svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

หน้าร้อนก็มี "แพลงก์ตอนบลูม" ครั้งแรกปี 67 ทะเลบางแสนกลายเป็นสีเขียวมัทฉะ

25 กุมภาพันธ์ 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หน้าร้อนก็มี "แพลงก์ตอนบลูม" น้ำทะเลบางแสนกลายเป็นสีเขียวมัทฉะ ครั้งแรกของปี 67 เกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงกลายเป็นเช่นนี้ ทั้งที่ยังไม่มีฝนตกลงมาอย่างหนัก

การไปเที่ยวทะเลในช่วงฤดูร้อน ที่แดดสวยน้ำใส น่าจะเป็นอีกหนึ่งธรรมเนียม ที่หลายครอบครัว มีปฏิบัติกัน โดยเฉพาะช่วงวันหยุดยาวเช่นนี้ ที่นักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางไปเล่นทะเลคลายร้อนกันอย่างคึกคัก แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเที่ยวที่ทะเลบางแสน จ.ชลบุรี วันนี้ (25 ก.พ. 67) อาจจะต้องแปลกกับสภาพของสีน้ำทะเล ที่กลายเป็นสีเขียวมัทฉะ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นใสราวกับกระจก 

เพจเฟซบุ๊ก ชอบจัง บางแสน ได้มีการรายงานว่า น้ำทะเลบางแสนวันนี้ ได้กลายสภาพเป็น สีเขียวมัทฉะ โดยระบุว่า 

บางแสน แจกมัทฉะ ครั้งแรกของปี 2567
เมื่อวานร่ายมนต์บางแสน ให้น้ำใสไม่กี่ชั่วโมง
วันรุ่งขึ้นเสกมัทฉะให้เขียวทั้งบางแสน
และก็เป็นน้อง น๊อกตี้ คนดีคนเดิมที่ทำให้เขียวแบบทุกที

ขณะที่เพจเฟซบุ๊ก สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล ได้มีการรายงานก่อนหน้านี้ว่า 

แจ้งข่าวเฝ้าระวัง #น้ำทะเลเปลี่ยนสี

สถานีโทรมาตรบางแสน ตรวจพบความเข้มข้นคลอโรฟิลล์เอเพิ่มขึ้น 3 เท่าของค่าปกติ ในช่วงคืนวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 และเมื่อเช้าวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 พบน้ำทะเลเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเขียวบริเวณสะพานราชนาวี (ถนนคนเดินบางแสน) ตรวจสอบเบื้องต้นพบแพลงก์ตอนพืชลอยบริเวณผิวน้ำเป็นหย่อม ๆ พบความหนาแน่นเซลล์ 𝙉𝙤𝙘𝙩𝙞𝙡𝙪𝙘𝙖 𝙨𝙘𝙞𝙣𝙩𝙞𝙡𝙡𝙖𝙣𝙨 เฉลี่ย 6,143 เซลล์ต่อลิตร ค่าความเค็มน้ำทะเล 32 ppt

ทั้งนี้ คุณภาพน้ำทะเลดังกล่าว ยังคงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของคุณภาพน้ำทะเล (เพื่อการนันทนาการ) ที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (2564) ได้ประกาศไว้ ดังนั้น มิตรรักอะควาเรียมจึงสามารถ #ลงเล่นน้ำทะเล และ #รับประทานอาหารทะเลในบริเวณดังกล่าวได้ตามปกติ

 

เกิดอะไรขึ้น ทำไมทะเลกลายเป็นสีเขียวมัทฉะ 

ปรากฏการณ์ดังกล่าวเรียกว่า "แพลงก์ตอนบลูม" ที่ปกติมักเกิดตอนต้นฤดูฝน เมื่อน้ำจืดลงทะเลเป็นจำนวนมาก พาธาตุอาหารลงทะเล ทำให้เกิดความหนาแน่นของแพลงก์ตอน ส่งผลให้สิ่งแวดล้อมในทะเลเปลี่ยนรวดเร็ว ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อน ทำให้น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้น 

แล้วทำไมฝนยังไม่ตกจึงเกิด "แพลงก์ตอนบลูม" 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงปรากฎการณ์แพลงก์ตอนบลูมว่า เป็นเรื่องธรรมชาติ ที่มีความเกี่ยวข้องกับปริมาณน้ำฝน ธาตุอาหาร แสงแดด ทิศทางลม กระแสน้ำ และปัจจัยอื่นๆ ในทะเล แต่ระยะหลังเริ่มปั่นป่วนเพิ่มขึ้น และมนุษย์มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงคือธาตุอาหารจากการเกษตร น้ำทิ้ง ปนเปื้อนไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทยตอนในเป็นพื้นที่ค่อนข้างปิด น้ำวนอยู่นาน อิทธิพลจากแม่น้ำลำคลองมีมาก 

เกี่ยวข้องทางอ้อมคือโลกร้อน ซึ่งตอนนี้แรงขึ้นจนอาจใช้คำว่า “โลกเดือด” และเกี่ยวข้องกับเอลนีโญที่ปรกติแล้วจะทำให้ฝนตกน้อย น่าจะทำให้แพลงก์ตอนบลูมน้อยเมื่อเทียบกับปีลานีญา แต่ปีนี้กลับมีข่าวน้ำเขียวบ่อยครั้ง และยังเกิดในช่วงเวลาแปลกๆ ในพื้นที่ที่ไม่ค่อยเจอมาก่อน
หน้าร้อนก็มี \"แพลงก์ตอนบลูม\" ครั้งแรกปี 67 ทะเลบางแสนกลายเป็นสีเขียวมัทฉะ

อาจารย์ธรณ์ระบุว่า โลกร้อนทำให้ทุกอย่างแปรปรวน การรับมือทำได้ยาก และจะยิ่งยากหากมีข้อมูลไม่เพียงพอในยุคนี้ที่โลกร้อนขึ้นและมีปรากฏการณ์แปลกๆ เกิดขึ้นบ่อยครั้ง 

การช่วยชีวิตอ่าวไทยตอนในเราต้องคิดพัฒนางานศึกษาวิจัย การใช้เครื่องมือสนับสนุนระบบแจ้งเตือนที่ดีและทันการณ์ เช่นยกระดับการสำรวจและเฝ้าระวังทะเล ติดตามสภาพความเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ ปรับปรุงอุปกรณ์และสนับสนุนกิจกรรมด้านการศึกษาวิจัย จัดจุดติดตามถาวร บูรณาการข้อมูลและ GIS ใช้เทคโนโลยีทันสมัย รีโมทเซนซิง จัดทำโมเดลอ่าวไทย EEC จัดทำระบบแจ้งเตือนผู้ใช้ประโยชน์ ติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเล สมุทรศาสตร์แบบเรียลไทม์ จัดทำแผนการลดผลกระทบด้านธาตุอาหารจากแหล่งแม่น้ำลำคลอง สำรวจและดูแลอาขีพชาวประมงการท่องเที่ยวรายย่อย ฯลฯ 

ในขณะที่คนทั่วไปสามารถช่วยได้ด้วยการลดผลกระทบด้านต่างๆ อย่าซ้ำเติมธรรมชาติ เช่น ลดโลกร้อน ลดขยะ บำบัดน้ำ สนับสนุนกิจการท้องถิ่น แจ้งเหตุผิดปรกติ ฯลฯ เราจะลดความสูญเสียได้มหาศาล
หน้าร้อนก็มี \"แพลงก์ตอนบลูม\" ครั้งแรกปี 67 ทะเลบางแสนกลายเป็นสีเขียวมัทฉะ

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : เพจเฟซบุ๊ก ชอบจัง บางแสน 
เพจเฟซบุ๊ก
สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล 
Thon Thamrongnawasawat
กรมทรัพยากรทางธรณี

 

logoline