกร้อน แมงกะพรุนเยอะขึ้น เต่าน้อยลง ขยะเยอะขึ้น เต่ายิ่งน้อยลง
เขียนเรื่องนี้มา 20-30 ปีแล้ว ก็ยังคงเขียนต่อไป
อย่างน้อยก็มีเพื่อนธรณ์เข้าใจและมาช่วยสนับสนุน
ไม่งั้นก็คงไม่มีโดรนตัวนี้ ไม่มีคลิปนี้ และไม่มีการเรียนรู้เรื่องราวใดๆ ครับ
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : เพจเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat
เพจเฟซบุ๊ก อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง Khao Lampi-Hat Thai Mueang NP
เพจเฟซบุ๊ก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง